วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สี่ตัวร้ายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทุกวันนี้คนเราดูจะให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยกันมาก ไม่ว่าสื่อประเภทใด โทรทัศน์ วิทยุหรือสิ่งตีพิมพ์ประเภทต่าง ๆ จะมีรายการและคอลัมน์ที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เสมอ แม้แต่คนที่ไม่สนใจที่สุดก็คงไม่วายต้องเคยได้ยินได้ฟังผ่านหูผ่านตามาบ้าง  บางเรื่องผู้เชี่ยวชาญก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน  บางเรื่องก็ยังทำการศึกษากันอยู่  แต่ที่เห็นพ้องต้องกันมานานแล้วคือสี่ตัวร้ายที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่แท้  ฮั่นแน่ มีใครทายได้ไหมว่าคืออะไร
ตัวร้ายหมายเลข ๑ คือ ไขมัน
คนที่กินไขมันสูงมีความเสี่ยงว่าจะทำลายตับ  เนื่องจากไขมันสามารถสะสมตัวในตับ  มูลนิธิตับเยอรมันชี้แจงว่าจะนำไปสู่ Fettleber  ซึ่งสามารถติดเชื้อได้  เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองมี Fettleber  มูลนิธิตับจึงแนะนำการตรวจค่าตับเป็นประจำกับแพทย์ประจำบ้าน  โรคตับจำนวนมากหากไม่รักษาสามารถนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งของเซลล์ตับได้  แต่ตับที่เต็มไปด้วยไขมันก็เรื่องหนึ่ง  การกินตัวร้ายหมายเลขหนึ่งมากเกินไปทำให้น้ำหนักเกิน  ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภัยจำนวนมาก รวมถึงโรคหัวใจ การหมุนเวียนของโลหิต  นิตยสาร “Neue Apotheken Illustrierte“ บ่งชี้ว่าสัดส่วนไขมันส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ๓๑% มาจากเนย มาร์การีนและน้ำมัน สินค้าเนื้อสัตว์ตามมาในอันดับ ๒ ด้วยจำนวน ๓๐%  ผลิตภัณฑ์นมอันดับ ๓ ด้วยจำนวน ๑๔%
แต่การประกาศว่าไขมันเป็นสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้อง  สมาคมเพื่อการบริโภคเยอรมัน (DGE) ชี้แจงว่ากรดไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย  นอกจากนั้น อาหารที่มีไขมันประกอบด้วยวิตามินที่จะละลายไขมัน  จึงเป็นเรื่องดีที่จะกินกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น จากไขมันพืชและปลา  นอกจากนั้น การบริโภคไขมันพืชแทนไขมันสัตว์ เช่น ในไส้กรอกและเนย ส่งผลทางบวกต่อค่าโคเรสโตรอล  ซึ่งควรจะต่ำเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับเส้นเลือดแตก  ตามข้อมูลของ DGE รวมทั้งสิ้นไขมัน ๖๐-๘๐ กรัมต่อวันเพียงพอแล้ว
ตัวร้ายหมายเลข ๒ น้ำตาล
น้ำตาลและแป้งจัดอยู่ในคาร์โบไฮเดรต  ซึ่งจำเป็นสำหรับร่างกายในฐานะตัวให้พลังงาน  อย่างไรก็ดี การกินมากเกินไปก็ทำให้น้ำหนักเกิน  ที่น่ากังขาเป็นพิเศษคือเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยน้ำตาล  เนื่องจากนอกเหนือจากน้ำตาล ที่พบได้บ่อย ไม่ได้ประกอบด้วยสารอาหารอื่น ๆ ทำให้ส่งเสริมให้น้ำหนักเกินและเพิ่มความเสี่ยงสำหรับเบาหวานประเภทสอง ตามข้อบ่งชี้ของศูนย์ผู้บริโภคแคว้นนอร์ดไรน์-เวสฟาเลนในเอกสารให้คำแนะนำ “Achtung Zucker!