วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

รักษ์โลกเริ่มที่บ้าน

กลับมาว่ากันด้วยเรื่องขยะอีกครั้ง  เริ่มจากการที่ผู้เขียนลากถังขยะประเภทต่าง ๆ ไปวางหน้าบ้าน เพี่อรอการมาเก็บทีไร เป็นต้องแปลกใจกับเพื่อนบ้านสองหลังฝั่งตรงข้ามแทบจะทุกครั้งไป  ความที่ถังขยะเต็มจนล้นแล้วล้นอีก บ่อยครั้งยังแถมด้วยถุงเพิ่มเติมข้างถังอีกต่างหาก ไอ้เจ้าถังขยะที่ปิดฝาไม่ลงนี้ ถ้าหากเป็นถังเหลืองที่ใส่ขยะบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติก พอมีลมมาถุงพลาสติกหรือห่อขนมเป็นปลิวว่อนไปทั่ว เป็นดั่งว่าถนนถูกประดับด้วยดอกไม้ (พลาสติก) หลากหลายสีไปซะงั้น  ไอ้เราก็เกิดอาการงงใจว่าอยู่กันก็แค่ไม่กี่คน ทำไม้...ขยะอะไรจะมากมายขนาดนั้น เพราะถังก็มีตั้งสี่แบบเข้าไปแล้วสำหรับขยะประเภทต่าง ๆ 

ว่ากันว่าขยะที่ดีที่สุดก็คือการไม่มีขยะแต่แรก  แต่น่าเสียใจที่การไม่ผลิตขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องของอุดมคติที่ไม่อาจทำได้จริง  แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ที่แยกขยะให้ดีก็ช่วยทำให้การนำกลับมาใช้ใหม่เป็นไปได้  แต่ก็นั่นแหละในความเป็นจริงก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าขยะถูกทิ้งในถังผิดประเภทบ่อย ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ถูกทิ้งในถังขยะดำ  ทำให้สูญเสียไปไม่ได้รีไซเคิล  ทั้งที่ผู้บริโภคเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการรีไซเคิลที่ประสบความสำเร็จ  เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวงโคจรวัสดุที่มีค่า(เป็นวัตถุดิบในการผลิต)  ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ ได้แก่ การลดแก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ลง เพื่อป้องกันสภาพภูมิอากาศ  พวกชาวบ้านอย่างเรา ๆ ก็ต้องเริ่มต้นก้าวแรกที่บ้านในชีวิตประจำวันนี่แหละ  ตามข้อมูล กระดาษสามารถใช้แล้วใช้อีกได้ถึง ๑๐-๒๕ ครั้ง  แก้วสามารถหลอมนำกลับมาใช้ได้ใหม่บ่อยเท่าที่ต้องการ  โดยไม่สูญเสียคุณภาพ  ขวดแก้วใหม่ประกอบด้วยแก้วเก่า ๖๐%  ขวดแก้วสีเขียวถึงกับ ๙๐%  

Axel Suklew จากกลุ่มริเริ่มสร้างสรรค์ “Mülltrennung wirkt” กล่าวว่ามันจะมีประสิทธิภาพเพียงเมื่อผู้บริโภคให้การสนับสนุนในกรอบของการแยกขยะ  เพียงการแยกชนิดอย่างถูกต้องสามารถทำให้องค์ประกอบเดี่ยว ๆ เช่น ถ้วยโยเกิร์ต กลายเป็นวัตถุดิบของการรีไซเคิลที่ยั่งยืน  สำหรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ เครื่องใช้ในบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ ท่อ ฯลฯ  โดยทั่วไปกฎง่าย ๆ มีว่า

-  บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก โลหะและวัสดุที่ผสมผสานจนแยกจากกันไม่ออกง่าย ๆ ด้วยมือเปล่าให้ทิ้งในถังหรือถุงเหลือง  

-  บรรจุภัณฑ์จากกระดาษ กระดาษแข็ง กล่องกระดาษ ให้ทิ้งในถังขยะกระดาษ

-  บรรจุภัณฑ์จากแก้ว  แยกตามสีและทิ้งในคอนเทนเนอร์ของแต่ละสี

สิ่งที่ต้องระวังและมักเป็นปัญหาในการแยก คือ สิ่งของจำนวนมากผลิตหรือทำขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ กัน  ทำให้การแยกต้องทำอย่างระมัดระวัง ได้แก่

