วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

หามาให้อ่าน ตอนทำบุญกรวดน้ำ

วันนี้ได้อ่านข้อเขียนของพลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา ที่ท่านได้เขียนไว้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา และมีการแชร์ต่อ ๆ กันมา  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ และยังมีชาวพุทธอีกมากมายที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงขอคัดลอกมาให้ผู้อ่าน “ชาวไทย” ได้อ่านกัน  ตามที่พลเรือตรีทองย้อยได้ระบุไว้ว่าการช่วยกันหาความรู้ คือการช่วยกันรักษาพระศาสนานั่นเอง

เมื่อเช้าใส่บาตร ลืมกรวดน้ำ  มานึกเอาได้ตอนเย็น จะได้บุญไหม...

นี่เป็นคำถามที่เป็นต้นเหตุให้ต้องเขียนเรื่องนี้

ทำบุญ+กรวดน้ำ ตามความเข้าใจของคนไทยก็คือต้องทำคู่กัน คือทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ จึงจะเป็นบุญหรือจึงจะได้บุญ

โปรดเข้าใจไว้เป็นเบื้องต้นว่า ทำบุญกับกรวดน้ำเป็นคนละส่วนกัน

ทำบุญก็ส่วนทำบุญ กรวดน้ำก็ส่วนกรวดน้ำ

ทำบุญเสร็จ ได้บุญทันที ไม่เกี่ยวกับกรวดน้ำ  แต่กรวดน้ำเป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง

ทำท่าจะงงละสิ

ก็ควรงง เพราะเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครอธิบายให้กันฟัง

ถอยไปตั้งหลักกันที่คำว่า “ทำบุญ” 

คนไทยทั้งประเทศเข้าใจว่า “ทำบุญ” คือใส่บาตร  นอกจากนั้นก็เอาเงินใส่ซองบริจาค เอาเงินใส่ตู้บริจาค  บริจาคเงินเมื่อมีการบอกบุญสร้างนั่นสร้างนี่ทำนั่นทำนี่  นี่คือ “ทำบุญ” ที่คนไทยเข้าใจ

ก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูกทั้งหมด

ที่ว่ามานั่น ใส่บาตร ใส่ซอง เป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง วิธีเดียว

โปรดทราบว่า “บุญ” ทำได้ถึง ๑๐ วิธี จะบอกให้!

งงอีกละสิ ไม่เห็นมีใครเคยบอก

ใส่บาตรและบริจาคเงิน นั่นเป็นเพียง ๑ ใน ๑๐  ยังมีวิธีทำบุญอีกตั้ง ๙ วิธีที่คนไทยไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่ได้คิดว่านี่เป็นการทำบุญ  เพราะไปปักใจว่าต้องใส่บาตร ต้องบริจาคเงิน จึงจะเรียกว่า “ทำบุญ”

หาความรู้คำว่า “วิธีทำบุญ” กันหน่อยก่อน

คำว่า “วิธีทำบุญ” ศัพท์เทคนิคท่านเรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” อ่านว่า บุน-ยะ-กิ-ริ-ยา-วัด-ถุ

“บุญ” ก็คือ บุญที่เราเข้าใจกัน คือความดีงามทั้งหลาย  “กิริยา” แปลว่าการกระทำ

“บุญกิริยาวัตถุ” จึงแปลตรงตัวว่า “วิธีทำบุญ”  ซึ่งมีด้วยกัน ๑๐ วิธี ดังนี้

ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น (เรียกเพื่อให้จำง่ายว่าทำบุญให้ทาน

ศีล ควบคุมการกระทำและคำพูดให้เรียบร้อย (ทำบุญถือศีล)

ภาวนา อบรมบ่มจิตใจให้สงบและรู้แจ้งเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (ทำบุญภาวนา)

อปจายนะ อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพกราบไหว้ (ทำบุญไหว้พระ)

เวยยาวัจจะ ช่วยขวนขวายรับเป็นธุระในกิจการที่ถูกที่ควร (ทำบุญช่วยงาน)

ปัตติทาน แบ่งส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนบุญ คือเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ทำบุญแบ่งบุญ)

ปัตตานุโมทนา  อนุโมทนาส่วนบุญ คือยินดีในความดีของผู้อี่น (ทำบุญโมทนา)

ธัมมัสสวนะ ฟังธรรมคำสั่งสอน ศึกษาหาความรู้ในทางความดี (ทำบุญฟังเทศน์)

