วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

อัลกออิดะห์ในเยเมนประกาศ “ฝรั่งเศส” คือศัตรูอันดับ 1

ผู้นำทางจิตวิญญาณของเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์บนคาบสมุทรอาระเบีย (AQAP) ประกาศให้ฝรั่งเศสคือ “ศัตรูอันดับ 1” ที่เป็นภัยต่อศาสนาอิสลามยิ่งกว่าสหรัฐฯ เมื่อวานนี้(30)
อิบรอฮีม อัล-รูบัยช์ ผู้นำเครือข่าย AQAP ได้เผยแพร่คลิปเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ โดยระบุว่า สหรัฐฯ ได้ “อ่อนกำลัง” ลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และบัดนี้ฝรั่งเศสกำลังก้าวขึ้นมาทำ “สงครามกับอิสลาม” แทนที่อเมริกา
หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ มองว่า AQAP เป็นเครือข่ายที่มีพิษสงร้ายกาจที่สุดของอัลกออิดะห์ในปัจจุบัน
นัสเซอร์ บิน อาลี อัล-อันซี หนึ่งในผู้นำทางความคิดของ AQAP ได้อ้างในคลิปวีดีโอหนึ่งว่า AQAP อยู่เบื้องหลังเหตุกราดยิงสังหารหมู่กองบรรณาธิการนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 7 มกราคม เนื่องจากเคียดแค้นที่สื่อฉบับนี้นำเสนอภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดที่ชาวมุสลิมเคารพนับถือ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลตะวันตกยังไม่ปักใจเชื่อว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เกิดจากคำสั่งของ AQAP โดยตรง เพียงแต่รู้ว่า ซาอิด และ เชรีฟ กูอาชี สองมือปืนพี่น้อง เคยเดินทางไปร่วมต่อสู้กับอัลกออิดะห์ในเยเมน
AQAP ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดยเกิดจากการรวมตัวระหว่างกลุ่มติดอาวุธในเยเมนและซาอุดีอาระเบีย
เมื่อวานนี้(30) รูบัยช์ ยังได้เรียกร้องชาวมุสลิมให้หันมาโจมตีชาติตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส และให้จัดการกับผู้ที่ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดทันที “โดยไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือใครก่อน”
สาขาของอัลกออิดะห์กลุ่มนี้มีฐานปฏิบัติการอยู่ในเยเมน และเคยลงมือก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือความพยายามระเบิดเครื่องบินของสหรัฐฯ ลำหนึ่งซึ่งบินอยู่เหนือรัฐมิชิแกน ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 2009
AQAP ยังออกนิตยสารภาษาอังกฤษเชิญชวนให้ชาวมุสลิมที่มีอุดมการณ์สุดโต่งก่อเหตุโจมตีในต่างประเทศ และระบุรายชื่อบุคคลที่ถูกหมายหัว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ สเตฟาน ชาร์บอนนิเยร์ บรรณาธิการของนิตยสารชาร์ลีเอ็บโด

“กูรูอาวุธเคมี” ของกลุ่ม IS ถูกปลิดชีพในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ

สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมี และเคยทำงานให้กับอดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก ถูกสังหารระหว่างการโจมตีทางอากาศที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (24) เจ้าหน้าที่กองทัพอเมริกันแถลงเมื่อวานนี้ (30)
ปฏิบัติการโจมตีใกล้เมืองโมซุล เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (24) ได้คร่าชีวิตของ อบูมาลิก “ซึ่งได้ช่วยฝึกฝนสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายให้รู้จักถึงศักยภาพของอาวุธเคมี” ถ้อยแถลงจากกองทัพระบุ
ข้อมูลจากกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (Central Command) ระบุว่า มาลิก เคยทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตอาวุธเคมีของรัฐบาลซัดดัม ก่อนจะผันตัวไปเข้าร่วมกับอัลกออิดะห์ในปี 2005 และกลายมาเป็นสมาชิกของกลุ่มไอเอสในที่สุด
“ความตายของเขาอาจเป็นอุปสรรคบั่นทอนเครือข่ายไอเอสไปได้สักระยะหนึ่ง และลดทอนศักยภาพของพวกเขาที่จะผลิตหรือใช้อาวุธเคมีทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์”
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ไม่เคยระบุมาก่อนว่า อบูมาลิก เป็นสมาชิกคนสำคัญของไอเอส
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า นักรบไอเอสครอบครองอาวุธเคมีที่มีอานุภาพร้ายแรง แต่มีเสียงร่ำลือเกี่ยวกับการใช้ก๊าซคลอรีนซึ่งมีคุณสมบัติทำให้สำลัก (choking agent) และไม่อันตรายเทียบเท่าสารพิษทำลายประสาท
อบูมาลิก ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ซอลิห์ ญาซิม โมฮัมเหม็ด ฟาลาห์ อัล-ซาบาวี และ “เคยมีส่วนในการผลิตอาวุธเคมีเมื่อปี 2005 รวมถึงวางแผนโจมตีเมืองโมซุลร่วมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรัก” เจ้าหน้าที่กลาโหมผู้หนึ่งกล่าว
“จากประสบการณ์และการฝึกฝนที่เขาได้รับมา เราเชื่อว่าเขาสามารถผลิตสารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้”
“เราทราบมาว่า กลุ่มไอเอสกำลังพยายามแสวงหาอาวุธเคมี แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าพวกเขาครอบครองมันหรือยัง”
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินออกไปถล่มฐานที่มั่นของไอเอสทั้งในอิรักและซีเรียรวมกว่า 2,000 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยบางครั้งเป็นการมุ่งสังหารแกนนำคนสำคัญ

“โอบามา” เยือนถิ่นภารตะผูกสัมพันธ์ “โมดี” หวัง “อินเดีย” ช่วยคานอิทธิพล “จีน”

นับเป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกเฝ้าจับตารอสำหรับภารกิจเยือนอินเดียครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาในแวดวงการทูตหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การที่นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียแหวกธรรมเนียมไปรอรับผู้นำสหรัฐฯ ถึงลานจอดเครื่องบิน รวมถึงภาพการสวมกอดกันแบบ “หมี” (bear hug) ที่สะท้อนถึงมิตรภาพสุดแนบแน่น และ “เคมีที่เข้ากัน” ระหว่างสองผู้นำชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ของโลก
ใครเลยจะคิดว่า นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นี้เคยติดโผ “บุคคลไม่พึงประสงค์” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามเข้าประเทศ เมื่อไม่ถึง 1 ปีก่อน
หลังจากที่พรรคภารติยะชนตะของ โมดี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 และผลักให้ขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรคองเกรสอินเดียร่วงลงไปเป็นฝ่ายค้าน สหรัฐฯ ก็ไม่รอช้าที่จะลืมประวัติเสื่อมเสียด้านสิทธิมนุษยชนของ โมดี เมื่อครั้งยังเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต และเดินหน้าผูกมิตรกับผู้นำแดนภารตะคนใหม่ทันที
โอบามา เป็นประธานาธิบดีในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษในพิธีสวนสนามฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดที่รัฐบาลอินเดียมอบให้แก่ผู้นำต่างชาติ ในขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ โอบามา ตอบรับคำเชิญของ โมดี แสดงให้เห็นว่า แดนภารตะกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกอย่างน่าจับตามอง และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า โมดี พร้อมที่จะฉีกกรอบปฏิบัติเดิมๆ ของอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยยอมผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจรายใดเป็นพิเศษ
ทั้ง 2 ฝ่ายต่างคาดหวังว่า การพบกันครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง และทำให้อินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง
แม้ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันอย่างสนิทชิดเชื้อ และทำกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น การบันทึกเทปรายการวิทยุและขึ้นเวทีเสวนา แต่ถึงกระนั้น โอบามา และ โมดี ก็ยอมรับต่อบรรดาผู้นำธุรกิจในอินเดียว่า การค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียยังเป็นเรื่องที่เปราะบาง
สินค้าจากอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของมูลค่าสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้าสหรัฐฯ ขณะที่วอชิงตันก็ส่งออกสินค้าไปยังอินเดียได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และแม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่นั่นก็ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนด้วยซ้ำ
โมดี ระบุว่า มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา และรับปากว่าเดลีจะลดทอนมาตรการกีดกันต่างๆ เพื่อปฏิรูปอินเดียให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดในโลก

น้ำมันพุ่งเกือบ $4 หุ้นสหรัฐฯร่วง – ทองทะยานหลัง ศก.มะกันโตน่าผิดหวัง

น้ำมันทะยานเกือบ 4 ดอลลาร์ ในช่วงท้ายของการซื้อขายในวันศุกร์ (30 ม.ค.) หลังพบอุตสาหกรรมพลังงานปรับลดกิจกรรมการสำรวจท่ามกลางราคาที่ตกต่ำ ส่วนวอลล์สตรีทร่วงหนัก และทองคำพุ่งแรง จากข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 3.71 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน เพิ่มขึ้น 3.46 ดอลลาร์ ปิดที่ 52.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากซื้อขายในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน ก่อนฟื้นตัวมากกว่า 4 ดอลลาร์ในช่วงก่อนปิดตลาด
แรงเข้าซื้อกระพือเข้ามาจากหลังข้อมูลของเบเกอร์ ฮิวจ์เผยให้เห็นว่าในสัปดาห์นี้ เหล่าแท่นขุดเจาะที่กำลังปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันในอเมริกา มีจำนวนลดลง 94 แท่น หรือร้อยละ 7 บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อุปทานจะน้อยลงตามไปด้วย “มันเป็นระดับต่ำสุดเท่าที่เคยเห็นมาในรอบ 2 ปี บางทีนี่อาจหมายถึงภาวะอุปทานตึงตัวในอนาคต”
นอกจากนี้แล้ว ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากสัญญาณการปรับลดงบประมาณของบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมพลังงาน หนึ่งในนั้น ได้แก่ เชฟรอน ที่บอกว่าจะตัดลดงบประมาณในโครงการพัฒนาและกิจกรรมการสำรวจน้ำมันลง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ (30 ม.ค.) จบสัปดาห์แห่งความผันผวน ด้วยการดิ่งลงอย่างหนัก จากข้อมูลเศษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐฯและความกังวลต่อข้อมูลเงินเฟ้อในยูโรโซน
ดาวโจนส์ ลดลง 251.90 จุด (1.45 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,164.95 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 26.26 จุด (1.30 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,994.99 จุด แนสแดค ลดลง 48.17 จุด (1.03 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,635.24 จุด
สหรัฐฯเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว พบว่ามีการขยายตัว 2.6% หลังจากที่เติบโต 4.6% และ 5.0% ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ และน้อยกว่า 3.2% ตามที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้
นอกจากนี้แล้ว นักวิเคราะห์ยังชี้ว่าอีกปัจจัยที่ฉุดรั้งวอลล์สตรีท ได้แก่ รายงานภาวะเงินเฟ้อของยูโรโซน หลังพบว่าดัชนีผู้บริโภคในเดือนมกราคมลดลงสู่ 0.6% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อความกังวลว่าภูมิภาคแห่งนี้อาจประสบกับปัญหาเงินฝืด
ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันศุกร์ (30 ม.ค.) พุ่งแรง โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 23.90 ดอลลาร์ หรือร้อยละ 1.9 ปิดที่ 1,278.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

