วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

นอนดี

การนอนเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราก็ว่าได้ เพราะทุกคนต้องนอนด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างตามอัธยาศัย  รวม ๆ แล้วตั้งแต่เกิดจนตายใช้เวลากับการนอนไปหลายสิบปี  ตามปกติผู้เขียนไม่มีปัญหากับการนอน หรือถ้าจะพูดให้ตรงก็นอนแล้วไม่ค่อยอยากจะลุกเสียมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอย่างขณะนี้  ทั้งมืดเร็วสว่างก็ช้า นอนใต้ผ้าห่มอุ่น ๆ มันช่างแสนสบาย  เวลามีใครบ่นให้ฟังว่านอนไม่ค่อยหลับ นอนยาก กว่าจะหลับได้ก็นาน หลับแล้วตื่นบ่อย ตื่นแล้วไม่หลับอีก ฯลฯ จึงมักจะแปลกใจอยู่เสมอ แต่ก็นั่นแหละ จากผลการสอบถามในปี ๒๐๒๑ ให้ผลลัพธ์ว่าคุณภาพการนอนของชาวเยอรมันนั้นก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไร  หนึ่งในสี่ของผู้ถูกสอบถามรับว่านอนได้แย่หรือแย่มาก  การสอบถามอื่น ๆ ก็กล่าวถึงปัญหาการนอนของชาวเยอรมัน ๑๐-๓๐%  เท่ากับว่าชาวเยอรมันหลายล้านคนมีปัญหาเรื่องการนอน  ซึ่งเหตุผลก็มีหลากหลาย ไม่ว่าความเครียด การทำงานเป็นกะ การดื่มกาแฟ เสียงดังรบกวน แอลกอฮอล์ ความเจ็บป่วย ฯลฯ

David Elmenhorst แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของการนอนไม่พอเรื้อรังมาราวยี่สิบปีแล้ว  โดยเป็นผู้นำกลุ่มทำงาน “Molekulare Plastizität” ที่สถาบันประสาทวิทยาและการแพทย์ (INM-2) ที่ Jülich  หนึ่งในประเด็นหลักของคณะทำงาน ได้แก่ การตรวจสอบผลของการอดนอนเรื้อรังในผู้เข้าร่วมที่สุขภาพดี  เป้าหมาย ได้แก่ การวิจัยความเกี่ยวพันของความหนาแน่นของ Adenosirezeptor กับปัญหาการนอน รวมทั้งสมรรถภาพอันเนื่องมาจากการนอนไม่พอและการนอนชดเชย  ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการนอนที่ดีไว้ว่า

 ไม่ดื่มกาแฟหลัง ๑๕ นาฬิกา  ประชาชนจำนวนมากดื่มกาแฟเพื่อลดความง่วงเหงาหาวนอนที่เพิ่มขึ้นและการไม่ตื่นตัวที่เกิดจากการนอนไม่พอ  ซึ่งตามความเป็นจริงสถาบันวิจัยที่ Jülich สามารถแสดงได้ว่าสมรรถภาพดีขึ้นหลังการดื่มกาแฟในตอนเช้า  แต่คาเฟอีนสกัดกั้น Adenosin ซึ่งเป็นตัวตัดสินสำหรับการนอน  คาเฟอีนในตอนบ่ายเลื่อนเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เพื่อให้นอนหลับและลดการหลับลึก  เนื่องจากคาเฟอีนคงตัวอยู่นาน จึงไม่ควรดื่มกาแฟอีกหลัง ๑๕ นาฬิกา

แอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยให้นอนหลับที่ดีหรือไม่  ตอบได้ว่าไม่เลย! ทั้งแอลกอฮอล์และคาเฟอีนส่งผลต่ออดีโนซินทั้งคู่ แต่ด้วยผลกระทบที่ตรงข้ามกัน  ถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะทำให้ง่วงและหลับได้เร็วขึ้น  แต่ในเวลาดึกพอแอลกอฮอล์เริ่มเจือจางและส่งผลน้อยลง ก็จะนำไปสู่ปฏิกิริยาตื่นหลายครั้ง  ซึ่งรวมกันแล้วทำให้ระยะเวลาของการนอนสั้นลง  

หากต้องตื่นตลอดคืน  การนอนพักฟื้นที่เพียงพอช่วยได้ เพียงคืนเดียวที่ไม่ได้นอนก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สมองของมนุษย์เราแก่ตัวลง  ในผู้เข้าร่วมการศึกษาที่สุขภาพดี ภาพถ่ายของสมองแสดงการเปลี่ยนแปลงที่ปกติเกิดขึ้นกับประชาชนที่สูงอายุกว่าหนึ่งถึงสองปี  ข่าวดีคือ การนอนพักฟื้นที่ตามมาทำให้การเปลี่ยนแปลงหวนกลับคืนได้  การศึกษาแสดงด้วยว่าการอดนอนเป็นบางขณะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอายุสมองอย่างมีนัยสำคัญ 

ฮึ ก็ไม่รู้นะว่าแค่ที่คุณหมอบอกมานี่จะเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาการนอนได้หรือไม่  โชคดีจริงที่ไม่มีปัญหา เลยยังไม่ต้องหาทางแก้ แต่การไม่กินเหล้าไม่กินกาแฟแก่จัดในยามเย็นมันก็น่าจะดีสำหรับสุขภาพโดยรวมอยู่แล้วอะเนอะ หรือถ้าต้องกิน (ยิ่งในช่วงใกล้เทศกาลเฉลิมฉลองอย่างนี้ด้วยแล้ว ?!) ก็กลับไปนอนชดเชยให้เพียงพอในวันต่อ ๆ ไปเน้อ พี่น้อง


ข้อมูล Zeitung am Sonntag

เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น