วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เมืองใหญ่พาเครียด

 ผู้เขียนนั้นแม้ว่าเทือกเขาเหล่ากอตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดไล่ลงมาจนถึงรุ่นพ่อแม่จะเป็นคนต่างจังหวัด  พี่ ๆ ของผู้เขียนถึงกับเกิดในบ้านโดยมีผดุงครรภ์เป็นผู้ทำคลอด  แต่ตัวผู้เขียนเองเกิดและโตที่กรุงเทพ ฯ มาโดยตลอด  ถึงหากว่าแทบทุกครั้งที่โรงเรียนปิดเทอมใหญ่จะไปเยี่ยมตายายที่ต่างจังหวัดและใช้เวลาเที่ยวเล่นอยุ่ที่นั่นคราวละหลายสัปดาห์  แต่ใจจริงไม่เคยคิดอยากไปใช้ชีวิตอยู่ที่อื่น  ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกแต่เฉพาะในกรุงเทพ ฯ  พระเจ้าคงจะหมั่นไส้จึงดลบันดาลให้มาอยู่บ้านนอกของเยอรมันเสียเลย  ขนาดว่าเดินออกจากบ้านไม่กี่สิบเมตรก็เจอฝูงวัวกินหญ้าอยู่ในทุ่งก็แล้วกัน  สวนหลังบ้านวันดีคืนดีม้าและตัวลามาของเพื่อนบ้านก็จะยื่นหัวมาทักทาย   ความที่อยู่มานานคงจะเคยชิน  กลายเป็นว่าทุกครั้งที่เดินทางไปกรุงเทพมหานครของเราจะชื่นชมยินดีน้อยลงทุกที ทั้งอากาศเป็นพิษ หนวกหู วุ่นวาย คนหน้าตาบูดบึ้ง เต็มไปด้วยความเครียด  เมื่อใดที่ได้ออกต่างจังหวัดจึงจะรู้สึกหายใจคล่องขึ้น  ในขณะที่เจ้าลูกชายกลับชอบใจเมืองฟ้าอมรว่าสนุกสนานตื่นเต้น มีอะไรให้ทำเยอะดี ไม่น่าเบื่อ
เรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดเฉพาะที่เมืองไทยเรา  เมืองใหญ่ที่ไหน ๆ ก็คงก่อให้เกิดความเครียดเหมือนกันไปหมด  ตามสถิติของประเทศเยอรมัน ในหมู่คนเมืองมีการป่วยไข้ทางจิตบ่อยกว่าชาวชนบทอย่างชัดเจน  ศาสตราจารย์ Andreas Meyer-Lindenberg จากสถาบันกลางเพื่อสุขภาพจิต (Zentralinstitut für Seelische Gesundheit ) มหาวิทยาลัย Mannheim กล่าวว่าโรคหวาดกลัวและโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองบ่อยกว่าราว ๓๐-๔๐%  ผลการตรวจสอบของสถาบัน ฯ ได้ผลว่าโรคจิตเภทเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่เติบโตในเมืองบ่อยกว่าประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทถึง ๓ เท่า  ศาสตราจารย์ Meyer-Lindenberg กล่าวว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ  หากแต่ทั่วโลกเหมือนกันหมด ว่าแล้วไหมล่ะเหมือนที่ผู้เขียนคิดไม่ผิดเลย  ดร. Mazda Adliแพทย์ใหญ่ Fliedner Klinik ที่เบอร์ลินและนักวิจัยเรื่องความเครียดของมหาวิทยาลัย  Charité ก็กล่าวว่ายิ่งเมืองที่คนเราเติบโตขึ้นมาใหญ่เท่าใด  ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเภทขณะเป็นผู้ใหญ่ก็สูงขึ้นเท่านั้น (ว้าย ไม่เอานะ ช่วยด้วย)
ขณะนี้ ศ. Meyer-Lindenberg กำลังทำวิจัยว่าสิ่งใดที่เป็นสาเหตุทำให้ป่วยในการใช้ชีวิตในเมือง เช่นเดียวกับดร. Adli ที่ต้นปีนี้ได้ก่อตั้งกลุ่มวิชาการ Neurourbanistik ร่วมกับนักวางผังเมือง นักฟิสิกส์และนักประสาทวิทยา  ผู้เขียนไม่ใช่นักวิชาการ  แต่บอกได้จากประสบการณ์เลยว่าสิ่งที่รบกวนประสาท (อย่างน้อยก็ของตัวคนเขียนเอง) ก็ได้แก่ ความสกปรก กลิ่น ความแออัด ความสับสนวุ่นวาย มลภาวะ ฯลฯ  นี่เอาเฉพาะประเด็นหลัก ๆ นะ  ถ้าจะให้บรรยายจริงก็อีกยาวเลยละ