คุก 1 ปี! สาวมหาวิทยาลัยสหรัฐฯถ่ายวิดีโอลามกในห้องสมุด

       เมโทร/เดลิเมล์ – นักศึกษาสาววัย 19 ปี อาจต้องนอนในซังเตนาน 1 ปี ฐานถ่ายวิดีโอลามกลูบไล้ตนเองภายในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย จากนั้นคลิปดังกล่าวก็ถูกโพสต์ลงบนเว็บไซต์หนังโป๊ และสื่อสังคมออนไลน์
เคนดรา ซันเดอร์แลนด์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต ในสหรัฐฯ ยอมว่าเธอเป็นทำคลิปวิดีโอลามกสมัครเล่นขึ้นมาเอง โดยใช้กล้องเว็บแคมของแล็ปท็อปบันทึกภาพ
      ในคลิปดังกล่าวพบเห็นสาวรุ่นรายนี้ เคี้ยวหมากฝรั่ง และค่อยเปลื้องผ้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ลูบไล้ตนเองเป็นเวลานานกว่า 31 นาที
ตำรวจเผยว่าต่อมาคลิปนี้ได้ถูกโพสต์ลงบนเว็บไซต์หนังโป๊แห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 262,000 ครั้ง ก่อนที่มันจะถูกลบออกไป นอกจากนี้แล้ว วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์อย่างกว้างขวางในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ซันเดอร์แลนด์ เป็นคนโหลดคลิปนี้ด้วยตนเองหรือเปล่า
“มันกลายเป็นเรื่องซุบซิบกันทั่วมหาวิทยาลัย” คลิฟฟอร์ด แฮร์ริส เพื่อนนักศึกษาของเธอกล่าว “ทุกคนล้วนพูดถึงมัน ส่วนฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก”
       นางสาวซันเดอร์แลนด์ ถูกจับกุมเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช้อหากระทำลามกอนาจารในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามเธอไม่ได้ถูกคุมขัง เพียงแต่ได้รับคำสั่งให้ไปปรากฏตัวต่อศาลเท่านั้น ทั้งนี้ หากถูกพบว่ามีความผิดจริง เธอมีสิทธิ์ติดคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงิน 6,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 200,000 บาท)
ทางมหาวิทยาลัยเผยว่าในแต่ละสัปดาห์จะมีนักศึกษามาใช้บริการห้องสมุดถึงราว 30,000 คน “ฉันรู้สึกแปลกใจมากที่บางคนทำแบบนั้นในห้องสมุดของเราได้ ฉันคิดว่ามันน่าจะแน่นอยู่ตลอดเวลา ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นๆ ไม่เห็นมันได้อย่างไร” นักศึกษาอีกคนบอก

รอมนีย์กลับลำไม่ลงชิงตัวแทนรีพับลิกันสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

มิตต์ รอมนีย์ ประกาศในวันศุกร์ (30 ม.ค.) จะไม่ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 หลังเดิมทีบอกว่ากำลังพิจารณาลงชิงชัยเป็นหนที่ 3 พร้อมบอกกับผู้สนับสนุนว่า ตอนนี้เป็นเวลาสำหรับเหล่าผู้นำพรรคยุคใหม่ที่จะแสวงหาไขว่คว้าเก้าอี้ทำเนียบขาว
มีความเป็นไปได้ว่าการตัดสินใจของ รอมนีย์ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตัวเต็งอย่างนายเจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดาให้ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งนายรอมนีย์และบุช ต่างถูกมองในฐานะเป็นตัวแทนสถาบันรีพับลิกัน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากหลายคนที่ระดมเงินบริจาคสำหรับการเลือกตั้งแก่นายรอมนีย์ ได้เริ่มหันไปหาว่าที่ผู้ท้าชิงคนอื่นๆ แล้ว จากความกังวลว่าอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาซูเซตส์ จะไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางหาเสียงมากพอ จากที่เคยพ่ายแพ้ต่อประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2012
“หลังจากไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับการลงเป็นตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง ผมตัดสินใจว่ามันคงจะดีกว่าหากเปิดทางให้ผู้นำคนอื่นๆ ภายในพรรคได้มีโอกาสเป็นตัวแทนคนถัดไป” รอมนีย์ ระบุในถ้อยแถลง
รอมนีย์ เคยบอกกับเหล่าผู้บริจาคทั่วไปในนิวยอร์กเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนว่าเขากำลังพิจารณากระโจนเข้าสู่ศึกแย่งเป็นตัวแทนพรรคลงชิงเก้าอี้ทำเนียบขาว ดังนั้นความเคลื่อนไหวของเขาในวันศุกร์ (30 ม.ค.) ฟังดูแล้วเหมือนไม่ค่อยเต็มใจถอนตัวนัก
ในถ้อยแถลง รอมนีย์เชื่อว่าเขามีโอกาสดีที่จะเอาชนะตัวแทนพรรคเดโมแครต จากนโยบายหาเสียงสร้างโลกให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นและปรับปรุงเศรษฐกิจชนชั้นกลางสหรัฐฯ แต่เขาบอกว่าไม่ต้องการสร้างความยุ่งยากเพิ่มเติมแก่ใครบางคนที่มีโอกาสดีว่าที่จะได้รับเลือกตั้ง
“ผมเชื่อว่าหนึ่งในเหล่าผู้นำยุคถัดไปของรีพับลิกัน ใครบางคนที่วันนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าผม ใครบางคนที่สารของเขายังส่งไปไม่ถึงทั่วประเทศ ใครบางคนที่เพิ่งจะเริ่มต้น มีโอกาสดีกว่าที่จะอาชนะตัวแทนพรรคเดโมแครต” เขากล่าว
การถอนตัวของ รอมรัย์ ซึ่งเคยลงชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวในปี 2008 ด้วยเช่นกัน เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสันนิษฐานว่าเขาอาจเผชิญกับความยุ่งยากในการระดมทุนเพื่อลงสมัครเป็นสมัย 3 ด้วยเหล่าผู้บริจาคบางส่วนของเขา เริ่มหันไปหาว่าที่ผู้สมัครคนอื่นๆ อย่างเช่น นายเจบ บุช
เทเรซา คอสตราเซวา จากนอร์ทแคโรไลานา ซึ่งเคยบริจาคเงินแก่รอมนีย์ ในปี 2012 บอกว่าเธอต้องการได้ยินรอมนีย์พูดว่าได้เรียนรู้ความผิดพลาดเมื่อปี 2012 และจะลงชิงชัยด้วยนโยบายหาเสียงที่ต่างออกไป ขณะที่ เรนี ชูลเต สมาชิกรีพับลิกันจากไอโอวา ซึ่งเคยสนับสนุนรอมนีย์มาตั้งแต่ปี 2006 และบริจาคเงินให้เขาในปี 2012 บอกเธอยังคิดว่า รอมนีย์ จะเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่หากได้รับเลือก แต่เธอก็ไม่เห็นทางที่เขาจะเป็นฝ่ายชนะเลย
อีกหนึ่งสัญญาณแห่งปัญหาของ รอมนีย์ ก็คือ เดวิด โคเชล นักยุทธศาสตร์รีพับลิกันในไอโอวา ซึ่งเคยสนับสนุนเขาในการหาเสียงในอดีต ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักยุทธศาสตร์อาวุโสของ เจบ บุช

ตำรวจอินเดียจู่โจมโรงงาน ช่วยแรงงานทาสเด็กได้นับร้อยชีวิต

ตำรวจอินเดียเข้าช่วยเหลือแรงงานทาสเด็กนับร้อยชีวิต เด็กสุดอายุแค่ 6 ขวบ ในปฏิบัติการเข้าตรวจค้นโรงงานต่างๆ ในเมืองไฮเดอราบัด ต่อเนื่อง 6 วัน เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสเผยในวันศุกร์ (30 ม.ค.)
เจ้าหน้าที่พบเด็ก 120 คนในนั้นบางรายมีอาการป่วย น้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ และบอบช้ำทางจิตใจ ระหว่างการจู่่โจมตรวจค้นโรงงานผลิตกำไลแห่งหนึ่ง และโรงงานอื่นๆ ในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี (29 ม.ค.) ส่วนหนึ่งในปฏิบัติการกวาดล้างทาสเด็กอย่างกว้างขวางทั่วเมือง
“พวกเขาป่วยเป็นโรคผิวหนังรื้อรังและขาดสารอาหาร พวกเขาบอกช้ำทางจิตใจและหวาดผวาอย่างเป็นได้ชัด” วี.สัตยานารายานา รองผู้บัญชาการตำรวจไฮเดอราบัดบอกกับเอเอฟพี “พวกเขาถูกขังในห้องแคบๆ ไม่มีระบบระบายอากาศและต้องสัมผัสกับแก๊สอันตราย ภารกิจต่อต้านแรงงานทาสและค้ามานุษย์จะดำเนินต่อไป”
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้รับคำร้องเรียนจากเด็กๆว่าถูกบังคับให้ทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยห้ามหยุดพัก และขู่ใช้ความรุนแรงและไม่ให้อาหารหากพวกเขาขัดคำสั่ง ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ถูกลำเลียงมาจากรัฐพิหาร ทางเหนือของประเทศเมื่อปีที่แล้ว หลังจากผู้ปกครองของเด็กๆเหล่านี้ขายพวกเขาให้กับขบวนการค้ามนุษย์ในราคาต่ำสุดแค่ 80 ดอลลาร์ (ราว 2,600 บาท) ไปจนถึง 160 ดอลลาร์ (ราว 5,200 บาท)
ตำรวจเริ่มต้นปฏิบัติการจู่โจมปราบปรามโรงงานต่างๆ หลายสิบแห่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังได้รับแจ้งจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเด็กและสายข่าว โดยช่วงสัปดาห์ก่อนก็สามารถช่วยเหลือเด็กออกมาได้ราว 220 คน
สัตยานารายานา ระบุต่อว่า ตำรวจสามารถจับกุมตัวขบวนการค้ามนุษย์และนายหน้าได้ 31 คน พร้อมตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ขณะที่ตำรวจกำลังพยายามนำตัวเด็กๆ เหล่านั้นกลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัว

