วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

โรคปอดบวมอู่ฮั่น


          โรคปอดบวมอู่ฮั่นเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  ซึ่งไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสใหม่ที่ไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน  ดังนั้น ทุกคนในโลกก็มีโอกาสจะติดเชื้อโรคได้เท่าเทียมกัน  ไวรัสตัวนี้อยู่ในกลุ่มโคโรนาที่พบได้ในสัตว์เกือบทุกชนิด และมันมีการข้ามกันไปมาระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์กับคน  โรคปอดบวมอู่ฮั่นนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุเกิน ๖๕ ปี  ประมาณครึ่งหนึ่งมีอายุเกิน ๘๐ ปี  ผู้เสียชีวิตมักมีโรคอื่นร่วมด้วย  จึงทำให้เสียชีวิตง่ายขึ้น  เทียบกับโรค SARS และโรค MERS อยู่ในกลุ่มไวรัสเดียวกัน คือ ไวรัสโคโรนา  แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคทั้งสองชนิดมาก  MERS มีอัตราการเสียชีวิต ๓๐%  SARS มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ ๑๐%  แต่โรคปอดบวมอู่ฮั่นอยู่ที่ ๒-๓%  แต่สันนิษฐานว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริง  เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย  ผู้ป่วยควรใส่หน้ากากอนามัย  หากผู้ป่วยไอหรือจามแล้วใส่หน้ากาก  จะลดการแพร่กระจายของโรคไปได้ ๙๐%  แต่หน้ากากต้องใส่ให้สนิท ไม่มีลมรั่วไหลอยู่ข้าง ๆ เลย  การหายใจต้องผ่านหน้ากากอนามัยเท่านั้น  ซึ่งทำให้หายใจลำบากมาก  แต่ถ้าใช้แบบมีลมรั่วหรือใส่แล้วห้อยก็ไม่ต่างกับการใช้หน้ากากอนามัยชนิดที่คาด  การเดินสวนกันไปมาไม่ทำให้ติดโรค  การติดต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น ไอใส่หน้าหรือไออยู่ใกล้ ๆ  แล้วละอองเสมหะมาสัมผัสเราหรือละอองเสมหะไปตกอยู่ตามโต๊ะ หรือที่ต่างๆ  ที่เราเอามือไปจับ  แล้วไม่ได้ล้างมือ  แล้วมาโดนหน้าตา  มันก็จะทำให้เกิดติดโรคขึ้นมาได้  แนวทางป้องกันโรคสามารถทำได้ทันที โดย
๑.              หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ
๒.             ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชูหรือต้นแขนด้านใน
๓.             หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจหรืออาการคล้ายไข้หวัด
๔.             ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ให้สุกด้วยความร้อน
๕.             สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ป่ามีชีวิตหรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม
ทั้งหมดนี้จะช่วยลดหนักให้เป็นเบา  วัคซีนที่จะใช้ในคน จะใช้เวลาวิจัยและผลิตนานนับเป็นปี  เพราะฉะนั้นในระยะเวลาอันใกล้จึงคงจะยังเป็นไปไม่ได้ที่จะมีวัคซีน

ข้อมูล  ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น