วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ค่ำคืนแห่งการต้องมนตรา


        เมื่อเย็นวันที่ ๒๔ พฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงาน "An Enchanted Thai Evening" ที่จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ นครแฟรงค์เฟิร์ต ณ โรงละครนานาชาติ แฟรงก์เฟิร์ต ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนรักเพื่อนซี้ที่มารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครแฟรงก์เฟิร์ต และนับเป็นหนึ่งในทีมประเทศไทย แรกเริ่มที่เพื่อนชวนมางานวัฒนธรรมไทยก็ยังสองจิตสองใจ มันคืออะไรงานวัฒนธรรมไทย ? ออกร้านขายอาหาร-ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ไทย ประกอบการแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่เคยเห็น ? แต่พอสอบถามแล้วได้ความว่ามีการแสดงโขนของกรมศิลปากรก็ไม่ต้องใช้ความคิดให้มากความ จัดไปสิเจ้าคะ รออะไร!!!
        เอาละมาถึงงานกันแล้ว ขณะรายงานตัวเจ้าหน้าที่ได้แจกแผ่นพับโปรแกรมงาน  ซึ่งมีการอธิบายคร่าว ๆ ถึงการแสดงที่จะมีในวันนั้น ได้แก่ โขนและระบำจากสี่ภาคของไทย อันนี้นับว่าดีมากทีเดียว เนื่องจากแขกรับเชิญนั้น อย่าว่าแต่ฝรั่งแขกจีนจาม แม้แต่ไทยแท้อย่างผู้เขียนเอง ก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงของไทยน้อยมาก ข้อมูลที่ได้อ่านช่วยได้มากในเรื่องของความเข้าใจเบื้องแรกว่าอะไรเป็นอะไร  ทำให้สามารถติดตามการแสดงได้อย่างสนุกสนาน ไม่ต้องมานั่งสนเท่ห์ว่านี่มันอะไรกันหนอ  นอกจากนั้น ก่อนเริ่มการแสดงยังมีการโหมโรงด้วยสไลด์เกี่ยวกับความเป็นมาของโขนและการฝึกสอนผู้แสดง  โรงละครนานาชาติแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้สามารถติดตามได้อย่างใกล้ชิด และระบบเสียงก็กระหึ่มชัดเจน  เข้าใจว่าแม้จะนั่งแถวหลัง ๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับการรับฟัง  ขนาดของเวทีเมื่อแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับนักดนตรีก็เหลือไม่มากนัก แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการละเล่นเลยแม้แต่น้อย ค่ำคืนของเราเริ่มขึ้นด้วยโฆษกขึ้นมากล่าวต้อนรับแขกและเชื้อเชิญกงสุลใหญ่ของเราขึ้นกล่าวเปิดงานสั้น ๆ ตามด้วยสไลด์ที่ว่าและเข้าเรื่องกันเลย เริ่มจากตอนที่นนทุกข์ได้รับนิ้วเพชรที่มีความพิเศษตรงที่ชี้ใครแล้วทำให้ถึงตายมาจากพระศิวะ แต่ใช้ไปทางที่ผิดฆ่าใครต่อใครไปหลายคน พระศิวะทรงกริ้วมาก เลยส่งพระวิษณุมาปราบ นนทุกข์หลงกลเผลอทำร้ายตัวเองจนบาดเจ็บจากนิ้วเพชร แต่ก็ยังไม่วายรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิบัติต่ออย่างไม่ยุติธรรม พระศิวะจึงทรงท้าให้นนทุกข์มาเกิดใหม่เป็นยักษ์ที่มีอำนาจมากมีถึงสองหน้ายี่สิบแขน  ตัวพระองค์เองจะอวตารมาเกิดเป็นคนธรรมดาเพื่อมาปราบยักษ์  ซึ่งต่อมานนทุกข์ได้มาเกิดใหม่เป็น "ทศกัณฐ์" กษัตริย์แห่งกรุงลงกา  ส่วนพระวิษณุอวตารเป็นพระราม