วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

อย่าเพิ่งรีบทิ้งอาหาร

  ขนมปังที่แข็งแล้ว ผักที่เหี่ยวอยู่ในลิ้นชักตู้เย็น โยเกิร์ตที่โดนทิ้งเพราะเกินวันที่ที่ระบุไว้ว่าดีที่สุดก่อนถึงวันที่ (MDH) นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของกินปกติที่โดนทิ้งอย่างรวดเร็วเกินไปอยู่บ่อย ๆ  ในประเทศเยอรมันแต่ละปีอาหารราว ๗๕ กิโลกรัมต่อผู้อยู่อาศัยถูกทิ้งลงขยะ ทั้งที่ตามการประเมินราวครึ่งหนึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ ตามการคำนวณของศูนย์ผู้บริโภคที่เบอร์ลิน

ตรงนี้สิ่งที่ช่วยได้ก็คือก่อนการออกไปจับจ่ายซื้อของควรสำรวจดูข้าวของที่ซื้อเก็บไว้ก่อน และทำรายการของที่จะซื้อ  Gertraud Huisinga จากศูนย์ผู้บริโภคเบรเมนกล่าวว่าราว ๗๐% ของข้าวของได้รับการซื้อแบบผลีผลาม ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะซื้อแค่ตามรายการที่ทำไว้  เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อที่ไม่จำเป็นหรือการซื้อผิดพลาด  

นอกจากนั้น ศูนย์ผู้บริโภคเบอร์ลินยังแนะนำว่า ขนมปังที่เหลืออยู่ เราสามารถเก็บแช่แข็งได้ และหยิบมากินเท่าที่ต้องการ  แต่การซื้อขนมปังประเภทอื่นก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน  ตามข้อมูลของศูนย์ผู้บริโภคเบรเมน ยิ่งมีสัดส่วนข้าวสาลีสูงเท่าใด ขนมปังก็ยิ่งแห้งแข็งเร็วขึ้นเท่านั้น  ขนมปังที่มีสัดส่วน Roggen (ข้าวไรย์) Vollkorn (โฮลวีท) และ Schrot (ธัญพืชป่นหยาบ) สูงจะเก็บได้นานกว่า

ส่วนผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านพ้นวันที่ที่ระบุไว้ว่าดีที่สุดก่อนวันที่ไปแล้ว นักคุ้มครองผู้บริโภคก็ได้เคยให้คำแนะนำไว้ว่าอย่างแรกเลยคือให้ตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัส หู ตา จมูกของตัวเราเองก่อน  ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงกินได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์หลังเกินวันที่ที่ระบุไปแล้ว Huisinga กล่าวว่า MDH เป็นการให้สัญญาด้านคุณภาพ ไม่ใช่วันที่สำหรับโยนทิ้ง  นอกจากการทดสอบด้วยการมอง ดม และการลองชิมดูแล้ว  เธอยังแนะนำเพิ่มเติมว่าอย่าเขย่ากระป๋องโยเกิร์ตก่อนเปิด  มิเช่นนั้นจะไม่สามารถมองเห็นได้อีกว่าข้างบนมีราขึ้นหรือไม่  นั่นคือให้เปิดฝาอย่างระมัดระวังและตรวจสอบดู

ในส่วนของผักที่เหี่ยวแล้วก็สามารถนำไปอบชีสหรือไปใช้ทำอาหารจากของที่เหลือ ๆ  ตามเมนูที่คิดขึ้นอย่างสร้างสรร 

นับแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้บริโภคจำนวนมากนิยมซื้อของจำนวนมากตุนไว้ แทนการซื้อทีละเล็กทีละน้อยหลายครั้งต่อสัปดาห์  ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม  แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูวันหมดอายุและประสิทธิภาพในการเก็บรักษา  ซึ่ง Johanna Prinz ผู้เขียนหนังสือให้คำแนะนำ “Einfach nachhaltig-umweltbewusst einkaufen, haushalten und leben” ได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่า

-  ให้ซื้อเนยแข็งแบบเป็นก้อน  เพราะมันเก็บไว้ได้นานกว่าแบบแผ่น

-  ผู้ที่ซื้ออาหารกระป๋องควรเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน ๑๙ องศา

-  นอกจากนั้นอาหารกระป๋องที่ซื้อมาใหม่ต้องเก็บไว้หลังกระป๋องที่ซื้อมาก่อนหน้าและอยู่ในตู้ก่อนแล้ว  ซึ่งจะทำให้กินอาหารกระป๋องที่เหลือวันหมดอายุน้อยกว่าก่อนโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี หากยังคงซื้ออาหารมามากเกินไปอยู่ดี ก็สามารถช่วยอาหารเหล่านั้นไม่ให้ต้องจบชีวิตในถังขยะ โดยการใช้ความคิดสร้างสรรและยืดหยุ่น  ตัวอย่างเช่น กล้วยที่ดำแล้วก็เอาไปอบทำขนมเค้กหรือขนมปัง  ผลไม้ที่สุกเกินก็เอาไปทำแยม  ผักที่เหลือใช้เอาไปทำซุปหรือผัดผักรวม ผักอบ ฯลฯ 

นี่คือตัวอย่างแค่ไม่กี่อย่างที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาให้ดู ในความเป็นจริงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มักโดนทิ้งอย่างไม่ไยดี เป็นที่น่าเสียดาย โดยเฉพาะถ้าไปตามวัดไทยในวันที่มีงานบุญ จะเห็นว่าถังขยะนั้นล้นแล้วล้นอีก ส่วนใหญ่เลยคือตักมากินกัน แล้วกินไม่หมด นอกจากจะเป็นภาระที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งแล้ว เป็นเรื่องน่าสะท้อนใจอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงผู้คนที่อดอยากหิวโหยในหลายส่วนของโลก เราไม่สามารถช่วยโลกได้ทั้งใบ แต่ช่วยกันดูแลในส่วนที่เราสามารถทำได้กันเถอะนะ พี่น้อง 

ข้อมูล Aachener Zeitung

เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น