วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ภาษาไทยใครว่ายาก


      ความจริงได้เคยบ่นเกี่ยวกับการเขียนภาษาไทยผิด ๆ มาหลายครั้งแล้วใน “ชาวไทย” ไม่ใช่เฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่น  หากแต่ผู้ใหญ่วัยต่าง ๆ กันด้วย  แม้แต่ในรายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์ก็พบเจอได้บ่อย  ชักสงสัยว่าเรานี่ตาผี เรื่องมากกว่าชาวบ้านเขาหรือเปล่านะ  ยิ่งในยุคเชื้อไวรัสระบาดที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และทำงานจากที่บ้านกันด้วยแล้ว  ก็ยิ่งดูเหมือนแต่ละคนจะมีเวลามากขึ้นในการลงข้อความ รูปภาพ ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ในสื่อสังคมต่าง ๆ  แล้วก็จะมีชาวประชาเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากบ้างน้อยบ้าง ไม่รู้ใครเป็นอย่างผู้เขียนบ้างหรือไม่ เวลาเจอใครเขียนคำผิดนี่มันเซ็งนะ  พบเจอบ่อย ๆ เข้า ก็ถึงกับเศร้าใจ  นี่มันภาษาแม่ของเราเอง พูดมาแต่เด็ก เรียนมาแต่ชั้นอนุบาล คำที่ผิดบ่อย ๆ นี่ก็เป็นคำง่าย ๆ ไม่น่าจะผิดได้เลย  เออ ก็เขียนกันไปได้เนอะ  เลยรวบรวบมาเฉพาะที่สะดุดตาสะดุดใจอย่างจัง ไม่ได้ละเอียดมากมายอย่างพจนานุกรมนะจ๊ะ แค่ต้องการให้เห็นความแตกต่างของบางคำที่มักใช้สลับกัน

