วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขยะอาหารจะน้อยลง

        ผู้บริโภคควรเรียนรู้ที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน  แต่บางครั้งก็ทำเกินเหตุ  หากสังเกตเห็นว่าอาหารมีตำหนิส่วนมากจะทิ้งขว้าง  บางครั้งก็เพราะวิตกกังวลมากเกินไปเพราะความไม่รู้  ทำให้ผักและผลไม้ถูกทิ้งลงถังขยะโดยไม่จำเป็น  โครงการริเริ่ม “Zu gut für die Tonne!” ของกระทรวงการบริโภคแห่งสหพันธ์ฯ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้  เพื่อหยุดยั้งการทิ้งขว้างอาหารลงถังขยะ
-          ผักเหี่ยว  ผักเหี่ยวยังสามารถเก็บไว้ได้  โดยเหมาะสำหรับการอบหรือเป็นส่วนประกอบของผัดผัก  เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของหน้าตา  ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของรสชาติ
-          ผลไม้ที่หั่นแล้ว  ผลไม้หรือผักที่หั่นแล้วและเป็นสีน้ำตาลตรงรอยหั่นก็ไม่ใช่เหตุผลให้ต้องวิตก  ที่เห็นเป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมชาติของสารในผักที่มีต่ออากาศและไม่ได้ทำให้กินไม่ได้
-          มันฝรั่ง  มันฝรั่งเก็บไว้ได้หลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนแล้วแต่ชนิด  แต่สีเขียวเป็นสัญญาณเตือน  ตำแหน่งนั้นจะประกอบด้วย Solanin ที่สามารถเป็นพิษได้  อาการก็ได้แก่ ปวดท้อง เป็นไข้ อาเจียรหรือท้องเสีย  แต่ไม่ต้องทิ้งมันฝรั่งทั้งหัว  แต่ควรหั่นตรงที่เป็นสีเขียวออก  หลังจากต้มแล้วเก็บไว้ชั้นบนสุดของตู้เย็น จะเก็บได้ ๒-๓ วัน
-          เห็ด ผักโขมและปลา  ทั้งสามอย่างอุ่นกินได้อีก  ความกลัวที่ว่าอันตรายมาจากช่วงเวลาที่ยังไม่มีตู้เย็น  ดังนั้น มันจึงเสียเร็ว  ซึ่งหลีกเลี่ยงได้หากปล่อยอาหารที่เหลือให้เย็นและนำเข้าตู้เย็น  ตำแหน่งที่ดี ได้แก่ ชั้นแก้วเหนือช่องที่เก็บผัก  ซึ่งจะเย็นที่สุดและสามารถเก็บไว้ได้ ๑-๒ วัน  ในการอุ่นอีกสำคัญมากที่จะทำให้ร้อนทั่วถึงที่อุณหภูมิอย่างน้อย ๗๐ องศาเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ นาที
-          หลังออกจากช่องแช่แข็งปล่อยให้ละลายแล้ว  ข้อมูลที่รู้กันอย่างแพร่หลายว่า “หลังละลายแล้วไม่แช่แข็งอีก” ก็ไม่จริงเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น ผักแช่แข็ง หลังละลายแล้วได้รับอนุญาตให้เอาเข้าตู้แช่แข็งได้อีก  เนื่องจากก่อนกินก็ต้องผัดหรือต้มอยู่ดี  อย่างไรก็ดี ไม่ควรวางทิ้งไว้ข้างนอกนาน  ยิ่งเอาเข้าตู้แช่แข็งอีกเร็วเท่าใด เชื้อโรคก็ยิ่งก่อตัวได้น้อยเท่านั้น  นอกจากนั้น ยังรักษาสารอาหารได้ดีกว่า

หากผู้บริโภคเจาะจงจับจ่ายซื้อของเฉพาะที่ต้องการใช้ก็จะหลีกเลี่ยงการทิ้งขว้างได้  ผู้ที่ซื้อเผื่อไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าและไม่ระมัดระวังเรื่องอายุการใช้งานเสี่ยงกับการที่อาหารเสียครั้งแล้วรั้งเล่า  ดังนั้น ก่อนการจับจ่ายซื้อของจึงคุ้มที่จะตรวจตราของที่ซื้อเก็บไว้  ในตู้แช่หรือในช่องแช่แข็งก็คุ้มที่จะตรวจดูสม่ำเสมอ  ผลไม้และผักที่แช่แข็งกินได้ถึง ๑ ปี  ปลา เนื้อและอาหารที่ประกอบเสร็จแล้วเพียง ๓ เดือน  ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเขียนสลากบอกวันที่ไว้ก่อนจะเอาเข้าตู้แช่แข็ง

“รุ่นวัย ๖๕+” ยังแข็งแรง

        รู้สึกแข็งแรง เซิร์ฟในอินเตอร์เน็ตหรือไปทำงาน  ทุก ๑ ใน ๕ คนในประเทศเยอรมันมีวัย ๖๕ ปีหรือสูงกว่า  แต่จำนวนมากไม่ได้เกษียณอายุ  ผู้สูงวัยทุกวันนี้แอคทีฟกว่าเมื่อหลายปีก่อนอย่างชัดเจน  ผลการศึกษาวิจัยนี้มาจากรายงานสถานการณ์ชีวิตของ “รุ่นวัย ๖๕+” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  โดยปลายปี ๒๐๑๓ มีประชาชนอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมันราว ๘๑ ล้านคน  ราว ๑๗ ล้านคนอายุ ๖๕ ปีหรือสูงกว่า  ทำให้ราวทุก ๑ ใน ๕ คนอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่ารุ่นวัย ๖๕+  ในปีที่ผ่านมา ๑๔% ของประชาชนวัยระหว่าง ๖๕-๖๙ ปียังทำงานที่ได้รับค่าแรง  ในปี ๒๐๐๕ ยังเป็น ๖%  Roderich Egeler ประธานสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวว่าอัตราการทำงานของประชาชนสูงอายุเพิ่มขึ้นกว่า ๒ เท่าในช่วงเวลาสั้น ๆ  นอกจากนั้น ด้วยวัยที่สูงขึ้นความเป็นตัวของตัวเองมีความหมายมากขึ้น  ในปี ๒๐๑๔ พลเมือง ๓๙% ของประชาชนที่ทำงานในกลุ่มนี้ทำธุรกิจของตนเองหรือช่วยงานครอบครัว  ๕๗% ของผู้สูงวัยใช้คอมพิวเตอร์  นับแต่ปี ๒๐๑๐ สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้น ๘%  ในด้านสุขภาพ ราวมากกว่า ๓ ใน ๔ ของผู้มีวัย ๖๕ ปีและสูงกว่านี้รู้สึกแข็งแรง  ในกลุ่มอายุ ๖๕-๖๙ ปี ๑๘% ระบุตนเองว่าป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ  ในกลุ่มอายุ ๗๕ ปีขึ้นไปมีจำนวน ๒๘%  ปลายปี ๒๐๑๓ ประชาชน ๒.๒ ล้านคนในวัยตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปต้องได้รับการดูแล

แกะดำ

        แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัดหรือผู้ดูแลที่คอร์รัปชันในอนาคตสามารถถูกจำขังได้ถึง ๓ ปี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการติดสินบนหรือรับสินบนที่หนัก ๆ ถึงกับจะถูกลงโทษจองจำเป็นเวลา ๕ ปี  คณะรัฐมนตรีได้ลงมติร่างกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันในวงการสาธารณสุขจาก Heiko Maas  รัฐมนตรียุติธรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคมที่ผ่านมา  ซึ่งตัวแทนบริษัทขายยาที่ติดสินบนจะทำให้ตัวเองต้องโทษด้วย  Maas กล่าวว่าคนไข้มีสิทธิได้รับการดูแล  แม้ว่าจะเป็นกรณีปกติ  แต่มันมี “แกะดำ” ในอาชีพให้การรักษา  มูลนิธิคุ้มครองคนไข้เชื่อว่าการประกันสุขภาพตามกฎหมายสูญเสียเงินปีละ ๑๘๐๐ ล้านยูโรผ่านการคอร์รัปชัน  กฎหมายควรมีผลใช้บังคับในปี ๒๐๑๖

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ท้อง=ป่วย

        อัลตราซาวนด์มากเกินไป ตรวจมากเกินไป  ผู้ตั้งครรภ์เกือบทุกคนใช้สิทธิในมาตรการดูแลที่ไม่ได้ระบุในบทบัญญัติ  ซึ่งรวมถึงการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์และการวัดเลือดและการเต้นของหัวใจแบบพิเศษ  ทั้งนี้ แสดงให้เห็นจากการศึกษาของมูลนิธิ Bertelsmann ที่สอบถามมารดา ๑,๓๐๐ คนหลังการคลอด  ที่ไม่สำคัญคือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นการตั้งครรภ์ปกติ  การตรวจดำเนินไปเกือบเหมือนกัน  สตรี ๔ จาก ๕ คนจ่ายเงินเองสำหรับมาตรการป้องกันที่บ่อย ๆ ไม่จำเป็นดังกล่าว  ผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงว่าด้วยวิธีนี้การตั้งครรภ์จะถูกมองเหมือนเป็นเรื่องเจ็บป่วยมากขึ้นทุกที  มันจะสร้างความกลัวการคลอดให้กับสตรีและเพิ่มความปรารถนาการคลอดโดยการผ่าที่เห็นว่าปลอดภัยกว่า  เกือบครึ่งหนึ่งของสตรีที่ตั้งครรภ์ธรรมดารับว่าทำการตรวจอัลตราซาวนด์กว่า ๕ ครั้ง (ตามกำหนดอนุญาตให้ ๓ ครั้ง)  แม้ว่าการวัดการเต้นของหัวใจและการวัดการเจ็บท้องกำหนดเพียงในกรณีที่อันตรายว่าจะคลอดก่อนกำหนดเท่านั้น  ๙๘% ก็ปล่อยให้มีการตรวจ  ส่วนใหญ่ถึงกับบ่อยกว่า ๔ ครั้ง