ธัมมเทสนา แสดงธรรม สั่งสอนธรรม ให้วิชาความรู้ แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ (ทำบุญให้ธรรม)

ทิฎฐุชุกรรม  ทำความคิดความเห็นหรือทัศนคติให้ถูกให้ตรง ไม่เห็นผิดเป็นชอบ (ทำบุญเห็นถูก)

จะเห็นได้ว่าใส่บาตร ใส่ซอง บริจาคเงิน ที่เรามักเข้าใจดิ่งไปว่าต้องทำแบบนั้นจึงจะเรียกว่า “ทำบุญ” นั้น เป็นเพียงการทำบุญวิธีหนึ่งวิธีเดียวเท่านั้น  คือวิธีที่เรียกว่า “ทาน” คือการให้  เรายังมีวิธีทำบุญได้อีกตั้ง ๙ วิธี และโปรดสังเกตว่าในการทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนั้น มีเพียง “ทาน-ทำบุญให้ทาน” เท่านั้นที่ต้องใช้ทรัพย์หรือเรียกตลก ๆ ว่าทำบุญควักกระเป๋า  อีก ๙ วิธีแม้ไม่ต้องควักกระเป๋า หรือไม่มีอะไรในกระเป๋าจะให้ควัก ก็สามารถทำได้

ทีนี้ไปดูกันว่ากรวดน้ำ เป็นการทำบุญตามข้อไหน

กรวดน้ำ เป็นการทำบุญตามข้อ ๖  คือ ปัตติทาน-ทำบุญแบ่งบุญ คือ อุทิศส่วนบุญที่ได้ทำไปแล้วจากการใส่บาตรหรือจากการทำบุญด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ไปให้แก่ผู้ที่เราต้องการจะอุทิศให้  และตามที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ อุทิศส่วนบุญ แบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

โปรดทราบว่าไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น  แม้ผู้ที่ยังไม่ล่วงลับ คือ ยังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถอุทิศส่วนบุญหรือแบ่งส่วนบุญให้ได้

งงอีกละสิ  

อย่างง ลองคิดถึงความเป็นจริง กล่าวคือ ถ้าอยู่ไกลกัน หรือติดต่อสื่อสารกันไม่ได้ ก็ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญให้  แบบเดียวกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ถ้าอยู่ใกล้กัน พอพูดให้ได้ยินได้ หรือสมัยนี้สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารบอกกล่าวกันได้ทันที ก็พูดบอก – “แบ่งส่วนบุญให้ด้วยจ้า”  ถ้าอยู่ห่างออกไป พูดธรรมดาไม่ได้ยินหรือไม่เห็นตัว แต่รู้ว่าอยู่ตรงนั้น ก็ใช้วิธีเอิ้นบอกแบบที่คนเก่าท่านนิยมใช้ – “แบ่งส่วนบุญให้ด้วยเน้อ”  คนเก่าท่านไปทำบุญวันพระที่วัด  ขากลับเดินผ่านบ้านคนรู้จักก็เอิ้นบอกเขาไปทุกบ้าน – “แบ่งส่วนบุญให้ด้วยเน้อ”  คนในบ้านได้ยินก็จะเอิ้นตอบ “โมนาเน้อ” (อนุโมทนาด้วยจ้า)  

“เอิ้น” เป็นคำเก่า  คนแถวอำเภอปากท่อบ้านผมยังใช้พูดกันอยู่  แปลว่า เรียก ตะโกนเรียก ตะโกนบอก

การแบ่งส่วนบุญให้กันนี่แหละเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คือ “ปัตติทาน-ทำบุญแบ่งบุญ”  คนเก่าท่านรู้วิธีทำบุญ คือเมื่อทำบุญใส่บาตรแล้ว ตัวผู้ทำได้บุญแล้ว ก็แบ่งส่วนบุญนั้นให้คนอื่นด้วย  พูดภาษานักเลงว่าได้บุญสองเด้ง  เด้งหนึ่งคือทำบุญใส่บาตร เด้งสองคือบุญแบ่งบุญ

แล้วทำไมการทำบุญแบ่งบุญจึงต้องกรวดน้ำ?

