วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วันปิยมหาราช

        เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต  เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์และมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า 
        ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวันที่รำลึกสำคัญของชาติ เรียกว่า “วันปิยมหาราช” และต่อมาให้เป็นวันหยุดราชการ  เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมาเป็น “กรุงเทพมหานคร” ร่วมกับกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น “สำนักพระราชวัง” ได้จัดตบแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งราชวัติฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคมไฟ ถวายเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
        พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์
พระราชประวัติ
        พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖  เป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี)  ขณะพระชมมายุได้ ๙ พรรษาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “กรมหมื่นพิฆเนศวงสุรวังกาศ”  ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “กรมขุนพินิจประชานาถ”    ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑  และพระราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” 
        เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง ๑๖ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระมหาอุปราช  ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น  โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบองและวิชาวิศวกรรม  ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ๒ ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย ๑ ครั้ง  การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย  แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ขาวยุโรปนำมาใช้ปกครองประเทศเมืองขึ้นของตน  เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น  ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานที่ใช้ยืนและนั่งตามโอกาสอันควร  ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน
        เมื่อพระชนมพรรษาบรรลุพระราชนิติภาวะได้ผนวชเป็นเวลา ๒ สัปดาห์  แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖  และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน  ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข  บำบัดอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถดำรงเอกราชได้ตราบจนทุกวันนี้

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชนพรรษา ๕๘ พรรษา ครองราชสมบัตินานถึง ๔๒ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น