ค่าใช้จ่ายรับผู้อพยพพุ่งสูง

        ในแคว้นทั้ง ๑๖ แคว้นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง  เนื่องจากจำนวนผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลสูงขึ้นต่อเนื่อง  ลำพังในปีนี้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าเป็น ๕,๐๐๐ ล้านยูโร  ทั้งนี้ มาจากการสอบถามของสำนักข่าวเยอรมันต่อรัฐบาลแคว้นทั้งหมด  ในปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายยังประเมินว่าราว ๒,๒๐๐ ล้านยูโร ค่าใช้จ่ายตามจริงสันนิษฐานว่ายิ่งสูงกว่านี้  เนื่องจากไม่ใช่ทุกแคว้นระบุจำนวนที่แน่ชัด  กระทรวงมหาดไทยแคว้นนอร์ดไรน์-เวสฟาเลนคำนวณสำหรับปี ๒๐๑๖ ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขอลี้ภัยจะสูงขึ้นเกือบ ๕ เท่าเปรียบเทียบกับปี ๒๐๑๔  ครั้งนั้นค่าใช้จ่ายในขอบเขตความรับผิดชอบยังเป็น ๒๑๐ ล้านยูโร    ในปี ๒๐๑๖ จะเป็นราว ๙๐๗ ล้านยูโร    เนื่องจากการพุ่งสูงของค่าใช้จ่าย ทุกแคว้นเห็นพ้องต้องกันว่าสหพันธ์ควรให้การสนับสนุนทางการเงินมากขึ้น  ขณะเดียวกันแคว้นและคอมมูนที่เกินกำลังในเรื่องของการหาที่พักอาศัยให้กับผู้ขอลี้ภัยยังคาดหวังความช่วยเหลือจากกองทัพ  โฆษกของกระทรวงกลาโหมกล่าวเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคมที่ผ่านมาที่เบอร์ลินว่ากองทัพกำลังตรวจสอบว่าสามารถให้การสนับสนุนในรูปแบบใดได้  จนถึงปัจจุบันกองทัพได้ยกค่ายทหาร ๘ แห่งทั่วประเทศที่มีที่สำหรับรับรองผู้อพยพได้ ๓,๕๐๐ คน ในแคว้นต่าง ๆ ขีดความสามารถที่จะรับผู้ลี้ภัยเหลือน้อยลงทุกที

ศิลปินในวงการเพลงภาษาเยอรมัน (132) Der Graf

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ

            นาย Bernd Heinrich Graf หรือ Der Graf เป็นนักร้องและนักแต่งเพลงแนวพ็อพร็อคเยอรมันของวงดนตรี Unheilig ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) โดยมีนาย Henning Verlage นาย Christoph "Licky" Termühlen และนาย Potti เป็นนักดนตรี

            เขาไม่เปิดเผยประวัติตัวเองมาก รู้แต่ว่าเขาเกิดที่เมืองอาเค่น รัฐน้อร์ดไรน์-เว้สท์ฟาเล่น ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ แรกเรียนที่โรงเรียนดรุโณทยานคาธอลิคและร้องเพลงในวงนักร้องประสานเสียงของโบสถ์ เป็นเด็กพูดติดอ่างและมักถูกเพื่อน ๆ กระเซ้าเย้าแหย่

            ก่อนเริ่มอาชีพทางดนตรี เขาเรียนจบเป็นนักเท็คนิคทันตกรรม แต่ก็ไม่ได้ทำงานตามวิชาชีพเนื่องจากถูกเกณฑ์ทหารเป็นระยะเวลา ๔ ปี หลังจากนั้นจึงไปเรียนเป็นนักควบคุมการฟังเสียง ในปี ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) จึงได้ร่วมมือกับนาย Grant Stevens และนาย Jose Alvarez-Brill ผู้ผลิตเพลง ก่อตั้งวงดนตรี Unheilig ขึ้น เพลงแรกที่ออกในปี ๒๐๐๐ (พ.ศ. ๒๕๔๓) คือ Sage Ja! ซึ่งได้รับความนิยมในรายการเพลงร็อคอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นได้ออกเพลงชุด Phosphor และ Das 2. Gebot

            ต่อมา เขาได้ตัดสินใจดำเนินงานวงดนตรีเอง การแสดงบางครั้งก็ร่วมกับนักดนตรีรับเชิญ เพลงชุดต่อมาคือ Zelluloid, Moderne Zeiten, Puppenspiel, Große Freiheit และ Lichter der Stadt

            เขาได้ทำกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะการช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วย ด้วยการตั้ง Verein Herzenswünsche e.V. (Münster) จากความสนับสนุนของ Aktionen Die Graftschaft ของเขาเองตั้งแต่ปี ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) จนได้รับรางวัล Ehren-Echo für Soziales Engagement ในปี ๒๐๑๒ (พ.ศ. ๒๕๕๕) และในปีเดียวกันนั้น Sonova-Marke Phonak ซึ่งเป็นองค์การที่ดำเนินงานช่วยเหลือเกี่ยวกับการฟังและไม่ได้ยิน ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นทูตของมูลนิธิการได้ยินแห่งโลก ในวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖) เขาได้รับรางวัล KIND จาก Verein Kinderlachen ในฐานะผู้ร่วมงานและสนับสนุน Verein Herzenswünsche e.V. ผ่านทาง Aktionen Die Grafschaft ส่วนงานดนตรี เขาได้รับรางวัล ECHO Pop ในฐานะผู้ผลิตเพลงระดับชาติ และรางวัลพิเศษในฐานะผู้ช่วยเหลือสนับสนุนงานทางสังคมของ Aktionen Die Grafschaft












วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชาวคริสต์โรมันคาธอลิคเยอรมันลาออกเพิ่มขึ้น

จำนวนการลาออกเป็นทางการจากความเป็นชาวคริสต์คาธอลิคในประเทศเยอรมันขึ้นถึงระดับสูงเป็นประวัติการณ์  ในปีที่ผ่านมาประชาชน ๒๐๗,๗๑๖ คนหันหลังให้โบสถ์  ทำให้เกินระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ (๑๘๑,๑๙๓) ในปี ๒๐๑๐ หลังกรณีอื้อฉาวเรื่องการประพฤติมิชอบอย่างชัดเจน ขณะนี้ในประเทศเยอรมันมีชาวคาธอลิค ๒๙.๕% ของพลเมือง  ซึ่งคิดเป็นประชาชน ๒๔ ล้านคน  ยังไม่มีจำนวนผู้ลาออกจากโบสถ์เอวังเกลิค(โปรเทสแทนต์) ในประเทศเยอรมัน (EKD)  แต่จำนวนชาวโปรแตสแตนท์โดยรวมลดน้อยลงกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งรวมถึงกรณีเสียชีวิตด้วย   EKD ยังมีสมาชิก ๒๒.๖๓ ล้านคน

ทดสอบนักบิน

        หายนภัยด้านการบินที่เกิดจากความจงใจฆ่าตัวตายของนักบิน เช่น การตกของเครื่อง Germanwings ในอนาคตควรได้รับการระงับด้วยความช่วยเหลือของการตรวจสอบทางจิตเวช  กลุ่มทำงานของสหภาพยุโรปได้แนะนำหน้าที่การทดสอบทางจิตสำหรับนักบินเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฏาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นด้วยกับการทดสอบแอลกอฮอล์และยาเสพติดโดยไม่แจ้งล่วงหน้า รวมทั้งสำนักงานธนาคารข้อมูลทั่วยุโรปสำหรับแพทย์ด้านการบินพร้อมข้อมูลของนักบิน  ในการตกของเครื่องแอร์บัสของเยอรมันวิงส์สายการบินลูกของลุฟท์ฮันซาที่ภูเขาแอลป์ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๔ มีนาคมที่ผ่านมาทำให้ประชาชนทั้ง ๑๕๐ คนบนเครื่องเสียชีวิต  ในจำนวนนี้เป็นชาวเยอรมัน ๗๒ คน  ตามการไต่สวน นักบินผู้ช่วยจงใจปล่อยให้เครื่องตก  ในอนาคตธนาคารข้อมูลพร้อมปัญหาด้านสุขภาพของนักบินควรทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลง่ายขึ้น  การแนะนำที่ได้รับการกล่าวถึงหลังการตกว่านักบินไม่ควรอยู่ในห้องทำการบินตามลำพังได้รับการคงไว้

ปีแห่งการประท้วง

        เนื่องจากการวางงานต่อเนื่องในเดือนที่ผ่าน ๆ มา สถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (IW) ที่โคโลญน์คาดหมายว่า ๒๐๑๕ จะเป็น “ปีที่เป็นข้อยกเว้นอย่างสิ้นเชิง” ในเรื่องการสไตรค์  ตามข้อมูลของ IW จนถึงต้นเดือนกรกฎาคมการประท้วงรวมกันได้เกือบ ๑ ล้านวันในประเทศเยอรมัน  Hagen Leschผู้เชี่ยวชาญด้านค่าแรงของ IW กล่าวภายใต้การอ้างข้อมูลของผู้จ้างงานและรายงานของสื่อว่าจนถึงอวสานของการสไตรค์ที่การไปรษณีย์แห่งประเทศเยอรมันประเมินได้ว่ามีวันที่ไม่ได้ทำงาน ๙๔๔,๐๐๐ วัน  ทำให้บรรลุค่าที่สูงกว่าของปีที่แล้วทั้งปีกว่า ๖ เท่า  ตามข้อมูลของ IW ในปีที่แล้วมีวันที่ไม่ได้ทำงานราว ๑๕๗,๐๐๐ วัน  ในแวดวงเศรษฐกิจมีการวิจารณ์การชอบสไตรค์ที่แพร่หลายในระยะหลัง  นอกเหนือจากที่การไปรษณีย์ ฯ ในปีนี้ยังมีการสไตรค์ที่การรถไฟแห่งประเทศเยอรมันและที่ลุฟท์ฮันซา

พรรคใหม่

        พรรคอนุรักษ์นิยมขวาทางเลือกสำหรับประเทศเยอรมัน (AfD) มีคู่แข่งผ่านพรรคใหม่ของอดีตหัวหน้าพรรค  Bernd Lucke อดีตผู้ก่อตั้งพรรค AfD และผู้สนับสนุนได้ก่อตั้งพรรคใหม่ที่มีชื่อว่า “Allianz für Fortschritt und Aufbruch“ (ALFA) จากองค์กรเดิม ตามคำกล่าวของ Lucke เนื่องในโอกาสการพบปะเพื่อก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคมที่ผ่านมาที่ Kassel   ขณะเดียวกันตัวเขาเองได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคใหม่  ในการพบปะมีผู้สนับสนุนเข้าร่วม ๗๐ คน  Lucke ที่เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายเศรษฐกิจเสรีนิยมของ AfD พ่ายแพ้ในการทะเลาะเบาะแว้งกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมรักชาติของพรรคและได้ลาออกจาก AfD เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมา  เขาได้ก่อตั้งสมาคม “Weckruf 2015 “ ที่ขณะนี้ได้ก่อตั้งเป็น ALFA  นักวิชาการด้านการเมืองมีความเห็นว่าสำหรับพรรคเล็กทั้งสองยากมากที่จะฝ่าฟันเป็นที่ยอมรับ

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ศิลปินในวงการเพลงภาษาเยอรมัน (132) Ursprung Buam