ปากีสถานนองเลือด! บึมถล่มมัสยิดขณะสวดมนต์ ตายกว่า 60 ศพ

เอเอฟพี – เกิดเหตุระเบิดรุนแรงกลางมัสยิดชีอะห์แห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้คน ในเมืองทางภาคใต้ของปากีสถาน เมื่อวันศุกร์ (30 ม.ค.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 60 ศพ นับเป็นเหตุโจมตีทางนิกายครั้งนองเลือดที่สุดของประเทศในรอบเกือบ 2 ปี
เหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นที่มัสยิดในเมืองชิคาร์ปุระ ในแคว้นสินธุ์ ห่างจากการาชี เมืองเอกของแคว้น ไปทางเหนือราว 470 กิโลเมตร ท่ามกลางนักแสวงบุญหลายร้อยคนที่เข้าร่วมพิธีสวดมนต์ประจำวันศุกร์ (30 ม.ค.) ขณะที่ปากีสถานต้องประสบกับความรุนแรงระหว่างนิกายหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่กลุ่มมุสลิมสุหนี่หัวรุนแรงจะเป็นผู้ลงมือโจมตีชนกลุ่มน้อยมุสลิมชีอะห์
จัม เมห์ตับ ดาเฮอร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขของแคว้นสินธุ์ บอกกับเอเอฟพีว่า “ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีเพิ่มเป็น 61 คน โดย 54 ศพอยู่ที่โรงพยาบาลชิคาร์ปุระ ส่วนอีก 7 ศพเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสุคคูร์และโรงพยาบาลลาร์คานา” หลังจากก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพลเรือนในชิคาร์ปุระ บอกว่ายอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 48 ศพ
ประชาชนหลายร้อยคนรุดไปยังจุดเกิดเหตุ ในความพยายามขุดหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้หลังคามัสยิดที่พังถล่มลงมาตามแรงระเบิด ส่วนรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นภาพความสับสนวุ่นวาย ขณะที่ชาวบ้านช่วยกันพาผู้ได้รับบาดเจ็บไปขึ้นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถลากเพื่อพาไปรักษา
ราฮัต คาซมี เจ้าหน้าที่จากองค์กรชีอะห์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่าในตอนที่เกิดระเบิดนั้น มีนักแสวงบุญอยู่ในมัสยิดราวๆ 400 คน ส่วนชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่าเขารู้สึกเหมือนแผ่นดินกำลังสั่นไหว ระหว่างที่กำลังสวดมนต์อยู่ที่มัสยิดอีกแห่งที่อยู่ห่างออกไปราว 1.5 กิโลเมตร
ด้านผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่น เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการสืบสวนเพื่อตรวจสอบว่าแท้จริงแล้วมันเป็นการโจมตีด้วยมือระเบิดฆ่าตัวตายหรือระเบิดน้ำหนักราว 6 – 7 กิโลกรัม ถูกจุดชนวนจากระยะไกล
เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุโจมตีระหว่างนิกายครั้งเดียวที่นองเลือดที่สุดของปากีสถานนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2013 โดยคราวนั้นย่านชุมชนชีอะห์แห่งหนึ่งในการาจี ถูกถล่มด้วยคาร์บอมบ์ คร่าชีวิตผู้คนถึง 45 ศพ
โฆษกของกลุ่มนักรบจุนดุลเลาะห์ ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มตอลิบานปากีสถาน ออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในวันศุกร์ (30 ม.ค.) “เราขออ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีชาวชีอะห์ในชิคาร์ปุระ ด้วยความสุขยิ่ง”
การโจมตีในวันศุกร์ มีขึ้นขณะที่นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ กำลังเดินทางเยือนการาชี เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยภายในเมือง

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

“รัสเซีย” ยินดีพิจารณาช่วยเหลือทางการเงินต่อ “กรีซ” หากถูกร้องขอ

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังรัสเซียเผย มอสโกยินดีพิจารณามอบความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลกรีซ หากได้รับการร้องขอ
“เราเล็งเห็นความเป็นไปได้ ถ้ามีคำร้องเช่นนั้นส่งมายังรัฐบาลรัสเซีย เราก็ยินดีพิจารณา แต่คงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและกรีซด้วย” อันตอน ซิลัวนอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแดนหมีขาว ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้(29)
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส แห่งกรีซ อาจมีแนวคิดที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป (อียู) ในเรื่องของการคว่ำบาตรรัสเซีย และอาจถึงขั้นหันไปผูกสัมพันธ์กับมอสโกให้แนบแน่นขึ้นระหว่างที่เจรจาขอปรับเงื่อนไขกู้ยืมเงินจากองค์กรเจ้าหนี้ “ทรอยกา” ซึ่งประกอบด้วยอียู, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
แนวโน้มดังกล่าวส่อเค้าเป็นไปได้ หลังจากที่ ปานาจีโอทิส ลาฟาซานิส รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกรีซ ออกมาระบุว่า เอเธนส์ไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตร และ “ไม่ได้มีความบาดหมางใดๆ กับรัสเซีย”
เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงเอเธนส์ได้เข้าพบ ซีปราส เมื่อวันจันทร์(26) ซึ่งเป็นวันที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำกรีซคนใหม่
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปผนึกกำลังคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยเชื่อว่าผู้นำเครมลินคอยหนุนหลังและส่งอาวุธเข้าไปช่วยกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก ขณะที่มอสโกไม่เคยยอมรับข้อกล่าวหาเช่นนี้

EU ไฟเขียวยืดเวลาคว่ำบาตร “รัสเซีย” ถึง ก.ย. แต่ยังไม่มีมาตรการบีบคั้นเพิ่ม

รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) มีมติวานนี้(29) ให้ขยายเวลาคว่ำบาตรรัสเซียต่อไปจนถึงเดือนกันยายน โดยยังไม่ประกาศแผนกดดันทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่รัฐบาลใหม่กรีซซึ่งหลายฝ่ายยังไม่มั่นใจในจุดยืนยอมที่จะสนับสนุนบทลงโทษต่อมอสโก
ที่ประชุมรัฐมนตรีอียูยังคงคำสั่งห้ามเดินทางและอายัดทรัพย์สินที่ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว และในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ก็จะมีการพิจารณาใส่รายชื่อบุคคลลงในบัญชีคว่ำบาตรเพิ่มเติมด้วย
อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐมนตรีได้ละข้อความ “ออกมาตรการจำกัดเพิ่มเติม” ที่ปรากฏในร่างหนังสือก่อนการประชุม โดยหัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของอียูชี้ว่า จะมีการตัดสินใจอีกครั้งในการประชุมผู้นำอียูเดือนหน้า
รัฐบาลเยอรมนี ชี้ว่า การออกบทลงโทษเพิ่มเติมจะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในยูเครนว่ามีการรุกคืบของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะเป็นเหตุอันควรให้ต้องเพิ่มมาตรการกดดันหรือไม่
การประชุมนัดฉุกเฉินระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอียูมีขึ้น หลังจากกบฏในยูเครนตะวันออกฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงที่บังคับใช้เมื่อ 5 เดือนก่อน และเริ่มปฏิบัติการเชิงรุก โดยเมื่อวันเสาร์(24) กองกำลังกบฏได้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองท่ามารีอูโพลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 30 ราย และนำมาซึ่งการปะทะอย่างรุนแรงกับทหารของยูเครน แต่ดูเหมือนฝ่ายกบฏเองก็ยังไม่มีเจตนาโจมตีเพื่อยึดเมืองให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งร่วมกับอียูคว่ำบาตรมอสโกเมื่อปีที่แล้ว ก็ระบุว่ายังไม่มีแผนกดดันใดๆ เพิ่มเติมเช่นกัน
“แน่นอนว่าสหรัฐฯ เห็นด้วยกับท่าทีของอียู มันคือมาตรการเชิงบวก” เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เอ่ยถึงการยืดเวลาคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหภาพยุโรป
“นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า การกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงหลายวันและหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และจะต้องได้รับการตอบโต้”
ท่าทีของกรีซถูกจับตามองเป็นพิเศษในการประชุมรัฐมนตรีอียูที่กรุงบรัสเซลส์ หลังจากที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส จากพรรคไซรีซาซึ่งมีแนวคิดต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดเริ่มเข้าบริหารประเทศเมื่อวันจันทร์(26) โดยรัฐบาลเอเธนส์ติติงอียูที่ไม่ปรึกษาหารือก่อนจะขู่ลงโทษมอสโกเพิ่ม
อย่างไรก็ดี นิโกส กอตเซียส รัฐมนตรีต่างประเทศกรีซ ปฏิเสธชัดเจนต่อแนวคิดที่ว่า เอเธนส์อาจจะคัดค้านมาตรการคว่ำบาตรในทุกรูปแบบ
รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี ระบุว่า กอตเซียส ได้ประกาศกลางที่ประชุมว่า “ผมไม่ใช่หุ่นเชิดของรัสเซีย” และลงนามสนับสนุนคำแถลงที่ว่า มอสโกอยู่เบื้องหลังเหตุนองเลือดในยูเครนตะวันออก และเรียกร้องให้รัสเซียยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
นักการทูตระบุว่า กรีซ, อิตาลี และออสเตรียต่างเรียกร้องให้อียูเลื่อนแผนกดดันรัสเซียเพิ่มเติมออกไปก่อน ขณะที่อังกฤษและกลุ่มประเทศบอลติกต้องการให้อียูประกาศความชัดเจนของมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด

