วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

มารยาทดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

        มารยาทนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ว่าระหว่างสมาชิกครอบครัวด้วยกันเอง กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าก็ตาม   Linda Kaiser ผู้ฝึกสอนมารยาททางธุรกิจและรองประธานสมาคมมารยาทเยอรมัน (DKG) ที่ Essen ได้กล่าวไว้ว่ามารยาทที่ดีในสังคมมนุษย์สำคัญเพียงไรนั้น  เราจะรู้สึกได้อย่างช้าที่สุดยามที่เผชิญเข้ากับตัวเองว่าพฤติกรรมที่แย่ ๆ ของผู้อื่นก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเราเช่นไร เธอได้ยกตัวอย่างบางสถานการณ์ว่าควรวางตัวอย่างไรจึงถือเป็นมารยาทที่ดี
-   ในการทักทาย  Nadine Mayden ผู้ฝึกสอนมารยาทจากเบอร์ลินแนะนำว่าในการทักทายกัน  ทั้งสองฝ่ายต้องสบตากัน  ซึ่งแสดงถึงความนับถือและใส่ใจ  Thomas Martin Koeppl ผู้ฝึกสอนมารยาทจาก Rinchnach แนะนำให้ระมัดระวังในการยื่นมือให้ผู้อื่น  เขากล่าวว่าโดยพื้นฐานแล้วให้รอจนกว่าผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือวัยสูงกว่ายื่นมือให้ก่อน  ที่ควรใส่ใจเช่นกันคือการบีบมือ  ไม่ควรเบาเกินไปหรือแน่นเกินไป  ในฐานะเจ้าภาพควรยื่นมือให้แขกก่อน
-     ในการทำความรู้จักกัน  หากไปงานปาร์ตีแล้วรู้ว่าแขกบางคนไม่รู้จักกันก็ควรช่วยแนะนำให้เขารู้จักกัน  ผู้ที่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกันก็ควรแลกเปลี่ยนถ้อยคำที่เป็นมิตรกันสองสามคำ  Mayden เน้นว่าบทสนทนาดังกล่าวต้องอาศัยความรู้สึกละเอียดอ่อนมาก  โดยไม่ควรตั้งคำถามที่เป็นส่วนตัวเกินไปกับคู่สนทนา  ที่ต้องระวังก็เรื่องการพูดจากสนิทสนมเกินไปด้วยการใช้คำว่า “Du” (DuzenKaiser กล่าวว่าไม่ควรใช้คำนี้กับใครง่าย ๆ โดยพื้นฐานผู้สูงวัยกว่าสามารถเสนอต่อผู้อ่อนวัยกว่า หัวหน้างานต่อลูกน้อง รวมทั้งผู้หญิงต่อผู้ชาย ให้ใช้คำว่า “Du
-    ที่โต๊ะอาหาร  อย่างน้อยควรตั้งโทรศัพท์มือถือไม่ให้ส่งเสียงดัง  Kaiser เน้นว่าเป็นเครื่องหมายบ่งบอกการให้เกียรติและให้คุณค่าของผู้ร่วมรับประทานอาหารอื่น ๆ ในโต๊ะ  หากในสถานการณ์เฉพาะบางสถานการณ์ต้องเปิดโทรศัพท์และเครื่องสั่น ก็ควรกล่าวคำขอโทษและลุกจากโต๊ะ  เพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่น  ที่สำคัญด้วยคือการใช้ผ้าเช็ดปากอย่างถูกต้อง  เธอกล่าวว่าผ้าเช็ดปากมีไว้แตะซับปาก ไม่ใช่เช็ด  ระหว่างการกินอาหารให้วางผ้าเช็ดปากไว้บนตัก  หลังกินอาหารเสร็จแล้วให้พับลวก ๆ แล้ววางไว้ทางซ้ายมือใกล้จานอาหาร
