วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

โรคซึมเศร้าในเด็ก

          ผู้เขียนเพิ่งจะแปลข่าวเกี่ยวกับการที่เด็กและเยาวชนในประเทศเยอรมันเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น  อ่านแล้วก็ตกใจ เพราะในข่าวมีการระบุอายุในรุ่นวัยต่าง ๆ กัน  ที่เด็กสุดคือกลุ่มอายุ ๕-๙ ปี  ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าเด็กเล็กในวัยนี้ที่ควรจะสนุกซุกซนตามประสา กลับป่วยเป็นโรคนี้ได้  คิดว่าแนวโน้มนี้เป็นกันทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศเยอรมันเท่านั้น  เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ไทยก็พบข่าวเด็กฆ่าตัวตายบ่อยขึ้นทุกที สาเหตุอาจจะไม่ได้มาจากโรคซึมเศร้าทั้งหมด แต่ก็นับว่าน่ากลัวอยู่ดี  พอดีได้ไปอ่านข้อมูลของมูลนิธิหมอชาวบ้าน เห็นว่าน่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่อาจมีบุตรหลาน  อ่านไว้เป็นความรู้  เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยพบเจอ เป็นแล้วหายได้ และบุคคลรอบข้างของผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญมากทีเดียว

โรคซึมเศร้าถือเป็นความผิดปกติทางอารมณ์  สำหรับเด็กและวัยรุ่นอาการของโรคซึมเศร้าอาจไม่ได้แสดงออกมาชัดเจนในรูปแบบความเศร้า หรือร้องไห้  แต่อาจมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เก็บตัว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จนก่อให้เกิดปัญหาต่อชีวิตประจำวันหรือการเรียน เช่น การเล่มเกมมากขึ้น หรือติดสื่อสังคมมากขึ้น เป็นต้น  ในเด็กที่พัฒนาการการสื่อสารหรือการรับรู้อารมณ์ตนเองยังไม่ดีนัก อาจมีอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีพฤติกรรมถดถอยกลับไปสู่วัยเด็กเล็ก เช่น พฤติกรรมงอแง อาละวาด หรือไม่อยากไปโรงเรียน เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้า

๑.  พันธุกรรม  เด็กที่พ่อแม่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าเด็กทั่วไป

๒.  สารเคมีในสมอง  ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ  ทำให้ส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ ร่างกายและจิตใจ

๓.  ปัจจัยแวดล้อมภายนอกหรือปัญหาทางจิตสังคม เช่น ปัญหาการเลี้ยงดู ความรุนแรงในครอบครัว การถูกกลั่นแกล้ง

๔.  มุมมองต่อตนเอง  เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำและเด็กที่มีความวิตกกังวลสูงจะมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงกว่าเด็กทั่วไป  ทำให้เด็กหนีปัญหา โทษตัวเองซ้ำ ๆ และมองโลกในแง่ร้าย

๕. ปัจจัยโรคทางกายอื่น ๆ  โรคทางกายหรือยาบางชนิดส่งผลต่อฮอร์โมนและสารเคมีในสมอง  ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้  นอกจากนี้เด็กที่มีภาวะโรคเรื้อรัง ไม่สามารถใช้ชีวิตตามวัยได้ตามปกติก็มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

การดูแลและการรักษา เมื่อสงสัยว่าเด็กเป็นโรคซึมเศร้า

๑. พ่อแม่จำเป็นต้องทำจิตใจตนเองให้สงบและพร้อมต่อการรับฟังเรื่องต่าง ๆ ของลูก

๒.  หาบรรยากาศที่สงบ ผ่อนคลาย พูดคุยถึงอาการที่พ่อแม่สังเกตเห็นและสะท้อนให้ลูกเข้าใจถึงความห่วงใย ความพร้อมที่จะเข้าใจและช่วยเหลือของพ่อแม่

๓.  เปิดโอกาสให้เด็กพูดและระบายความรู้สึก โดยไม่แย้งหรือรีบสอน

๔.  หากพบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าให้ชักชวนมารับการรักษากับจิตแพทย์ และหากพบความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้พ่อแม่คอยเฝ้าระวังพฤติกรรมของลูก  เก็บของมีคม สารเคมี ยาหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เด็กสามารถใช้ในการทำร้ายตนเอง

๕.  ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง และรีบพาไปพบแพทย์

พ่อแม่ผู้ปกครองจะทำอย่างไรเมื่อเด็กเป็นโรคซึมเศร้า

๑.  ยอมรับภาวะที่เด็กเป็นและไม่โทษอดีตที่ผ่านมา

๒.  รับฟังปัญหาของลูกอย่างเข้าใจ เปิดใจ และอยู่เป็นเพื่อนในยามที่ลูกไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้  ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง

๓. กระตุ้นและสนับสนุนให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติมากที่สุด และอาจชักชวนให้ผู้ป่วยออกไปข้างนอก ลดการเก็บตัว และออกกำลังกาย  ซึ่งจะช่วยให้การรักษาดีขึ้น

๔.  คอยดูแลเรื่องการกินยาของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

๕. ประเมินสภาวการณ์ฆ่าตัวตาย  จากการสังเกตและสอบถามเมื่อสงสัย  หากมีความเสี่ยงให้ปฏิบัติตามข้อที่กล่าวไปแล้ว

๖.  ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองและสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ให้เป็นปกติ

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 

-  พ่อแม่รู้ว่าหนูเศร้ามาก  ความเศร้าของหนูทำให้หนูเคยคิดฆ่าตัวตายเลยไหม

-  พ่อแม่เห็นว่าลูกเครียดมาก  ลูกเคยมีความคิดอยากหายไปจากโลกนี้เลยไหม  แล้วในความคิดของลูก ลูกใช้วิธีอะไรในการหายไปจากโลกนี้

การถามคำถามประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย จำเป็นต้องถามอย่างใจเย็น  ให้เด็กได้เล่าอย่างผ่อนคลายและเปิดใจ  อย่าแสดงท่าทีตื่นตกใจหรือตำหนิต่อว่า  จากการศึกษาพบว่า “การที่เด็กได้รับการประเมินจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กได้ดีกว่าการไม่ถาม”

ขอพ่อแม่ทั้งหลายอย่าเห็นเป็นเรื่องว้าวุ่นของวัยรุ่น และคิดเอาเองว่าเดี๋ยวก็หาย เป็นอารมณ์วัยทีน ฯลฯ เด็ดขาด และสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการประชดส่ง แกอยากตายนักใช่ไหม ก็ไปกระโดดตึกเลยสิ  เพราะคำพูดอย่างนี้ทำร้ายความรู้สึกของผู้ฟังอย่างแรง ผลที่ตามมาคือลูกทำตามคำพ่อแม่  เพราะนึกว่าพ่อแม่ไม่รัก และสุดท้ายคือภาพพ่อแม่ต้องมานั่งร้องไห้น้ำตาจะเป็นสายเลือดหน้าโลงศพลูก แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว


ข้อมูล  มูลนิธิหมอชาวบ้าน

เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น