หากสมัยก่อนเราน้ำมูกไหล ไอจาม เสียงแหบแห้ง เจ็บคอ มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ก็แค่อาการติดหวัดหรือไข้หวัดใหญ่แค่นั้น แต่ระหว่างนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันอาจเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อโคโรนาเข้าแล้วก็ได้ กระนั้น ถึงหากมีไข้ ปวดศีรษะและปวดตามเนื้อตามตัวเพิ่มเข้ามาด้วย มันก็ยังคงไม่อาจระบุได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือการติดเชื้อโควิด-๑๙ กันแน่ ลำพังการไม่ได้กลิ่นหรือการไม่รับรู้รสชาติอาหารเป็นอาการที่ค่อนข้างปกติของโคโรนา และในบางรายก็มีอาการท้องเสีย มันจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะตีความอาการได้อย่างถูกต้อง ทางที่ดีที่สุดเราต้องป้องกันตัวเองและเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงเข้าไว้ เพื่อจะได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ทั้งนี้
เภสัชกรก็ได้ให้คำแนะนำในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงและลดภาระของมันไว้ดังต่อไปนี้
- ให้ระมัดระวังทำตามกฎ AHA+L ซึ่งก็ได้แก่ การรักษาระยะห่าง รักษาความสะอาด
สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ่าตัดและควรถ่ายเทอากาศเป็นประจำสม่ำเสมอ
-
ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงความเครียด
- ดื่มเครื่องดื่มให้มาก ๆ (๒ ลิตรต่อวัน)
- บริโภคอาหารให้ครบหมู่และถูกสุขลักษณะ
- สูดอากาศบริสุทธิ์ให้มาก ๆ ตัวอย่างเช่น
ในรูปแบบของการออกไปเดินเล่น
ซึ่งจะกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิตและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค
- ล้างมือเป็นประจำสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการจับมือ
-
รักษาระยะห่างจากผู้ที่เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาโรคทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชน
ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเยอรมันที่ร่วมมือกันกับสถาบัน
Robert-Koch
และศูนย์เพื่อการชี้แจงด้านสาธารณสุข (BZgA) จนถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงหกสัปดาห์แรกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วราว
๓.๓ ล้านครั้ง ประชาชนราว ๑
ล้านคนได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้วด้วย
ซึ่งวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศเยอรมันมีอยู่ด้วยกัน ๓ ตัว ได้แก่
วัคซีนของบริษัท BioNTech/Pfizer ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดให้กับผู้มีวัย
๑๖ ปีขึ้นไป Moderna สำหรับผู้มีวัยตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไป และ AstraZeneca สำหรับผู้มีวัยระหว่าง ๑๘-๒๔ ปี
วัคซีนทั้งสามตัวจะป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปอย่างหนักหนาสาหัส
ตามข้อมูลที่รวบรวมได้
ปฏิกิริยาปกติจากการฉีดวัคซีนที่ได้รับการระบุจากผู้ที่ฉีดแล้ว ได้แก่
- เจ็บที่ตำแหน่งที่ฉีด ๘๐%
- เหนื่อยล้า ๖๐%
- ปวดศีรษะ ๕๐%
- ปวดกล้ามเนื้อ ๓๐%
- หนาวสั่น ๓๐%
- ปวดข้อ ๒๐%
- เป็นไข้ ๑๐%
ซึ่งอาการต่าง ๆ
หลังการฉีดวัคซีนเหล่านี้ไม่ใช่อาการข้างเคียงที่หนัก
หากแต่เป็นสัญญาณว่าระบบภูมิคุ้มกันโรคได้เริ่มต้นทำงานของมัน ดังนั้น มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพที่ท้ายสุดควรนำไปสู่การป้องกันโรคที่เราหวาดกลัว และส่วนใหญ่จะหายไปหลัง ๒๔ ชั่วโมง
ตัวผู้เขียนก็ไม่ได้วิตกกังวลหรือตื่นตระหนกตกใจกับไวรัสจนเกินเหตุ
เชื่อว่าถ้าเราปฏิบัติตามข้อแนะนำต่าง ๆ ข้างต้น ก็น่าจะรอดตัวไปได้
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามนุษย์ป้าที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดูจะไม่ค่อยเกรงกลัวเชื้อโรคกันเลย
ยังคงเข็นรถเดินเพ่นพ่านเกะกะขวางทางชาวบ้านในซูเปอร์มาร์เกต เบียดแทรกตามอำเภอใจ
ที่พบบ่อยคือการยืนปักหลักคุยกัน ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม และมนุษย์เพศชายทั้งหลาย
(ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นผู้ชายทุกทีสิน่า) ที่ชอบไอจามโดยไม่ปิดปากจมูก ถ้าชาวบ้านจะแตกกระเจิงกันไปคนละทางก็อย่าแปลกใจไปเลย
ก็มันน่ารังเกียจน่ะนายจ๋า ไม่มีกระดาษทิชชูก็ไอจามใส่ข้อพับแขนโน่น ปัทโธ่
ข้อมูล Aachener
Nachrichten
เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น