วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เรื่องหมา ๆ : จริงหรือไม่ที่เขาว่า

         มีใครรู้บ้างว่าวันที่ ๑๓ พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันแห่งคนรักสุนัข” ก่อตั้งโดยสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขในประเทศญี่ปุ่น (Japan Kennel Club) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗  ซึ่งก็นับว่านานมาแล้ว แต่ผู้เขียนต้องสารภาพว่าเพิ่งจะรู้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเป็นทาสแมว หาใช่ทาสหมาไม่  ทั้งที่ตั้งแต่จำความได้ที่บ้านก็เลี้ยงหมามาโดยตลอด หนึ่งตัวบ้างสองตัวบ้าง แต่หลังจากที่สองรุ่นสุดท้ายจากไปก่อนเวลาอันควร  สมาชิกครอบครัวร้องไห้เสียน้ำตาไปหลายปี๊บ จนมีคนทักว่าที่บ้านมีคนตายหรือไง ทำให้แม่ผู้เขียนตัดสินเลิกเลี้ยงหมาไปเลย เพราะไม่อยากเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

      แต่สมัยก่อนเมื่อหลายสิบปีมาแล้วนั้น เราเลี้ยงหมาเป็นหมาจริง ๆ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นหูเป็นตาเวลามีคนแปลกหน้าไม่ชอบมาพากลมาด้อม ๆ มอง ๆ  เราไม่เรียกหมาว่า “น้อง” ไม่เลี้ยงหมาแทนลูก ไม่ต้องเป็นหมามีเพดดีกรี สายพันธุ์นอกราคาเป็นหมื่นเป็นแสน หมาอะไรเราก็รักทั้งนั้น เวลานอนหมาของเรานอนนอกบ้าน กินอาหารที่ทำใหม่ทุกวัน (ข้าวต้มกับเศษเนื้อและผัก) วันละสองเวลาเช้าเย็น ไม่ได้กินอาหารเปียกหรืออาหารเม็ด ไม่มีขนมหมาเลียนำเข้ากินเป็น “สแน็ค” และไม่ได้มีของเล่นอะไรเป็นพิเศษนอกจากกระดูกที่แม่ครัวซื้อหรือขอมาจากเขียงหมูในตลาด ไม่มีเสื้อผ้า เครื่องประดับ ไม่ได้พาไปเข้าร้าน “กรูมมิง” แต่โดนจับอาบน้ำด้วยสายยางรดน้ำต้นไม้ธรรมดา เราทำ “สปา” ให้มันโดยหาเห็บหาหมัดให้ทุกสุดสัปดาห์ บางทีก็โดนดุโดนตีถ้าไปขุดดินในสนาม หรือกัดรองเท้า ย่ำดินขึ้นมาบนระเบียง ฯลฯ แต่ก็เชื่อว่าหมาเรามันก็มีความสุขดีตามประสา ไม่ได้มีปัญหาจนต้องหนีออกจากบ้านให้ต้องไปตามกลับ หรืออยากวิ่งออกไปให้รถชนตาย

      แล้วเชื่อหรือไม่ คนที่เคยชินกับหมามาตลอดอย่างผู้เขียน พอมามีสัตว์เลี้ยงของตัวเองกลับนอกใจไปเลี้ยงแมวหน้าตาเฉย แต่ความรักสัตว์คงจะถ่ายทอดในสายเลือด ถึงเวลาลูกสาวไปซื้อบ้านเป็นของตัวเองและมองหาสัตว์มาเลี้ยง ในที่สุดก็ไปลงเอยที่หมาจนได้ ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงหมามาก่อน เอาล่ะสิ คราวนี้ก็มีเรื่องต้องถกกันบ่อย ๆ ว่า “มัน” กินอะไรได้ไม่ได้ ควรให้นอนที่ไหน ต้องพาไปเดินไหมหากบ้านมีพื้นที่กว้างอยู่แล้ว ฯลฯ บอกเฉย ๆ กลัวจะหาว่าแม่มั่วหรือเปล่า เลยต้องหาหลักฐานมายืนยัน จากการค้นคว้าข้อมูลเลยเป็นที่มาของเรื่องหมา ๆ วันนี้แล  โดยเป็นเรื่องที่มักชอบพูดกันเกี่ยวกับอาหารการกินของหมา

หมากินแต่เนื้อสัตว์

ไม่จริง  แม้ว่าสัดส่วนของเนื้อสัตว์ในอาหารหมาควรจะสูง  แต่เนื่องจากว่าหมาเป็นสัตว์ที่กินทุกอย่าง (Omnivoren/Ommivorus) จึงอนุญาตให้มีการสลับสับเปลี่ยนอาหารในจานอาหารได้  ตราบใดที่หมาของคุณไม่ได้ต้องอดอาหารอันเนื่องมาจากโรคภัยชนิดใดชนิดหนึ่ง คาร์โบไฮเดรต (ข้าว เส้นชนิดต่าง ๆ มันฝรั่งต้ม) ผักและผลิตภัณฑ์นม เช่น Quark เป็นครั้งคราวอนุญาตให้ทำได้ ที่สำคัญ ได้แก่ การผสมผสานที่สมดุล  หากหมาชอบแทะกินแครอทหรือแอปเปิลก็ให้มันกินเล่นได้เป็นของว่าง  นอกจากนั้น บางวันที่ไม่มีเนื้อสัตว์เลยก็สามารถเป็นไปได้  โดยที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้หมา  แต่ในระยะยาวมันคงไม่อยากละเว้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ 

