วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ฟันภูมิปัญญา


          หายหน้าหายตาไปนาน พอโผล่มาก็ทำให้งงซะอีก ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่าจ่าหัวอย่างนี้ตั้งใจจะสื่อถึงอะไร ฟันที่เป็นคำกิริยา หมายถึง เอาของมีคมเช่นดาบฟาดลงไป หรือที่เป็นคำนาม หมายถึง กระดูกเป็นซี่ๆ อยู่ในปากสำหรับกัด ฉีกเคี้ยวอาหาร ฯลฯ (ความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) แล้วมันเกี่ยวกับภูมิปัญญาตรงไหน ทายกันถูกหรือเปล่าเอ่ย อะ เฉลยก็ได้ ที่จะพูดถึงวันนี้คือฟันกรามในปากของคนเรานี่แหละ ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า “Weisheitszahn“ แปลตรงๆ ตัวได้ว่า “ฟันภูมิปัญญา”  เล่นเอาฟังดูภูมิฐาน เหมือนฟันวิชาการอย่างไรพิกล
          เคยมีคนช่างสงสัยถามคุณหมอฟันว่าชื่อแปลกๆ นี้ได้แต่ใดมา  คุณหมอก็เฉลยให้ฟังว่าปกติฟันกรามเหล่านี้โดยทั่วไปจะงอกออกมาในวัยผู้ใหญ่  ในหลายวัฒนธรรมวัยของคนเราจะเทียบเท่ากับปัญญาความรอบรู้ นัยว่ายิ่งแก่ตัวขึ้นก็จะฉลาดรู้รอบขึ้น  คนไข้ช่างสงสัยก็ยังไม่หายอยากรู้ว่าฟันภูมิปัญญานี่มันมีจำนวนเท่าใดกันแน่  ทำไมบางคนมีสองซี่ บางคนสี่ซี่และบางคนก็ไม่มีเลย  คุณหมอผู้มีความอดทนก็อรรถาธิบายต่ออย่างใจเย็นว่าตามปกติคนเราจะมีฟันกรามสี่ซี่  แต่ละซี่จะอยู่ตรงปลายสุดของแถวฟันแต่ละแถว  บางคนก็อาจจะขาดไปหนึ่งหรือหลายซี่  ซึ่งก็เป็นแต่กำเนิดและบ่อย ๆ ที่เป็นพันธุกรรม  คำศัพท์วิชาการเรียกว่า “Hypodontie  ซึ่งก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าพันธุกรรมทำให้มีฟันมากขึ้นกว่าปกติ  ตรงนี้ทันตแพทย์จะเรียกว่า “Hyperdontie  นอกจากนั้น ๒๐-๒๓% ของประชากรไม่มีฟันภูมิปัญญา
          คำถามต่อมาคือควรหรือไม่ควรถอนกันแน่  อันนี้ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนลูกสาวอยากจะถอน  เอาละสิ งั้นก็ต้องหากรรมการมาช่วยตัดสิน  ในกรณีจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากทันตแพทย์นั่นเอง  คุณหมอซึ่งน่าจะเจอกับคำถามนี้บ่อยมากๆ ก็ยังอุตส่าห์อดทนอธิบายให้ฟังว่าหากมันงอกออกมาปกติและไม่มีปัญหาอะไรโดยทั่วไปก็ไม่ต้องถอนออก แต่เนื่องจากมันอยู่ข้างหลังไกลมากและสภาพพื้นที่ที่แย่บางครั้งก็ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ดีเพียงพอ  จึงทำให้ฟันเหล่านี้เกิดอาการผุได้ง่าย  ซึ่งหากไปมีผลกระทบกับประสาทฟันก็ต้องถอนฟันซี่นั้นๆ ออก  เช่นเดียวกับหากมีพื้นที่ให้ฟันงอกไม่เพียงพอและอาจไปทำให้ฟันในบริเวณใกล้เคียงมีปัญหาหรือหากฟันภูมิปัญญาของเรานอนเอียงเค้เก้อยู่ ทำให้งอกออกมาอย่างธรรมดาโดยไม่มีปัญหาไม่ได้  ในกรณีนี้ส่วนใหญ่มักจะยังอยู่ในกราม จึงต้องทำการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาออก  คุณหมออธิบายต่อไปอีกว่าก็เหมือนกับการถอนฟันซี่อื่นๆ ที่หลังการผ่าสามารถมีเลือดออก แผลติดเชื้อหรือมีปัญหาการรักษาแผล  ระหว่างการผ่าตัดก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการทำลายโครงสร้างที่แวดล้อมอยู่หรือฟันที่อยู่ข้างๆ  ในฟันภูมิปัญญาของฟันแถวล่างในบางกรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเส้นประสาทฟันแถวล่างอาจได้รับบาดแผลได้  ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกชาด้านในบริเวณนี้  คุณหมอจึงให้คำแนะนำว่าเพื่อลดความเสี่ยงนี้ควรทำเอ็กซเรย์แบบสามมิติก่อนการถอน
          เอาๆ งั้นจะรออะไร นัดตรวจเลยสิจ๊ะ ซึ่งหลังการตรวจและปรึกษาหารือกันแล้ว คุณหมอแนะนำให้ (อดีต) สาวน้อยของผู้เขียนนัดผ่าออกสองซี่บนล่างของซีกซ้าย เพื่อจะใช้ข้างขวาเคี้ยวอาหาร พอแผลหายแล้วค่อยไปผ่าอีกสองซี่ที่เหลือของซีกขวา เอ้า นี่ไปเอามาจากไหนเยอะแยะ เพราะในกรณีของผู้เขียนเองนั้นน่าจะเป็นจำพวก “Hypodontie” เสียมากกว่า  หลังการผ่าก็ไม่ต้องพูดถึงแก้มตุ่ยเหมือนคนเป็นคางทูมกันเลยทีเดียว  แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาแทรกซ้อนอะไร  นอกจากกินอาหารลำบาก กินได้แต่ของเหลวที่ไม่ต้องเคี้ยว การผ่าตัดครั้งที่สองก็เป็นไปด้วยดี ตอนนี้กลับมาเป็นปกติแล้วจ้า จบข่าว

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น