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ
Ursprung Buam เป็นวงดนตรีและนักร้องเพลงลูกทุ่ง ๓ คนจากเมือง Zillertal สาธารณรัฐออสเตรีย คือ นาย Martin Brugger ซึ่งร้องเพลงกับเล่นไวโอลินและกีต้าร์ นาย Andreas Brugger ร้องเพลงกับเล่นหีบเพลงชักชไทริช และนาย Manfred Höllwarth ร้องเพลงกับเล่นเบสเสียงทุ้มและพิณ โดยก่อตั้งวง ฯ กันในปี ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖)
นาย Martin Brugger เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิยาลัยอินน์สบรุค และเรียนการเล่นไวโอลินจากปู่ ส่วนนาย Andreas Brugger น้องชาย เกิดวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) ก็เรียนนิติศาสตร์ที่ืมหาวิทยาลัยเดียวกัน สำหรับนาย Manfred Höllwarth ลูกพี่ลูกน้อง เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ซึ่งเรียนวิชาช่างฝีมือทหาร ได้เรียนการเล่นพิณกับเบสเสียงทุ้มจากปู่ของพี่น้องทั้ง ๒ ด้วย
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) พี่น้อง Brugger มีโอกาสไปเล่นดนตรี และได้ตกลงใจตั้งวงดนตรีในปี ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ร่วมกับนาย Manfred Höllwart ลูกพี่ลูกน้องซึ่งมีประสบการณ์เล่นดนตรีลูกทุ่งในสถานที่ต่าง ๆ อยู่หลายปี โดยตั้งชื่อวง ฯ ว่า Ursprung Buam ด้วยการแนะนำและกำกับดูแลของปู่พี่น้อง Brugger ทำให้วง ฯ ก้าวไปด้วยดี จากการได้อันดับที่ ๑ ของเพลงลูกทุ่งในรายการ Hitparade ทางสถานีโทรทัศน์ ORF ทำให้วง ฯ ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักทั้งในออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และในกลุ่มประเทศเบเนลุกซ์ ในปี ๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) วง ฯ ได้รับรางวัลอามาเดอุ๊สในฐานะวงดนตรีลูกทุ่งที่ดีที่สุดของออสเตรีย
วง ฯ ได้ออกแผ่นเพลงชุดจนถึงปี ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้ ๑๓ ชุด จากจำนวนนั้น ๑๐ ชุด ได้รับรางวัล Goldene Schallplatte ในออสเตรีย ถือเป็นวงดนตรีและนักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดของออสเตรีย ปีต่อมามีการสร้างหนังเรื่อง Die Österreichische Methode  ซึ่งวง ฯ ได้ร้องเพลง Zwei Rehbraune Augen สำหรับหนังเรื่องนี้ด้วย
ในปี ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒) Internetportal ของออสเตรีย คือ Standard.at และนาง Grabriele Heinisch-Hosek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรีได้ตำหนิวง ฯ ว่ามีทัศนะเหยียดเชื้อชาติและเพศ เนื่องจากมีการเล่นออนไลน์เกี่ยวกับการขว้างก้อนหินสังหารหญิงบริการและการพบปะกลุ่มผู้หญิงที่ไม่สรวมเสื้อผ้า นอกจากนั้นยังได้พิมพ์คำร้องเพลง Achmed ของวง ฯ ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นชาวมุสลิมด้วย ผลจากเรื่องนี้ วง ฯ จึงได้ถูกห้ามออกรายการ Wenn die Musi spielt ซึ่งร่วมกันผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ ORF/ZDF/SF แม้ทางวง ฯ ได้ออกแถลงแก้ข่าว แต่ก็ไร้ผล
ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖) มีข่าวว่า ปลาที่นาย Martin Brugger ได้เลี้ยงไว้ในบ่อ ได้ถูกชาวบ้านลอบวางยาพิษตายไปหลายร้อยตัว

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ร้อนได้ร้อนไป

สมัยที่เด็ก ๆ ยังไปโรงเรียนกันอยู่  เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรอไปท่องเที่ยวช่วงปิดเทอมใหญ่  ทำกันเป็นธรรมเนียมของครอบครัวจนพ้นวัยนักเรียนกันแล้วถึงได้เลิก  ขณะนี้เปลี่ยนเป็นไปเที่ยวเวลาที่ไม่ใช่ฤดูกาลที่ชาวบ้านเขาเที่ยวกัน  ผลก็คือมักอยู่บ้านในฤดูร้อน  ซึ่งก็ไม่มีปัญหา  ถ้าหากในระยะหลังอากาศจะไม่ร้อนทารุณ  อุณหภูมิพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียส  เป็นคนไม่ชอบความร้อนมาแต่ไหนแต่ไร  จากที่ปกติไม่ค่อยดื่มน้ำ  ก็ดื่มอย่างกะอูฐ  แต่บางครั้งดูเหมือนยิ่งดื่มก็ยิ่งกระหาย  เอ๊ะ มันยังไงกันนี่
ผู้รู้บอกว่าในอุณหภูมิสูง ๆ ร่างกายสูญเสียของเหลวปริมาณมากและสารอาหารที่สำคัญ  เพื่อชดเชยการสูญเสียนี้ในวันร้อน ๆ ควรดื่มน้ำมาก ๆ  ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เครื่องดื่มอะไรล่ะที่ช่วยดับความกระหายได้จริงและสิ่งใดที่ควรระมัดระวัง
  • เครื่องดื่มเย็น ๆ ควรให้สดชื่นที่สุด ? ไม่ใช่  ถึงหากว่าเครื่องดื่มเย็น ๆ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น  แต่ยิ่งอุณหภูมิของเครื่องดื่มห่างไกลจากอุณหภูมิของร่างกายมากเท่าใด ร่างกายยิ่งต้องทำงานมากขึ้นเท่านั้น  เพื่อสร้างความสมดุลย์
  • เครื่องดื่มอุ่น ๆ ดีกว่าจริงหรือ ? ชาวทะเลทรายทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง  ผิวหนังจะได้รับการกระตุ้นจากเครื่องดื่มอุ่น ๆ ให้เหงื่อออก รูขุมขนจะเปิดออก  ซึ่งทำให้ร่างกายเย็นตัวลง
  • ควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีนหรือเปล่า ? ใช่  แม้ว่าคาเฟอีนจะกระตุ้นพลังงานการทำงานของร่างกายเป็นช่วงสั้น ๆ  แต่ภายหลังการไหลเวียนของโลหิตจะลดลงต่ำกว่าก่อนการดื่ม  ซึ่งสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้ร่างกายท่ามกลางความร้อน   กาแฟ โคลา หรือชาที่ประกอบด้วยคาเฟอีนมากเกินไป เช่น ชาดำหรือชาเขียว ควรละเว้นเสีย  เนื่องจากมันเพิ่มการเต้นของชีพจร
  • ได้รับอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ในวันร้อน ๆ หรือไม่ ? การดับความกระหายในวันร้อน ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ไม่ควรทำ  แอลกอฮอล์ขยายเส้นโลหิตที่กว้างขึ้นในอุณหภูมิสูง ๆ อยู่แล้วออกไปอีก  ผลที่ตามมาคือการไหลเวียนของโลหิตที่ผิดปกติไป  ผู้ที่ไม่ประสงค์จะละเว้นแอลกอฮอล์ อย่างน้อยควรรอจนถึงเวลาเย็นที่อากาศเย็นลงและดื่มเครื่องดื่มที่มีระดับแอลกอฮอล์ต่ำ เช่น Weinschorlen หรือ Radler
  • เครื่องดื่มใดที่เหมาะสมที่สุด ? น้ำเป็นแชมป์ดับความกระหายที่ไม่มีใครสู้ได้  น้ำประกอบด้วยแมกเนเซียมและแคลเซียม รวมทั้งเนเทรียมที่ร่างกายสูญเสียไปกับเหงื่อ  กระนั้น ไม่ใช่ว่าน้ำทุกชนิดถูกสุขลักษณะเหมือนกันทั้งหมด  ในช่วงฤดูร้อนควรระมัดระวังน้ำแร่ว่าปริมาณ Natrium และ Kalium ไม่สูงเกินไป  แม้ว่าร่างกายจะต้องการเกลือแร่นี้  แต่ปริมาณที่สูงเกินไปจะยิ่งเพิ่มความกระหาย
  • สามารถดื่มอะไรได้หากไม่ชอบดื่มน้ำ ? การที่เหงื่อออกทำให้ร่างกายมนุษย์สูญเสียสารที่สำคัญปริมาณสูง เช่น เกลือหรือแมกเนเซียม ดังนั้น ที่มีเหตุผลคือการดื่มน้ำซุปผักปริมาณน้อย ๆ เป็นครั้งคราว  เพื่อชดเชยความสูญเสีย  ชาเครื่องเทศหรือชาผลไม้ที่ไม่ใส่น้ำตาล รวมทั้งน้ำผลไม้และน้ำผักที่เจือจางลงก็เป็นทางเลือกที่ดี  สำหรับ Fruchtschorlen แพทยสภาเยอรมันแนะนำการผสมของน้ำและน้ำผลไม้ ๑ : ๑
  • สามารถทำอะไรได้บ้างหากไม่มีเครื่องดื่มอยู่ในบ้าน ? ผักและผลไม้บางประเภทมีสัดส่วนน้ำสูงมาก ตัวอย่าง เช่น แตงกวา มะเขือเทศ  หรือแตงโม ซึ่งสามารถช่วยให้ได้รับของเหลวเพียงพอ  แต่อาหารประเภทนี้ทดแทนเครื่องดื่มไม่ได้  เพียงส่วนน้อยของความต้องการของเหลวในแต่ละวันสามารถชดเชยด้วยอาหาร
  • ลืมดื่มน้ำให้เพียงพอบ่อย ๆ ทำอย่างไรดี ? ผู้ที่มีปัญหาดื่มน้ำไม่เพียงพอ  สามารถช่วยได้ด้วยข้อแนะนำง่าย ๆ ไม่กี่ข้อ เช่น ผู้ที่วางขวดน้ำไว้ข้างเตียงสามารถดื่มอึกแรกได้เลยหลังตื่นนอน  ควรตั้งขวดน้ำไว้ในที่ที่เดินผ่านบ่อย ๆ ระหว่างวัน  ทำให้เครื่องดื่มอยู่ในสายตาตลอด  แต่ละมื้ออาหารควรดื่มเครื่องดื่มด้วย
ฮะฮ้า เขียน (พิมพ์) ไปแล้วก็หิวน้ำไป  อย่ากระนั้นเลยคว้า Fruchtschorlen ไปนั่งตากลมชมวิวใต้ร่มไม้ในสวนดีกว่า  นั่งดูกระรอกวิ่งไล่กันก็เพลินดี  มีหนังสืออีกสักเล่ม  เพียงแค่นี้อุณหภูมิจะร้อนแค่ไหนก็ร้อนไป  ถึงตัวจะร้อน  แต่ใจสบายก็แล้วกันเน้อ

