วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

อากาศร้อนขึ้นมีผลต่อความเจ็บป่วย

    ไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง แต่กับผู้เขียนนั้นเมื่อไรที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงหรือเจอเข้ากับหน้าร้อนที่ร้อนฉ่าทีไรเป็นได้เกิดปัญหาทุกทีสิน่า นอกจากจะร้อนจนคันยุบยิบไม่สบายตัวไปหมดแล้ว ที่หนีไม่พ้นก็ยุงและตัว Zecke ที่ไม่ค่อยแน่ใจว่าควรจัดเข้าพวกหมัดหรือเห็บกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ มันชอบเกาะบนผิวหนังและดูดเลือดเหมือนกัน เวลาอากาศร้อน ๆ ก็จะแห่กันมาจากไหนก็ไม่รู้ พอเดินออกไปที่สนามเพื่อทำงานหรือนั่งเล่นก็แล้วแต่ กลับเข้าบ้านมาเป็นต้องเจอกัดติดอยู่ที่ตัวทุกครั้งไปสิน่า แม้จะใช้คีมดึงออกไปแล้ว แต่แผลที่โดนกัดก็จะแดง คัน และกลายเป็นตุ่มพอง ใช้เวลาในการรักษาให้หายนานมาก จนแทบว่าไม่อยากโผล่ออกไปในสนามเลยทีเดียว ขนาดว่าหน้าร้อนที่ผ่านมาก็ไม่ได้ร้อนมากอย่างเมื่อสามปีก่อนหน้าที่ร้อนมาก ร้อนจริง ร้อนเรือหายกันเลยทีเดียว

    นั่งอ่านข่าวเจอการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับโรคภัยที่เกี่ยวกับความร้อน อ้าว แปลว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาก็โดนแบบเราเหมือนกันนี่นา ดีไม่ดีเราอาจจะโชคดีกว่าเขาเสียอีกก็เป็นได้ เพราะตามการศึกษาของสมาคม BKK แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและฤดูร้อนที่ร้อนมากในปีที่ผ่าน ๆ มาทำให้โรคภัยที่เกิดจากภูมิอากาศร้อนขึ้นเพิ่มขึ้นอย่างหนัก โดยประชาชนจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนได้รับการนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากขาดน้ำ โรค Heuschnupfen (แปลตามตัวก็คือไข้ละอองฟาง โดยเป็นภาวะที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่อสารที่ร่างกายถือว่าเป็นอันตราย) และมะเร็งผิวหนังก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับ Borreliose ที่แพร่เชื้อผ่านการโดนตัว Zecke กัด ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ WAZ เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายนที่ผ่านมา

     Dirk Janssen หัวหน้าสมาคม BKK ได้เรียกร้องการป้องกันความร้อนมากขึ้นด้วยการจัดทำพื้นที่สีเขียวในการก่อสร้างในเมือง รวมทั้งรูปแบบเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงความร้อนช่วงกลางวันและการติดตั้งอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับอากาศในโรงพยาบาลและสถานที่ให้ความดูแล  การศึกษาของสมาคมได้ทำเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่ไวต่อสภาพอากาศระหว่างปี ๒๐๑๐ ถึง ๒๐๑๙   ซึ่งประชาชนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากขาดน้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน  ที่ประสบเหตุก็ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก ๆ และผู้มีวัยสูงกว่า ๗๕ ปี  โดยในแคว้นนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลนในปี ๒๐๑๘ ที่ร้อนเป็นประวัติการณ์มีกรณีการส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาเนื่องมาจากการขาดน้ำที่อันตรายสูงที่สุดของประเทศ  ส่วนกรณี Borreliose ที่ได้รับเชื้อจากตัว Zecke ในรอบสิบปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ๕๐%  จำนวนกรณีไข้ละอองฟางที่เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นราว ๓๖%  สำหรับทั้งสองกรณีแพทย์เห็นว่าเนื่องมาจากความอบอุ่นขึ้นของโลกเป็นเหตุ  จำนวนคนไข้มะเร็งผิวหนังที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโดยไม่ค้างคืนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ๗๘%  ในการศึกษามีการระบุว่ามะเร็งผิวหนังพัฒนาตัวเป็นโรคที่แพร่ระบาดในหมู่คนทั่วไป

      เอ้า นับว่าผู้เขียนก็ยังโชคดีหรือเปล่าที่โดนกัดก็จริง แต่ยังไม่ขึ้นขั้นติดเชื้อแบคทีเรียจากเจ้าตัว Zecke (เคาะ ๆ) และถึงจะกินน้ำน้อยตามประสามนุษย์ป้า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมีอาการขาดน้ำจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ก็ต้องถือว่ายังมีความโชคดีในโชคร้ายเนอะ ก็ขอให้แฟน ๆ “ชาวไทย” ทุกท่านรักษาเนื้อรักษาตัวรอดพ้นจากวิกฤตใด ๆ กันได้ด้วยดีเถิด เพี้ยง !

ข้อมูล  Aachener Zeitung

 

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น