วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

น้ำตาลคือมารร้ายจริงหรือ ?


          เอาจริง ๆ ผู้เขียนเป็นคนชอบกินของหวาน ๆ มาก เรียกว่าระหว่างของคาวและของหวานถ้าต้องให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถตัดสินใจได้ทันใดไม่ต้องใช้ความคิดก่อนเลย  วัน ๆ นั่งอยู่ดี ๆ ก็จะลุกไปหาขนมกิน  ทั้งที่ไม่ได้หิว กินเพราะความอยากมากกว่า ยิ่งกินก็ยิ่งมัน ก็กินวนไปอย่างนี้วันละหลายรอบ  ทั้งที่รู้ว่าน้ำตาลนั้นเป็นหนึ่งในตัวร้ายที่ทำลายสุขภาพ  คนรอบข้างก็ขยันขู่ว่าระวังเถอะ ขืนกินอย่างนี้อีกหน่อยก็ไม่พ้นเป็นเบาหวาน  เออนะ ใครที่ชอบกินขนมเหมือนกันคงรู้ว่าการให้เลิกกินของชอบนี่มันไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ ก็ให้สงสัยว่าขึ้นชื่อว่าน้ำตาลนี่มันแย่ขนาดนั้นจริง ๆ หรือ หรือว่ายังมีอะไรอื่นที่มากกว่านั้น ตั้งสมการแล้วก็ต้องไปหาคำตอบกันสินะ
          หลังจากอ่าน ๆ ไปก็ได้ความมาว่าการกินขนมจุบจิบนั้นมันทำให้มีความสุขแค่ช่วงสั้น ๆ ไม่ได้ทำให้อิ่ม  แต่ถึงกับไปกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้นอีก  ต้นเหตุก็มาจากน้ำตาลที่อยู่ในขนมนั่นเอง  ภาพลักษณ์ของมันนั้นยิ่งกว่าไม่ดี  ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว  ผู้ที่กินน้ำตาลเยอะและเคลื่อนไหวร่างกายน้อยจะตกอยู่ในอันตรายที่จะน้ำหนักเกินหรืออ้วนเผละผละเอาง่าย ๆ  และผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่าโรคภัยอื่น ๆ ก็เป็นผลมาจากการบริโภคน้ำตาลมากไป ศาสตราจารย์ Johannes Georg Wechsler แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ภายในที่ München และประธานสมาคมแพทย์ด้านการบริโภคเยอรมัน (BDEM) กล่าวว่าน้ำตาลเมื่อเชื่อมโยงกับการขาดการเคลื่อนไหวและระดับอินซูลินสูงสามารถนำไปสู่การสะสมในเส้นโลหิต ซึ่งเพิ่มอันตรายสำหรับหัวใจวายหรือเส้นโลหิตแตกได้  แต่..อ้า อันนี้สำคัญ แต่ไม่ได้หมายความโดยอัตโนมัติว่าน้ำตาลแย่  คุณหมอยังกล่าวต่อไปด้วยว่าน้ำตาลเป็นตัวให้พลังงานที่สำคัญ  Susanne Umbach จากศูนย์ผู้บริโภคแคว้นไรน์ลันด์-ฟัลซ์ก็มีความเห็นคล้ายคลึงกัน  โดยกล่าวว่าอาหารเป็นการเสพสุข  สำหรับคนจำนวนมากรวมถึงขนมหวานด้วย  เช่นเดียวกับของหลาย ๆ อย่างมันขึ้นกับปริมาณที่ถูกต้องต่างหาก  อ้าว อ่านถึงตรงนี้ก็ต้องอยากรู้ต่อไปว่าแล้วปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมคือเท่าใดกันล่ะ  คำตอบได้มาจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  ซึ่งคำแนะนำของ WHO นั้น สมาคมเพื่อการบริโภคเยอรมัน (DGE) ร่วมกับสมาคมโรคอ้วนเยอรมัน  (DAG) และสมาคมเบาหวานเยอรมัน (DDG) ก็ได้เข้าร่วมด้วย  โดยการกินน้ำตาลแต่ละวันไม่ควรมากเกินกว่า ๑๐% ของพลังงานที่เรารับเข้าไปรวมกัน  ตัวอย่างเช่น หากปริมาณพลังงานที่กินเข้าไปต่อวันมีจำนวน ๒,๐๐๐ กิโลแคลอรี (kcal) ปริมาณน้ำตาลก็ไม่ควรเกิน ๕๐ กรัม หรือราว ๑๐-๑๒ ช้อนชา ฮูเร สบายละเรา ไม่เคยกินถึงขนาดนี้เสียที  แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งดีใจไปล่วงหน้า
