วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เลือดหวาน?

     อากาศเริ่มอุ่นขึ้น อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งผู้เขียนไม่ชอบเท่าใดนัก นอกจากเรื่องอุณหภูมิที่สามารถร้อนจนไม่สบายตัวแล้ว ยังตามมาด้วยยุงที่ชอบมากัดเสียจริง อยู่ด้วยกันสองคน ทำไมโดนกัดอยู่คนเดียวละเนี่ย คุณฝาชีชอบแซวว่าเลือดยูหวานอ่ะดิ จริงเหรอที่เป็นเพราะ “เลือดหวาน” บางคนจึงโดนกัดมากกว่าคนอื่น ๆ คำตอบที่เพิ่งอ่านเจอมาคือ “ไม่จริง” นะท่านผู้ชม

    Rickard Ignell จากมหาวิทยาลัยเพื่อการเกษตรที่ประเทศสวีเดนได้ทำการวิจัยมานานกว่า ๒๐ ปีเกี่ยวกับหัวข้อนี้ และได้รายงานว่าตามจริง ยุงชอบกัดมนุษย์บางคนมากกว่าคนอื่น ๆ จริง ตามการศึกษาหลายชิ้นผู้ที่มีเลือดกรุ๊ป O จะถูกกัดบ่อยที่สุด เหตุผลไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ที่แน่นอนคือยุงตระหนักถึงกลุ่มเลือดผ่านสัญญาณทางเคมีของผิวหนัง แล้วเรื่องเลือดหวานล่ะ ? Marc Schetelig ศาสตราจารย์ด้านไบโอเทคโนโลยีแมลงจากมหาวิทยาลัย Gießen ชี้แจงว่ายุงสามารถรับรู้รสหวาน Ignell เองก็ยืนยันด้วยว่า ยุงมีการรับรู้เรื่องรสชาติและสามารถรับรู้รสเกลือได้ด้วย แต่การรับรู้เรื่องรสชาตินี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับว่ายุงชอบรสหวานหรือรสเค็ม นอกจากนั้น แม้ว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดของมนุษย์คนหนึ่งจะขึ้น ๆ ลง ๆ และแตกต่างกันจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่ายุงชอบกินเลือดที่มีระดับน้ำตาลสูงกว่า โดยยังไม่คำนึงถึงว่ายุงสามารถรับรู้รสเลือดได้ก็ตอนที่กัดแล้ว ซึ่งก็ช้าไปเสียแล้ว ปริมาณกลูโคสในเลือดจึงไม่มีบทบาทใด ๆ

    แต่อะไรล่ะที่ล่อยุงให้มากัดเรา สิ่งที่ยุงต้องการจากเราไม่ใช่เรื่องรสชาติ หากแต่เป็นไขมันและเหล็ก ซึ่งจำเป็นสำหรับยุงตัวเมีย เพื่อให้ไข่ของยุงสามารถสุกได้ ดังนั้น จึงเป็นเพียงยุงตัวเมียเท่านั้นที่กัดเรา ตามข้อมูลของ Ignell คาร์บอนไดออกไซด์ที่เราทุกคนหายใจออกไปเป็นตัวล่อยุง และความอบอุ่นของร่างกายเป็นสิ่งที่ยุงก็ชอบด้วย รวมทั้งความชื้น และกลิ่นของเคมีบนผิวหนัง ตัวอย่างเช่น กรดแลคติค ผู้ที่เพิ่งไต่ขึ้นบันไดมาผิวหนังจะชื้น หายใจออกมากกว่าและบางทีก็อาจจะอุ่นกว่าด้วย เนื่องจากเพิ่งใช้กำลังมา ยุงก็ค่อนข้างจะกัดคนนี้มากกว่าคนอื่น Ignell กล่าวว่ายุงได้กลิ่นเราตั้งแต่จากระยะห่างสิบเมตร (แต่บางทีก็อาจจะถึง ๕๐ เมตร ความรู้เรื่องนี้มีความขัดแย้งกันอยู่)

    สำหรับมนุษย์ที่ยุงชอบมากัดมีความหวังเล็ก ๆ อยู่ ตามที่ Jürgen Kappert ได้กล่าวไว้ เขาเป็นนักวิจัยด้านแมลงที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแมลงทั้งหมดที่มีปีกสองข้าง ซึ่งก็รวมถึงยุงด้วย เขามีความเห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไประบบภูมิคุ้มกันโรคจะค่อย ๆ เคยชินกับพิษบางชนิด มันสามารถเรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อโดนกัดบ่อย ๆ ปฏิกิริยาก็จะลดลง

    สรุปคือไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดยืนยันได้ว่า “เลือดหวาน” เป็นตัวล่อยุง แต่มันกลับมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เอ้า แล้วทำไมตูถึงจำเพาะต้องมามีเลือดกรุ๊ปโอกับเขาด้วยละเนี่ย อยู่ดี ๆ ก็เจอแจ็คพ็อตซะงั้น งุ้ย

ข้อมูล Zeitung am Sonntag


เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น