น้ำมันผันผวนหนัก หุ้นสหรัฐฯพุ่ง-ทองคำร่วง$31

น้ำมันวานนี้(29ม.ค.) ผันผวนหนัก ก่อนปิดบวกแคบๆจากการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังดิ่งแรงหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ส่วนวอลล์สตรีทพุ่งและทรุดลงกว่า 31 ดอลลาร์ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 8 เซนต์ ปิดที่ 44.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากช่วงหนึ่งขยับลงไปถึง 43.58 ดอลลาร์ ต่ำกว่าระดับ 44 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009 ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน ก็ผันผวนเช่นกัน ก่อนเพิ่มขึ้น 66 เซนต์ ปิดที่ 49.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความเคลื่อนไหวอันผันผวนมีขึ้นตามหลังราคาร่วงหนักเมื่อวันพุธ(28) จากคลังน้ำมันดิบสำรองที่สูงลิ่วของสหรัฐฯ โดยกระทรวงพลังงานอเมริกา รายงานว่าสต๊อกน้ำมันดิบของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 8.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 406.7 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลอเมริกาเริ่มจดบันทึกข้อมูลรายสัปดาห์ในปี 1982 ส่งสัญญาณว่าน้ำมันยังคงอยู่ในช่วงขาลง
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันขยับขึ้นในวันพฤหสบดี(29ม.ค.) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผันผวนของตลาดกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าช้อนซื้อน้ำมันราคาถูกเพื่อเก็งกำไร
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯวานนี้(29ม.ค.) ปิดบวกแรง หลังนักลงทุนได้รับข่าวดีจากรายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆและข้อมูลภาคแรงงาน
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 225.48 จุด (1.31 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,416.85 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 19.09 จุด (0.95 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,021.25 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 45.41 จุด (0.98 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,683.41 จุด
เมื่อวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยอดผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์รายใหม่จากประกันการว่างงานของสหรัฐฯ ดิ่งลงต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่อัตราคนว่างงานก็ลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.6 ย้ำถึงสัญญาณแห่งความหวังของตลาดแรงงานชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกรายนี้
ขณะเดียวกันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของหลายบริษัทอย่างเช่น ฟอร์ด, ฮาร์เลย์-เดวิดสัน, อัลลาย ไฟแนนเชียล ซึ่งล้วนแล้วมีผลดำเนินงานไตรมาส 4 เหนือกว่าความคาดหมายของวอลล์สตรีท
นอกจากนี้แล้วนักวิเคราะห์บางส่วนยังมอบว่าราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเล็กน้อย ก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักในวันพุธ(28ม.ค.) “นักลงทุนกังวลว่าราคาน้ำมันที่ตกต่ำจะนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งภาวะเงินฝืด” ปีเตอร์ คาร์ดิลโล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์การตลาดของร็อคเวลล์ โกลบอล แคปิตอลกล่าว
ส่วนราคาทองคำเมื่อวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) ทำสถิติร่วงลงวันเดียวคิดเป็นเปอร์เซ็นต์รุนแรงที่สุดในรอบ 13 เดือน หลังนักลงทุนขายสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ขอเข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานสหรัฐฯที่ลดลง และธนาคารกลางอเมริกา(เฟด) ยืนยันไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 31.30 ดอลลาร์หรือร้อยละ 2.4 ปิดที่ 1,254.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อังกฤษเรียกทูตรัสเซียแจง หลังเครื่องบินทิ้งระเบิดเฉียดใกล้น่านฟ้า

อังกฤษเรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำลอนดอนเข้าพบในวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) และขอให้ชี้แจงกรณีเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล 2 ลำของมอสโก บินเฉียดใกล้น่านฟ้าของอังกฤษหนึ่งวันก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบินเครื่องบินพลเรือนเพื่อป้องกันเหตุร้าย
ความเคลื่อนไหวเรียกตัวทูตเข้าชี้แจงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุลักษณะแบบเดียวกันมาแล้วหลายรอบ และยังมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างอังกฤษกับรัสเซียต่อความขัดแย้งในยูเครน เช่นเดียวกับกรณีที่ลอนดอนเปิดฉากการไต่สวนคดีอเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตสายลับรัสเซียถูกวางยาพิษ
กระทรวงกลาโหมอังกฤษเผยว่าเหตุล่วงล้ำและเฉียดใกล้น่านฟ้าโดยเครื่องบินรัสเซียครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเร็วๆนี้ เกิดขึ้นราวๆ 1 เดือนที่่ผ่านมา และเหตุล่าสุดเมื่อวันพุธ(28ม.ค.) เกิดขึ้นที่ชายฝั่งทางใต้ของอังกฤษ ซึ่งเครื่องบินของมอสโกที่เกี่ยวข้องคือเครื่องบินทิ้งระเบิดตูโปเลฟ ตู-95
ส่วนถ้อยแถลงของกระทรวงการประเทศอังกฤษ ระบุว่า “การบินหลบหลีกของเครื่องบินรัสเซียเมื่อวานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบปฏิบัติการนอกพื้นที่ของเครื่องบินรัสเซียที่พบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เครื่องบินทั้ง2 ลำของรัสเซียไม่ได้เข้ามาในน่านฟ้าของอังกฤษ และถูกเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศเข้าประกบตลอดช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ในพื้นที่ผลประโยชน์ของอังกฤษ แต่มันได้ก่อความวุ่นวายด้านการบินพลเรือน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียเข้าพบในวันนี้”
โฆษกองค์การการบินพลเรือน บอกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดรัสเซียบินเฉียดใกล้น่านฟ้า กระตุ้นให้กองทัพต้องส่งเครื่องบินขับไล่เข้ากระทบ และผลก็คือมันก่อความวุ่นวายด้านการบินพลเรือน
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน เรือรบของกองทัพเรือรัสเซียลำหนึ่งถูกพบกำลังล่องผ่านช่องแคบอังกฤษ ทำให้เรือลาดตระเวนของกองทัพเรืออังกฤษต้องเข้าประกบทันที

ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ ต่ำสุดเกือบ15 ปี, คนว่างงานเหลือ 5.6%

ยอดผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์รายใหม่จากประกันการว่างงานของสหรัฐฯ ดิ่งลงต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่อัตราคนว่างงานก็ลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.6 ย้ำถึงสัญญาณแห่งความหวังของตลาดแรงงานชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกรายนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเผยเมื่อวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) ว่ายอดผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานรายใหม่ลดลงจาก 43,000 อัตราเมื่อสัปดาห์ก่อน เหลือแค่ 265,000 อัตราในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 มกราคม ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2000 และถือเป็นลดลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพศจิกายน 2012
ตัวเลขที่ลดลงครั้งนี้ถือว่ามากกว่าที่คาดหมายไว้มาก ด้วยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนประมาณการณ์ว่าน่าจะลดลงมาแตะระดับราวๆ 300,000 อัตรา อย่างไรก็ตามหากอ้างว่ามันสะท้อนถึงความเข้มแข็งของตลาดแรงงานก็อาจจะเป็นการกล่าวเกินจริง เนื่องจากข้อมูลนี้ได้นับรวมวันหยุดราชการ “วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง” เข้าไปด้วย
ตลาดหุ้นสหรัฐฯขยับขึ้นเพิ่มเติมเล็กน้อยจากข้อมูลดังกล่าว ส่วนดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมีการเปลี่ยนแปลงในกรอบแคบๆ
ในส่วนของค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของยอดผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์รายใหม่จากประกันการว่างงาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัววัดแนวโน้มตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่าตัวเลขรายสัปดาห์ พบว่าลดลง 8,250 อัตรา เหลือ 298,500 อัตรา ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 71,000 ราย สู่ระดับ 2.4 ล้านราย ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 มกราคม
การลดลงล่าสุดของผู้เข้ารับสิทธิประโยชน์คนว่างงานนี้ ช่วยเพิ่มมุมมองในทางบวกต่อสภาวการณ์ของตลาดแรงงาน ขณะที่มันถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากธนาคารกลางหรัฐฯ ย้ำถึงการประเมินทางในบวกต่อตลาดแรงงาน
ข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯยังพบด้วยว่าอัตราคนว่างงาน ลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.6 ในเดือนธันวาคม ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008 ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเมื่อปีที่แล้ว มีการสร้างงานมากที่สุดในรอบ 15 ปี หรือเกือบ 3 ล้านอัตรา