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล Aachener Zeitung

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หยุดพักระหว่างทาง

การเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวดูเหมือนไม่สิ้นสุดสำหรับเด็ก ๆ ทำให้ผู้ปกครองพลอยเหนื่อยไปด้วย  สโมสรยานยนต์ ADAC แนะนำว่าครอบครัวควรหยุดพัก ระหว่างเวลากลางวันการหยุดพักควรให้เวลาให้นานขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กเล็กเดินทางไปด้วย ผู้ใหญ่ควรนั่งข้างหลังกับเด็กด้วย  เพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้  แต่ ADAC ไม่แนะนำให้ป้อนอาหารเด็กระหว่างการขับรถ  เนื่องจากหากเหยียบเบรคเต็มที่อาจสำลักหรือบาดเจ็บได้  ในการเดินทางด้วยรถยนต์เป็นระยะเวลานานของกินเป็นสิ่งที่ละเว้นไม่ได้ เช่นเดียวกับของเล่นเล็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ  ที่เหมาะสม ได้แก่ ของเล่นที่ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหรือมีเพียงเล็กน้อย  หนังสือภาพและหนังสืออ่านไม่เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ทุกคน  เนื่องจากหากดูในรถบางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ได้

คุณภาพน้ำ

น้ำดื่มของประเทศเยอรมันได้รับคะแนนดีสม่ำเสมอ  แต่สมาคมเศรษฐกิจพลังงานและเศรษฐกิจน้ำแห่งชาติ (BDEW) เตือนว่าพื้นที่ที่ใส่ปุ๋ยเกินขนาดในหลายภูมิภาคทำให้ค่าไนเตรตในน้ำเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากการใช้พื้นดินทางเกษตรกรรมอย่างเข้มข้นทำให้มากกว่า ๑ ใน ๔ ของน้ำราว ๑,๐๐๐ แห่งไม่อยู่ใน “สภาพดี” ตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้อง  Joerg Simon จาก BDEW  กล่าวเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคมที่ผ่านมาที่เบอร์ลินว่า ๔๓% ของน้ำใต้ดินพบปริมาณไนเตรตระหว่าง ๒๕-๕๐ มิลลิกรัมต่อลิตรแล้ว  ผู้ผลิตน้ำประปาจำนวนมากสามารถลดระดับปริมาณไนเตรต ๕๐ มิลลิกรัมต่อ ๑ ลิตรได้เพียงใช้การแก้ปัญหาฉุกเฉิน ได้แก่ การผสมกับน้ำที่ไม่ปนเปื้อน  สมาคม ฯ วิจารณ์การรีรออย่างหนักในการลดไนเตรตที่ต้องทำตามระเบียบของ EU  แต่ความเป็นจริงที่ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนในประเทศเยอรมันกำจัดยาเก่าโดยทิ้งในส้วมหรืออ่างล้างมือสร้างความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น  ร่องรอยของยาพบในน้ำดื่มด้วย  แม้ว่าตามความรู้ปัจจุบัน ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพสำหรับประชาชน  กระนั้น ยาปฏิชีวนะ สารที่ส่งผลด้านฮอร์โมนหรือยาแก้ปวดสามารถสร้างปัญหาในน้ำทิ้ง  เนื่องจากโรงงานบำบัดน้ำเสียทุกวันนี้ไม่ได้เตรียมไว้เพื่อการนี้และต้องใช้ขั้นตอนการทำความสะอาดขั้นที่ ๔ ที่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนแพงมาก

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เงินช่วยสร้างครอบครัว

ครอบครัวได้รับเงินมากขึ้นจากรัฐ  สภาสูงได้ลงมติโครงการสนับสนุนขยายครอบครัวมีลูกของรัฐบาลผสมใหญ่เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคมที่ผ่านมาที่กรุงเบอร์ลิน  ทำให้หนทางเปิดโล่งสำหรับการขึ้นเงินช่วยเลี้ยงบุตร  จำนวนยอดเงินรายได้ที่ได้ลดภาษีสำหรับผู้เลี้ยงดูบุตรตามลำพังและสำหรับการขึ้นเงินเพิ่มเพื่อเลี้ยงบุตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย  โดยในปีนี้ผู้ปกครองจะได้รับเงินช่วยเลี้ยงบุตร (Kindergeld) มากขึ้นเดือนละ ๔ ยูโร  โดยย้อนหลังสำหรับครึ่งปีแรกด้วย  ในปี ๒๐๑๖ จะเพิ่มอีก ๒ ยูโร  ดังนั้น รวมทั้งสิ้นมีการลงมติการเพิ่ม ๖ ยูโร  ทำให้ตั้งแต่ปี ๒๐๑๖ ผู้ปกครองจะได้รับเงินสำหรับเลี้ยงดูบุตรคนแรกและคนที่สองคนละ ๑๙๐ ยูโร  ต่อเดือน  สำหรับบุตรคนที่สาม ๑๙๖ ยูโร    และสำหรับบุตรคนต่อ ๆ ไป ๒๒๑ ยูโร  เงินลดหย่อนภาษีเพื่อการเลี้ยงบุตรที่ไม่ต้องเสียภาษี (Kinderfreibetrag) จะขึ้นเป็น ๒ ขั้นจากขณะนี้ ๗,๐๐๘ ยูโร  โดยในปีนี้เพิ่มขึ้น ๑๔๔ ยูโร  ต่อบุตรแต่ละคน ในปี ๒๐๑๖ อีก ๙๖ ยูโร  เป็น ๗,๒๔๘ ยูโร  จำนวนเงินรายได้พื้นฐานขั้นแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี (Grundfreibetrag) สำหรับผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นคู่ขนานกันจาก ๘,๓๕๔ เป็น ๘,๗๕๒ ยูโร  ที่พัฒนาสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ของผู้เลี้ยงดูบุตรตามลำพัง ได้แก่ จำนวนเงินรายได้ที่จะลดพันธะภาษี (Entlastungsbetrag) ที่ขั้นต่ำไม่เคยขึ้นเลยนับแต่ปี ๒๐๐๔ เพิ่มขึ้น ๖๐๐ เป็น ๑,๙๐๘ ยูโร  ต่อปี  สำหรับบุตรคนที่สองและคนต่อ ๆ ไป ผู้เลี้ยงดูบุตรตามลำพังสามารถหักจำนวนเงินออกเพื่อไม่ต้องเสียภาษีอีกคนละ ๒๔๐ ยูโร  และเงินเพิ่มเติมสำหรับบุตร (Kinderzuschlag) ที่ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่อาจต้องยื่นขอ Hartz 4 ก็เพิ่มขึ้น  จนถึงปัจจุบันคู่สมรสดังกล่าวได้รับเงินเพิ่มเติมสำหรับบุตรจำนวน ๑๔๐ ยูโร  ในอนาคตจะเป็น ๑๖๐ ยูโรต่อเดือน

หรรษาหน้าร้อน

เชื่อว่าหน้าร้อนเป็นฤดูกาลที่ทุกคนในประเทศเยอรมันรอคอย  เพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านบ้าง  หลังจากอุดอู้อยู่แต่ในบ้านมาหลายเพลา ไม่ว่าจะปิ้งย่าง ปลูกต้นไม้ อาบแดด ฯลฯ  แต่ระวัง กิจกรรม เช่น การฉลองหรือการปิ้งย่างกลางแจ้งสามารถเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนบ้านได้  ความสนุกของเราอาจสร้างความโมโหโกรธาให้กับผู้อื่น  กรณีจำนวนมากเรื่องบานปลายไปถึงศาล  อ่านเจอเรื่องทำนองนี้บ่อยครั้ง  จึงนำมาบอกเล่าต่อ  เนื่องจากเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ หลีกเลี่ยงไม่ค่อยพ้น  อาจพบเจอเข้าบ้างสักวัน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในตึกที่มีผู้อยู่อาศัยหลายครอบครัว
20150708_162326
การใช้สวน
สวนให้เช่าพร้อมกับโวนุงหากระบุไว้ชัดเจนในสัญญาเช่า  ซึ่งเพียงพอแล้วหากผู้เช่าและผู้ให้เช่าตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ายอมให้ใช้สวนได้  ในบ้านเดี่ยวถือว่าเช่าสวนร่วมด้วย หากไม่มีการตกลงเป็นอื่น  การอนุญาตให้ใช้สวนร่วมเจ้าของสามารถยกเลิกได้ตามการตัดสินของศาลที่เบอร์ลิน
กฎเกณฑ์สำหรับระเบียง
บนระเบียงผู้เช่าสามารถตั้งโต๊ะ เก้าอี้ เก้าอี้ยาวหรือร่มกันแดดได้  และนั่งดื่มกาแฟ พูดคุย ฉลองกับมิตรสหาย คนรู้จักได้ ตามที่สมาคมผู้เช่าชี้แจง  แต่หลังยามวิกาลตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกาไปแล้วเป็นเวลาของทุกคนต้องการความเงียบสงบ ตามการตัดสินคดีในศาลแห่งนครแฟรงค์เฟิร์ต  กระถางดอกไม้ รางต้นไม้และกระถางดอกไม้ขนาดใหญ่ได้รับอนุญาต  Oliver Mai ทนายความกล่าวว่ากระนั้นก็ต้องระมัดระวังวางให้ปลอดภัยและกระชับแน่น  ตามข้อมูลของศาลแห่งมืนเช่น ด้านนอกระเบียงก็ได้รับอนุญาตให้ติดรางดอกไม้ได้ด้วย  แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นหากมีการวางแผนให้การตกแต่งเป็นแบบเดียวกัน  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ศาลเบอร์ลินตัดสินว่าต้องเอากระถางดอกไม้และอื่น ๆ ออก  น้ำรดต้นไม้ไม่ได้รับอนุญาตให้หยดลงข้างล่างและส่งผลไม่ดีต่อบางส่วนของตึกหรือเพื่อนบ้าน  ตามสายตาของศาลจำนวนมาก ผู้เช่าได้รับอนุญาตให้ลดค่าเช่าหากไม่สามารถใช้ระเบียงได้ ตัวอย่างเช่น หากอยู่ในสภาพต้องซ่อมแซมหรือผู้ให้เช่ารื้อทิ้ง (ศาลเบอร์ลิน)  ศาล Nuernberg-Fuerth ตัดสินว่าบนระเบียงอนุญาตให้ขึงราวตากผ้าและตากผ้าให้แห้งได้  ถึงแม้นว่าในลานบ้านจะมีที่ตากผ้าอยู่แล้วก็ตาม
การปลูกต้นไม้
ผู้พิพากษาที่และโคโลญน์และลือเบ็คบ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีหัวใจรักดอกไม้และผัก  โดยอนุญาตผู้เช่าให้ปลูกไม้พุ่มและต้นไม้เล็ก ๆ ได้ (ศาลโคโลญน์)  ผู้เช่าได้รับอนุญาตให้มีแปลงผักในสวน ที่ทื้งขยะเพื่อทำปุ๋ย (Komposthaufen) หรือสวนน้ำ ศาลที่ Luebeck และ Regensburg ก็ไม่มีข้อขัดข้อง  ห้องชุดชั้นล่างที่ได้รับแสงสว่างน้อยเนื่องจากต้นไม้ที่ปลูกอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เหตุผลสำหรับการลดค่าเช่า  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับระเบียง หากต้นไม้อยู่ที่นั่นแล้วขณะทำสัญญาเช่า  ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากสมาคมผู้เช่าเยอรมัน
การปิ้งย่าง
ห้ามการปิ้งย่างหรือไม่กำหนดอยู่ในสัญญาเช่า  ในบ้านที่มีหลายครอบครัวอยู่รวมกัน บ่อย ๆ การปิ้งย่างที่ระเบียงถูกห้าม  ศาล Essen ตัดสินว่าผู้ที่ไม่ทำตามนี้เสี่ยงกับการถูกให้ย้ายออก  อย่างไรก็ดี ทนายความ Mai กล่าวว่า “ตราบใดที่ไม่ได้ห้าม การปิ้งย่างในฤดูร้อนโดยพื้นฐานต้องได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้าน”  ผู้ที่รู้สึกว่าถูกรบกวน ตามการพิพากษาของศาลมืนเช่นต้องพิสูจน์การถูกรบกวน  เพื่อความสงบสุขในหมู่เพื่อนบ้านควรระมัดระวังว่าไม่มีใครถูกรบกวน  ผู้พิพากษาที่ศาล Stuttgart ได้ให้คำแนะนำเพื่อลดควันว่าให้หลีกเลี่ยงปิ้งด้วยเตาถ่าน  โดยเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าแทนและใช้ถาดฟอยล์

