วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

กระแสมุสลิมทั่วโลกต้าน’ชาร์ลี’ล้อศาสดายังแรง หลังไนเจอร์จลาจลดับ 10

กระแสต่อต้านนิตยสาร “ชาร์ลี เอ็บโด” ฉบับล่าสุดตีพิมพ์ภาพล้อศาสดามูฮัมหมัด ยังคงปะทุลุกลามไปในหลายชาติมุสลิม หลังจากการประท้วงที่ไนเจอร์กลายเป็นการจลาจลทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 10 ราย และโบสถ์คริสต์ถูกเผาทำลายหลายแห่ง ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสออกมาประณามการใช้ความรุนแรง พร้อมยืนยันสนับสนุนเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็น ถึงแม้ในผลโพลที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ (18ม.ค.) กลับปรากฏว่า ชาวเมืองน้ำหอมเกือบครึ่งเห็นควรระงับการเผยแพร่ภาพล้อศาสดาของอิสลาม
ในอีกด้านหนึ่ง ยุโรปก็กำลังผวาตกเป็นเป้าก่อการร้าย เบลเยี่ยมส่งทหารพลร่มลาดตระเวนคุ้มครองสถานที่สำคัญ ขณะที่ตำรวจกรีซจับผู้ต้องสงสัย 4 รายที่เชื่อว่า มีส่วนร่วมในแผนการก่อการร้ายขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดบรัสเซลส์แถลงผู้ต้องสงสัยที่จับได้ในเอเธนส์ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายคนสำคัญที่กำลังไล่ล่าอยู่
ประธานาธิบดีมาฮามาดู อิสซูฟู แห่งไนเจอร์ แถลงในวันเสาร์ (17) ว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 5 รายภายหลังการประท้วงในเมืองหลวงนีอาเม ในวันเดียวกัน หลังจากตายไป 5 คนในวันศุกร์ (16) ที่เมืองซินเดอร์ โดยพบศพในโบสถ์และบาร์ที่ถูกจุดไฟเผา
รายงานระบุด้วยว่า มีโบสถ์อย่างน้อย 8 แห่งในกรุงนีอาเม ถูกเผา ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในไนเจอร์เตือนพลเมืองงดออกจากที่พักอาศัย
เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากชาร์ลี เอ็บโด นิตยสารแนวเสียดสีของฝรั่งเศส วางแผงฉบับแรกหลังเหตุสังหารหมู่ในกองบรรณาธิการเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา โดยหน้าปกทำเป็นภาพการ์ตูนศาสดามูฮัมหมัดถือป้าย “ฉันคือชาร์ลี”
ถึงแม้ชาวมุสลิมมากมายออกมาร่วมประณามเหตุการณ์สังหารหมู่ในสำนักงานกองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ที่ปารีสโดยฝีมือมือปืนอิสลามมิสต์หัวรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน แต่ชาวมุสลิมมากมายเช่นกันก็ไม่พอใจการใช้การ์ตูนล้อเลียนศาสดาของนิตยสารฉบับนี้
ทั้งนี้ตามประเพณีปฏิบัติของอิสลามกระแสหลัก การทำภาพใดๆ ของศาสดามูฮัมหมัดขึ้นมา แม้กระทั่งในทางเคารพยกย่อง ก็ล้วนถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา
ที่อิหร่าน รัฐบาลประณามทั้งการโจมตีชาร์ลี เอ็บโด และตัวนิตยสารฉบับนี้เอง โดยระบุว่า การเผยแพร่ภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดต่อเนื่องถือเป็นการ “ยั่วยุ” และดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
วันเสาร์ที่ผ่านมา หน่วยงานตุลาการของเตหะรานสั่งแบนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ประกาศสนับสนุนชาร์ลี เอ็บโดบนหน้าหนึ่ง
วันเดียวกัน ประธานาธิบดีอัชรัฟ กอนีของอัฟกานิสถาน ประณามชาร์ลี เอ็บโด โดยระบุว่า ภาพหน้าปกฉบับล่าสุดเป็นการดูหมิ่นศาสดาโมฮัมหมัดและเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ
“เสรีภาพในการแสดงออกควรใช้ในรูปแบบที่ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา”
ด้านนายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดีของอิรัก ออกคำแถลงประณามนิตยสารฉบับนี้ของฝรั่งเศสเช่นกัน และเตือนว่า ถ้อยคำที่น่ารังเกียจอาจนำไปสู่การนองเลือดซ้ำรอย แต่ขณะเดียวกัน ผู้นำแบกแดดก็ประณามการโจมตีผู้บริสุทธิ์ในปารีสเมื่อต้นเดือนและว่า การก่อการร้ายไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ
นอกจากนี้ยังมีการประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตทูตฝรั่งเศสในซานา เมืองหลวงของเยเมน รวมถึงในเมืองการาจีของปากีสถาน และแคว้นอินกูเชเทียในรัสเซียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
ที่อียิปต์ พรรคอิสลามิสต์ นูร์ ใช้เฟซบุ๊กประณามหน้าปกชาร์ลี เอ็บโดฉบับใหม่เป็นภาษาฝรั่งเศส
ส่วนที่แอลจีเรีย ตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ประท้วงในกรุงแอลเจียร์
ที่กาซ่าซิตี้ เมืองหลวงของฉนวนกาซ่า มีผู้พ่นข้อความ “นักข่าวฝรั่งเศสไปลงนรกเถอะ” บนผนังศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศส
เมื่อถึงวันอาทิตย์ (18) ประชาชนปากีสถานนับพันนับหมื่นคนตามเมืองใหญ่ๆ แทบทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ออกมาชุมนุมประท้วงและประณามการใช้ภาพล้อศาสดามูฮัมหมัดของชาร์ลี เอ็บโด
รายงานข่าวระบุว่า ผู้คนจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายที่ยึดแนวทางศาสนาอิสลามและฝ่ายที่ไม่ผูกพันกับหลักศาสนา ต่างออกมาชุมนุมกันในเมืองละฮอว์, การาจี, อิสลามาบัด, แควตตา, เปชาวาร์, มัลตัน และเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง โดยที่หลายแห่งมีการเผาหุ่นของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ อัลลองด์ ของฝรั่งเศส ตลอดจนนักเขียนการ์ตูนของชาร์ลี เอ็บโด รวมทั้งเผาธงชาติฝรั่งเศส
ในทางกลับกัน ที่ปารีส รัฐมนตรีต่างประเทศ ลอรองต์ ปาเบียส ได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงในไนเจอร์ ขณะที่ประธานาธิบดออลลองด์ ย้ำว่า ฝรั่งเศสยึดมั่นใน “เสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจต่อรองได้ พร้อมเรียกร้องประชาชนอย่าละทิ้งจุดยืนนี้ เพราะจะเท่ากับเป็นการยอมแพ้ต่อลัทธิก่อการร้าย
เช่นเดียวกัน เจอราร์ บิอาร์ด บรรณาธิการบริหารชาร์ลี เอ็บโด ยืนยันว่า การ์ตูนล้อเลียนศาสดาของศาสนาต่างๆ เป็นการปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจที่หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เลอ เจอร์นัล ดูว์ ดิมองช์เผยแพร่ออกมาในวันอาทิตย์พบว่า ชาวฝรั่งเศส 42% เห็นว่า ควรหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ภาพการ์ตูนล้อเลียนพระโมฮัมหมัด และ 50% สนับสนุนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น