วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563

ชักหน้าไม่ถึงหลัง


   เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ “ต้นเดือนกินเหลา ปลายเดือนกินมาม่า” หรือถ้าตามสำนวนไทยสมัยก่อนก็คืออาการ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ที่ให้ภาพที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดีจริง ๆ มาแล้ว  เพิ่งมกราคมเดือนแรกของปีอาการนี้ก็มาเกิดกับใครหลายต่อหลายคน  เนื่องจากในช่วงเทศกาลควักกระเป๋าซื้อของขวัญของนู่นของนี่ไปเสียเยอะ  พอมาเจอเข้ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นปีแบบประกันภัยและอื่น ๆ เข้าให้ บัญชีธนาคารนี่แทบจะโบ๋กันเลยทีเดียว  ผู้เขียนเคยมีคนรู้จักที่เปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลที่ว่าอยากให้มีเงินเหลือเก็บ ไม่ใช้จ่ายสุรุยสุร่าย  ฟังแล้งงงว่าแล้วเกี่ยวกับชื่อตรงไหน  ง่ายที่สุดเลย คือ เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองและทำตามคำแนะนำของคนที่เขาประสบความสำเร็จ ร่ำรวยเป็นเศรษฐีเงินล้านกันดีกว่าไหม 
     แรกเริ่มเลยคือการยับยั้งชั่งใจและการไตร่ตรองให้ดีก่อน ไม่ใช่ว่าเดินไปเห็นเสื้อสวยรองเท้าเปรี้ยวถูกใจก็คว้ามา  การซื้อแบบสายฟ้าแล่บแบบนี้แลที่ทำให้กระเป๋าเบาโหวงกันมาแล้วนักต่อนัก  เครื่องมือง่าย ๆ ก็คือกลับไปนอนคิดดูใหม่ก่อนสักคืน  คำนวณดูด้วยก็ดีนะ ว่าต้องทำงานนานกี่ชั่วโมงกี่วันถึงจะได้เงินก้อนนี้มา  และที่เขาว่าช่วยได้มากเลยก็คือ การจ่ายเงินสด 
เนื่องจากการศึกษาได้แสดงแล้วว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงได้ถึง ๕๐%  หากควักเงินผ่านมือไปโดยตรง  อันนี้ต้องเอาคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาอ้าง คุณ Korina Dörr หัวหน้าสำนักงานให้คำปรึกษาด้านเงินและงบประมาณ เธอแนะนำว่าโดยทั่วไปเราต้องเพ็งเล่งการบริโภคส่วนตัวให้ดี  เพราะประชาชนส่วนใหญ่(ซึ่งก็รวมถึงตัวเราด้วย)ไม่สามารถเพิ่มรายได้ของตนเองได้ง่าย ๆ  จึงควรดูรายจ่ายให้ถี่ถ้วนและหลีกเลี่ยงเรื่องไม่จำเป็น 
คำแนะนำของเธอคือ ให้แบ่งรายจ่ายทั้งหมดออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ “จำเป็น” “เพื่อความรื่นรมย์” และ “ฟุ่มเฟือย”   เสร็จแล้วแต่ละเดือนก็กำหนดงบประมาณประจำเดือนที่แน่นอนสำหรับแต่ละกลุ่ม  ด้วยวิธินี้ทำให้เราใช้จ่ายอย่างมีจิตสำนึก จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังและสามารถประหยัดได้ง่ายขึ้น 
     นอกจากนั้น เพื่อให้สามารถมองการเงินส่วนตัวได้ทั่วถึงขึ้นกว่าเดิม  มันคุ้มค่าที่จะทำบัญชีงบประมาณ  ผู้ที่รู้ว่ามีเงินเข้ามาเท่าใดและใช้จ่ายออกไปเท่าไหนจะตระหนักในระยะเวลาสั้น ๆ ว่าตรงไหนที่ควรจะใช้ให้น้อยลง  ตรงนี้มีที่ให้สั่งสมุดบัญชีแบบเป็นเล่มได้ฟรีในเพจ www.geld-und –haushalt.de หรือภายใต้หมายเลขโทรศัพท์ 030/20455818 ก็ได้  นอกจากนั้นในเพจนี้ยังมีแบบออนไลน์และคำแนะนำอีกหลายประการ สำหรับผู้ทิ่เกิดมีปัญหาด้านการเงินขึ้นมา
    ข้อสุดท้าย การประหยัดเงินสดทำได้อีกหากเรารู้จักเล่ห์กลทางจิตวิทยาในการจับจ่ายซื้อของบางข้อ  ปัจจุบันนี้ทุกคนคงจะรู้กันแล้ว ว่าเราไม่ควรไปซื้อของเวลาหิว ๆ  เพราะเห็นอะไรก็น่ากินไปหมด ลงท้ายเลยกวาดข้าวของมามากเกินต้องการ กินไม่ทันต้องทิ้งอีก  แต่เรื่องของลดราคาก็เช่นกัน  คงเคยเห็นป้ายราคาที่ขีดราคาเดิมทิ้ง ตั้งราคาใหม่หรือปิดป้ายลดราคาแดงโร่หรืออะไรที่ล่อใจอื่น ๆ  อันนี้อย่าหลงกลง่าย ๆ  เพราะบ่อย ๆ ที่มีการใช้ผลกระทบตรงข้าม เช่นว่า ไวน์ราคา ๑๐ ยูโรอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกว่าถูกดีจัง  เพราะใกล้ ๆ กันนั้นราคาขวดละ ๔๐ ยูโร  กระนั้น ก็ไม่ควรให้กลอุบายนี้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของตัวเราเอง
    ดีเนอะ ฟังดูง่ายดี เหมือนว่าจะทำได้ไม่ยาก เอ้า ลองเอาไปใช้กันดูจ้า  แต่ที่แน่ ๆ ง่ายกว่าเปลี่ยนชื่อแน่นอน อันนี้ฟันธง!!!

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น