อย่างไรก็ดี ศ. Meyer-Lindenberg และคณะพบว่าคนในเมืองใหญ่จัดการกับความเครียดและความรู้สึกต่างออกไป  สมองจะมีปฏิกิริยาไวกับความเครียดมากกว่าผู้อยู่ในเมืองเล็กและชาวชนบท  แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในเมืองจะป่วยเป็นโรคจิต  คนบางคนก็ปล่อยวางได้มากกว่าผู้อื่น  และคนเมืองจำนวนมากก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องดีที่ในเมืองมีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลา  กระนั้น ดร. Adli กล่าวว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มีเพียงผู้ที่สามารถหลบเลี่ยงได้หากรู้สึกว่าพอแล้ว
Iris Hauth จากโรงพยาบาล Alexianer St.Joseph ที่ Berlin-Weißensee กล่าวว่าหากมนุษย์มีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมชีวิตและตัดสินใจได้ว่าจะถอนตัวหรือเข้าหามิตรสหายจะรู้สึกสบายดี  ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมเรื่องนี้ได้จะเผชิญกับผลกระทบเรื่องความเครียดของเมืองใหญ่
ศ.  Meyer-Lindenberg กล่าวว่า ๘๐% ของประชาชนในเมืองใหญ่ไม่รู้จักเพื่อนบ้าน  ทั้งที่การเข้าสังคมการติดต่อสื่อสารสำคัญมากสำหรับสุขภาพจิตของมนุษย์ผู้หนึ่ง  ผลของมันไม่ได้เห็นได้อย่างเปิดเผย
ดร. Adli สรุปว่าความเครียดในเมืองเป็นความเครียดที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาโดยไม่ทันสังเกต  ตามข้อมูลของ Hauth จะแสดงออกมาผ่านอารมณ์ที่ขุ่นมัว ความตึงเครียด  และการนอนไม่หลับ  แต่เธอก็ยอมรับว่าไม่ใช่ความเครียดทุกชนิดมาจากเมืองใหญ่  ความกดดันด้านอาชีพ  หรือความโกรธเคือง  ก็สร้างปัญหาให้  หากความเครียดของเมืองใหญ่เพิ่มเข้ามา  สามารถส่งเสริมทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น  ผู้ที่สังเกตเห็นอาการควรแก้ไขอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  โดยดูแลให้ตัวเองผ่อนคลายและชดเชยความตึงเครียดด้วยการเล่นกีฬา ไปเที่ยวพักผ่อนสุดสัปดาห์ในธรรมชาติ  หากยังไม่ช่วยอะไรก็ควรไปพบแพทย์ประจำบ้าน จิตแพทย์หรือนักบำบัดทางจิต  ตามข้อมูลของ Hauth หากไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม  ความเสี่ยงสำหรับความหวาดกลัวหรือความซึมเศร้าจะสูง  เนื่องจากการถูกโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นหนึ่งในปัจจัยความเครียดที่สำคัญ  จึงควรแก้ปัญหาตรงจุด  โดยเข้าหาผู้คน  ซึ่งไม่มีที่ใดมีความเป็นไปได้มากมายเหมือนในเมือง  ประชาชนจำนวนมากเป็นทั้งปัญหาและทางแก้ปัญหาในตัวเอง  Hauth กล่าวว่าหากไปดูละครหรือไปร้านกาแฟ ถึงจะอยู่ท่ามกลางผู้คน  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้รู้จักใครบางคนโดยอัตโนมัติ  ทางที่ดีควรไตร่ตรองว่าสนใจอะไรและควรจะติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีรสนิยมเดียวกันได้ที่ไหน  ดร. Adli แนะนำวงขับร้องประสานเสียง กลุ่มอ่านหนังสือ ชมรมกีฬาหรือสถานที่พบปะของโบสถ์
โฮโฮ่ ก็ย้ายออกมาอยู่ในชนบทเสียเลยจะง่ายกว่าไหม?  แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตในชนบทก็ไม่ได้โรแมนติกไปเสียทั้งหมดและไม่ได้ถูกรสนิยมของทุกคน  ตัวอย่างใกล้ตัวก็น้องสะใภ้ของผู้เขียน  ทีแรกเธอก็ฝันหวานถึงชีวิตสุขสงบนอกเมือง  แต่ย้ายออกมาไม่ทันไรก็ขนข้าวของกลับเข้าไปอยู่ในเมืองเสียอีกแล้ว นัยว่าเงียบเหงาเกินไป  ไม่มีกิจกรรมให้ทำแก้เบื่อ ฯลฯ อันนี้ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะ  ผู้เขียนนั้นยอมรับเลยว่าจากคนกรุงกลายเป็นสาวบ้านนอกเต็มตัวไปแล้วจ้า

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ขอบคุณข้อมูลจาก   Aachener Zeitung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น