ตรงนี้เป็นหลักการ

หลักการก็คือ ถ้าติดต่อสื่อสารพูดบอกกันได้ ก็บอกไปตามปกติธรรมดา ไม่ต้องกรวดน้ำ นี่คืออุทิศบุญหรือแบ่งบุญให้คนเป็น

แต่ถ้าติดต่อสื่อสารพูดบอกกันไม่ได้ เช่น แบ่งบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ต้องใช้วิธีอื่น

หลักการในการให้อะไรแก่ใคร วิธีธรรมดาสามัญทั่วไปก็คือ ถ้าเป็นสิ่งของก็หยิบยื่นส่งให้ผู้รับ

แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่ใหญ่โตหรือมีน้ำหนักมาก ไม่สามารถหยิบยกส่งให้ได้ เช่น พระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาคให้แก่ชาวเมืองกาลิงคะ ช้างตัวใหญ่จับยกยื่นให้ไม่ได้  หรือให้สิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างที่สามารถจับมายื่นให้กันได้ เช่น อุทิศส่วนบุญ คติคนเก่าท่านใช้วิธีหลั่งน้ำ คือ เทน้ำจากภาชนะลงบนฝ่ามือผู้รับ  เป็นกิริยาให้รู้ว่ายกให้  

การหลั่งน้ำนั่นเองที่เราเอามาใช้ในการอุทิศส่วนบุญ  แต่เนื่องจากไม่มีมือของผู้รับมารองรับ  เราจึงใช้วิธีเทน้ำลงในภาชนะ และเรียกกิริยาเช่นนั้นว่า “กรวดน้ำ”

โปรดระวัง “กรวดน้ำ” ก-ร-ว-ด กรวด แปลว่า เทน้ำลงไป  ไม่ใช่ “ตรวจน้ำ” ต-ร-ว-จ อย่างที่หลายคนมักจะพูดเพี้ยน เขียนผิด ๆ 

ปกติเราจะอุทิศส่วนบุญ แบ่งส่วนบุญ ปัตติทาน หลังจากที่ทำบุญเสร็จใหม่ ๆ  เพราะอารมณ์ยังสดอยู่  ยังนึกถึงบุญได้แจ่มชัดอยู่  จึงเกิดเป็นภาพ “ทำบุญ+กรวดน้ำ” ให้เห็นติดต่อกันไป  แล้วกลายเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ จึงจะได้บุญ

เวลานี้คนไทยส่วนมากก็ยังเข้าใจแบบนี้อยู่  ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ จึงจะได้บุญ  จึงขอให้เข้าใจให้ถูกต้อง  ทำบุญอะไรก็ตาม ทำเสร็จสำเร็จเป็นบุญทันที  ได้บุญทันที ไม่เกี่ยวกับกรวดน้ำ  กรวดน้ำเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง คือทำบุญด้วยวิธีปัตติทาน แบ่งส่วนบุญ  กรวดน้ำทำเมื่อไรก็ได้ที่ระลึกได้ว่าได้เคยทำบุญอะไรไว้  แล้วน้อมนึกแบ่งส่วนบุญนั้นให้ผู้อื่น

กรวดน้ำเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่ง  ผู้ทำก็ได้บุญจากการกรวดน้ำ  ใส่บาตรได้บุญจากการใส่บาตร ถือศีลได้บุญจากการถือศีล  กรวดน้ำได้บุญจากการกรวดน้ำ  กรวดน้ำจึงไม่ใช่กรรมวิธีทำให้บุญที่ทำแล้วสำเร็จเป็นบุญ  ถ้าไม่กรวดน้ำ บุญที่ทำแล้ว เช่น ใส่บาตร จะไม่สำเร็จเป็นบุญ อย่างที่เข้าใจกันผิด ๆ 

นับว่าเป็นข้อเขียนที่ยาวพอสมควรเลยทีเดียว แต่น่าสนใจแบบที่ผู้เขียนอ่านรวดเดียวจบ แม้ว่าจะเคยรู้มาแล้วบ้าง แต่เนื้อหานี้อ่านเข้าใจง่าย มีรายละเอียดครบถ้วน แม้ว่าพลเรือตรีทองย้อยท่านจะลงท้ายไว้ว่ารายละเอียดและข้อสงสัยเรื่องกรวดน้ำยังมีอีก ใครมีความสามารถพอ  โดยเฉพาะนักเรียนบาลีก็โปรดช่วยกันหาความรู้มาบอกกันต่อไปก็ตามที


เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น