วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รางวัลโนเบล

สาขาฟิสิกส์ ประจำปี ๒๐๑๗ ตกเป็นของนักวิจัยชาวอเมริกัน ๓ คนที่เป็นผู้บุกเบิกความรู้และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าคลื่นดังกล่าวมีอยู่จริงตามการอธิบายด้วยหลักทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  นักวิจัยได้พยายามค้นหาข้อพิสูจน์มานานหลายสิบปีและเพิ่งประสบความสำเร็จในเดือนกันยายน ๒๐๑๕  ตามการเปิดเผยเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคมที่ผ่านมาที่สต็อคโฮล์ม ผู้ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ Rainer Weiss ชาวเยอรมันโดยกำเนิด  Barry Barish และ Kip Thorne  ทั้งสามต่างก็มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งและดำเนินการหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง Ligo ที่สหรัฐอเมริกา  โดยนักฟิสิกส์ Weiss  เป็นผู้บุกเบิกคิดค้นและพัฒนาเทคนิคพื้นฐานที่ใช้ในการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงนับแต่ทศวรรษที่ ๗๐ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนและไม่เคยมีผู้ใดสามารถตรวจจับได้มาก่อน  ทำให้เขาได้รับเงินรางวัลครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด  ส่วนเงินรางวัลที่เหลือจะเป็นของ Barish ที่เป็นผู้ทำให้เทคโนโลยีสมบูรณ์แบบ และ Thorne ผู้อำนวยการคนที่สองของหอสังเกตการณ์ไลโกที่มีผลงานในการเลือกใช้และพัฒนาเทคโนโลยีของอุปกรณ์ตรวจจับคลื่น  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ครั้งนี้  ปัจจุบันหอสังเกตการณ์ไลโก ๒ แห่งที่สหรัฐอเมริกา และหอสังเกตการณ์ Virgo ที่สร้างขึ้นใหม่ที่ประเทศอิตาลีสามารถตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจากอวกาศได้หลายครั้งแล้ว  ทั้งนี้ นักวิจัยประสงค์จะใช้คลื่นความโน้มถ่วงเพื่อศึกษาจักรวาลให้มากยิ่งกว่าที่เคยมีมา 

สาขาเคมี  ตามการเปิดเผยเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคมที่ผ่านมา รางวัลโนเบลสาขาเคมีของปีนี้ตกเป็นของนักวิชาการ ๓ คน ได้แก่ Joachim Frank วัย ๗๗ ปีที่เป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด แต่ทำการวิจัยที่สหรัฐอเมริกา Jacques Dubochet วัย ๗๖ ปีชาวสวิส และ Richard Henderson ชาวสก็อต จากการพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนแบบแช่แข็งที่ทำให้สามารถจับภาพในขณะที่โมเลกุลของสิ่งมีชีวิตกำลังเกาะกลุ่มกันและสร้างภาพกระบวนการทางเคมีอันซับซ้อนขึ้นมาได้ ทำให้สามารถทำการวิจัยได้ดีขึ้น  ระหว่างปี ๑๙๗๕-๑๙๘๖ Frank ได้พัฒนาเทคนิคประมวลผลภาพสองมิติจากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนให้เป็นภาพโครงสร้างสามมิติได้  ในช่วงต้นทศวรรษที่ ๘๐ Dubochet ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบชีวโมเลกุลภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน  ด้วยการใช้น้ำที่เย็นตัวลงรวดเร็วเป็นพิเศษ  ทำให้ได้ชื่อว่ากล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน Kryo  ท้ายสุดในปี ๑๙๙๐ Henderson สามารถแสดงโครงสร้างสามมิติของโปรตีนที่มีความละเอียดอ่อนในระดับอะตอม

สาขาแพทยศาสตร์  รางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์ในปีนี้ตกเป็นของนักวิจัยชาวอเมริกันร่วมกันสามคนสำหรับการวิจัยการทำงานและการควบคุมนาฬิกาชีวิต  ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ Jeffrey C. Hall  วัย ๗๒ ปี Michael Rosbash วัย ๗๒ ปีที่มีบิดามารดาเป็นชาวเยอรมัน และ Michael Young วัย ๖๘ ปี  ตามการเปิดเผยของสถาบัน Karolinska เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคมที่ผ่านมา  โดยการค้นพบของทั้งสามเปิดเผย ว่าพืช สัตว์ และมนุษย์ปรับจังหวะชีวิตอย่างไรให้สอดคล้องกับจังหวะกลางวัน-กลางคืนของโลก  รางวัลที่สำคัญที่สุดสำหรับแพทย์ในปีนี้ประกอบด้วยเงินรางวัล ๙๓๐,๐๐๐ ยูโร (๙ ล้านสวีดิชโครน)  โดยผู้ได้รับรางวัลแบ่งเฉลี่ยเงินรางวัลคนละหนึ่งในสาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น