วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

สวมหน้ากาก : ประโยชน์หรือโทษ

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนต้องไปตรวจตาที่คลินิกจักษุแพทย์  รู้อยู่ว่ายังคงมีกฏให้สวมหน้ากากในคลินิก แต่เพื่อความแน่ใจก็เลยถามย้ำกับทางนั้นอีกครั้งว่าต้องสวมหน้ากากใช่ไหม ก็ได้รับคำตอบมาว่า ใช่ และต้องเป็นหน้ากากชนิด FFP2 เท่านั้น ไม่ใช่หน้ากากอะไรก็ได้ เอาล่ะสิ โชคยังดีที่มีติดบ้านไว้ ก็เลยต้องไปค้นมาใส่ ปกติผู้เขียนไม่ได้ชอบการสวมหน้ากากอยู่แล้ว การต้องไปนั่งสวมหน้ากากรอรับการตรวจกว่าจะเสร็จปาเข้าไปเกือบสองชั่วโมงรู้สึกไม่สนุกสักเท่าไหร่ สงสัยว่ามันเป็นประโยชน์หรือให้โทษกันแน่ละเนี่ย ข้อมูลก็มาจากหลายทางเหลือเกิน เหมือนความคิดเห็นจะไม่ค่อยตรงกันอีกต่างหาก

ในประเทศเยอรมนี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๐๒๒ หน้าที่สวมหน้ากาก FFP2 มีผลใช้บังคับในคลินิกแพทย์  สถาบันโรแบร์ท-คอคได้ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ของสถาบัน ฯ เกี่ยวกับหน้ากากประเภทต่าง ๆ และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการสวมหน้ากาก  แต่ภายใต้คำถามที่ว่า “สิ่งใดที่มือสมัครเล่นต้องคำนึงถึงในการสวมใส่หน้ากาก FFP2?” ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงอันตรายด้านสุขภาพผ่านหน้ากาก  ในหน้านี้ยังมีข้อบ่งชี้ต่อไปว่าหน้ากากประเภท FFP2 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโคโรนาส่วนใหญ่แล้วใช้ในแวดวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันในการทำงาน  ดังนั้น ภายนอกแวดวงสาธารณสุขจึงยังไม่มีการดำเนินการตรวจสอบถึงผลด้านสุขภาพหรือผลในระยะยาวของการใช้ ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มเสี่ยงหรือเด็ก ๆ  ในการตรวจสอบกับบุคลากรด้านสาธารณสุขมีการระบุปัญหาการหายใจและผิวหนังอักเสบบนใบหน้า  กระนั้น สถาบันโรแบร์ท-คอคก็ไม่ได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงหน้ากาก FFP2 และไม่ได้จัดว่ามันเป็นอันตรายแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดี สถาบัน ฯ ได้บ่งชี้ว่าการใช้หน้ากากประเภทนี้ในบุคคลที่มีการทำงานของปอดจำกัดหรือผู้สูงอายุไม่อาจตัดผลด้านสุขภาพอนามัยทางลบออกไปได้  ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าสถาบัน ฯ จัดหน้ากาก FFP2 ว่าเป็นอันตราย  นอกจากนั้น ในหน้าเว็บไซต์ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธ์ฯ มีการบ่งชี้ว่าการใช้หน้ากาก FFP2 เป็นการป้องกันการติดเชื้อโคโรนา 

แต่ขณะเดียวกันผู้เขียนก็อ่านพบว่า PN Medical องค์กรที่ทำงานวิจัยและพัฒนาสุขภาพทางระบบทางเดินหายใจในประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า ๔๐ ปีได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างในวิชาชีพต่าง ๆ ถึงผลกระทบจากการสวมหน้ากากอนามัย โดยพบว่าการสวมหน้ากากทำให้จังหวะการหายใจเปลี่ยนไป การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายแปรปรวน  ซึ่งอาจสังเกตได้จากอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้น เริ่มต้นจากใบหน้า ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้หลังจากการถอดหน้ากากออกแล้ว  ไม่ว่าจะใช้หน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากผ้าหรือแม้แต่ N95 ก็ตาม ล้วนมีผลทำให้ระดับออกซิเจนและภาวะความเป็นกรดในเลือดไม่ปกติ ส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา เช่น อาการปวดหัว มึนงง หายใจไม่เต็มปอด วิตกกังวล นอนไม่หลับ เหน็บชาตามมือและเท้า เป็นต้น

การหายใจที่มีคุณภาพ คือ การหายใจเต็มปอด เพื่อให้กระบังลมได้ขยายตัวเต็มที่ และเส้นประสาทบริเวณนั้น  ซึ่งช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้รับการกระตุ้น  ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากยังต้องสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลาทุกวัน  อย่างไรก็ดี หากยังมีความจำเป็นต้องใช้หน้ากาก ทางองค์กร ฯ ก็มีข้อแนะนำให้สูดหายใจให้เต็มปอด ๕ ครั้ง ทั้งก่อนการสวม ทันทีที่สวมและหลังจากสวม  โดยการหายใจแต่ละครั้งให้ทำตามลำดับ ดังนี้

หายใจเข้า ๔ วินาทีทางจมูก

หายใจออก ๖ วินาทีทางปาก

หยุดพัก ๒ วินาทีก่อนเริ่มครั้งต่อไป


    นอกจากนั้น พึงเตือนสติให้หายใจยาวและช้ากว่าปกติเสมอตลอดเวลาที่สวมหน้ากาก หากต้องใช้หน้ากากเป็นเวลานาน  ควรหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อถอดหน้ากากและฝึกหายใจข้างต้นเป็นระยะ มีการสรุปว่าร่างกายมนุษย์ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับการสวมหน้ากากอนามัยในระยะยาว  เราจึงควรใช้เฉพาะเวลาที่ไม่สบาย  เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังคนอื่นเท่านั้น ไม่ควรใช้ตลอดเวลา  เนื่องจากนอกจากหน้ากากจะไม่ได้ช่วยป้องกันเราจากโควิดแล้ว ยังทำร้ายสุขภาพเราแบบตายผ่อนส่งอีกด้วย  อันนี้ผู้เขียนต้องเน้นว่าเป็นข้อมูลที่หามาให้อ่านกันเฉย ๆ  ส่วนจะใส่หรือไม่ใส่ยังไงก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน เด้อ

เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"


อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pnmedical.com/breather-university/effects-of-wearing-face-mask/ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น