วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ไปตรวจดวงตากันเถอะ


         เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศไทยอย่างกระทันหัน ไม่มีการวางแผนมาก่อน เนื่องจากญาติ ๆ พากันเดินทางจากต่างทวีปทั่วโลกมายังเมืองไทยในช่วงเวลาเดียวกัน  ซึ่งเป็นเรื่องไม่ธรรมดาของครอบครัวเรา ปกติจะสวนทางกันตลอด ทุกคนจึงมีความเห็นว่าผู้เขียนควรไปรวมญาติด้วย เพื่อให้พร้อมหน้าพร้อมตา เพราะโอกาสอย่างนี้คงไม่มีบ่อย หลังจากลังเลตัดสินใจไม่ตกอยู่หลายวัน เพราะตั้งใจจะเดินทางไปเดือนเมษายนปีหน้าอยู่แล้ว ในที่สุดไม่อยากถูกตราหน้าว่าเล่นตัว จึงจองตั๋วในวันศุกร์และเดินทางในวันพฤหัสถัดมา โดยการเดินทางจากดุสเซลดอร์ฟตรงไปเชียงใหม่ทีเดียว
         หลังการรวมญาติที่เชียงใหม่เสร็จเรียบร้อย และทุกคนแยกย้ายกันไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ผู้เขียนก็กลับมาบ้านที่กรุงเทพ ฯ และคิดว่าควรใช้เวลาที่เหลือหนึ่งอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ โดยการไปหาหมอตรวจต้อดีกว่า (การตรวจต้อที่ประเทศเยอรมัน บริษัทประกันสุขภาพจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่าย) แต่เนื่องจากเดินทางกระทันหัน จึงไม่ได้นัดไว้ล่วงหน้า คิดว่าโอกาสที่จะได้ตรวจโดยการเดินเข้าไปเฉย ๆ ทั้งคลินิกปกติและคลินิกนอกเวลาของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เป็นคนไข้อยู่น่าจะพอ ๆ กับศูนย์ ดีที่ว่าพี่สาวไปพบเข้าโดยบังเอิญว่าที่โรงพยาบาลปอดเดิมบนถนนพหลโยธินเยื้องสถานีโรงพักบางซื่อขณะนี้มีโรงพยาบาลมาเปิดใหม่ในชื่อว่าโรงพยาบาลประสานมิตร  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง ซึ่งรวมถึงคลินิกตาด้วย นัยว่าคนไม่ค่อยเยอะ ไปสาย ๆ ก็ได้  ช่างเหมาะเหม็งอะไรเช่นนี้ ในวันว่างวันหนึ่งผู้เขียนจึงเดินโต๋เต๋ไปถึงโรงพยาบาลในเวลา ๗.๓๐ น. ได้บัตรนัดหมายเลข ๖ แต่ผู้ป่วยนอกจะต้องรอทำทะเบียนประวัติก่อน  โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มงานในเวลา ๘ นาฬิกา  นั่งอ่านหนังสือที่ติดมือไปด้วยไม่นานนักก็ได้เรียกกรอกประวัติ ที่ผู้เขียนเห็นว่าแปลก คือการถามชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์ญาติในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อคนไข้ได้ เอ๊ะ แบบนี้ก็มีเหรอ เอาก็เอา หลังจากได้แฟ้มแล้วก็เดินไปยื่นที่คลินิกตา อุแม่เจ้า ชั่วเวลาเพียงไม่กี่สิบนาทีทำไมคนนั่งรอกันเต็มห้อง คงเป็นคนไข้เก่าที่นัดไว้แล้วล่วงหน้า พยาบาลคงเห็นผู้เขียนทำหน้านิ่ว จึงชี้แจงว่าวันนี้คนไข้มากเป็นพิเศษ ฮืม์ แปลว่าเราแจ็คพ็อตสินะ ไม่เป็นไร มีหนังสืออ่านเสียอย่าง แต่แปลกใจที่ว่าทำไมคนเขาจึงมากันเป็นคู่ ๆ ไอ้ที่เห็นเต็มห้องนั่นเป็นญาติคนไข้เสียครึ่งหนึ่งได้  ไม่นานก็ได้รับการเรียกตรวจ คุณหมอเป็นแพทย์สาวสวย พูดจาดี ซักถามความต้องการของคนไข้อย่างใจเย็น เมื่อชี้แจงว่าอยากตรวจต้อ เพราะตนเองนั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แม่เป็น พี่เป็น สายตาสั้นมากและส.ว.แล้ว หนสุดท้ายที่ตรวจก็หลายปีมาแล้ว คุณหมอก็ว่างั้นควรตรวจขยายม่านตาด้วย แต่พอหยอดยาแล้วตาจะพร่ามัวไปหกชั่วโมง จึงควรมีญาติมาด้วยเพื่อจูงกลับบ้าน  อ้อ นี่เองคือเหตุที่ว่าทำไมจึงมากันเป็นคู่ แต่คุณหมอขา วันธรรมดาอย่างนี้ใครเขาก็ทำงานกันหมด กว่าจะตามตัวมาได้ไม่ไหวนะค้า พยาบาลจึงช่วยตัดสินใจให้ ว่างั้นก็นั่งแท็กซีกลับบ้านแล้วกัน เป็นอันตกลงตามนั้น
         การตรวจมีทั้งตรวจวัดสายตาหรือความสามารถในการมองเห็น การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ตรวจเลนส์ตาซ้าย-ขวาและการหยอดตาเพื่อขยายม่านตา โห ท่านผู้ชม อันนี้แหละตัวแสบเลย พอยาไปกระทบกับลูกนัยน์ตาเท่านั้น ผู้เขียนก็หลับตาปี๋โดยอัตโนมัติ ทำยังไงก็ลืมไม่ขึ้น ไม่ว่าน้องพยาบาลจะอดทนพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ลืมตาให้หน่อย กี่ครั้งกี่หน จนในที่สุดเธอต้องเอายาชามาหยอดให้จึงค่อยยังชั่วขึ้น ทนรับการหยอดตาครั้งต่อ ๆ ไปได้ แต่สักพักพอยาออกฤทธิ์อาการตาพร่าเริ่มปรากฎ หนังสือหนังหาเป็นอันว่าไม่ต้องอ่านกันละ ตอนคุณหมอเรียกไปฟังคำวินิจฉัยก็ต้องค่อยคลำทางไปโดยมีน้องพยาบาลคอยประคอง  ผลการตรวจพบว่าเริ่มมีอาการต้อกระจก  ซึ่งเป็นอาการเสื่อมของตาตามวัย คุณหมอเปรียบเทียบกับผมที่หงอกหรือผิวพรรณที่เหี่ยวมีริ้วรอยเมื่อวัยสูงขึ้น  เมื่อสอบถามว่ามียาช่วยรักษาหรือชะลออาการไหม หรือทำอย่างไรให้อาการเสื่อมลดน้อยลง  คุณหมอว่ามียาหยอดตา แต่ตามจริงแล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร อ้าว สรุปแล้วคือปล่อยไปตามนี้จนกว่าจะเป็นมากจนสามารถผ่าตัดลอกได้  ซึ่งระยะเวลาก็แตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย บางรายอาจต้องผ่าตัดตั้งแต่เพิ่งเริ่ม ๕๐ บางรายก็ ๗๐ กว่าไปแล้ว จึงควรตรวจสายตาทุกปี ปีละ ๑-๒ ครั้ง ผู้เขียนจะเดินทางไปเมืองไทยในอีก ๖ เดือนข้างหน้าอยู่แล้ว จึงขอนัดไว้เลย
         กลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับต้อกระจกอ่านเพิ่มเติมจากหลาย ๆ เว็บ  สรุปได้ว่าต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัว  ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ  ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัว  สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นหรือนิวเคลียสแข็งขึ้น  ความเปลี่ยนแปลงนี้สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น  มักพบมากในผู้มีวัยตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไปหรือมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ อาการ คือ รู้สึกว่าตามัวคล้ายมองผ่านหมอก  เห็นภาพซ้อนหรือมัว เห็นแสงกระจายขณะขับรถตอนกลางคืน สังเกตเห็นต้อสีขาวตรงรูม่านตา บางคนอาจต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย  แต่หลังต้อกระจกเป็นมากขึ้น การเปลี่ยนแว่นจะไม่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก ได้แก่
-   ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต
-   มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน
-    ดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องและปริมาณมาก
-     สูบบุหรี่
-   ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน และยาลดไขมันบางชนิด
-   เคยได้รับบาดเจ็บ ผ่าตัดหรือมีการติดเชื้อบริเวณตา
-   มีประวัติครอบครัวเป็นต้อกระจก