การฉลอง
จำนวนปาร์ตีปิ้งย่างที่ได้รับอนุญาตมีความเห็นแตกต่างกันไกลมาก  ระหว่างที่ศาล Muenchen I ยอมรับปาร์ตี ๑๖ ครั้งใน ๔ เดือน  ศาลสูง Oldenburg ปล่อยให้ฉลองได้เพียง ๔ ครั้งต่อปีเท่านั้น  ศาล Aachen จำกัดการปาร์ตีปิ้งย่างไว้ ๒ ครั้งต่อเดือนและให้ไปปิ้งย่างกันในส่วนท้ายของสวน
ขอเตือนว่านี่เป็นเพียงฉบับย่อ  แต่หลายคนอ่านแล้วคงปวดตับว่าทำไมมันจุกจิกวุ่นวายกันได้ถึงขนาดนี้   คนไทยเราไม่นิยมการมีปัญหากับใครอยู่แล้ว  แค่ถือหลักเอาใจเขามาใส่ใจเราและยิ้มสยามผูกใจเพื่อนบ้านก็จะอยู่กันได้อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องวิ่งโร่ไปศาลให้หน้าดำคร่ำเครียด  ร้อนอกร้อนใจเพราะอากาศช่วงนี้ก็ร้อนจนตับจะแล่บอยู่แย้ว…

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มโนสาเร่ (๔) : สะพานใกล้กระทรวงฯ*