รถบรรทุกแก๊สระเบิดทำรพ.เม็กซิโกพังพินาศ ตายอย่างน้อย2ศพ

รถบรรทุกแก๊สเกิดระเบิดรุนแรงที่โรงพยาบาลมารดาและบุตรแห่งหนึ่งเมืองหลวงของเม็กซิโกในวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) เบื้องต้นยอดผู้เสียชีวิตยังคงสับสน แต่ยืนยันน่าจะมีอย่างน้อย 2 ศพและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากหักพัง
มิเกล อังเคล มันเซรา นายกเทศมนตรีเม็กซิโก ซิตี้ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์มิเลนิโอว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน หลังจากก่อนหน้านี้เผยกับสื่อมวลชนอีกสำนักว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 54 ราย ในนั้นเป็นเด็กถึง 22 คน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วเป็นแผลเล็กๆน้อยจากเศษกระจกที่ปลิวว่อนจากแรงระเบิด
กระนั้นทาง หลุยส์ เฟลิเป ปูเอ็นเต หัวหน้าสำนักงานป้องกันพลเรือนแห่งชาติ ยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 7 ราย และหน่วยกู้ภัยกำลังสอดส่องไปตามเศษซากหักพังของปูนและเหล็กที่บูดเบี้ยวเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ด้านล่าง
รายงานข่าวระบุว่าประชาชนหลายสิบคนได้รับการอพยพออกมา ส่วน ฟาอัสโต ลูโก ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันพลเมืองของเมือง เผยผู้ได้รับบาดเจ็บถูกลำเลียงส่งตามโรงพยาบาลต่างๆและเชื่อว่ายังมีผู้คนบางส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากหักพัง
        แรงระเบิดส่งกลุ่มควันดำทะมึนลอยพวยพุ่งเหนือพื้นที่เกิดเหตุซึ่งตั้งอยู่ขอบเมืองทางตะวันตกของกรุงเม็กซิโก ซิตี้ และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆเผยแพร่ภาพอาคารส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย ขณะที่หน่วยดับเพลิงพยายามเข้าดับไฟที่กำลังลุกไหม้ โดยนายกเทศมนตรีบอกว่าจุดที่ได้รับความเสียหายหนักหน่วงที่สุดคือใกล้ๆกับลานขนถ่ายสิ่งของ
นายกเทศมนตรีม็กซิโก ซิตี้ สันนิษฐานว่าเหตุระเบิดครั้งนี้น่าจะมีต้นตอจากเกิดรูรั่วบริเวณสายส่งแก๊สที่ถ่ายแก๊สจากรถบรรทุกไปยังโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่บอกว่ากำลังดำเนินการสืบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริงอยู่
ขณะที่ อิสมาเอล การ์เซีย วัย 27 ปี ที่พักอยู่ห่างจากโรงพยาบาล 1 ช่วงตึกเล่าว่า “มันเป็นการระเบิดที่รุนแรงมากและทุกๆอย่างก็ถูกไฟเผาผลาญ”
        การ์เซียบอกต่อว่าเขารีบวิ่งไปโรงพยาบาลหลังรถบรรทุกเกิดระเบิด และได้รับการบอกเล่าว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นตอนนี้กำลังเชื่อมถ่ายแก๊สเข้าไปยังครัวของโรงพยาบาล ทั้งนี้เขาและคนอื่นๆรุดเข้าไปในห้องอภิบาลเด็กแรกคลอด พร้อมกับช่วยทารกออกมาได้ 8 คน
หายนะรถแก๊สระเบิดนอกอาคารของโรงพยาบาลครั้งนี้เกิดขึ้นตอนเวลาประมาณ 07.00 น.(ตามเวลาท้องถิ่น) ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงสาธารณะของเมืองซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเผยว่า “ตำรวจควบคุมตัวคนขับไว้แล้ว เขาได้รับบดเจ็บและได้รับการดูแลโดยหน่วยกู้ภัย แต่อาการไม่ร้ายแรงอะไร”
จากเว็บไซต์ของรัฐบาล ระบุว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งในปี 1993 และมีทั้งหมด 35 เตียง ขณะที่มันตั้งอยู่ในแถบพลเมืองหนาแน่นย่านที่พักอาศัยของคนชั้นล่างและอยู่ใกล้ๆกับโรงเรียนแห่งหนึ่งด้วย

เฟดส่งสัญญาณชัดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อัปเกรดภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุว่ามีการขยายตัวมั่นคง ขณะที่ยอดว่างงานลดลงอย่างชัดเจน แต่ยังคงท่องคาถา “อดทน” ยืนยันไม่รีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย ส่งสัญญาณว่าเป้าหมายในการปรับนโยบายการเงินยังคงอยู่ที่เดือนมิถุนายนเช่นเดิม
เป็นไปตามความคาดหมายของตลาด คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ประกาศเมื่อวันพุธ (28ม.ค.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ใกล้ๆ 0% ซึ่งได้เริ่มต้นใช้มานับจากปลายปี 2008 เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยรุนแรง
ในคำแถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 2 วันคราวนี้ เฟดระบุว่า ยังอดทนรอได้ก่อนที่จะเริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ
คำว่า “อดทน” นี้ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ในคำแถลงภายหลังประชุมเอฟโอเอ็มซีเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และได้รับคำอธิบายจากเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดว่า หมายความว่าเฟดไม่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยภายในการประชุมเดือนมกราคมและมีนาคมนี้
ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จึงพากันคาดการณ์ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในการประชุมเอฟโอเอ็มซีกลางเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มีนาคม นอกจากจะมีการพิจารณาปรับปรุงข้อมูลเศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยแล้ว ตามกำหนดการยังจะมีการแถลงข่าวโดยเยลเลนด้วย จึงคาดกันว่าจะได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของเฟดซึ่งชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก
สำหรับในคำแถลงล่าสุดคราวนี้ เอฟโอเอ็มซีระบุว่า ช่วง 6 สัปดาห์นับจากการประชุมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข้อมูลหลายส่วนบ่งชี้ว่า “กิจกรรมเศรษฐกิจมีการขยายตัวในจังหวะที่มั่นคง” ซึ่งเป็นการยกระดับการคาดการณ์จากคำแถลงเดือนที่แล้วที่ระบุว่า “เศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
เอฟโอเอ็มซียังเสริมว่า ตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราว่างงานลดลงอยู่ที่ 5.6% ในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวถึง 5% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่เฟดตั้งข้อสังเกตว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของระบบเศรษฐกิจ ขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน
เฟดระบุว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2% และคาดว่า จะลดลงต่อไปตามสถานการณ์ราคาพลังงาน กระนั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะยาวยังคงมีเสถียรภาพ
เอฟโอเอ็มซีนั้นมีภารกิจท้าทายในการยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินมากว่า 6 ปี หลังจากวิกฤตการเงินปี 2008 โดยเยลเลนเป็นผู้ควบคุมดูแลการทยอยยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ จนยุติมาตรการนี้ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
จากการที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปีเช่นนี้ ได้หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากสินทรัพย์สกุลเงินตราสหรัฐฯ ในยามที่ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ แทบทั้งหมดยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่เพิ่งประกาศมาตรการซื้อสินทรัพย์มูลค่าถึง 1 ล้านล้านยูโรเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และล่าสุดคือธนาคารกลางสิงคโปร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
แม้คำแถลงของเฟดคราวนี้ ไม่พาดพิงถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอโดยตรง แต่มีการระบุว่า เฟดจะพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ “ระหว่างประเทศ” ประกอบการตัดสินใจกำหนดเวลาในการขึ้นดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0 – 0.25%

จอร์แดนย้ำไม่ปล่อยนักโทษหญิงแลกตัวประกันญี่ปุ่น จนกว่า IS รับรองนักบินยังไม่ตาย

จอร์แดนในวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) ย้ำจะไม่ปล่อยมือระเบิดหญิงชาวอิรัก จนกว่าจะได้รับข้อพิสูจน์ว่านักบินของตนเองที่ถูกกลุ่มรัฐอิสลามจับเป็นตัวประกันนั้นยังมีชีวิตอยู่
กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ข่มขู่ที่จะประหารนักบินชาวจอร์แดนที่ถูกตนจับกุมไว้ “ในทันที” หากกรุงอัมมานไม่ยอมปล่อยตัวมือระเบิดหญิงชาวอิรักก่อนพระอาทิตย์ตกดินวันพฤหัสบดี (29 ม.ค.) เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวประกันอีกคนซึ่งเป็นนักข่าวชาวญี่ปุ่น
โมฮัมหมัด อัล-โมมานี โฆษกรัฐบาลจอร์แดนกล่าวว่า “จอร์แดนมีความตั้งใจแลกตัวซาจิดา อัล-ริชาวี กับนักบินจอร์แดน แต่ในตอนนี้เราเน้นย้ำว่าเราได้ร้องขอข้อพิสูจน์ของการมีชีวิตของนักบินจากไอเอส และเรายังไม่ได้รับคำตอบใดๆ”
“ริชาวี ยังคงอยู่ในจอร์แดนและการแลกเปลี่ยนตัวจะมีขึ้นต่อเมื่อเราได้รับข้อพิสูจน์ตามที่เราร้องขอว่าเขายังไม่ตาย” โฆษกรัฐบาลจอร์แดนบอกกับผู้สื่อข่าว โดยไม่ได้พาดพิงใดๆถึงนายเคนจิ โกโตะ นักข่าวอิสระที่ถูกไอเอสจับไปตั้งแต่ปีที่แล้ว
ในคลิปล่าสุดที่เผยแพร่ในตอนเช้าวันพฤหัสบดี(29ม.ค.) ไอเอสขีดเส้นตายให้ จอร์แดนต้องนำตัว ซาจิดา อัล-ริชาวี ที่ต้องโทษประหารจากการมีส่วนร่วมในเหตุระเบิดในอัมมานปี 2005 ไปส่งที่ด่านชายแดนตุรกีก่อนพระอาทิตย์ตกดิน โดยดูจากพระอาทิตย์ตกในเมืองโมซูล เมืองใหญ่ที่สุดที่ไอเอสยึดครองในอิรัก ซึ่งน่าจะเป็นเวลาราวๆ 15.00 จีเอ็มที(ตรงกับเมืองไทย 22.00น.)
จอร์แดน บอกว่าจะปล่อยตัวนักโทษหญิงชาวอิรัก หากไอเอสยอมมอบอิสรภาพแก่นักบินของพวกเขา อย่างไรก็ตามในขณะที่ไอเอสขู่เอาชีวิตร้อยโทมูอาห์ อัล-คัสซัสเบห์ แต่สารของพวกเขาก็ไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าพร้อมปล่อยตัวนักบินรายนี้เป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนด้วยหรือไม่
ร้อยโทมูอาห์ อัล-คัสซัสเบห์ ถูกจับเป็นตัวประกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม หลังเครื่องบินเอฟ 16 ของเขาเกิดตกระหว่างปฏิบัติภารกิจต่อต้านนักรบไอเอสเหนือน่านฟ้าทางเหนือของซีเรีย ขณะที่จอร์แดนบอกว่าเป้าหมายลำดับแรกของพวกเขาคือช่วยเหลือนักบินรายนี้กลับสู่มาตุภูมิโดยปลอดภัย