การรักษา  ในช่วงแรกของการเป็นต้อกระจกการเปลี่ยนแว่นหรือใช้ยาหยอดตาสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง (Phacoemulsification) และการใช้เลนส์เทียม

การป้องกัน 
-  สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
-   พักสายตาเมื่อต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
-    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี  เพื่อช่วยบำรุงสายตา
-    พักผ่อนให้เพียงพอ
-    ตรวจสายตาเป็นประจำทุกปี  โดยเฉพาะผู้มีวัยตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป
ด้วยเหตุนี้จึงอยากชักชวนแฟนอ่าน “ชาวไทย” ทุกท่านที่มีวัย ๔๐ ปีขึ้นไปไปตรวจนัยน์ตากันทุกปีแม้ว่าจะไม่มีปัญหาอะไร  ถือเป็นการตรวจตามเกณฑ์อายุในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติตามแต่ที่สะดวก ไม่ว่าที่ประเทศเยอรมันหรือที่ประเทศไทยก็ตาม  เนื่องจากนัยน์ตาเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของคนเรา  จึงสมควรทะนุถนอมกันไว้ให้ดี เพื่อให้สามารถใช้งานได้ไปตลอดอายุขัย เอ๊ะ ฟังดูน่ากลัวไปไหมเนี่ย แต่ก็ตามนั้นแหละจร้า

เรียบเรียง“เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น