วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

กองทัพอากาศสหรัรฐอเมริกา ตัดการติดต่อ “นักบินโดรน” ในช่วงต่อกรกับ IS

ในยามที่กำลังขาดแคลนผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) วานนี้ (15 ม.ค.) กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ประกาศจะเพิ่มค่าตอบแทนแก่ผู้บังคับเจ้าเครื่องบินหุ่นยนต์ชนิดนี้ รวมทั้งแผนการดึงลูกทัพฟ้าที่เป็นกำลังพลสำรองเข้ามาทดแทนบุคลากรในภาคส่วน นี้
เดบอราห์ เจมส์ เลขานุการกองทัพอากาศกล่าวในการแถลงข่าวว่า กระแสความต้องการโดรนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้นำไปสู่สภาวะการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบิน ซึ่งต้องทำงานเฉลี่ยวันละ 14 ชั่วโมง และ 6 วันต่อสัปดาห์
เจมส์กล่าวว่า “นี่คือหน่วยที่ต้องรับมือกับความตึงเครียดอันหนักหนาสาหัส จากการปฏิบัติภารกิจอย่างไม่หยุดหย่อน”
ทัพฟ้าสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศแผนสนับสนุนผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบิน ในช่วงที่แดนอินทรีกำลังเดินหน้าปฏิบัติโจมตีทางอากาศปราบปรามกลุ่มหัว รุนแรงติดอาวุธ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย ซึ่งรวมถึงการส่งโดรนออกลาดตระเวนเป็นประจำทุกวัน
เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้กองทัพสหรัฐฯ ได้คาดหมายไว้ว่า การส่งโดรนออกดำเนินภารกิจจะเริ่มมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากแดนอินทรีถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ทว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มนักรบญิฮาดไอเอส ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม กลับยิ่งกระตุ้นให้มีความจำเป็นต้องใช้ฝูงอากาศยานไร้คนขับของกองทัพอากาศ มากกว่า 360 ลำ
พล.อ.อ.มาร์ก เวลช์ ผู้บัญชาการเสนาธิการทหารอากาศ แถลงว่า “เราคิดจะถอนกำลังทหาร และเคยมีแผนจะส่งกำลังพลเหล่านี้เข้าไปประจำหน่วยควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งถ้าเราถอนกำลังทหารจริงๆ ตอนนี้เราก็จะมีกำลังคนมากเพียงพอ”
ตามข้อมูลในหนังสือเวียนภายในที่รั่วไหลไปถึงเว็บไซต์ข่าว “เดลีบีสต์” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่ามีผู้บังคับบัญชาระดับสูงคนหนึ่งเตือนว่า การใช้โดรนปฏิบัติการได้เข้าสู่ช่วงวิกฤตแล้ว เนื่องจากกองทัพอากาศขาดแคลนกำลังคน จนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ขอให้ส่งโดรน 65 ลำไปดำเนินภารกิจลาดตระเวนรบรักษาเขตในปีนี้
ด้วยเหตุที่มีทหารฝ่ายควบคุมอากาศยานไร้นักบินจำนวนมากใกล้ถึงกำหนด ปลดประจำการ เหล่าผู้บังคับบัญชาจึงเป็นกังวลว่า กองทัพจะขาดแคลนผู้มีศักยภาพเหล่านี้ จึงพยายามหาสิ่งจูงใจให้พวกเขาอยู่กับกองทัพต่อไป
        เลขานุการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้เผยโฉมแผนการที่เธอระบุว่าเป็น “มาตรการแรก” ที่คิดขึ้นมาเพื่อบรรเทาแรงกดดันให้ผู้ควบคุมโดรน ในขณะที่กำลังมีการวางมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจรวมทั้งการริเริ่มของบประมาณจากเพนตากอน ที่กำลังเตรียมเสนอของบจากรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนหน้านี้
ทหารบางส่วนที่ผ่านการฝึกฝนให้เรียนรู้วิธีควบคุมอากาศยานไร้นักบิน แต่ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ จะถูกขอให้กลับไปมารับหน้าที่ขับเคลื่อนโดรนอีกครั้ง ส่วนผู้สั่งการโดรนที่มีกำหนดจะต้องย้ายไปปฏิบัติภารกิจในหน่วยอื่นๆ ก็จะถูกสั่งให้รับตำแหน่งหน้าที่เดิมต่อไปชั่วคราว
ทั้งนี้ ผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบินนั้นได้รับค่าตอบแทนในอัตราเท่ากับนักบินทั่วๆ ไป แต่พวกเขาจะไม่ได้รับการอัดฉีดโบนัส ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจที่ดึงดูดให้ทหารอากาศอยู่ในกองทัพต่อไป ในช่วงใกล้ถึงกำหนดปลดประจำการ เจ้าหน้าที่เปิดเผย
อย่างไรก็ดี เจมส์ มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อนี้ ทว่า ในขณะเดียวกันเลขานุการได้อนุมัติให้มีการขึ้นเงินเดือนผู้บังคับโดรน ที่ใกล้จะหมดวาระดำรงตำแหน่ง
เวลช์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้นักบินโดรนได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจาก 650 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,100 บาท) เป็น 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 49,000 บาท)
เจมส์เล่าว่า เมื่อปีที่แล้วเธอมีโอกาสได้เดินทางไปยังฐานทัพอากาศครีช ในมลรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกองปฏิบัติการโดรน จนได้เห็นกับตาว่า ผู้ควบคุมอากาศยานไร้นักบินต้องรับมือกับความกดดันอย่างหนักหน่วง
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว นักบินที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมอากาศยานในกองทัพอากาศจะขึ้นบินปีละ 200 ถึง 300 ชั่วโมง ในขณะที่นักบินโดรนจะต้องควบคุมอากาศยานไร้นักบินเป็นเฉลี่ยปีละ 900 ถึง 1,100 เที่ยว เธอว่า
นอกจากนี้ เวลช์ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังคัดทหารเกณฑ์เข้ารับหน้าที่ควบคุมโดรน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันมาแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น