วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

หามาให้อ่าน การกินยาพาราเซตามอล

     “พาราเซตามอล” มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลากหลาย และช่วยลดไข้ได้ดี  เป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการ  ไม่ใช่ยารักษาโรคโดยตรง และใช้ได้เฉพาะอาการปวดระดับอ่อนจนถึงปานกลางเท่านั้น ได้แก่ ปวดศีรษะธรรมดา ปวดข้อจากอาการเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ด ขัด ยอกและลดไข้ทั่ว ๆ ไป

อาการปวดที่ยาพาราเซตามอลไม่มีผลรักษาหรือให้ผลน้อย ได้แก่

๑.  อาการปวดขั้นรุนแรง เช่น อาการปวดจากแผลผ่าตัดใหญ่ อาการปวดจากโรคมะเร็ง

๒.  อาการปวดลักษณะไม่ปกติ เช่น ปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นครั้ง ๆ  ปวดเหมือนเข็มเล็ก ๆ ทิ่มแทง  เพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการปวดจากเส้นประสาททำงานผิดปกติ

๓. อาการปวดศีรษะเรื้อรัง เช่น ปวดไมเกรน ๓-๔ ครั้งต่อเดือน ปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษระอาการปวดเหมือนโดนบีบรัดมากกว่า ๑๕ วันต่อเดือน

ปริมาณการใช้ยาพาราเซตามอลมีสัดส่วน คือ ยา ๑๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม

 โดยทั่วไปยาพาราเซตามอลหนึ่งเม็ดจะมีตัวยา ๕๐๐ มิลลิกรัม  ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับผู้ใหญ่ที่ทั่วไปจะมีน้ำหนักตัวมาตรฐานประมาณ ๕๐ กิโลกรัม  หากผู้ป่วยน้ำหนักมากกว่า ๗๐ กิโลกรัม ก็สามารถกินยาครั้งละ ๒ เม็ดได้

 สำหรับเด็กก็คำนวณเหมือนผู้ใหญ่  แต่จะกินยาเป็นชนิดน้ำเชื่อมแทน  ซึ่งฉลากจะระบุไว้ว่า ๑ ช้อนชา  จะได้รับยากี่มิลลิกรัมใน ๑ วัน

 ให้กินยาพาราเซตามอลทุก ๆ ๔-๖ ชั่วโมง  ครั้งละไม่เกิน ๒ เม็ด  มากสุดไม่เกินวันละ ๖ เม็ด และไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน ๓-๕ วัน  เพราะอาจได้รับยาเกินขนาด มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภาวะ “ตับเป็นพิษ”  การใช้ยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้ยังช่วยให้เราสังเกตว่ามีโรคอย่างอื่นรุนแรงแทรกซ้อนอยู่หรือไม่ได้ด้วย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ไทฟอยด์  โดยสังเกตลักษณะอาการของไข้ คือ ไข้หวัดปกติ จะไม่มีอาการไข้ทั้งวัน และไข้จะขึ้น ๆ ลง ๆ เมื่อทานยาพาราเซตามอล ไข้ก็จะลดลงจนเรารู้สึกสบายตัว  แต่หากเป็นไข้เลือกออก ไข้ไทฟอยด์ จะมีอาการไข้ลอย คือ ไข้จะขึ้นอยู่แบบนั้นทั้งวัน ไม่เปลี่ยนแปลง  ฉะนั้น เมื่อกินยาพาราเซตามอลแล้ว ไข้ไม่ลดลงเท่าที่ควรจะเป็น ให้รีบไปพบแพทย์  เพื่อทำการวินิจฉัย

“พาราเซตามอล” แม้เป็นยาทั่ว ๆ ไป แต่หากใช้ไม่ถูกต้องก็สามารถก่ออันตรายร้ายแรงกับตัวเราได้

ข้อมูล  มูลนิธิหมอชาวบ้าน อ้างอิงที่มาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น