วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

ราคาน้ำมันลดลหลัง IMF หั่นคาดการณ์จีดีพีโลก หุ้นมะกันทรงตัว-ทองคำพุ่ง

ราคาน้ำมันดิบเมื่อวันอังคาร (20 ม.ค.) ดิ่งลงหนัก หลังไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก ปัจจัยนี้ผลักให้ทองคำพุ่งแรง หลังนักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีทแกว่งตัวขยับขึ้นไปปิดบวกแคบๆ ท่ามกลางความคาดหวังว่าธนาคารกลางชาติต่างจะจะดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 2.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 46.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 85 เซ็นต์ ปิดที่ 47.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.7 ในปี 2016 จากแนวโน้มที่อ่อนแอของชาติเศรษฐกิจหลักๆ ยกเว้นสหรัฐฯ โดยทั้งสองปีเป็นการปรับลดจากที่ประมาณการณ์คราวก่อนเดือนตุลาคม ลงร้อยละ 0.3
ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันซ้ำเติม หลังจากมูดีส์ปรับลดประมาณการณ์ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยของปี 2015 ลงเหลือ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับเบรนต์ ส่วนสัญญาเวสต์เทกซัสเหลือ 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะคาดหมายว่าราคาน้ำมันทั้งสองสัญญาจะเพิ่มขึ้นในปี 2016 สู่ระดับ 65 ดอลลาร์และ 62 ดอลลาร์ตามลำดับก็ตาม
ปัจจัยความกังวลต่อสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตามหลังการปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของไอเอ็มเอฟ ผลักให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และดันให้ราคาทองคำเมื่อวันอังคาร (20 ม.ค.) พุ่งขึ้นอย่างแรง โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 17.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,294.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (20 ม.ค.) ปรับขึ้นในกรอบแคบๆ โดยแม้ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2015 และ 2016 ลง แต่ขณะเดียวกันก็กระพือแรงคาดเดาว่าเหล่าธนาคารกลางชาติต่างๆจะใช้นโยบายเชิงรุกมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 3.66 จุด (0.02 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,515.23 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 3.13 จุด (0.15 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,022.55 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 20.47 จุด (0.44 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,654.85 จุด
ในการปรับลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2015 และ 2016 ลงปีละร้อยละ 0.3 ไอเอ็มเอฟได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ขณะที่ราคาน้ำมันที่ถูกลงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด
ทั้งนี้ คาดหมายว่าธนาคารกลางยุโรปจะแถลงโปรแกรมเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมในวันพฤหัสบดี (22 ม.ค.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เปราะบางของภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น