เจ้าชายแห่งเมืองอโยธยา เรื่อยมาถึงตอนสีดาอ้อนให้พระรามไปตามจับกวางทองมาให้นางเลี้ยง  แม้พระลักษณ์จะห้ามปราบ แต่ด้วยความรักเมีย พระรามก็ออกตามกวางทอง (ปลอม) ไป ข้างสีดาที่รอท่าอยู่ในป่าได้ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไป ฉากถัดไปเป็นตอนที่พระรามบรรทมหลับอยู่ในป่า หนุมานมาเห็นเข้า ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาลิงก็เขย่าต้นไม้ไม่อยู่สุข จนพระลักษณ์ที่เฝ้าพระรามอยู่หมดความอดทนต้องลุกขึ้นมาหมายจะฆ่าหนุมาน แต่โดนหนุมานแย่งอาวุธไป  พระลักษณ์ต้องไปปลุกพระเชษฐาและทูลเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น  หนุมานเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นทหารรับใช้และอาสาจะพาพรรคพวกมาเป็นทหารด้วย ต่อมามีการรบกันระหว่างฝ่ายพระรามพระลักษณ์และพลลิงกับฝ่ายทศกัณฐ์พร้อมพลยักษ์  ก่อนที่พระรามจะได้ตัวสีดาคืนมา ฯลฯ เรียกว่าตลอดการแสดงหนึ่งชั่วโมงเต็มผู้เขียนนั่งนิ่ง ตาไม่กระพริบ แถมอยากมีลูกตามากกว่านี้จะได้แบ่งดูได้ทั่วถึง มิเช่นนั้นมัวจ้องพระรามก็เห็นพระลักษณ์น้อยไป ถ้ามัวใส่ใจเครื่องแต่งกายก็พลาดสีหน้าอากัปกิริยาหรือท่าเต้น  ตอนที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับระหว่างการสู้รบและพระรามขึ้นเหยียบทศกัณฐ์ได้รับเสียงฮือฮาจากผู้ชมเป็นอันมาก หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปกันรัว ๆ ขนาดว่าเราเป็นคนไทยที่เคยดูโขนมาแล้วหลายต่อหลายครั้งก็ยังตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ดูใกล้ชิดแทบจะติดขอบเวที กระทืบเท้ากันแต่ละทีนี่คือสนั่นลั่นโลกค่า (เพิ่งซึ้งถึงคำเปรียบเปรยนี้ บอกจริง)









        หลังจบโขนด้วยความชื่นชมโสมนัสก็มีการหยุดพักให้ผู้ชมกินน้ำ เข้าห้องน้ำ ยืดแข้งยืดขา ก่อนกลับเข้าไปดูการแสดงระบำสี่ภาค ที่เริ่มด้วยวิดีทัศน์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำสถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละภาคของไทยที่ทำได้ดีมาก  ภาพสวยสดและต้องสารภาพว่าหลายต่อหลายที่ไม่รู้จักไม่เคยเห็น แต่อาจเป็นได้ว่าผู้เขียนเฟอะฟะไปเองด้วยเป็นคนกรุงเทพมาแต่เกิด สมัยอยู่เมืองไทยก็ไม่ใช่นักเที่ยวและช่วงที่มาอยู่เยอรมันแล้วก็มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จบสไลด์ก็เริ่มรำชุดแรกจากภาคเหนือ เป็นรำโคม/ดอกไม้แบบล้านนา  ในแผ่นพับอธิบายว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) และคิดค้นขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสันติสุขและความเจริญมั่งคั่งในพื้นที่  ต่อมาเป็นการแสดงรำโนราห์และซัดชาตรีของภาคใต้ ว้าย ๆ พระรามพระลักษณ์ของเรากลายมาเป็นนักรำซัดชาตรี มือไม้ช่างอ่อนจริง ๆ พ่อเจ้าประคุณ ส่วนนักแสดงหญิงนั้นไม่ต้องพูดถึง  แต่ละคนหน้าตาจิ้มลิ้ม รำไปยิ้มหวานไป งานนี้ต้องมีผู้ชมชายตกหลุมรักสาวไทยเข้าสักคนสองคนเป็นแน่  