ญี่ปุ่นวัดใจจอร์แดนช่วยตัวประกัน หลังไอเอสหันมาขู่ฆ่านักบินคนเดียว

กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ข่มขู่ที่จะประหารนักบินชาวจอร์แดนที่ถูกตนจับกุมไว้ “ในทันที” หากกรุงอัมมานไม่ยอมปล่อยตัวมือระเบิดหญิงชาวอิรักก่อนพระอาทิตย์ตกดินวันพฤหัสบดี (29 ม.ค.) เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวประกันของตนอีกคนที่เป็นนักข่าวชาวญี่ปุ่น ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ยังวางใจรัฐบาลจอร์แดนจะยอมช่วยเหลือ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ อัมมานประกาศขอแลกตัวนักโทษกับนักบินของตนเองเท่านั้นก็ตาม
หลังจากจอร์แดนเสนอในวันพุธ (28) จะปล่อยตัวมือระเบิดหญิงชาวอิรักที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอัล-กออิดะห์ เพื่อแลกกับร้อยโทมูอาห์ อัล-คัสซัสเบห์ นักบินจอร์แดน ปรากฏว่าในคืนวันเดียวกันได้มีคลิปเสียงเผยแพร่ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ซึ่งเชื่อมโยงกับไอเอส โดยเป็นเสียงพูดภาษาอังกฤษของผู้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นเคนจิ โกโตะ นักข่าวอิสระที่ถูกไอเอสจับไปตั้งแต่ปีที่แล้ว
คลิปเสียงนี้ระบุว่า จอร์แดนต้องนำตัว ซาจิดา อัล-ริชาวี ที่ต้องโทษประหารจากการมีส่วนร่วมในเหตุระเบิดในอัมมานปี 2005 ไปส่งที่ด่านชายแดนตุรกีก่อนพระอาทิตย์ตกดินวันพฤหัสบดี โดยดูจากพระอาทิตย์ตกในเมืองโมซูล เมืองใหญ่ที่สุดที่ไอเอสยึดครองในอิรัก ทั้งนี้เพื่อแลกกับชีวิตโกโตะ ไม่เช่นนั้นไอเอสจะสังหารคัสซัสเบห์ อย่างไรก็ดี ไม่มีการระบุชัดเจนว่า ชะตากรรมของโกโตะจะเป็นอย่างไร หากนักโทษหญิงอิรักไม่ได้รับการปล่อยตัว
ที่โตเกียว โยชิฮิเดะ ซูกะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงวันพฤหัสบดีว่า รัฐบาลติดต่ออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลจอร์แดน และกำลังพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือโกโตะ โดยการประสานงานกับหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงตุรกี จอร์แดน และอิสราเอล
ความพยายามในการช่วยเหลือคัสซัสเบห์และโกโตะเร่งด่วนมากขึ้น หลังจากเมื่อวันอังคาร (27) ไอเอสขีดเส้นตายสังหารตัวประกันทั้งคู่ภายใน 24 ชั่วโมง หากจอร์แดนไม่ยอมปล่อยอัล-ริชาวี และจากคลิปเสียงล่าสุด ดูเหมือนไอเอสจะยอมเลื่อนเดตไลน์นี้ออกไป โดยคราวนี้หันมาขู่ฆ่านักบินจอร์แดนเป็นสำคัญ
ญี่ปุ่นรีบเร่งรับมือวิกฤตที่เริ่มต้นจากสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อไอเอสปล่อยคลิปภาพโกโตะและฮารูนะ ยูกาวะ พลเมืองญี่ปุ่นอีกคนที่ถูกจับ นั่งคุกเข่าโดยมีชายชุดดำสวมหน้ากากขู่สังหารทั้งคู่ หากไม่ได้รับค่าไถ่ 200 ล้านดอลลาร์ภายใน 72 ชั่วโมง และภายหลังมีการเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการปล่อยตัวอัล-ริชาวี หลังจากกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้แพร่ภาพศพไร้ศีรษะซึ่งระบุว่า เป็นยูกาวะเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (24)
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศต่อสมาชิกรัฐสภาว่า การกระทำของกลุ่มก่อการร้ายที่ชั่วร้ายนี้ไม่สามารถอภัยให้ได้โดยเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน จุงโกะ อิชิโดะ มารดาของโกโตะ เรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลช่วยเหลือบุตรชายของตน
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธ โมฮัมเหม็ด อัล-โมมานี โฆษกรัฐบาลจอร์แดน แถลงว่า อัมมานพร้อมแลกตัวอัล-ริชาวีกับนักบินของตน โดยไม่พาดพิงถึงโกโตะแต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านั้นมีรายงานว่า จอร์แดนเจรจากับไอเอสผ่านผู้นำศาสนาและผู้นำชนเผ่าในอิรักเพื่อช่วยเหลือตัวประกันจอร์แดนและญี่ปุ่น
การปล่อยตัวนักโทษหญิงผู้นี้จะถือเป็นการละเมิดแนวทางการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งกร้าวของจอร์แดน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมโจมตีไอเอสในอิรักและซีเรียภายใต้การนำของอเมริกา
ในทางกลับกัน หากจอร์แดนยอมปล่อยตัวอัล-ริชาวีจริง จะถือเป็นความสำเร็จสำคัญของไอเอสที่ไม่เคยเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษมาก่อน ขณะที่อเมริกา พันธมิตรสำคัญของจอร์แดน คัดค้านการเจรจากับกลุ่มการร้ายโดยเด็ดขาด
ทว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ของจอร์แดนกำลังเผชิญกระแสกดดันอย่างหนักภายในประเทศให้นำตัวนักบินกลับบ้านอย่างปลอดภัย พ่อของคัสซัสเบห์เผยว่า ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์จอร์แดนเมื่อวันพุธ และทรงยืนยันว่า สถานการณ์นี้จะได้รับการคลี่คลาย
นอกจากนั้น การที่คัสซัสเบห์ถูกจับเป็นเชลยยังทำให้ชาวจอร์แดนออกมาคัดค้านการร่วมโจมตีทางอากาศกับอเมริกามากขึ้น
ทั้งนี้ คัสซัสเบห์ถูกจับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ของเขาตกในเขตยึดครองของไอเอสในซีเรีย ถือเป็นนักบินทหารต่างชาติคนแรกที่ถูกกลุ่มก่อการร้ายนี้จับนับจากกลุ่มพันธมิตรของอเมริกาเริ่มโจมตีไอเอสในอิรักและซีเรียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

โรคหัดในดิสนีย์แลนด์เกิดจาก “เชื่อฉีด -ไวรัสมีชีวิต- เข้าตัวเด็กทำให้เป็นออทิสติก” หลังติดเชื้อไปแล้ว 90 ทั่วสหรัฐฯ ลามเข้าเม็กซิโก

