วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ยายฉิมเก็บเห็ด


   สมัยเด็ก ๆ เวลาฝนลงเปาะแปะเป็นต้องได้ยินแม่พูดว่า “ฝนตกหยิม ๆ ยายฉิมเก็บเห็ด”  พอได้ยินก็อดสงสัยไม่ได้ว่ายายฉิมเป็นใคร ทำไมฝนตกแล้วไม่อยู่ในบ้าน แล้วยายมี ยายมา ล่ะทำอะไร ฯลฯ  แม่คงเวียนหัวเหมือนกันกับคำถามรัว ๆ แต่ก็อุตส่าห์อธิบายว่าที่เป็นยายฉิม เพื่อให้คล้องจองกับคำว่าหยิม ๆ (ละมั้ง) แต่นอกจากคำพูดประโยคนี้แล้วผู้เขียนก็ไม่เคยข้องเกี่ยวอะไรกับการเก็บเห็ดตามประสาคนกรุงเทพ ฯ ที่รู้จักพืชพรรณผักทั้งหลายแหล่ก็แค่ที่เห็นวางขายในตลาด มาอยู่เยอรมันเป็นนานสองนานแล้วถึงได้รู้จักกับสาวไทยที่ชอบเก็บเห็ด และมาชักชวนผู้เขียนไปเก็บด้วยกัน  จะว่าไปก็สนใจอยู่  แต่ผ่านมาก็หลายปีก็ยังไม่เคยได้ไปจริง ๆ เสียที
   เมื่อเร็ว ๆ นี้อากาศยังดีอยู่ มีแดดและอุณหภูมิก็อุ่น  แต่อยู่ดี ๆ อุณหภูมิก็ตกวูบเอาดื้อ ๆ อากาศเริ่มเย็นและฝนก็ตก  เลยนึกถึงการเก็บเห็ดขึ้นมา  เพราะเคยอ่านเจอว่าเห็ดชอบอากาศอุ่นและชื้น คาดว่าเห็ดคงจะโผล่ขึ้นมาเยอะแยะในหลายภูมิภาคในประเทศเยอรมัน  จำได้เลา ๆ ว่าเดือนกันยายนและตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการเก็บเห็ด  ไปทำบุญที่วัดก็เจอเห็ดขึ้นโต๊ะ ได้ความว่าเป็นเห็ดที่สาว ๆ ไปเก็บจากในป่าเอามาถวายพระ  ก็ยังเตือนว่าให้ระวัง  เพราะในหนังสือพิมพ์มีข่าวน่าเศร้าให้ได้อ่านกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับจำนวนการแพ้เห็ดพิษที่สูงขึ้น ล่าสุดตามรายงานของศูนย์กลางข้อมูลด้านพิษของภาคเหนือที่ Göttingen ซึ่งในประเทศเยอรมันนั้นมีศูนย์กลางข้อมูลด้านพิษรวม ๘ แห่งด้วยกัน  ลำพังที่ศูนย์ Göttingen ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็มีการสอบถามเกี่ยวกับการแพ้พิษเห็ดแล้วถึง ๘๐ ครั้ง  ที่ศูนย์ที่ Erfurt ถึงกับเกือบ ๙๐ ครั้ง  เจ้าหน้าที่กล่าวว่าที่มันยากก็คือเห็ดที่กินได้มีตัวเหมือนที่เป็นพิษ  โดยที่มันหน้าตาคล้ายคลึงกันมากจนยากจะแยกกันออก  ก็ตรงนี้แหละที่ผู้เขียนหวาดเสียว  จึงยังไม่เคยไปลองเป็นยายฉิมกับเขาเสียที  ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ได้ยกตัวอย่างที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ เห็ด Knollenblätter สีเขียวที่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นเห็ดแชมปิญองและเห็ดจำพวก  Täublingsarten ได้ง่าย ๆ  และหากกินเข้าไปก็สามารถเสียชีวิตได้  เจ้าหน้าที่จึงให้คำแนะนำว่าผู้ที่จะไปเก็บเห็ดมาทำอาหารที่ทุ่งหญ้าและในป่าควรเป็นผู้ที่รู้จักเห็ดดี  กระนั้น แม้แต่ผู้ที่เก็บอยู่เป็นประจำทุกปีจนคิดว่าตัวเองรู้ดีแล้วก็อาจเกิดความข้องใจขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
   กฎเกณฑ์โดยทั่วไปก็คืออย่าไปเก็บเห็ดที่ไม่รู้จัก  ศูนย์กลางข้อมูลด้านพิษเห็นว่าการเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอของการแพ้พิษเห็ดมีเหตุผลว่านอกเหนือจากการขาดความรู้แล้ว ยังเนื่องมาจากการใช้ Apps เกี่ยวกับเห็ดและพิษมากขึ้น  แต่น่าเสียดายที่ Apps เองก็ไม่ได้รู้จักพิษทุกประเภท  โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Regensburg เปิดเผยว่านักท่องเที่ยวและผู้ลี้ภัยประสบกับเห็ดเป็นพิษบ่อยกว่าค่าเฉลี่ย  อาการแพ้เห็ดพิษเป็นกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นทันทีทันใดและรู้ได้ผ่านอาการวิงเวียน เหงื่อแตก คลื่นไส้ อาเจียร และท้องเสีย
   เอ้า สาว ๆ (ที่ต้องบอกเตือนสาว ๆ ก็เพราะว่าจนถึงปัจจุบันไม่เคยได้ยินว่าฝนตกหยิม ๆ ตาฉิมเก็บเห็ด!) จะไปเก็บเห็ดกันให้ม่วนก็ศึกษาดูให้ดีเด้อ ไม่งั้นแทนที่จะม่วนมันจะม้วยเอาง่าย ๆ ไม่อยากอ่านข่าวเจอว่าสาวไทยดับเพราะกินเห็ดเป็นพิษ บอกเลย...

ข้อมูล Sonntag Zeitung

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น