ในแผ่นพับอธิบายถึงรำโนราห์ว่าเป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ที่สะท้อนถึงการเต้นเคลื่อนไหวตัวของ "กินนรี" (สัตว์แสนสวยในเทพนิยาย ครึ่งนกครึ่งสตรี)  ส่วนรำซัดชาตรีประดิษฐ์คิดค้นโดยกองประณีตศิลป์จากการดัดแปลงท่ารำของละครชาตรี มีความคล้ายกับระบำโนราห์  แต่มีชีวิตชีวามากกว่าและผู้รำประกอบด้วยทั้งหญิงและชาย  ชุดต่อไปเป็นการแสดงจากภาคกลาง โดยเป็นการต่อสู้ที่แสดงศิลปะการต่อสู้เก่าแก่ของไทย ผู้แสดงรายหนึ่งใช้ไม้พลองต่อสู้กับผู้แสดงอีกท่านที่ใช้มือเปล่า คำอธิบายระบุว่าเป็นหนึ่งในการต่อสู้แบบไทยที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่ชายฉกรรจ์เพื่อป้องกันตัว ชุดนี้ได้หัวเราะกันพอหอมปากหอมคอสลับกับการวี้ดว้ายหวาดเสียวเอาใจช่วยผู้แสดงทั้งสองท่านที่คล่องแคล่วว่องไว กระโดดตีลังกา คุ้น ๆ ว่าน่าจะเป็นผู้แสดงท่านเดียวกับหนุมานหรือพลลิงคนในคนหนึ่งก่อนหน้านี้ เสร็จจากการต่อสู้ก็ตามมาติด ๆ ด้วยการรำฉิ่งฉับ ฉิ่งฉับส่งเสียงเร้าใจมาก ฟังกันเพลินไปทีเดียวจนการแสดงจบไปไม่รู้ตัว
        เหลืออีกหนึ่งภาคคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดตัวด้วยการรำ "ภูไท"  ข้อมูลตามแผ่นพับคือเป็นการแทนบุคลิกท้องถิ่นและลักษณะการใช้ชีวิตของชาวภูไทที่เป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  อุ๊ย พระรามพระลักษณ์กลายมาเป็นชาวภูไทไปได้อย่างไรในชั่วไม่กี่นาที  อเมซิ่งจริง ๆ พี่น้อง ชุดนี้ผู้แสดงใส่ชุดม่อฮ่อมสะพายย่าม คนภูไทคงเป็นชาวบ้านที่มีความสุข เพราะเต้นไปยิ้มหัวเราะกันไปจนคนดูพลอยสนุกตามไปแบบอดใจไม่อยู่ จบชุดนี้ตามด้วย "รำกะลา"  ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยการผสมผสานกะลามะพร้าวกับท่ารำที่สนุกสนานร่าเริงบันเทิงใจสะท้อนการใช้ชีวิตของคนชนบท จบการแสดงด้วยการที่ผู้แสดงถือธงชาติไทยและเยอรมันออกมาร่ายรำสื่อถึงความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันที่เน้นเฟ้นมาหลายสิบปี ก่อนปิดงานด้วยการมอบช่อดอกไม้ให้กับคณะนักแสดงจากกรมศิลปากรและเชื้อเชิญทีมประเทศไทยและตัวแทนฝ่ายเยอรมันขึ้นไปถ่ายรูปร่วมกับคณะนักแสดงนักดนตรีและผู้เกี่ยวข้อง
        คนดูอย่างผู้เขียนก็นั่งยิ้มจนเมื่อยแก้ม เสียดายมากที่ไม่มีการแถม แต่แค่นี้นักแสดงก็คงเหนื่อยน่าดู เนื่องจากแต่ละคนไม่ได้แสดงกันคนละชุดเดียว  หากต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าภายในเวลาอันรวดเร็วเพื่อสลับสับเปลี่ยนกันมาร่ายรำชุดแล้วชุดเล่า จึงขอชื่นชมคณะนักแสดงจากใจจริงที่แสดงความเป็นมืออาชีพด้วยการแย้มยิ้มตลอดเวลา ทำให้ผู้ชมสนุกสนานตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมง ไม่เคยเบื่อเลยแม้แต่วินาทีเดียว และที่ลืมไม่ได้ก็คือทีมไทยแลนด์ของเรานี่เองที่ทำให้เกิดค่ำคืนที่ดื่มด่ำดั่งตรงมนตราสมชื่องานจริง ๆ Bravo !!! Encore !!!

โดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น