ถึงสหรัฐฯจะถูกมองเป็นประเทศมีเสรีภาพ เจ้าพ่อประชาธิปไตย และรวมไปถึงความล้ำยุคอีกหลายด้าน แต่มีอีกหลายเรื่องที่อาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดในสหรัฐฯ เป็นต้นว่า พรรครีพับลิกันของสหรัฐฯที่ครองเสียงข้างมากในทั้งสภาสูงและสภาล่างมีแนวคิดไม่ยอมรับทฤษฎีโลกร้อน แต่ในกรณีการระบาดโรคหัดที่เริ่มจากดีสนีย์แลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียช่วงกลางเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา และลามไปยังอีก 10 รัฐ และข้ามไปยังเม็กซิโก ซึ่งยอดติดเชื้อล่าสุดรวมกันไม่ต่ำกว่า 90 รายจากการรายงานของไทม์ส ในวันนี้(29) กลับพบว่าเกิดมาจากแนวคิดการเคลื่อนไหวปฎิเสธการทำวัคซีนที่แพร่หลายอยู่ทั่วอเมริกาในขณะนี้ ซึ่งล่าสุดวันพฤหัสบดี(29) โรงเรียนมัธยมปลายในรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งพักการเรียนนักเรียน 66 คน เป็นเวลา 2 สัปดาห์เนื่องมาจากการระบาดของโรคหัด และในรัฐแอริโซนา มีรายงานการเฝ้าจับตาอีก 1,000 คน ที่อาจติดโรคหัดเชื่อมโยงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์
การระบาดของโรคหัด (measles) ที่มีต้นตอมาจากสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และลามไปยังอีก 10 รัฐใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ที่ล่าสุดมีตัวเลขการติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 90 ราย รวมถึงเม็กซิโก โดยไทม์สรายงานวันนี้(29)ว่า โรงเรียนมัธยมปลาย Palm Desert High School ในริเวอร์ไซด์ เคาน์ตี รัฐแคลิฟอร์เนีย สั่งพักการเรียนนักเรียนร่วม 66 คน เป็นเวลา 2 สัปดาห์เนื่องมาจากการระบาดของโรคหัด เว้นแต่ว่า นักเรียนเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนหน้านี้ โดยการประกาศสั่งพักการเรียนนี้สืบเนื่องมาจากเชื่อว่า หนึ่งในนักเรียนกลุ่มต้องสงสัยได้แพร่โรคหัดไปให้กับนักเรียนอื่นอีก 20 ราย
และในรัฐแอริโซนา มีรายงานการเฝ้าจับตาอีก 1,000 คน ที่อาจติดโรคหัดเชื่อมโยงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ ในวันเดียวกัน(29) โดยฟอกซ์นิวส รายงานว่าแผนกสาธารสุขรัฐแอริโซนา สั่งเฝ้าจับตา 1,000 คน ที่รวมถึงเด็ก 200 คน ที่อาจติดโรคหัดที่ศูนย์การแพทย์ในฟินิกซ์ และได้มีการขอร้องให้ผู้ที่ได้รับเชื้อ และยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อนให้อยู่แต่ภายในบ้านเป็นเวลา 21 วัน หรือหากจำเป็นต้องเดินทางออกมาที่สาธารณะ ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้ง “รับทราบว่าเป็นการยากที่ต้องถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในที่พักเป็นเวลานาน 21 วัน แต่ทว่าทางรัฐแอริโซนาต้องการให้ชาแอริโซนาทำตามคำแนะนำนี้อย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อผู้คนเดินทางไปจับจ่ายที่ห้างสรรพสินค้า และมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นอีกร่วมร้อยอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้เราต้องต่อสู้กับการระบาดของโรคหัดนี้ที่กำลังวิกฤต” วิล ฮัมเบอร์ (Will Humble) ผู้อำนวยการสาธารณสุขรัฐแอริโซนาแถลง
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐแอริโซนาไม่มีตัวเลขนักเรียนรัฐแอริโซนาที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด หรือช่วงอายุ โดยในวันอังคาร(28) มีหญิงชาวแอริโซนาใน มารีโคปา เคาน์ตี (Maricopa County) ได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นโรคหัดที่เชื่อมโยงกับการระบาดในดิสนีย์แลนด์ โดยได้รับการแพร่เชื้อจากครอบครัวในพินาล เคาน์ตี (Pinal County) ที่กลับมาจากการเที่ยวสวนสนุกดีสนีย์แลนด์
สาเหตุการแพร่ระบาดล่าสุดในสหรัฐฯ เชื่อว่าเกิดมาจากแนวคิดการปฎิเสธการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯแพร่หลายในหมู่ผู้ปกครองในสหรัฐฯ โดย USA TODAY สื่อสหรัฐฯชี้ในวันจันทร์(27)ว่า การเกิดโรคระบาดแสดงให้เห็นถึง การได้ข้อมูลที่ผิดพลาด การถูกชี้นำในทางที่ผิดโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคมสหรัฐฯ และรวมไปถึงการไม่บังคับใช้กฎหมายของรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งเจมส์ เชอร์รี (James Cherry) ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส สื่อสหรัฐฯ ว่า สาเหตุการระบาดของโรคหัดในสหรัฐฯที่เริ่มต้นจากสวนสนุกในรัฐแคลิฟอร์เนียมีสาเหตุเกิดมาจากแนวคิดต่อต้านการทำวัคซีนแน่นอน 100 %
ในปี 1960 พบว่าโรคหัดได้สังหารคนไปถึง 450 คนต่อปี และทำให้ต้องกลายเป็นผู้พิการจำนวนมากกว่านั้น ก่อนปี 2000 โรคหัดนี้ได้ถูกกำจัดไปจากสหรัฐฯเนื่องจากวัคซีนที่มีฤทธิ์ครอบจักรวาลที่ได้ปกป้องบุตรหลานชาวอเมริกันจากโรคร้าย แต่ในปี 2014 กลับพบว่า สหรัฐฯกลับต้องเผชิญหน้ากับผุ้ป่วยโรคหัดอีกครั้งจำนวนถึง 644 ราย และเกือบจะแค่ 1 เดือนแรกของปี 2015 มีปรากฏตัวเลขผุ้ติดเชื้อโรคหัดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ราย ที่ล้วนเชื่องมโยงกับการระบาดโรคหัดในดีสนีย์แลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
ถึงแม้ตัวเลขที่พบยังมีจำนวนไม่สูง แต่แนวโน้มการติดเชื้อดูเหมือนจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพราะพบว่ามีผู้ปกครองชาวอเมริกัน จำนวนมากต่างตกเป็นเหยื่อของแนวคิด “การไม่ยอมรับทำวัคซีน” ที่เผยแพร่โดยผู้มีชื่อเสียงในวงสังคมอเมริกันที่ได้แนวคิดมาจากการศึกษาในอังกฤษที่อ้างว่า การทำวัคซีน MMR (โรคหัด โรคคางทุม และโรคหัดเยอรมัน) นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดโรคออทิสติกได้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่าแนวคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนนั้นมีนักการเมืองสายพรรครีพับริกันอยู่ในหัวขบวน พรรครีพับลิกันที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยม ปฎิเสธแนวคิดทฤษฎีโลกร้อน รวมไปถึงปกป้องชีวิตในครรภ์ด้วยการไม่ต้องการให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ หรือไม่สนับสนุนให้รัฐใช้เงินของรัฐสนับสนุนโครงการวางแผนครอบครัว และอื่นๆอีกมากมาย The DC World Affairs Blog ได้ลงบทความ “Ron Paul and the The Dangers of the Anti-Vaccine Movement”ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2011 ถึงอันตรายจากแนวคิดต่อต้านการทำวัคซีนของรอน พอล และพรรคพวก ที่ปัจจุบันรอน พอล ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกรัฐเทกซัส โดยกล่าวว่า สว. พอลและผู้ร่วมแนวคิด เช่น เจนนี แมคคาธี (Jenny McCarthy) นักแสดงหญิงชาวสหรัฐฯ ได้ร่วมกันชักจูงพ่อแม่ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากไม่ให้นำบุตรหลานเข้ารับวัคซีน โดยโยงไปถึงผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดโรคออทิสติก และมีผู้ปกครองอเมริกันที่มีบุตรหลานป่วยด้วยโรคออทิสติกไม่ต่ำกว่า 5,000 ในปี2011 ได้ยื่นฟ้องร้องค่าเสียหายจากการนำบุตรหลานไปเข้ารับวัคซีน
ต้นตอการศึกษาออทิสติกและการรับวัคซีนมาจากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสารอังกฤษ The Lancet ในวันทื่ 28 กุมภาพันธ์ ในปี 1998 ของการศึกษาโดยนายแพทย์ แอนดรูว์ เวกฟิลด์ (Andrew Wakefield) ที่ได้อ้างว่า ในการวิจัยของเขาพบความเชื่อมโยงของวัคซีน MMR และการป่วยด้วยโรคออทิสติก และจนถึงปี 2011 ตลอดการศึกษางานวิจัยอีกไม่ต่ำกว่า 25 ชิ้น ไม่พบความเชื่อมโยงวัคซีนนี้กับโรคออทิสติก แต่อย่างใด และพบว่าในปี 1993 ญี่ปุ่นยกเลิกการแจกจ่ายวัคซีน MMR ในเด็กแต่กลับพบว่าอัตราป่วยด้วยโรคออสติกกลับสูงขึ้น และภายหลังพบว่า เวกฟิลด์และเพื่อร่วมวิจัยจากอังกฤษได้กุผลการศึกษานี้ โดยวารสารอังกฤษได้ประณามว่า “เป็นความตั้งใจที่จะหลอกลวงผลงานศึกษา” และเมื่อ The Lancet ย้อนกลับไปตรวจสอบแพทย์ที่ร่วมลงชื่อในงานวิจัยชิ้นนี้ของเวกฟิลด์พบว่า แพทย์เหล่านั้นได้ถอนชื่อออกจากงานวิจัยชิ้นนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น แมคคาธี ยังคงปกป้องเวกฟิลด์และผลงานวิจัยของเขาถึงแม้ผลวิจัยล่าสุดจะไม่ชี้ความเชื่อมโยงก็ตาม อย่างไรก็ตาม เหมือนเช่นในสหรัฐฯ ในขณะนั้นโรคหัดได้ระบาดในอังกฤษ และมีตัวเลขผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับการทำวัคซีนเพียง 80% ในขณะที่ CDC สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในสหรัฐอเมริการายงานว่ามีตัวเลขผู้ปกครองอเมริกันถึง 40 % ตัดสินใจเลื่อน หรือปฎิเสธนำบุตรหลานเข้ารับวัคซินอย่างน้อย 1 รายการ
โดย USA TODAY ชี้ข้อบกพร่องในสหรัฐฯ จากช่องโหว่กฎหมายรัฐทั่วอเมริกาที่อนุญาตให้ผู้ปกครองสามารถใช้ข้ออ้างทางการแพทย์ที่จะไม่นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนที่กำหนดได้ แต่ทว่าเป็นที่น่าแปลกใจที่ทุกรัฐในอเมริกา ยกเว้นรัฐมิสซิสซิปปีและรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย อนุญาตให้พ่อแม่อเมริกันสามารถใช้ “ข้ออ้างทางศาสนา” เพื่อเลี่ยงนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีน นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกถึง 19 รัฐที่อนุญาตให้ใช้เหตุผล “แนวคิดทฤษฎี” เพื่อที่จะเป็นข้ออ้างไม่ต้องการให้เด็กเข้ารับวัคซีน ซึ่งในสหรัฐฯผู้ปกครองต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างจากหลายประเทศ เช่น ไทย ที่เด็กจะได้รับวัคซีนโดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
เช่นในรัฐทางตะวันออกของสหรัฐฯ มีขั้นตอนง่ายมากในการไม่ขอรับทำวัคซีน ผู้ปกครองในรัฐนิวเจอร์ซีเพียงแค่ยื่นจดหมายที่ระบุว่า การเข้ารับวัคซีนจะเป็นการขัดขวางต่อสิทธิเสรีภาพที่จะปฎิบัติตามหลักปฏิบัติทางศาสนา และเด็กคนนั้นไม่จำเป็นต้องทำวัคซีน โดยพบว่าในปี 2014 มีเด็กนักเรียนถึง 9,000 รายที่ได้รับข้ออ้างทางศาสนาไม่ต้องเข้ารับวัคซีน สูงเป็น 5 เท่าของจำนวนในปี 2005 ซึ่งกระจุกตัวในเคาน์ตี 4แห่ง
นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังตอกย้ำถึงสาเหตุการระบาดสืบเนื่องจาก “แนวคิดปฎิเสธการฉีดวัคซีน” ในวันพุธ(28) ว่า แผนกสาธารณสุขประจำรัฐแคลิฟอร์เนียออกมายอมรับว่า การระบาดโรคหัดในรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดจาก ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนแพร่โรคติดต่อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งพบว่าภายในรัฐโกลเดนสเตทแห่งนี้ มีนักเรียนจำนวนถึง 2.7 % ได้รับข้อยกเว้นเหตุผลเสรีภาพในการปฎิบัติตามศาสนาไม่ต้องทำวัคซีน
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ชาวอเมริกันที่เห็นการระบาดของโรคหัดยังคงยืนยันในความเชื่อต่อต้านการทำวัคซีนให้เด็ก โดย LA Times รายงานในวันที่ 25 มากราคม ล่าสุด ถึงความรู้สึกของผู้ปกครองที่ยังคงยืนยันไม่ต้องการให้มีการทำวัคซีนของแกรี โมแนแฮน (Gary Monahan) สมาชิกสภาเมืองเมซา รัฐแอริโซนา คุณพ่อลูก 6 ที่มีหนึ่งในนั้นป่วยด้วยโรคออทิสติก โดยโมแนแฮนยอมรับว่า ตัดสินใจให้บุตร 4 คนสุดท้ายปฎิเสธการทำวัคซีน โดยสมาชิกสภาเมืองเมซาให้ความเห็นว่า “ จะให้พูดอย่างไรที่จะไม่ดูเหมือนคนไร้สติ และผมไม่ต้องการให้ใครติดโรคหัด แต่จะให้ผมทำใจยอมรับได้อย่างไรที่ต้องทนเห็นการฉีดไวรัสที่ยังมีชีวิตถึง 3 ตัวเข้าสู่ร่างกายของเด็กอายุแค่ 1ปี มันดูหัวใจสลายและโหดร้ายเกินจะทำใจยอมรับได้ ซึ่งรัฐบาลและรัฐต้องทำให้ง่ายมากกว่านี้สำหรับผู้ปกครองในการเข้าสู่ระบบสุขภาพเพื่อจะทำให้ถูกต้อง” นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับความเห็นของ ดี คล็อก (Dee Klocke) คุณแม่ลูก 2 ที่ลูกของเธอเข้าเรียนในโรงเรียนวาลดอร์ฟ (Waldorf School) ในออเรนจ์ เคาน์ตี รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในเคาน์ตีแห่งนี้มีฐานะและการศึกษาดี แต่กลับพบว่า นักเรียนในโรงเรียนนี้ถึง 41% ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยเธอให้ความเห็นถึงการโอกาสติดโรคหัดสำหรับบุตรของเธอว่า “ถ้าหากเด็กๆต้องติดโรคหัด แล้วจะทำไม… บางทีที่ดิฉันกล่าวเช่นนี้เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น”