-  ถ้วยโยเกิร์ต  ฝาที่ทำจากอลูมีเนียมและตัวถ้วยที่เป็นพลาสติกทิ้งในถังเหลือง กระดาษที่หุ้มรอบถ้วยทิ้งในถังขยะกระดาษ

-  ที่คล้ายคลึงกันก็ได้แก่ บรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีการผสมผสานกัน เช่น ห่อเนยแข็งหรือห่อไส้กรอก  พลาสติกใสที่หุ้มอยู่บ่อย ๆ ใช้วัสดุพลาสติกคนละชนิดกับถาดที่ใส่มา  เนื่องจากโรงงานแยกสมัยใหม่พร้อมเทคนิคใหม่ล่าสุดจะแยกขยะตามประเภทของวัสดุ  ทางที่ดีที่สุดเราจึงควรแยกองค์ประกอบทั้งสองอย่างออกจากกัน  ก่อนทิ้งในถังเหลือง

-  ขวดพลาสติก ก็ควรแกะกระดาษที่หุ้มออกก่อนทิ้ง  แต่การล้างก่อนทิ้งไม่จำเป็น

องค์กร World Wide Fund For Nature (WWF) ก็เห็นว่าพวกเราแต่ละคนสามารถมีส่วนร่วมในการแยกขยะที่ดีกว่าเดิม  โดยการให้คำแนะนำสำหรับชีวิตประจำวัน

-  ใช้ถังขยะอินทรีย์สำหรับขยะอินทรีย์หรือเอาไปทำเป็นปุ๋ย  เนื่องจากที่ทิ้งขยะเป็นต้นเหตุราว ๓% ของการปล่อยแก๊ซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป

-  รีไซเคิลโลหะ  โดยให้ข้อมูลว่าการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมช่วยประหยัดพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตกระป๋องใหม่ไปได้ ๙๐%

-  นำแก้วเก่าไปทิ้งที่คอนเทนเนอร์  แก้วเก่า ๑๐๐ กิโลกรัมทำให้ประหยัดแก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ ๑ ตัน

-  ทิ้งกระดาษในถังขยะกระดาษเก่า  กระดาษเก่า ๑๐๐ กิโลกรัมทำให้สามารถหลีกเลี่ยงคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ๗๐ กิโลกรัม

-  รวบรวมขยะพลาสติก สำหรับการนำไปใช้ใหม่อีกครั้ง

-  นำหลอดไฟประหยัดพลังงานและหลอดไฟอื่น ๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้วไปมอบหรือทิ้งในที่รับ เพื่อการนำไปรีไซเคิล

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผู้อ่านอาจสั่นหัวว่าจุกจิกยุ่งยากไปไหม แต่ถ้าทำบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นความเคยชินไปเองและทำไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้ความคิดเยอะ  ซึ่งมันไม่เพียงแต่ส่งผลทางบวกกับสิ่งแวดล้อมของเราเท่านั้น  หากแต่กับกระเป๋าสตางค์ของเราด้วย  เช่นว่าถ้าเราแยกขยะให้ถูกประเภท ก็จะมีขยะเหลือสำหรับถังดำน้อยลง ทำให้เราสามารถประหยัดค่าทิ้งขยะ โดยการเปลี่ยนไปใช้ถังขนาดเล็กลง หรือลดจำนวนลง  ซึ่งที่บ้านผู้เขียนก็เคยทำมาแล้ว ขนาดนั้นถังขยะก็ไม่เคยเต็มถึงขนาดปิดไม่ลงสักที ถึงได้หัวจะปวดกับเพื่อนบ้าน แต่จะไปถามก็ใช่ที่ ไม่อยากให้เป็นข่าวพาดหัวว่าหญิงชราชาวไทยโดนเพื่อนบ้านทำร้ายร่างกาย เพราะต่อปากต่อคำกันเรื่องขยะ อิอิ

ข้อมูล  Zeitung am Sonntag

เรียบเรียงโดย "เอื้อยอ้าย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น