เอกอัครราชทูต  วิญญู  แจ่มขำ
                   บรรดาสิ่งก่อสร้างเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ สะพานเก่าถูกรื้อทำลายหรือเปลี่ยนสภาพรวดเร็วมาก เนื่องจากการคมนาคมและการขนส่งภายในเมือง ได้เปลี่ยนจากทางน้ำเป็นทางบก ขณะที่คลองเปลี่ยนสภาพเป็นทางระบายน้ำ  สะพานก็เปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของถนน   สะพานที่เหลืออยู่ก็ถูกขยับขยาย หรือเปลี่ยนลักษณะให้เหมือนกับถนนที่ขยายออก  จนรูปร่างสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
การสร้างสะพานถนนคูคลองในกรุงรัตนโกสินทร์   แรกๆ เป็นสะพานขนาดเล็ก เฉพาะคนข้ามและสะดวกสำหรับการรื้อถอนเมื่อคราวจำเป็น   เพราะการขุดคูคลองในสมัยนั้น    นอกจากเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคม  เพื่อการใช้น้ำ  การเพาะปลูก อุปโภคและบริโภคแล้ว ยังใช้เป็นปราการป้องกันข้าศึกยามสงครามอีกด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีพระราชดำริจะสร้างสะพานสำหรับช้างข้ามคลองรอบกรุงเป็นการถาวร  ในพุทธศักราช 2326 หากแต่พระพิมลธรรมวัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ถวายพระพรห้ามไว้
การก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่และแข็งแรง เริ่มสร้างในรัชกาลที่ 3 เนื่องจากชาวตะวันตก เริ่มเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรสยามบ้างแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ 4 กงสุลต่างประเทศที่บางกอก  ได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องทุกข์ว่า ไม่มีถนนหนทางให้ขี่ม้าหรือนั่งรถ สุขภาพจึงเสื่อมโทรมและเจ็บไข้เสมอ พวกที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายสินค้า ก็ร้องทุกข์ ประสงค์ให้ทางราชการขุดคลอง และตัดถนนผ่านมาร้านที่พวกตนค้าขาย
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพระนครครั้งใหญ่ จึงมีการขุดคลองและตัดถนนหลายสาย ก่อสร้างสะพานข้ามคลองหลายสะพาน ทั้งที่เป็นของทางราชการและประกาศบอกบุญ รวมถึงการก่อสร้างสะพานโครงเหล็ก เช่น สะพานหัน  (ข้ามคลองโอ่งอ่าง ย่านพาหุรัด) สะพานดำรงสถิตย์(สะพานเหล็กบนข้ามคลองโอ่งอ้าง ไปทางทิศตะวันออก ถนนเจริญกรุง สามยอด) และสะพานพิทยเสถียร (สะพานเหล็กล่างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม  ใกล้จะออกแม่น้ำเจ้าพระยา  ถนนเจริญกรุง)  สะพานทั้ง 3 สะพาน เสาและคานเป็นเครื่องไม้  โครงสะพานเป็นเหล็ก  พื้นสะพานมีล้อเลื่อนข้างล่าง  ที่คานไม้มีรางเหล็ก
ครั้นถึงสมัยพระพุทธเจ้าหลวง  ได้นำเทคนิควิทยาการทางตะวันตกเข้ามาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ  รวมทั้งจ้างช่างชาวต่างประเทศออกแบบ และอำนวยการก่อสร้างอาคารและสะพาน      หลายแบบสนองพระราชดำริ ศิลปกรรมจึงมีลักษณะแบบตะวันตก ผู้ดำเนินการก่อสร้างสะพานระยะแรกคือกรมโยธาธิการ หลังจาก พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา เป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล
ปัจจุบัน สะพานบางแห่งที่ก่อสร้างขึ้นในอดีต  ยังคงมีลักษณะเดิม บางแห่งก็ให้รับการบูรณะ ปรับปรุงตามสภาพเดิม  บางแห่งก็ถูกรื้อถมเป็นถนน  และหลักฐานเดิมก็สูญหายไปด้วย  สะพานที่หลงเหลือ  และอยู่ใกล้กระทรวงฯ ขณะนี้ มี 9 สะพาน คือ ในพระราชอุทยานสราญรมย์ (สวนสราญรมย์) 1 สะพาน และข้ามคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) 8 สะพาน ได้แก่
  1. สะพานในพระราชอุทยานสราญรมย์
พระราชอุทยานสราญรมย์  เป็นต้นกำเนิดสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ อาณาบริเวณเป็นพื้นที่ส่วนหน้าของพระราชวังสราญรมย์ หัวถนนเจริญกรุง  ตรงข้ามกรมการรักษาดินแดน รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างในปี 2411 หลังโปรดให้สร้างพระราชวังสราญรมย์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ขึ้นก่อน  ในปี 2409 ด้วยพระราชดำริว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานารถ (รัชกาลที่ 5) ทรงผนวชและทรงจำเริญพระชันษาที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จะทรงมอบพระราชสมบัติให้ โดยจะทรงเป็นพระเจ้าหลวงช่วยแนะข้อราชการแผ่นดิน   และจะเสด็จฯ  ประทับในพระราชวังสราญรมย์  แทนพระราชวังหลวง เนื่องจากสะดวกที่จะทรงพระดำเนินไปวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งโปรดให้สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งการครองราชย์ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เช่นกัน เพื่อทรงสนทนาธรรมกับพระภิกษุ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนพระปณิธานจะสมตามพระราชหฤทัย ในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชวังสราญรมย์เป็นที่ประทับของเจ้านายสยามหลายพระองค์ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมทั้งพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะจากต่างประเทศ เช่น เจ้าชายออสการ์แห่งสวีเดน พระเจ้าซาส์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เจ้าชายจอร์จ แห่งกรีซ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2428 – เดือนตุลาคม 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นศาลาว่าการต่างประเทศชั่วคราว และเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2447 จนตลอดรัชกาลที่ 5 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศ ในพระบรมมหาราชวัง ย้ายมาใช้พระราชวังสราญรมย์ เป็นที่ทำการ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2469 เป็นต้นมา ปัจจุบันพระราชอุทยานสราญรมย์ถูกลดฐานะเป็นสวนสราญรมย์ พื้นที่ 23 ไร่  เคยใช้เป็นที่จัดงานวชิราวุธานุสรณ์ประจำปีอยู่หลายปี
พระราชอุทยานสราญรมย์  เป็นต้นกำเนิดสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ภาพจากวิกิพีเดีย อัพโหลดโดย Hdamm
เมื่อเดินเข้าประตูทางด้านถนนเจริญกรุง   จะเห็นน้ำพุพานโลหะแบบโรมัน สลักลวดลายสวยงาม  เบื้องขวาเป็น “อาคารรัฐธรรมนูญ” ตึกชั้นเดียวใช้เป็นที่ทำการสวน ต่อไปจนถึงมุมกำแพงด้านตะวันออก มีอาคารเรือนกระจกยาวสีขาวชั้นเดียว  มุขกลางขนาดเล็ก ติดหน้าต่างกระจกรอบอาคาร ช่องลมเหนือหน้าต่าง  ประดับไม้ฉลุลวดลายละเอียด  สร้างในรัชการที่ 5 ต่อมาในปี 2447  รัชการที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงก่อตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” ขึ้นเป็นสโมสรแบบตะวันตก  สมาชิกสโมสร  ล้วนเป็นเจ้านาย ข้าราชการ  และบุคคลภายนอก  ที่กรรมการสโมสรฯ รับรอง กิจกรรมที่สำคัญก็คือออกหนังสือพิมพ์ทวีปัญญารายเดือน เล่นกีฬา ทั้งในร่มและกลางแจ้ง  ปัจจุบัน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้เป็น โรงเพาะชำ-หรืออนุบาลต้นไม้
เกาะกลางสวน เป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) สร้างในรัชกาลที่ 5 เป็นอนุสรณ์สถานปรางค์ 5 ยอด ตัวเรือนธาตุเป็นแผ่นหินจารึกพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง   หากเดินต่อไปจนสุดกำแพงติดวัดราชประดิษฐ์   จะเห็นเก๋งจีนทรง 6 เหลี่ยม   โครงหลังคาเครื่องไม้  ล้วนตกแต่งลายปูนปั้นแบบจีน สร้างในรัชกาลที่ 6  เป็นศาลสถิตเจ้าแม่ตะเคียนทอง
ศาลากระโจมแตรโลหะหลังเล็กทรง 8 เหลี่ยม สร้างพร้อมเรือนกระจก ใช้เป็นสถานที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงทหาร ระหว่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ประทับที่พระราชวังสราญรมย์
ในบริเวณพระราชอุทยาน มีสะพานเล็ก ๆ เป็นสะพานโครงเหล็ก เสาแท่นและลูกกรงลาดสะพานก่อด้วยอิฐถือปูน ออกแบบเข้าชุดกับเสาประตูใหญ่และรั้วรอบพระราชอุทยาน น่าเสียดายที่เมื่อซ่อมแซมถนน ได้เสริมพื้นสะพานอย่างฉาบฉวย ทำให้พื้นสะพานปัจจุบันตอนกลาง ท่วมล้นขอบล่างลูกกรงขึ้นมา
  1. สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 พ.ศ. 2454 ถนนพระอาทิตย์
เป็น 1 ในบรรดาสะพานชุด “เฉลิม” ทั้งหมด 17 สะพาน ซึ่งเริ่มสร้างเฉลิมพระชนมพรรษา  รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) คือสะพานเฉลิมศรี 42 เพื่อให้มีถาวรวัตถุเป็นที่ระลึก เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ที่สัญจรไปมา  โดยพระราชทานเงินเท่าพระชนมวารวันละสลึงหนึ่ง  จนถึง พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) จึงได้สร้างสะพานที่ 15 คือสะพานเฉลิมหล้า 56 เสร็จทันเปิดในรัชสมัยของพระองค์ ส่วนสะพานเฉลิมสวรรค์ 58  พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สะพาน (อีกสะพานคือสะพานเฉลิมเดช 57 พ.ศ. 2453 ถนนสี่พระยา) ที่พระราชทานทรัพย์สร้างเป็นพระราชกุศลและสาธารณประโยชน์ แต่แล้วเสร็จและเปิดใช้หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยทรงเลือกสถานที่ แบบและทรงควบคุมการก่อสร้าง ที่บริเวณปากคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ด้านเหนือ และออกพระราชทรัพย์ เพิ่มเติม
เบื้องต้น ทรงตั้งชื่อว่า “สะพานเฉลิมฤทธิ์” แต่ได้ทรงเปลี่ยนเป็น “สะพานเฉลิมสวรรค์” เพื่อหมายถึงการเสด็จสู่สรวงสวรรค์  ทรงให้ออกแบบให้เด่นที่สุดในบรรดาสะพาน “เฉลิม”  ทั้งหลาย ไม่ว่า  ด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแบบตะวันตก กล่าวคือ พื้นสะพานเป็นรูปโค้ง เสาสี่มุมรองรับหรีดรูปไข่บรรจุพระปรมาภิไธยย่อสูงเป็นสง่า แต่น่าเสียดายที่สะพานนี้ถูกรื้อถอน  เมื่อจะก่อสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าข้ามแม่น้าเจ้าพระยา ในปี 2514 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม ได้พยายามชี้แจง แต่เทศบาลกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตกลงย้ายชิ้นส่วนของสะพานไปประกอบในสวนลุมพินี หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร เพื่อคงอนุสรณ์ไว้ แต่จนบัดนี้ ชิ้นส่วนของสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ยังคงกองทิ้ง หรืออาจชำรุดสูญหายไปแล้วก็ได้
  1. สะพานเจริญศรี 34
เป็นสะพานขนาดกลาง เยื้องวัดบุรณศิริมาตยาราม  รัชการที่ 6  พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร ให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นที่ระลึกและสาธารณประโยชน์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 34 พรรษา ปี 2456 และเสด็จพระราชดำเนินเปิด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2457 พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรี 34″
โครงและพื้นสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  ราวสะพานทั้ง 2 ข้าง  เป็นลูกกรงปูนปั้นเชิงสะพาน 2 ข้าง มีเสารวม 4 เสา ประดิษฐ์เป็นรูปพาน และเฟืองอุบะ (ดอกไม้ร้อยเป็นพวงอย่างพู่สำหรับห้อยระหว่างเฟือง เป็นต้น) แบบตะวันตก แท่นฐานเสามีเลข 4 หมายถึงปีที่ 4 แห่งการครองราชย์ และเป็นสะพานลำดับที่ 4 ที่สร้างใช้ในรัชกาลของพระองค์ (สะพานลำดับแรก คือสะพานเจริญรัช 31 ปากคลองตลาด ถนนมหาราช ลำดับที่ 2 สะพานเจริญราษฎร์ 32 ข้ามคลองมหานาค ถนนกรุงเกษม ลำดับที่ 3 สะพานอุบลรัตน์ เชื่อมถนนอัษฎางค์และถนนราชินี) กลางสะพานจารึกนามสะพาน และปีที่สร้างเสร็จ เหนือจารึกเป็นแผ่นจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” ปัจจุบันพระปรมาภิไธย ได้หายไปเหลือแต่กรอบหลัง
sapancharoenratch
สะพานเจริญรัช 31 ขอบคุณภาพจากผู้จัดการ
  1. สะพานช้างโรงสี
สะพานข้ามปลายถนนบำรุงเมือง  เยื้องกระทรวงมหาดไทย เดิมเป็นสะพานช้างข้าม ตอม่อก่อด้วยอิฐ ปูพื้นด้วยไม้ซุงเหลี่ยม ที่เรียกสะพานช้างโรงสี  เพราะตั้งอยู่ใกล้โรงสีข้าวของฉางหลวงสำหรับพระนคร ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานช้างโรงสีใหม่  ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเรียบราวสะพาน 2 ข้าง เป็นลูกกรงปูนปั้น  เสาปลายสะพานทั้ง 2 ฝั่ง หัวเสาเป็นแผ่นแบน  มีหัวหมาโผล่ออกมาจากวงกลม เหนือหัวหมามีตัวอักษรจารึก 2 แถว แถวแรกจารึก “ศก 129″ (พ.ศ. 2453) ซึ่งเป็นปีที่สร้างสะพานเสร็จ แต่มิได้พระราชทานนามให้ใหม่เพราะชื่อ “สะพานช้างโรงสี” เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากแล้ว  เหนือขึ้นไปอีก แถวหนึ่ง เป็นนามสะพาน มีทางเท้า 2 ข้าง
ในปี 2517-2518 ได้รื้อสะพานเดิมออก เพื่อปรับปรุงขยายผิวการจราจรบนสะพาน โดยรักษาลักษณะเดิมไว้ พร้อมกลับจารึกประวัติการสร้างสะพานไว้ที่โคนเสาเชิงสะพานด้วย
  1. สะพานปีกุน (สะพานหมู)
เป็นสะพานคนเดินข้ามหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและกระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 4 รอบ ในปี 2454 มีลักษณะเรียบๆ ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นท่อนเหล็กกลมทอดไปตามยาว  คั่นด้วยเสาคอนกรีตเป็นระยะ  เสาที่เชิงสะพานมีบันไดขึ้นลงเป็นรูปครึ่งวงกลมทั้ง 2 ฝั่ง รวม 4 ต้น เป็นคอนกรีตเซาะร่อง หัวเสารูปถ้วยประดับช่อมาลาข้างวงรูปไข่ 4 วง ต้นเสา 4 ต้น หมายถึงเทียนประทีปพระชันษาไร้แสง กล่าวคือ  ใน 4 รอบพรรษานี้ เมื่อขาดพระราชสวามี ก็คล้ายดวงชวาลาอับแสง วงรูปไข่ 4 วง หมายถึง 4 วงรอบ หรือพระชนมายุครบ 4 รอบ ประดับข้างด้วยช่อมาลาเหนือหัวเทียนประทีปที่พุ่งขึ้นสู่สวรรค์ ประดุจดังการถวายบังคมเพื่อรำลึกถึง รัชกาลที่ 5 พระผู้เสด็จสู่สรวงสวรรค์
เนื่องจากเป็นสะพานเล็ก จึงไม่ได้รับพระราชทานชื่อ แต่คนทั่วไปเรียก ” สะพานหมู” หรือ “สะพานปีกุน”  เพราะมีอนุสาวรีย์หมูอยู่ใกล้เชิงสะพานฝั่งคลองด้านตะวันตก  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาราชสงคราม ร่วมกันสร้างเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อพระชนมายุฯ ครบ 50 พรรษา ในปี 2456 ให้เป็นอนุเสาวรีย์สหชาติสำหรับผู้เกิดปีกุน คือสร้างเป็นรูปหมูอยู่บนเขาหินจำลอง พร้อมท่ออุทกทานแก่ประชาชน คำจารึกถวายพระพร และนามผู้สร้างประดับไว้ด้วย
  1. สะพานหก
เป็นสะพานสำหรับคนเดินข้ามสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 แบบวิลันดา เพราะสามารถชักขึ้นลง     เพื่อให้เรือล่องเข้าออกได้  จึงเรียกชื่อตามลักษณะของสะพาน สะพานดั้งเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมไป จวบจนปี 2525 ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ เพื่อเฉลิมกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างสะพานปีกุน กับสะพานมอญ บริเวณต้นทางจอดรถโดยสารประจำทาง
sapanhok
สะพานหก หมายถึงสะพานหกขึ้นหกลงได้ (ขอบคุณภาพจากผู้จัดการ)
  1. สะพานมอญ
สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม หลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระราชอุทยานสราญรมย์ เชื่อมถนนเจริญกรุง เดิมเป็นสะพานไม้ ฐานก่ออิฐถือปูน ชาวมอญที่อาศัยในบริเวณนี้ ร่วมกันสร้างในรัชการที่ 3 ต่อมาในรัชการที่ 6 สะพานมอญเดิมชำรุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นเหล็กดัดโปร่ง มีทางเท้าทั้ง 2 ข้าง
  1. สะพานอุบลรัตน์ (สะพานหัวตะเฆ่)
สะพานข้าม เชื่อมถนนอัษฎางค์และถนนราชินี สร้างในปี 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา ในรัชกาลที่ 5 และพระราชทานนามว่า “สะพานอุบลรัตน์” เปิดใช้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2456 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพาน 2 ข้างโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ลูกกรงปูนปั้น เป็นลูกมะหวดกลม (ผลจากต้นมะหวด ต้นไม้ขนาดย่อม ออกเป็นช่อสุก สีเหมือนลูกหว้ากินได้ รสหวานปะแล่มๆ ปักษ์ใต้เรียกกำชำหรือกำซำ) เหนือลูกกรงประดับลวดลายดาราแบบไทย กึ่งกลางราวสะพาน ทั้ง 2 ข้าง ทำเป็นแผ่นจารึกชื่อสะพานและ ปีพุทธศักราช 2455  ทั้งด้านนอกและด้านใน และลายดอกบัว ในกรอบสีเหลี่ยม ประดับอยู่ในแผ่นจารึกด้วย
  1. สะพานเจริญรัช 31
สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ด้านใต้ ที่เรียกว่า ปากคลองตลาด ถนนมหาราช  คู่กับสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ที่ปากคลองด้านเหนือ รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร ให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 31 พรรษา พุทธศักราช 2453 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เจริญรอยพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 และเสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพาน  เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2454 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชทานนามว่า   “สะพานเจริญรัช 31″ ซึ่งเป็นสะพานแรกที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เจริญ” หมายถึง เมื่อรัชการที่ 5 เฉลิมสวรรค์แล้ว      รัชกาลที่ 6 ก็เจริญรัชกาล สืบต่อไป
สะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ตรงกลางสะพานทั้ง 2 ข้าง โค้งเป็นรูป     ครึ่งวงกลม เช่นเดียวกับสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 และสะพานอุบลรัตน์ ลูกกรงทั้ง 2 ข้าง ประดิษฐ์เป็นรูปเสือ       ยืนหันข้างประคองพระขรรค์ด้วยอุ้งเท้าหน้าทั้งคู่  หันหน้าเข้าหากันที่กึ่งกลางสะพาน หมายถึงกิจการเสือป่า    ที่ทรงสถาปนาขึ้นในปีเดียวกันนี้  กึ่งกลางสะพานเป็นรูปคล้ายโล่ จารึกนามสะพาน ล้อมด้วยลายใบไม้แบบยุโรป       เหนือราวสะพาน มีพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ปลายราวสะพานทั้ง 2 ฝั่ง มีแป้นกลมจารึกเลข “31” ซึ่งหมายถึงพระชนมายุ
โดยที่กระทรวง ฯ ย้ายจากพระราชวังสราญรมย์ มาอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา สะพานที่ใกล้กระทรวงฯ ใหม่ก็คือสะพานเสาวนีย์  ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองริมทางรถไฟสายเหนือ ถนนศรีอยุธยา
สะพานนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระพันปีหลวง) มีพระราชเสาวนีย์ให้สร้างขึ้นริมทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอด คราวบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในปี 2454 กรมโยธาธิการได้ออกแบบ และสร้างถวายสนองพระราชเสาวนีย์ ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม้เดิม
——————
* ความส่วนมาก เรียบเรียงจากหนังสือ “สะพานในกรุงเทพมหานคร และสะพานในรัชกาลที่ 5 โดย ถาวร จารุกิตติชัย    บริษัท เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย จำกัด อาคารฐานเศรษฐกิจ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 พ.ศ. 2541