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

IS แพร่คลิปเสียง “นักข่าวญี่ปุ่น” เตือนนักบินจอร์แดนจะถูกฆ่าวันนี้ หาก “มือบึ้มหญิงอิรัก” ไม่ได้อิสรภาพ

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบคลิปเสียงใหม่ที่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างว่าเป็นเสียงของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ชาวญี่ปุ่นซึ่งตกเป็นตัวประกัน โดยเนื้อหาของคลิประบุนักบินชาวจอร์แดนจะถูกสังหารทันที หากกรุงอัมมานไม่ยอมปล่อยตัวมือระเบิดหญิงชาวอิรักก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน วันนี้ (29 ม.ค.)
คลิปเสียงล่าสุดดูเหมือนจะเป็นการผ่อนผันกำหนดเส้นตายที่กลุ่มไอเอสเคยให้ไว้เมื่อวันอังคาร (27) ซึ่งเวลานั้น เคนจิ โกโตะ ถูกสั่งให้พูดว่า เขาจะถูกฆ่าภายใน 24 ชั่วโมง หากนักโทษหญิงชาวอิรักไม่ได้รับอิสรภาพ
คลิปดังกล่าวเพิ่งถูกโพสต์บนเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (29) โดยนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แจ้งต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลยังอยู่ระหว่างวิเคราะห์
“ผมคือ เกนจิ โกโตะ นี่คือข้อความเสียงที่ผมถูกสั่งให้ส่งมายังท่าน หาก ซาจีดะห์ อัล-ริชาวี ไม่ถูกปล่อยตัวเพื่อแลกกับชีวิตของผมที่ชายแดนตุรกีก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ในวันที่ 29 มกราคม ตามเวลาเมืองโมซุล นักบินชาวจอร์แดน มูอาธ อัล-คาซาเอสเบห์ จะถูกสังหารทันที” บุคคลในคลิปเสียงกล่าว
รัฐบาลจอร์แดนแถลงวานนี้ (28) ว่า ยังไม่ได้รับคำยืนยันว่า อัล-คาซาเอสเบห์ ยังปลอดภัยดี และพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อเสนอแลกเปลี่ยนตัวประกันกับกลุ่มไอเอส หากนักบินผู้นี้ถูกปล่อยตัวแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี คลิปเสียงล่าสุดบ่งบอกว่า ไอเอสไม่ได้ถือว่า อัล-คาซาเอสเบห์ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยน โดยจะปล่อยตัวนักข่าวญี่ปุ่นเพื่อแลกกับ อัล-ริชาวี เท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้รัฐบาลจอร์แดนก็คงไม่เต็มใจที่จะทำ เพราะกรุงอัมมานยืนกรานว่า ชีวิตของพลเมืองตนเองสำคัญเป็นอันดับแรก
รัฐบาลจอร์แดนยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับคำขู่ล่าสุด แต่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กำลังประสานงานกับญี่ปุ่นเพื่อวิเคราะห์ความจริงแท้ของคลิปเสียง
อัล-ริชาวี ต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงอัมมานเมื่อปี 2005 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 60 ราย
ก่อนหน้านี้ โมฮัมหมัด อัล-โมมานี โฆษกรัฐบาลจอร์แดนระบุว่า จอร์แดนพร้อมที่จะปล่อย อัล-ริชาวี เพื่อแลกกับชีวิตของ อัล-คาซาเอสเบห์ ว่ากลุ่มไอเอสจะต้องเป็นฝ่ายปล่อยตัวนักบินก่อน
อัล-คาซาเอสเบห์ ถูกจับเป็นตัวประกันหลังจากที่เครื่องบินของเขาประสบอุบัติเหตุตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเมื่อเดือนธันวาคม ระหว่างออกปฏิบัติภารกิจทิ้งระเบิดใส่ฐานที่มั่นไอเอส
นักบินผู้นี้เป็นสมาชิกชนเผ่าสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังฐานอำนาจของราชวงศ์ฮัชไมต์ที่ปกครองจอร์แดน
ท่าทีของจอร์แดนทำให้เกิดกระแสความกังวลในญี่ปุ่นว่า เคนจิ โกโตะ อาจจะถูกผลักออกจากข้อตกลงใดๆ ระหว่างกรุงอัมมานกับไอเอส แต่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างคำพูดของ นัสเซอร์ จูเดห์ รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน ซึ่งยืนยันว่า อิสรภาพของผู้สื่อข่าวแดนปลาดิบจะรวมอยู่ในเงื่อนไขเจรจาทุกรูปแบบ “อย่างแน่นอน”

ยอดเหยื่อน้ำท่วมใหญ่ใน “โมซัมบิก” เพิ่มเป็นอย่างน้อย 117 ศพ อีกนับแสนไร้บ้าน

ทางการโมซัมบิก เผย ยอดผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายในประเทศของตนได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 117 ราย ขณะที่ประชาชนอีกราว 150,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย
รายงานข่าวในวันพุธ (28 ม.ค.) ซึ่งอ้างคำแถลงของมูซินโญ ไซเด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขโมซัมบิก ระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องในโมซัมบิกตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมส่งผลให้เกิดน้ำท่วมครั้งเลวร้าย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 117 คน และอีกราว 150,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขโมซัมบิก เผยเพิ่มเติมว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายในประเทศของตนที่ได้เพิ่มเป็นอย่างน้อย 117 รายแล้วนั้น ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 84 ราย
รายงานข่าวระบุว่า เขตซัมเบเซียทางตอนกลางของโมซัมบิก คือ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด และเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด โดยสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำ การถูกฟ้าผ่า รวมถึงการเสียชีวิตจากเหตุดินถล่ม
ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติออกคำแถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า เหตุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ทั้งโมซัมบิก มาลาวี มาดากัสการ์ และ ซิมบับเว ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีกว่า 250,000 คนที่ต้องกลายสภาพเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และกำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

POLL ชี้ชาวรัสเซียมองจีนเป็น “มหามิตร” ส่วนมะกันถูกมองเป็นศัตรู-คอยจ้องหาเรื่องมากสุด

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในรัสเซีย ชี้ ประชาชนแดนหมีขาวมอง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรต่อรัสเซียมากที่สุด ขณะที่สหรัฐอเมริกาถูกมองเป็นประเทศที่ทำตัวเป็นศัตรู-คอยจ้องหาเรื่องรัสเซียมากที่สุด
ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัยความคิดเห็นสาธารณะแห่งรัสเซีย (VTSIOM) ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธ (28) ระบุ 51 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวรัสเซียจำนวน 1,600 คน จาก 132 เมืองทั่วประเทศ ลงความเห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรต่อรัสเซียมากที่สุด
ข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่า สัดส่วนของชาวรัสเซียที่มองว่าจีนมีความเป็นมิตรต่อรัสเซียมากที่สุดนั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากระดับ 23 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2008
นอกเหนือจากจีนแล้ว ผลสำรวจครั้งนี้ยังระบุว่า ชาวรัสเซีย 32 เปอร์เซ็นต์ มอง “เบลารุส” เป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรต่อรัสเซีย ตามมาด้วย “คาซักสถาน” อีก 20 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของเยอรมนีนั้น ผลสำรวจพบว่าขณะนี้มีชาวรัสเซียเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ที่มองว่าเยอรมนีเป็นมิตรต่อรัสเซีย ถือเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากระดับ 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2008
ในอีกด้านหนึ่งผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย VTSIOM ล่าสุด ระบุว่า ชาวรัสเซีย 73 เปอร์เซ็นต์ มองสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ทำตัวเป็นศัตรู – คอยจ้องหาเรื่องรัสเซียมากที่สุด เพิ่มขึ้นจาก 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2008 ตามมาด้วย ยูเครน (32 เปอร์เซ็นต์)

น้ำมันร่วงหลังพบสต๊อกเชื้อเพลิงมะกันสูงลิ่ว หุ้นสหรัฐฯ ดิ่ง-ทองคำลง

ราคาน้ำมันเมื่อวันพุธ (28 ม.ค.) ร่วงหนัก พบสต๊อกเชื้อเพลิงสหรัฐฯทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระพือความกังวลรอบใหม่ต่อภาวะอุปทานล้นตลาด ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบแรงและทองคำขยับลงพอสมควร หลังเฟดย้ำไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด ของตลาดนิวยอร์ก งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.78 ดอลลาร์ ปิดที่ 44.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009 ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 48.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในวานนี้ (28 ม.ค.) เป็นผลจากความวิตกว่าภาวะอุปทานล้นตลาดจะหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก หลังข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ พบว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 8.9 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มกราคม สู่ระดับ 406.7 ล้านบาร์เรล สูงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลอเมริกาเริ่มจดบันทึกข้อมูลรายสัปดาห์ในปี 1982
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (28 ม.ค.) ปิดลบหนัก จากแรงฉุดของหุ้นภาคพลังงานในดัชนีเอสแอนด์พี 500 หลังราคาน้ำมันกลับมาดิ่งอีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามกรอบเวลาเดิมช่วงครึ่งปีหลัง
ดาวโจนส์ ลดลง 195.84 จุด (1.13 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,191.37 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 27.39 จุด (1.35 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,002.16 จุด แนสแดค ลดลง 43.50 จุด (0.93 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,637.99 จุด
ในบทสรุปของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่เฟดบอกว่าจะอดทนต่อการขึ้นดอกเบี้ย และยังไม่ด่วนดำเนินการตามธนาคารกลางอื่นๆ ที่ในเดือนนี้ลงมือกระตุ้นเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่เปราะบาง
ถ้อยแถลงของเฟดส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่ามากยิ่งขึ้น ได้ก่อแรงกดดันต่อน้ำมัน และฉุดให้หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหนักมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังเฟดย้ำจะอดทนต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยใดๆ ก็ส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันพุธ (28 ม.ค.) ปรับลดพอสมควร โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 5.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,285.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์