วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อุบัติเหตุในวัยเด็ก

 

     เพิ่งวันนี้สด ๆ ร้อน ๆ เลยที่ผู้เขียนได้รับวิดีโอคลิปจากคนรู้จักในไลน์ที่บันทึกภาพเด็กเล็ก ๆ หลายคนเล่นอยู่ในบ้าน ในครัวหรือลานบ้าน บางรายนั่งละเลงครีมจนเลอะเทอะไปทั้งตัวจากหัวจรดเท้า ลามไปถึงที่นอน ผ้าห่ม ฯลฯ บางรายเล่นผงขาว ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นนมผงหรือแป้งอะไรสักอย่าง ทำให้ไม่เพียงแต่หน้าตาหัวหูเปรอะเปื้อนไปด้วยแป้ง แต่อาณาบริเวณครัวก็ขาวไปหมดเช่นกัน  เข้าใจว่าเหตุเกิดที่ประเทศจีน เพราะมีตัวอักษรภาษาจีนกำกับ  การถ่ายคลิปและนำมาเผยแพร่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความขบขันหรือแสดงให้เห็นความไร้เดียงสาของเด็ก ๆ หรืออย่างไรก็ไม่รู้ได้  แต่ผู้เขียนนั้นบอกได้เลยว่านอกจากไม่ขำแล้ว ยังเกิดอาการใจไม่ค่อยดีกลัวเด็ก ๆ จะเป็นอะไรไปอีกต่างหาก

      คนที่เคยเลี้ยงลูกมาแล้วคงรู้ว่าเด็กเล็ก ๆ นั้นไม่ควรปล่อยให้คลาดสายตาเป็นอันขาด แม้แต่ชั่วเวลาที่คิดว่า “แค่” ไม่กี่นาทีก็ตาม ตามการสอบถามของสมาคมเศรษฐกิจการประกันเยอรมัน (GDV) ยืนยันว่าเด็กทุก ๑ ใน ๓ คนเคยประสบอุบัติเหตุมาแล้ว  ราว ๖๐% ในจำนวนนี้เกิดขึ้นที่บ้าน  ที่ประสบเหตุบ่อยที่สุดคือเด็กจนถึงวัย ๕ ปี  ตามสถิติของปี ๒๐๑๗ ยังแสดงว่าทุก ๆ วันเด็กวัยต่ำกว่า ๑๕ ปีเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  เนื่องจากอาการบาดเจ็บ หรือคิดเป็นราว ๒๐๒,๐๐๐ คนต่อปี  นอกจากนั้น อุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำหรับเด็กวัยตั้งแต่ ๑ ขวบขึ้นไปที่พบบ่อยที่สุดในประเทศเยอรมันและยุโรป

    จนถึงวัยราว ๔ ปีอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นในเขตบ้านเป็นส่วนใหญ่  โดยเกิดขึ้นจากกิจกรรมปกติที่เด็กพยายามเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว  ในสองปีแรกเกิดจากความอยากเคลื่อนไหวและความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติที่นำไปสู่อุบัติเหตุในครัวเรือน เช่น โดนสารพิษ โดนน้ำกรด ของร้อนลวกและหกล้ม ต่อมาในวัยราว ๔-๕ ปีซึ่งเป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียน จะมีกิจกรรมของเด็กจะขยายตัวออกไป  อุบัติเหตุก็จะย้ายจากภายในเขตบ้านไปยังสถานที่ที่ประกอบกิจกรรมสันทนาการและกีฬา อุบัติเหตุจะเป็นการหกล้ม วิ่งชนกัน  สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ความรีบร้อน สภาพพื้นที่ไม่ดี เช่น ความเปียกแฉะ รองเท้าผิดประเภท ทำให้เด็กสะดุดหรือลื่นล้ม  อุบัติเหตุจำนวนมากในวัยนี้ยังเป็นเพราะความไม่รู้ ความอวดเก่งของเด็กหรือการประเมินตัวเองสูงไป  แต่ก็ยังมีเรื่องของการเกินกำลังหรือการขาดการเฝ้าระวังของผู้ใหญ่ด้วย ในวัยเข้าโรงเรียนหลังอุบัติเหตุจากกิจกรรมสันทนาการและกีฬาจะตามมาด้วยอุบัติเหตุการจราจรเป็นอันดับสอง

