วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รมว.ออสเตเรียกล่าว ภัทรมนเป็นนักบุญและฮีโร่ตัวจริง


       เอเจนซีส์ – รัฐบาลออสเตรเลียกำลังพิจารณาเข้าแทรกแซงกรณีของ “แกมมี่” โดยอาจมอบสัญชาติให้เพื่อให้หนูน้อยที่ถูกพ่อแม่ทางพันธุกรรมทอดทิ้งเนื่องจากเป็นดาวน์ซินโดรม ได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรีในแดนจิงโจ้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีออสซี่ยังยกย่อง “ภัทรมน” แม่อุ้มบุญชาวไทย เป็นฮีโร่ตัวจริงที่ไม่ยอมทอดทิ้งลูก ขณะที่เจ้าตัวเผยอาจเปลี่ยนใจฟ้องร้องสองสามี-ภรรยาที่ว่าจ้างอุ้มท้อง หลังฝ่ายชายให้สัมภาษณ์ไม่เคยเห็นหรือรับรู้เรื่อง “แกมมี่” มาก่อน 
       
        ภัทรมน จันทร์บัว หญิงไทยวัย 21 ปีที่มีอาชีพขายอาหารที่ศรีราชา สมัครใจเลี้ยงดูแกมมี่ ทารกวัย 7 เดือนที่เกิดจากการรับจ้างอุ้มบุญ แต่ถูกพ่อแม่ทางพันธุกรรมทอดทิ้ง เนื่องจากทารกน้อยมีอาการดาวน์ซินโดรมและยังป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยสามี-ภรรยาชาวออสเตรเลียที่เป็นผู้ว่าจ้าง รับเฉพาะฝาแฝดของแกมมี่ที่เป็นเพศหญิงและแข็งแรงสมบูรณ์กลับรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
       
        ยิ่งไปกว่านั้น นับจนถึงวันนี้ ภัทรมนยังได้รับค่าจ้างจากนายหน้าจัดหาแม่อุ้มบุญในกรุงเทพฯ ไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้ที่ 300,000 บาท ทั้งที่ทารกฝาแฝดคลอดออกมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว
       
        สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย กล่าวกับสถานีวิทยุซิดนีย์ เรดิโอ 2จีบีเมื่อวันจันทร์ (4) ว่า ภัทรมนเป็น “วีรสตรีตัวจริง” และ “นักบุญ” และเสริมว่า กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญมีความคลุมเครืออย่างมาก
       
        มอร์ริสันยังบอกอีกว่า กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดเพื่อดูว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ยังไม่อยากให้ความหวังใดๆ เนื่องจากนี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลของไทย
       
        หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลียออกคำแถลงระบุว่า แกมมี่อาจได้รับมอบสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรีในออสเตรเลีย ทว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องด้วย
       
        เกี่ยวกับเรื่องนี้ สตีเฟน เพจ หนึ่งในนักกฎหมายชั้นนำด้านการอุ้มบุญของออสเตรเลียแสดงความเห็นว่า ภายใต้กฎหมายไทย ภัทรมนถือเป็นมารดาตามกฎหมายของแกมมี่ ดังนั้น การจะส่งคืนทารกน้อยให้พ่อแม่ทางพันธุกรรมจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากภัทรมนก่อน
       
        วันเดียวกัน มอรา เคลลี ผู้ก่อตั้งชิลเดรน เฟิร์สต์ ฟาวน์เดชัน มูลนิธิที่นำเด็กป่วยจากประเทศกำลังพัฒนาเดินทางไปรักษาในออสเตรเลีย เผยว่า กำลังหารือกับมูลนิธิแฮนด์ อะครอสส์ เดอะ วอเตอร์ เรื่องพาแกมมี่ไปผ่าตัดหัวใจที่เมลเบิร์น
       