กรอก กริยา มีความหมายว่า เทลงในช่องแคบ เช่น กรอกหม้อ กรอกขวด หรือใช้โดยปริยายก็ได้ เช่น พูดกรอกหู
กลอก   กริยา มีความหมายว่า เคลื่อนย้ายขยับเขยื้อนกลับไปกลับมาภายในขอบเขตของสิ่งนั้น ๆ เช่น กลอกตา กลอกหน้า
             ทำให้เคลื่อนวนกลับไปกลับมา เช่น กลอกไข่ กลอกแป้ง
กราย  นาม   มีความหมายว่า            ชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง
        กริยา    มีความหมายว่า         เดินอย่างมีท่าทางด้วยการทอดแขนไปข้างหน้าและข้างหลังอย่างช้า ๆ  หรือเดินเฉียดเข้าไปใกล้ ๆ
กลาย  กริยา มีความหมายว่า  เปลี่ยนไป แปรปรวนไป เช่น หน้าหนาวกลายเป็นหน้าร้อน
          วิเศษณ์  มีความหมายว่า    เรียกปีที่ล่วงหรือเปลี่ยนไปแล้วปีหนึ่งว่าปีกลาย
คอก    นาม      มีความหมายว่า    ที่ล้อมขังสัตว์บางชนิด
        วิเศษณ์ มีความหมายว่า    ลักษณะของแขนที่พิการเหยียดตรงไม่ได้ เช่น แขนคอก
ครอก   นาม     มีความหมายว่า    ลูกสัตว์หลายตัวที่เกิดพร้อมกันคราวเดียว เช่น ลูกแมวสองครอก
คลอก  กริยา  มีความหมายว่า   อาการที่ไฟล้อมเผาหนีออกไม่ได้ เช่น ถูกไฟคลอกตาย
เท่    วิเศษณ์ มีความหมายว่า  เอียงน้อย ๆ (มักใช้แก่การสวมหมวก) โก้เก๋ เช่น แต่งตัวเท่
น่า   วิเศษณ์ มีความหมายว่า   คำประกอบหน้ากริยา หมายความว่า ควร เช่น น่าจะทำอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้
        วิเศษณ์ มีความหมายว่า     ชวนให้ ทำให้ อยากจะ เช่น น่ากิน น่าอยู่
       วิเศษณ์ มีความหมายว่า  คำประกอบท้ายความ หมายความไปในทางชักชวนหรือทำตาม เช่น กินเถิดน่า ไปเถิดน่า
ปราย  กริยา  มีความหมายว่า   ซัด หว่าน สาดให้กระจายไป  มักใช้เข้าคู่กับคำ “โปรย” เป็นโปรยปราย
ปลาย    นาม   มีความหมายว่า      ตอนยอด ตอนที่สุด เช่น ปลายเชือก ปลายทาง
ปอก      กริยา  มีความหมายว่า   เอาเปลือกหรือสิ่งที่ห่อหุ้มออก เช่น ปอกกล้วย ปอกลอก
ปลอก   นาม    มีความหมายว่า    สิ่งที่ทำเป็นวงสำหรับสวมหรือรัดของต่าง ๆ  เครื่องที่ทำสำหรับสวมสิ่งของต่าง ๆ เช่น ปลอกมีด ปลอกหมอน
แปร    กริยา   มีความหมายว่า   เปลี่ยนกลายไปจากลักษณะหรือภาวะเดิม
แปล    กริยา  มีความหมายว่า  ถ่ายความหมายจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ทำให้เข้าใจความหมาย
รอก   กริยา  มีความหมายว่า  เครื่องผ่อนแรงรูปคล้ายล้อ  มีแกนหมุนได้รอบตัว ใช้สำหรับยก ลาก หรือดึงของหนักให้เบาแรงและสะดวกขึ้น
ลอก    กริยา  มีความหมายว่า   เอาเปลือกหรือผิวออกมาเป็นแผ่น ๆ เช่น ลอกหน้า  กริยาที่เปลือกหรือผิวหลุดออกเป็นแผ่น เช่น หนังลอก ตักเอาโคลนหรือเลนขึ้น เช่น ลอกคลอง ลอกท้องร่อง  เขียน คัด หรือจำลองออกมาจากต้นฉบับ ต้นแบบ เช่น ลอกหนังสือ ลอกลวดลาย
ร่อง   นาม    มีความหมายว่า     รอบลึกเป็นช่องทางไปตามยาว สับดินสำหรับท้องร่องสำหรับเพาะปลูก เช่น ร่องผัก
ล่อง   นาม    มีความหมายว่า     ช่องตามพื้นที่ทำไว้สำหรับให้สิ่งของลอดลงได้
         กริยา   มีความหมายว่า    ลงมาตามน้ำ เช่น ล่องเรือ ล่องแพ
         กริยา   มีความหมายว่า    โดยปริยายหมายความว่าดั้นด้นไป เช่น ล่องป่า
ร้อง   กริยา   มีความหมายว่า  การเปล่งเสียงดัง  โดยปริยายหมายถึงออกเสียงดังเช่นนั้น เช่น ฟ้าร้อง ภาษาปากใช้หมายความว่า ร้องเพลง ร้องไห้ ก็มี
เรา    สรรพนาม   ข้า ฉัน เป็นคำแทนชื่อตัวเราเองและนิยมว่าแทนพวกของตนด้วย
เลา    นาม    มีความหมายว่า    ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง
      ลักษณะนาม   เรียกเครื่องเป่าที่มีลักษณะยาวตรงและกลมอย่างปี่ ขลุ่ย เช่น ปี่เลาหนึ่ง ชลุ่ยสองเลา
ล้อง  ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ชอบเขียนว่าล้องไห้ โปรดจำให้แม่นว่าไม่มีความหมายนะจ๊ะ
หน้า   นาม    มีความหมายว่า   ส่วนของศีรษะตั้งแต่หน้าผากลงมาถึงคาง
          นาม    มีความหมายว่า   ซีกของกายที่ตรงข้ามกับหลัง
          นาม    มีความหมายว่า   ส่วนบนของบางสิ่ง เช่น หน้าขนม หน้าปกหนังสือ
         นาม    มีความหมายว่า   คราว เช่น เมื่อข้าวสุกแล้วก็ถึงหน้าเก็บเกี่ยว เช่น หน้าฝน หน้าทุเรียน
         วิเศษณ์ มีความหมายว่า   ถัดไป เช่น อาทิตย์หน้า ฉบับหน้า
       
อันนี้คือแค่บางส่วนที่พบเจอบ่อย ๆ แบบว่า “หน้ารัก” เอ่อ อันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับใบหน้านะจ๊ะ ไม่เท่ (ไม่มี “ห์”) เลยนะที่ภาษาเราเองก็ยังผิดยังพลาด ถ้าไม่แน่ใจก่อนจะเขียนก็เปิดเลยจ้ะ พจนานุกรมก็ได้ กูเกิลก็ดี  แค่จิ้ม ๆ ไม่กี่ทีก็ได้คำตอบแล้ว  ง่ายกว่าปอก (ไม่มี ล ลิง) กล้วยเข้าปากอีกนะเออ

ข้อมูล  พจนานุกรมแปลไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถานและฉบับของ อ. เปลื้อง ณ นคร

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น