กระดูกอันตราย

มีส่วนจริง  ให้แทะกระดูกเป็นครั้งคราวดีต่อฟันและปริมาณแคลเซียม  นอกจากนั้น กระดูกแข็ง ๆ ยังเป็นการใช้เวลาให้หมดไปอย่างสนุกสนาน  แต่มันขึ้นอยู่กับชนิดของกระดูก  โดยพื้นฐานควรให้กินเพียงกระดูกดิบและภายใต้การเฝ้าดู และควรระมัดระวังให้เป็นกระดูกจากลูกสัตว์ เช่น ลูกแกะหรือลูกวัว  ซึ่งเป็นกระดูกที่แข็งกว่า  กระดูกที่เล็กกว่าและกัดแตกได้ง่ายกว่า เช่น กระดูกไก่ แอบซ่อนอันตรายที่จะทำให้บาดเจ็บสูงและไม่ควรวางไว้ใกล้ปากหมา  สำหรับลูกหมาก็ควรให้ของเคี้ยวกินที่เหมาะกับพันธุ์ของมัน 

จานอาหารควรเต็มอยู่เสมอ

ไม่จริง  อาหารที่มีให้กินตลอดเวลานำไปสู่ปรากฎการณ์สองอย่าง  หากไม่ใช่ว่าหมาของคุณหมดความสนใจในอาหารและกินน้อยลงหรือไม่พอใจในอาหาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาที่อยู่ตัวเดียว  อาหารที่มีให้กินตลอดเวลาทำให้ไม่น่าสนใจอีกต่อไป  ตรงนี้มีอันตรายว่ามันจะขาดอาหารหรือกินมากเกินไป  หมาบางพันธุ์ เช่น ลาบราดอร์ ดัลเมเชียนและบีเกิลกินเก่งมาก  น้ำหนักเกินจึงเป็นผลที่ตามมาจากการที่มีให้กินตลอด  ดังนั้น ควรแบ่งให้อาหารปริมาณของแต่ละวัน เป็นสองหรือสามครั้ง  โดยไม่ลืมคำนวณของกินเล่นในปริมาณรวมทั้งหมดด้วย

ให้อดอาหารหนึ่งวันต่อสัปดาห์เป็นเรื่องสมเหตุสมผล

ไม่จริง  การให้เหตุผลสำหรับเรื่องนี้คือ หมาป่าก็ไม่ได้กินอาหารทุกวัน  นอกจากนั้น ลำไส้ควรได้รับการทำความสะอาดผ่านการอดอาหาร  ซึ่งไม่สามารถยืนยันทางวิชาการได้  และแม้แต่หมาป่าก็จะกินอาหารทุกวันหากมีให้กิน  ดังนั้น จึงควรให้อาหารหมาทุกวันด้วยอาหารที่มีคุณค่าสูง  หมาที่สุขภาพดีไม่จำเป็นต้องมี “วันหยุด” สำหรับซ่อมแซมลำไส้  แต่หากหมาไม่สบาย อาเจียนหรือท้องเสีย การงดให้อาหารก็อาจสมเหตุสมผล แต่ควรพูดคุยกับสัตวแพทย์ก่อน

ไม่วิ่งเล่นหลังอาหาร

ถูกต้อง  หลังอาหารควรพักก่อน  เพราะกระเพาะอาหารกำลังทำงานและกิจกรรมเพิ่มเติมใด ๆ ก็ตามรบกวนการย่อยอาหาร  ควรรอให้เวลาผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมงหลังมื้ออาหารก่อนจะพาไปเดินรอบใหญ่หรือเล่นอะไรที่ตื่นเต้นสนุกสนาน  หากหลังกินอาหารหมาแอคทีฟเกินไป  ในกรณีที่เลวร้าย กระเพาะอาหารอาจบิดตัวได้  ควรระมัดระวังให้หมากินช้า ๆ และไม่รีบร้อนกลืนอาหาร

ให้หมากินอาหารเหลือ

ไม่ถูกต้อง  เรามักได้ยินคนให้เหตุผลบ่อย ๆ ว่า “แต่สมัยก่อนหมาก็กินเศษอาหารที่เหลือนี่นา” หรือ “ของกินจากโต๊ะอาหารนิดหน่อยไม่เป็นอะไรหรอกน่า”  ซึ่งอาจจะเป็นก็ได้  เพราะของที่เราว่าอร่อยนั้นบ่อย ๆ ที่ไม่ดีกับหมาหรือถึงกับเป็นอันตราย  อาหารของคนส่วนใหญ่ให้พลังงานมากเกินไป ไขมันสูงไปและปรุงรสมากเกินไปสำหรับกระเพาะของหมา  ซึ่งส่งผลกับน้ำหนักของมันและสร้างปัญหาให้กับการย่อยอาหาร  เป็นเรื่องไม่แย่หรอก หากก่อนทำอาหารจะให้เนื้อไม่ติดมันที่ยังไม่ปรุงรสหรือเนยแข็งกับหมาสักชิ้น  กระนั้น หมาไม่เหมาะกับการเป็นผู้รีไซเคิลเศษอาหาร  และยิ่งกว่านั้นหากหมาเคยชินกับอาหารบนโต๊ะเมื่อไร มันก็จะกลายเป็นแขกประจำมาขอกินทุกมื้ออาหารเลยเชียว

            ไหมล่ะ น่าสนใจหยอกอยู่เมื่อไร ก็หวังว่าคนเลี้ยงหมามือใหม่ไม่มีประสบการณ์บางท่านจะได้รับอานิสงส์ไปด้วยเน้อ วันดีคืนดีผู้เขียนต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับมะหมาไปอ้างอิงกับลูกสาวอีกเมื่อใด จะเอามาเล่าสู่กันฟังอีกนะงับ บ๊อก ๆ

ข้อมูล นิตยสาร “Fressnapf

 

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น