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไปรษณีย์

หลังการสไตรค์ที่การไปรษณีย์แห่งประเทศเยอรมันที่ยาวนานที่สุดในรอบอย่างน้อย ๒๐ ปีที่สิ้นสุดลงในคืนวันที่ ๖ กรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัททำงานอย่างแข็งขันเพื่อหวนคืนสู่ธุรกิจปกติ ได้แก่ การนำส่งให้ถึงที่ให้มากที่สุดในวันรุ่งขึ้น  แต่การไปรษณีย์ ฯ เปิดเผยในโฮมเพจว่าแรกเริ่มในบางภูมิภาคจะมีการตกค้างสูงในการนำส่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัสดุอาจใช้เวลานานกว่า  ที่บรันเดนบวร์ก Benita Unger จาก Verdi กล่าวถึงระยะเวลา ๑-๒ เดือนกว่าสภาวการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ  ในการประท้วงในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มามีผู้เข้าร่วมวันละ ๓๐,๐๐๐ คน  แต่ละวันจดหมายและพัสดุจำนวนเป็นล้านถูกทิ้งไว้  ขณะนี้ต้องค่อย ๆ นำส่งทีละขั้น  ผลจากการสไตรค์แตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาค  การไปรษณีย์ ฯ กล่าวว่าจะทำทุกอย่างเพื่อสะสางการตกค้างอย่างเร็ว  รวมทั้งสิ้นการประท้วงนับแต่อีสเตอร์กินเวลา ๕๒ วัน  ค่าใช้จ่ายทั้งหมดคิดเป็นตัวเลขสูงถึงหลักล้านสองหลัก  การไปรษณีย์ ฯ ได้พยายามลดภูเขาไปรษณีย์ด้วยแรงงานเสริม การปรับการจัดการ รวมทั้งงานเพิ่มในวันอาทิตย์ ๓ วัน

เครื่องแต่งกายฤดูร้อน

 ทุกเช้าของฤดูร้อนมักมีคำถามด้วยปัญหาเดิมๆ “วันนี้จะสวมใส่อะไรดี?”  ในอุณหภูมิกว่า ๓๐ องศาเซลเซียสมักเลือกเครื่องแต่งกายที่เบาบางมาใส่  แต่ได้รับอนุญาตในที่ทำงานด้วยหรือเปล่า  อาชีพบางอาชีพกำหนดเครื่องแต่งกายที่เข้มงวด  ในวันร้อน ๆ สามารถพลาดได้  แต่ก็มีทางเลือกสำหรับพนักงานในสำนักงาน
อนุญาตกางเกงขาสั้นหรือไม่  Jan Schau ผู้ฝึกอบรมการสอนด้านการแต่งกายกล่าวว่า “ไม่”  ภาพที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเขาในกลุ่มบุรุษ คือ กางเกงขาสามส่วน  ไม่ว่าในที่ทำงานหรือในเวลาว่าง สำหรับเขากางเกงชนิดนี้แสดงสำนึกด้านแฟชันที่ต่ำ ระหว่างที่กางเกงขาสั้นแบบเบอร์มิวดาได้รับอนุญาตในเวลาว่าง  กางเกงขาสั้นทุกประเภทไม่เหมาะสมกับสำนักงาน  บุรุษควรสวมกางเกงขายาวที่ไม่หนาแทน
รองเท้าสานใส่ได้ไหม  ผู้ที่ประสงค์จะปลอดภัยไว้ก่อนควรทิ้งรองเท้าสานไว้ที่บ้าน  สตรีสามารถสวมรองเท้าเปิดส้นหรือ Ballerina  ส่วนบุรุษกฎเกณฑ์เข้มงวดกว่า  สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกาย ไม่มีทางเลือกนอกจากรองเท้าหุ้มส้น  ในที่ทำงานจะสวมรองเท้าหนังพร้อมพื้นหนังแทนพื้นพลาสติก จะทำให้เหงื่อออกน้อยกว่า  หรือรองเท้าสวม ไม่มีเชือกผูก  อย่างไรก็ดี ต้องสวมถุงเท้าเสมอ  เนื่องจากขาบุรุษที่ปกคลุมด้วยขนไม่ได้รับอนุญาตให้โผล่ออกมาจากใต้ขากางเกง
กระโปรงสั้นได้แค่ไหน  กระโปรงและกระโปรงชุดได้รับอนุญาตให้สวมได้  อย่างไรก็ดี ไม่ควรเป็นชุดฮิปปี  หากแต่ชุดเรียบ ๆ แบบคลาสสิค  กระโปรงและกระโปรงชุดไม่ควรตัดสั้นกว่าเหนือเข่าเล็กน้อย
เสื้อยืดล่ะเป็นอย่างไร  ในบางสำนักงานไม่ได้รับอนุญาตให้โชว์แขนส่วนล่าง  ผู้ที่นั่งอยู่คนเดียวในห้องทำงานสามารถพับแขนเสื้อเชิ้ตขึ้นได้  นายจ้างบางคนอนุญาตเสื้อยืดที่มีปก
ผ้าชนิดใดเหมาะสมกับอากาศร้อนขณะนี้  สตรีควรหลีกเลี่ยงเครื่องแต่งกายที่รัดรึง  เพื่อไม่ให้มองเห็นรอยเหงื่อ  กระโปรงกางเกง กระโปรงชุดหรือเสื้อที่ตัดกว้าง ๆ อากาศสามารถถ่ายเทได้ดีกว่า เหงื่อออกน้อยกว่า ผู้เชี่ยวชาญแนะนำผ้าเบา ๆ ที่มีสัดส่วนเส้นใยสังเคราะห์ต่ำ เช่น ผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน  เนื่องจากเสื้อสูทบ่อย ๆ มักมีซับใน  ควรเลือกใช้เสื้อเชิ้ตแขนยาวแทนเสื้อยืดกับเสื้อสูท