    อุบัติเหตุในวัยเด็กที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ หกล้ม หายใจไม่ออก โดนพิษหรือโดนกรด จมน้ำ อุบัติเหตุจราจร  ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบางประเภทจะหมดความสำคัญไปเมื่อวัยเพิ่มมากขึ้น  แต่กลับมีอันตรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา สมรรถนะใหม่ ๆ ของร่างกายจะผูกพันกับความต้องการและความสนใจที่เปลี่ยนไปเสมอ  เช่นเดียวกับประเภทของอุบัติเหตุที่เปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งสามารถจำแนกให้ดูได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

วัย ๐-๖ เดือน  อุบัติเหตุการตกหล่น โดยเฉพาะจากโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม อุบัติเหตุเคลื่อนย้ายตัวเด็กและการหายใจไม่ออก

วัย ๗ เดือน-ราว ๔ ปี  กลืนวัตถุต่าง ๆ  โดนสารพิษ-กรด (จากน้ำยาทำความสะอาด น้ำมันหอมระเหย ยา ต้นไม้มีพิษ) โดนลวก-ไหม้ (จากเตาและหม้อที่ร้อน ๆ ) ตกบันได หกล้ม อุบัติเหตุไฟฟ้า (จากปลั๊กไฟ) จมน้ำ (ในบ่อที่อยู่ในสวน ถังน้ำฝน)

วัยราว ๕ ปี  อุบัติเหตุจากกีฬาและสันทนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหกล้ม การวิ่งชนกัน อุบัติเหตุจราจร

            เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ก็มีข้อแนะนำว่า

-  ไม่ปล่อยเด็กทารกไว้ตามลำพังบนโต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม

-  ใช้รั้วกั้นบันได

-  บันไดหินหรือไม้ควรปูด้วยวัสดุกันลื่น

-  ป้องกันหน้าต่างและประตูระเบียงด้วยตัวกั้น

-  ในการทำอาหารให้ใช้เตาแถวหลัง หันด้ามกระทะไปด้านหลัง

-  กั้นเตาทำอาหารและปุ่มเปิดปิดด้วยรั้วกั้น

-  ให้ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวออกทุกครั้งหลังการใช้งาน

-  ปิดฝาตู้ซักผ้าและเครื่องล้างจานทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เด็กเล็กปีนเข้าไปได้

-  เก็บน้ำยาทำความสะอาดและยาไว้ให้พ้นมือเด็ก

-  ตรวจหาต้นไม้ที่เป็นพิษในกระถางต้นไม้และในสวน

-  ระมัดระวังซื้อของเล่นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับวัย  เพื่อไม่ให้เด็กเล็กสามารถกลืนลงไปได้หรือทำให้ติดคอหายใจไม่ออก

-  ไม่ปล่อยเด็กเล็กให้อาบน้ำในอ่างตามลำพังโดยไม่เฝ้าดู ตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำที่อาบ

            นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำให้จดหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ ๆ ไว้ใกล้มือ ได้แก่ บริการให้ความช่วยเหลือ ศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉินด้านพิษ กุมารแพทย์ บริการกุมารแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ

            ผู้ที่ส่งคลิปวิดีโอดังกล่าวมาให้ดูนั้นได้ออกความเห็นไว้ด้วยว่าโชคดีจริงที่เธอไม่มีหลานให้ต้องดูแล  แต่ผู้เขียนกลับคิดในทางกลับกันว่าถ้ามีหลานให้ดูเมื่อไร เราไม่มีทางปล่อยให้หลานอยู่ลำพังจนสามารถหยิบนู่นนี่มาเล่นได้ เพราะวันร้ายคืนร้ายนั้นกลายเป็นของมีพิษภัยขึ้นมาเมื่อใด ผู้ที่จะเสียใจหนักก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นเรานั่นเอง

ข้อมูล  ศูนย์ชี้แจงด้านสาธารณสุขแห่งชาติ (BZgA) และรีดเดอร์ไดเจสต์ ฉบับประจำเดือนมีนาคม ๒๐๑๓

 

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น