          ปริมาณที่ว่านี้เขาหมายถึงน้ำตาลที่เรียกว่า “Freien Zucker” ได้แก่ น้ำตาลที่ใส่เข้าไปในอาหารและเครื่องดื่ม แต่ก็หมายถึงน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในน้ำผึ้ง น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ด้วย  แต่ไม่รวมถึงน้ำตาลในผลไม้และผัก  กระนั้น การค้นพบน้ำตาลบ่อย ๆ ก็ไม่ได้ง่าย  Antje Gahl โฆษกของ DGE กล่าวว่านอกเหนือจากเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ที่สามารถเห็นได้ชัดเจน  ในอาหารที่คนเราไม่ได้คิดว่าจะมีน้ำตาล บ่อย ๆ ก็มีน้ำตาลแอบซ่อนอยู่  ตัวอย่างก็เช่น ซ้อสต่าง ๆ น้ำสลัด อาหารสำเร็จรูปหรือดิป ฯลฯ  ตามข้อมูลของ DGE การศึกษาหลากหลายแสดงว่าสตรี บุรุษและเด็ก ๆ กินน้ำตาลมากกว่าที่แนะนำอย่างชัดเจน  ระหว่างที่สตรีในวัยระหว่าง ๑๕-๘๐ ปีกินน้ำตาลราว ๑๔% ของพลังงานทั้งหมดที่กินเข้าไป  ในบุรุษมีจำนวน ๑๓%   ทำให้สตรีกินน้ำตาลเฉลี่ย ๖๑ กรัมต่อวัน  ส่วนบุรุษ ๗๘ กรัม  เด็กและเยาวชนกินน้ำตาลเข้าไปถึง ๑๗.๕%  ซึ่งมากเกินไป  Gahl กล่าวว่าการบริโภคน้ำตาลต้องลดลงอย่างน้อย ๒๕% เพื่อไม่ให้เกินปริมาณที่แนะนำ
กระนั้น แม้แต่ผู้ที่ไปจับจ่ายซื้อของด้วยความตั้งใจว่าจะกินน้ำตาลให้น้อยลงก็ตกหลุมพรางบ่อย ๆ  Umbach กล่าวว่าอาหารที่คิดว่าถูกสุขลักษณะบ่อยครั้งก็เป็นระเบิดน้ำตาลดี ๆ นี่เอง  โดยยกตัวอย่างโยเกิร์ตผลไม้  และบางคนบางทีตั้งใจจะกินน้ำตาลให้น้อยลง  แต่ก็ไม่สามารถทำได้  เนื่องจากมีความอยากของหวานหนักมาก  พอเลิกกินก็มีปฏิกิริยาไม่สบายตัวและอารมณ์เสียง่าย Umbach กล่าวว่าพฤติกรรมดังกล่าวสามารถเป็นอาการของการเสพติดได้  แต่ข้อดีคือ คนเราสามารถสร้างอิทธิพลและฝึกรสชาติอาหารของตัวเองได้  ด้วยความตั้งใจจริงและความมีวินัยก็สามารถเคยชินกับการกินของหวานลดลงได้  ตัวอย่างเช่น แทนที่น้ำหวานหรือน้ำอัดลมด้วยการกินน้ำเปล่าหรือชาที่ไม่ใส่น้ำตาล  ช่วงเริ่มต้นอาจจะใส่น้ำตาลแค่ก้อนเดียวแทนที่จะเป็นสองก้อนอย่างแต่ก่อน  Umbach กล่าวอีกว่ายามใดยามหนึ่งเราจะเริ่มรู้สึกว่าของที่ใส่น้ำตาลมากหวานเกินไปและหลีกเลี่ยงการกินของชนิดนั้น ๆ ข้อแนะนำต่อไปสำหรับการลดน้ำตาลก็คือ ผู้ที่ต้องการกินโยเกิร์ตผลไม้ที่ใส่น้ำตาลให้ได้ ก็ให้ลองผสมด้วยโยเกิร์ตธรรมดาดู  ก็จะได้โยเกิร์ตปริมาณมากขึ้นด้วยปริมาณน้ำตาลน้อยลง  ในการอบขนมเค้กก็สามารถใช้น้ำตาลน้อยลงกว่าที่ระบุในวิธีทำ  เค้กหลายอย่างก็ออกมาอร่อยดีแม้จะใส่น้ำตาลน้อยลง  ที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือหากจะผสมน้ำตาลในบางสิ่งบางอย่าง เช่น ลูกเบอร์รีสด ก็ไม่ควรโรยน้ำตาลง่าย ๆ จากในถุงเลย  มันจะดีกว่าหากใช้ช้อนหรือที่โรย  เพราะกำหนดจำนวนน้ำตาลได้แน่นอนกว่า
          เอ้า หลายอย่างผู้เขียนก็ทำอยู่แล้ว เช่น การลดน้ำตาลจากเดิมสามช้อนเหลือสองช้อนพร่อง ๆ หรือดื่มชาไม่ใส่น้ำตาล ไอ้ที่เคยกินเค้กหรือคุกกี้ตะบันก็หันมากินผลไม้แห้งหรือเม็ดทานตะวันอบแห้งแทน โยเกิร์ตธรรมชาติ (ที่แอบผสมแยมและผลไม้แห้ง) แทนโยเกิร์ตผลไม้จากซูเปอร์ อ๊ะ แปลว่าเรามาถูกทางแล้วสิ เบาหวานไม่ต้องมาถามหานะจ๊ะ เราบอกลากันตรงนี้แล้วกัน บาย
หมายเหตุ  น้ำตาลมีชื่อต่าง ๆ กันหลายชื่อ  ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรดูบัญชีส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ อย่างถี่ถ้วน  ส่วนประกอบที่ลงท้ายด้วย …ose หมายถึง ต้องระวัง  เนื่องจากเบื้องหลังชื่อดังกล่าวมีน้ำตาลแอบซ่อนอยู่นะจ๊ะ คุณขา ไม่ว่า Glucose, Dextrose, Fructose, Saccharose หรือ Maltose

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น