มโนสาเร่ (๓) : ชื่อชาวมุสลิม

เอกอัครราชทูต  วิญญู  แจ่มขำ

คำว่า  “มุสลิม”  มาจากคำว่า  “อิสลาม”  ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ  แปลว่า  “ผู้มอบตน (ต่อพระผู้เป็นเจ้า)”  และคำว่า  “อิสลาม”  หมายถึง  “การมอบตน  (ต่อพระผู้เป็นเจ้า)  ซึ่งมาจากรากศัพท์เดิมว่า  “สะลิมะ”  แปลว่า  “ความปลอดภัย  ความสันติสุข”
“พระผู้เป็นเจ้า” ของศาสนาอิสลาม ทรงพระนามว่า “พระอัลเลาะฮ (ซุบบาฮานา ฮูวาตาอาลา) * เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่อาดัมและฮาวา (อาดัมและอีวา) บรรพชนคู่แรกของโลกนับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีนูฮ. (โนอา หรือพระมนุ) นับถือ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีอิบรอฮีม(อับราฮัม หรือพราหมณ์) นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนาทูตนบีอิสหาก(ยิศหาก) นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบียูซุฟ(โยเซฟ) นับถือ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีมูซา (โมเสส) นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ ศาสนทูตนบีฮารูณ(ฮาโรน) นับถือ    เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีดาวูด (เดวิด) นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีสุไลมาน (โซโลมอน)  นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีอิสมาอีล(อิสไมล์)  นับถือ  เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ศาสนทูตนบีอีซา (พระเยซู) นับถือ  และเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกับที่ ศาสนทูตนบีมุฮัมมัด (ซอลัลลอฮอะลัยฮิวะซัลลัม) ** ซึ่งเป็นศาสนทูตคนสุดท้ายของโลกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้มาเผยแผ่ศาสนาต่อจากศาสนทูตคนก่อน ๆ  นับถือ
ฉะนั้น  การมอบตนต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยการเป็นผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือโองการของพระองค์ที่ทรงมอบผ่านบรรดาศาสนทูต (รอซูล หรือ นบี) *** ที่ปรากฏชื่ออยู่ในคัมภีร์  “อัล กุรอาน” **** จำนวน 25 ท่าน คือ อาดัม  อิดรีสนูฮ.  ฮู้ด  ซอลิฮ.  อิบรอฮีมลูฎ  อิสหาก  ยะกู๊บยูซุฟมูซา  ฮารูณอิลยาส  ยูนุสซุอัยบ.  ดาวูด  สุไลมาน  อัลยะซะฮ.  ซุลกิฟล.   ซะคะริยา  อัยยู้บยะหยา  อิสมาอีล  อีซา  และมุฮัมมัด  โดยสิ้นเชิง  ก็จะมีความปลอดภัยและความสันติสุขทั้งในโลกนี้(ดูนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮ.)
หลายคนคงคุ้นชื่อ  “อับดุล” (Abdul)  ซึ่งเป็นชื่อที่ยอดนิยมในหมู่เพื่อนพ้องชาวมุสลิมแท้จริงแล้ว การเรียกชื่อคุณอับดุลเฉย ๆ ไม่มีความหมายแต่ประการใด  เป็นแต่เพียงการเรียกชื่อเล่นกันเท่านั้น  ชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนมากจะเป็นชื่อที่เกิดจากการผสมคำ  เช่น  อับดุลวอฮับ (Abdulwahab)  อับดุลคาหลิก  (Abdulkhaliq) เป็นต้น  และเมื่อเวลานำไปเขียนเป็นภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ  ก็มักถูกนำไปเขียนแยกคำ เช่น  อับดุล วอฮับ (Abdul  Wahab)  และ อับดุล  คาหลิก (Abdul  Khaliq)   เนื่องจากคิดว่า เป็นคำ 2 คำ  จึงเขียนแยกจากกันตามคตินิยมการเขียนภาษาอังกฤษ แถมยังเรียกขานชื่ออย่างฝรั่งเป็นคุณวาฮับ หรือคุณคาหลิก ก็มี  โดยเข้าใจว่า เป็นชื่อสกุล
ดังได้กล่าวแล้วว่า  พระผู้เป็นเจ้าของอิสลามิกชน คือพระอัลเลาะฮ(ซุบบาฮานา  ฮูวาตาอัลลา) แต่นอกจากนั้น  ทรงมีชื่อเมื่อเอ่ยพระนามของะพระองค์ต่าง ๆ กันอีก  ๙๙ พระนาม  ดังเช่น  อัล  วอฮับ(Al Wahab) หรือ พระผู้ให้  อัลเราะห์มาน  (Al Rahman) หรือ พระผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา  อัล  คาหลิก  (Al Khaliq) หรือพระผู้สร้าง อัล อาซีซ(Al Aziz)  หรือพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ  และ อัล การีม   (Al Karim)   “อินญิล” ในยุคท่านมูซา เรียกว่า “เตารอฮ.”และในยุคท่านดาวูด เรียกว่า  “ซะบูร.” หรือพระผู้สร้าง เป็นต้น ชาวมุสลิมจึงนิยมนำพระนามเรียกขานดังกล่าวไปผสมต่อหลังคำว่า  อับด. หรือ อับดูฮ (Abd, Abduh) ใช้เป็นชื่อต้นของตน  เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามที่ท่านศาสดานบีมุฮัมมัดนิยมให้ใช้ร่วมกับชื่อที่ขึ้นต้นด้วยคำดังกล่าว โดยสามารถละคำว่า “อัล”  ซึ่งเป็นคำนำหน้าคำนามที่ชี้เฉพาะเจาะจง และมีความหมายแสดงถึงความสมบูรณ์อย่างแท้จริง
คำว่า  อับดูฮ. (Abduh)  หมายถึงข้ารับใช้ของพระองค์  หรือ ผู้เคารพบูชาพระองค์  คือเอกองค์อัลเลาะฮ  นั่นเอง  เมื่อเวลาเรียกชื่อสั้นในรูปแบบของการเรียกชื่อเล่น  เสียง “ฮ”  ซึ่งเพิ่มเข้ามา   เป็นสรรพนามแทนชื่อส่วนที่เหลือ ก็แทบจะจางหายไปเป็นเพียง อับดู (Abdu)  หรืออับดู (ฮ) (Abdu(h)) เท่านั้น ชื่อส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นพระนามเรียกขานของพระผู้เป็นเจ้าของศาสนาอิสลาม   เช่น  อัล  วอฮับอัลเราะห์มาน หรือ อัล คาหลิก  นั้น เมื่อเวลาไปผสมหลังคำว่าอับดู ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนคำว่า  “อั”  ของคำว่า “อัล” เข้าไปด้วย เพราะเวลาพูดกันจริง ๆ จะไม่มีใครพูดว่า อับดู อัล วอฮับ  แต่จะพูดว่า  อัลดุลวอฮับ  เพราะ เสียง “อะ” จะกลายเป็นเสียงเบา  แม้ว่า  ในภาษาเขียน ต้องเขียนคำเต็ม  บางครั้งเวลาออกเสียงจริง ๆ  ชาวมุสลิมก็ละคำว่า  “อัล”  จากชื่อเต็ม ๆ เช่น  อับดูร์เราะห์มาน  และอับดูสซาลาม  เป็นต้น
นอกจากนั้น  ยังมีการเขียนชื่อเดือนต่าง ๆ ตามปฏิทินอิสลามผิด ๆ อีก เช่น  ดุล กาด๊ะ (DhulQada)   เดือนที่ ๑๑  และ ดุล ฮัจจ๊ะ  (DhulHajja)  เดือนที่ ๑๒   ที่ถูกนั้นต้องเขียนว่า  ดุลกาด๊ะ (Dhulqada) และ ดุลฮัจจ๊ะ (Dhulhajja)  ไม่เช่นนั้น  ต้องเขียนว่า  ดุ – ล – กาด๊ะ  หรือ  (Dhu – l – Qada) หรือ  ดุ – ล – ฮัจจ๊ะ  (Dhu – l – Hajja)  โดยมียติภังค์หรือขีดเส้นแบ่งคำสมาสไว้    หมายความว่า  “ของ” อัล  เป็นคำนำหน้านามชี้เฉพาะ  และ ฮัจจ๊ะ  หมายความว่า  การแสวงบุญ   ฉะนั้น  ดุ – ล – ฮัจจ๊ะ  หมายถึงเดือนแห่งการแสวงบุญ  เป็นต้น  กล่าวโดยสรุป  ชื่อหรือคำนามผสมที่มาจากภาษาอาหรับนั้น ควรเขียนติดกัน  หรือไม่ก็มีเส้นแบ่งคำไว้  จึงจะถูกต้องสมบูรณ์ตามการเขียนภาษาเดิม
——————–
* ความในวงเล็บ ใช้กล่าวหลังเอ่ยพระนามของพระองค์ แปลว่า พระผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่ง ศาสนาคริสต์เรียกพระนามของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันนี้ว่า “พระยะโฮวา”
** บทขอพระพรให้แด่ท่านศาสดา เมื่อเอ่ยนามของท่านทุกครั้ง ซึ่งแปลว่า “ขอเอกองค์อัลเลาะฮ โปรดประทานพรและสันติสุขแด่ท่าน”
*** ผู้ประกาศและเผยแผ่ศาสนาอิสลาม
****  คัมภีร์อัล กุรอาน  จำนวน ๑๐๔ เล่ม รวม ๖,๖๖๖ โองการ แบ่งเป็น ๑๑๔ บท และ ๓๐ ส่วน  ศาสนาคริสต์เรียกว่า   “ไบเบิ้ล” หรือ

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เลิกประท้วง

ผู้ที่เดินทางไปกลับบ้าน-ที่ทำงานและนักเดินทางไกลสามารถโล่งใจได้แล้ว การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเรื่องค่าแรงที่การรถไฟแห่งประเทศเยอรมันประสบความสำเร็จ  หลังการประท้วงเป็นเวลานานกลุ่มบริษัทและสหภาพคนขับรถไฟ (GDL) ประนีประนอมเรื่องค่าแรง  ทำให้จะไม่มีการสไตรค์ที่การรถไฟ ฯ จนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วงปี ๒๐๑๖  ผู้ไกล่เกลี่ยทั้งสอง ได้แก่ นายก ฯ Bodo Ramelow แคว้นทือริงเกนและ Matthias Platzeck อดีตหัวหน้ารัฐบาลแคว้นบรันเดนบวร์กได้ประกาศผลลัพธ์นี้เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคมที่ผ่านมาที่เบอร์ลิน  ในความขัดแย้งที่ขณะนี้ได้รับการแก้ไข GDL ได้เรียกร้องให้สไตรค์ ๙ ครั้ง  ส่งผลกระทบต่อลูกค้าการรถไฟ ฯ หลายล้านคน

มาตรการต้านความร้อน

ข้อแนะนำสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาต่อความร้อนเป็นพิเศษ ได้แก่ ประชาชนสูงอาย ผู้อยู่อาศัยในสถานดูแล ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ที่น้ำหนักเกิน
ควรระมัดระวังดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย ๒ ลิตรต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้แรงระหว่าง ๑๒-๑๖ นาฬิกา
  • ดูแลให้มีการลดความร้อนของร่างกาย เช่น ใช้ผ้าเปียกโปะที่ท้ายทอย
  • อาบน้ำ
  • ปิดมู่ลี่และถ่ายเทอากาศในช่วงเช้า