-   ในที่ทำงาน  Koeppl ชี้แจงว่าการให้เกียรติ ความเกรงอกเกรงใจ และพร้อมให้ความช่วยเหลือทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในเหตุการณ์ประจำวันในที่ทำงานง่ายขึ้น  ซึ่งรวมถึงว่าไม่ซุบซิบนินทาลับหลังเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน  Kaiser เน้นว่าเป็นเรื่องไร้มารยาทหากพรวดพราดเข้าหาหัวหน้างานด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่ควรพูดกับเลขาหน้าห้องว่าต้องการนัดสนทนา  ผู้ที่ทำงานในห้องทำงานใหญ่ร่วมกับผู้อื่นควรระวังไม่รบกวนผู้ร่วมงานด้วยการพูดโทรศัพท์เสียงดัง  Meyden เสริมว่าการนำอาหารที่ส่งกลิ่นแรงก็ต้องห้ามด้วย
-   ในการจับจ่ายซื้อของ  รถเข็นไม่ควรจอดขวางตรงกลางทางเดินระหว่างชั้นวางของในซุปเปอร์มาร์เก็ต  แต่จอดข้างทาง เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเดินผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหา  หากเห็นว่าคนตัวเล็ก ๆ มีปัญหาในการหยิบผลิตภัณฑ์ที่อยู่ชั้นบนของชั้นวางของก็ควรเสนอความช่วยเหลือ  ตามถ้อยคำของ Koeppl ผู้ที่ซื้อของเต็มรถควรให้ผู้ที่ยื่นรอต่อที่มีของเพียงสองสามชิ้นได้ชำระเงินก่อน  เป็นการแสดงความเกรงใจผู้อื่น  ในทางกลับกันเราก็คงดีใจเช่นกัน หากใครปฏิบัติกับเราเช่นนี้
-    ผู้ให้บริการ  ควรแสดงการให้เกียรติ และให้คุณค่าต่องานของผู้ให้บริการ เช่น ช่างตัดผม ช่างแต่งหน้า หรือพนักงานทำความสะอาด ฯลฯ ให้เขารู้สึกได้อย่างชัดเจน  Kaiser กล่าวว่าที่สำคัญคือปรากฎตัวตรงเวลาที่นัดหมายได้  เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถรักษานัดหมายที่ตามมาได้  ที่มารยาทไม่ดี ได้แก่ มารับการนวดโดยไม่อาบน้ำมาก่อน  ซึ่งสามารถนำกลิ่นไม่ดีมาด้วย  Meyden กล่าวว่าไม่ควรให้ฟีดแบ็คเฉพาะเพียงยามมีอะไรให้บ่นว่า  หากแต่เวลาทุกฝ่ายเป็นไปด้วยดีด้วย
-    ในการร่ำลา  Kaiser กล่าวว่ามันไม่ใช่เรื่องโบร่ำโบราณหากช่วยสตรีสวมเสื้อคลุม  ในทางทฤษฎีสตรีก็สามารถช่วยบุรุษได้ด้วย  แต่ในกรณีส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลดี  เธอแนะนำว่าไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ หากรู้สึกไม่สะดวกใจในการได้รับความช่วยเหลือก็ควรบอกอย่างเป็นมิตร  ที่ไม่ล้าสมัยเช่นเดียวกันก็ได้แก่ การจับประตูไว้ให้ผู้อื่น  ที่ควรระวังก็ได้แก่ การสวมกอดในการร่ำลา  Koeppl ชี้แจงว่าควรทำเพียงหากรู้จักกันดีและเป็นเพื่อนกันเท่านั้น

เอิ่มมมม... เห็นไหมว่าการมีมารยาทดีไม่ใช่เพียงแค่การกล่าว “ขอบคุณ” “ขอโทษ” และ “ได้โปรด” ฯลฯ เท่านั้น  แต่มีรายละเอียดและความซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและการสังเกตสังกาพอสมควรทีเดียว แต่ก็ไม่ยากเกินการเรียนรู้เนอะ โดยเฉพาะพวกเราคนไทยมียิ้มสยามเป็นอาวุธประจำตัวก็ไม่ต้องกลัวอะไรอยู่ล้าว

ข้อมูล  Aachener Zeitung

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น