        ทั้งนี้ แฮนด์ อะครอสส์ เดอะ วอเตอร์เป็นมูลนิธิการกุศลในออสเตรเลียที่เป็นแม่งานระดมเงินบริจาคทางออนไลน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือภัทรมนและแกมมี่ โดยล่าสุดสามารถระดมเงินได้ถึง 210,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 6,300,000 บาท)
       
        ขณะเดียวกัน เอบีซี สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของทางการออสเตรเลียรายงานว่า พ่อทางพันธุกรรมของแกมมี่ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งใจทิ้งลูกชายไว้ที่เมืองไทย แต่เป็นเพราะไม่รู้ เนื่องจากแพทย์ของคลินิกอุ้มบุญในไทยแจ้งตนและภรรยาเพียงว่า ภัทรมนคลอดทารกเพศหญิง และว่า ตนมีปัญหามากมายกับนายหน้าอุ้มบุญในกรุงเทพฯ
       
        คำกล่าวอ้างนี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการเปิดเผยของภัทรมนที่บอกว่า ชายชาวออสเตรเลียวัย 50 ปีที่ไม่เป็นที่เปิดเผยชื่อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้เธออุ้มบุญ ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังจากที่เธอคลอดฝาแฝดชายหญิง และเห็นทารกทั้งคู่
       
        “เขาไม่อุ้มหรือแม้แต่มองแกมมี่ ไม่ซื้อนมให้แกมมี่ แต่ซื้อให้ลูกสาวคนเดียว ทั้งที่พี่น้องฝาแฝดนอนอยู่ข้างๆ กัน”
       
        ภัทรมนยังบอกอีกว่า ที่ให้สัมภาษณ์สื่อออสเตรเลียก่อนหน้านี้ว่า ไม่ถือโทษโกรธเคืองสองสามีภรรยาผู้ว่าจ้าง บัดนี้เธอเปลี่ยนใจแล้วและอาจฟ้องร้องทั้งคู่
       
        “ฉันโกรธมากที่พ่อของแกมมี่พูดแบบนั้น เพราะคนที่ไม่รู้จักฉันและอ่านคำสัมภาษณ์ของเขา อาจคิดว่าฉันเป็นคนเลว ฉันอยากให้เขามาเมืองไทยจะได้คุยกันต่อหน้าสื่อ ไม่มีใครโกหกได้ และความจริงจะเปิดเผยออกมาให้สังคมรับรู้”
       
        อย่างไรก็ตาม ภัทรมนให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า ขณะนี้ แกมมี่ตอบสนองต่อการรักษาอาการปอดติดเชื้อได้ดีขึ้น เธอถึงกับร้องไห้ เมื่อได้รู้ว่า แฮนด์ อะครอสส์ เดอะ วอเตอร์ ระดมเงินบริจาคได้มากพอที่จะทำให้เธอสามารถดูแลแกมมี่ต่อไป และเสริมว่า เธอและลูกอีกสองคนอายุ 3 และ 6 ขวบ รักแกมมี่มากและอยากให้ทารกน้อยได้กลับบ้าน
       
        กรณีของแกมมี่ส่งผลให้ทางการไทยตรวจสอบธุรกิจอุ้มบุญอย่างเข้มงวด โดยประกาศว่า ทารกที่เกิดภายใต้ข้อตกลองอุ้มบุญจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศจึงจะสามารถพาเด็กออกจากเมืองไทยได้ มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
       
        การเอาจริงของทางการไทยส่งผลให้คลินิกอุ้มบุญนับสิบแห่งยุติหรือเปลี่ยนการโฆษณาอุ้มบุญในเว็บไซต์ รวมทั้งบริการผสมเทียมในหลอดแก้ว (ไอวีเอฟ) ที่สามารถเลือกเพศทารกได้ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวออสเตรเลีย
       
        ขณะเดียวกัน การปราบปรามของรัฐบาลไทยส่งผลให้สามี-ภรรยาออสเตรเลียราว 200 คู่ที่ทำข้อตกลงอุ้มบุญในไทย เผชิญความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของทารกที่ว่าจ้างหญิงไทยอุ้มท้องให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น