“ แม้ว่าคาร์โบไฮเดรตจะจำเป็นสำหรับร่างกาย  แต่น้ำตาลไม่ใช่  ดังนั้นจึงสมควรหลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือตัวให้ความหวานอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้ง ไซรัป ฯลฯ  การประหยัดน้ำตาลทำได้โดยการกินผลไม้สดแทนผลไม้กระป๋อง  แทนที่จะดื่มผงโกโก้ที่ผสมพร้อมดื่มก็ดื่มผงโกโก้แท้กับนม และโยเกิร์ตผลไม้ที่ทำเองก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าโยเกิร์ตผลไม้ที่ซื้อมา  โดยสามารถลดน้ำตาลได้ถึง ๗๐%  ผู้ที่ประสงค์จะระมัดระวังปริมาณน้ำตาลให้ดูที่ตารางคุณค่าอาหาร  ผู้ที่ดูเพียงรายการส่วนประกอบมักพบว่ามีปัญหา  เนื่องจากนอกเหนือจาก “น้ำตาล”  ทั้งน้ำตาลจากนมและผลไม้ก็มีส่วนในปริมาณน้ำตาลด้วยเช่นเดียวกับสารให้ความหวาน  ทั้งที่ไม่มีคำว่าน้ำตาลอยู่ในชื่อ ตัวอย่างเช่น  Dextrose, Dicksaft, Fruktose, Glukose หรือ Saccharose และส่วนประกอบ เช่น ผลไม้แห้ง ช็อคโกแลตไว้โรยหน้าหรือผลไม้สดก็เพิ่มปริมาณน้ำตาล
การกินน้ำตาลมากเกินไปยังไม่ดีต่อฟัน  ตามข้อมูลของสมาคมการรักษาฟันเยอรมัน (DGZ) การศึกษายืนยันว่ามีความเกี่ยวพันระหว่างปริมาณและความบ่อยของการกินน้ำตาลกับการเกิดขึ้นของโรคฟันผุ  DGZ จึงแนะนำว่าให้จำกัดการกินอาหารและเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยน้ำตาลและลดความบ่อยของการกินอาหารระหว่างมื้อและเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยน้ำตาลด้วย  นอกจากนั้น การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุลงด้วย  องค์การอนามัยโลกแนะนำผู้ใหญ่ไม่ให้กินน้ำตาลมากกว่า ๕๐ ถึงสูงสุด ๖๐ กรัมต่อวัน
ตัวร้ายหมายเลข ๓ ได้แก่ เกลือ
เกลือมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับเส้นโลหิตในสมองแตก  ตามข้อมูลของ  ที่ถูกสุขลักษณะคือการกินเกลือวันละ ๓-๖ กรัม  หรือเท่ากับราว ๑ ช้อนชา  ตามจริงประชาชนในประเทศเยอรมันกินเกลือเฉลี่ยวันละ ๙.๕ กรัม  สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาเยอรมัน (BDN) ที่ Krefeld ชี้แจ้งว่าในการกินเกลือวันละ ๑๐ แทน ๕ กรัม ความเสี่ยงของเส้นโลหิตแตกในระยะยาวเพิ่มขึ้นเกือบ ๑ ใน ๔  แต่ไม่ควรละเว้นเกลือโดยสิ้นเชิง  เนื่องจากเกลือมีความสำคัญมากสำหรับร่างกาย  โดยโซเดียม (ภาษาเยอรมันเรียกว่า Natrium) ที่ประกอบอยู่ในเกลือช่วยปกป้องเซลล์จากการขาดน้ำ  นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่กำกับปริมาณน้ำ การดูดซึมสารอาหารและการไหลเวียนของโลหิต  เพื่อควบคุมปริมาณเกลือ ผู้บริโภคควรงดเว้นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจะดีที่สุด  ผู้ที่ทำอาหารเองจะรู้ว่ามีเกลืออยู่ในอาหารเท่าใด  ที่ดีด้วยก็คือการเติมเกลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  ทางเลือกสำหรับรสชาติสามารถใช้สมุนไพร พริกไทยหรือพริก
ตัวร้ายหมายเลข ๔ คือ แอลกอฮอล์
การบริโภคแอลกอฮอล์จะเกี่ยวข้องกับตับเช่นเดียวกับตัวร้ายหมายเลข ๑  ตามข้อมูลของ DGE การบริโภคแอลกอฮอล์เป็นประจำสม่ำเสมอมีอิทธิพลต่อกล้ามเนื้อ ทำลายประสาทและอวัยวะ  นอกเหนือจากตับ ก็เช่น ตับอ่อน และส่งเสริมให้มีน้ำหนักเกิน รวมทั้งปัญหาทางจิตและโรคมะเร็ง  ตามคำอ้างอิงสำหรับการกินสารอาหาร ขณะนี้ ๒๐ กรัมแอลกอฮอล์สำหรับบุรุษที่สุขภาพดีและ ๑๐ กรัมต่อวันสำหรับสตรีที่สุขภาพดี ถือว่าเป็นปริมาณที่รับได้  อย่างไรก็ดี ไม่ได้เป็นข้อแนะนำให้ดื่มมากขนาดนี้ทุกวัน
การเสพแอลกอฮอล์ของผู้ปกครองส่งผลต่อลูก ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น หากเด็กเรียนรู้ว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มสำหรับช่วงเย็นและในเวลาว่าง  ภายหลังเด็กก็จะรับธรรมเนียมนี้ไปปฏิบัติต่อไป  ที่เป็นปัญหาเป็นพิเศษ คือ หากผู้ปกครองหันหาแอลกอฮอล์ยามที่เครียดและใช้เบียร์หรือไวน์เป็นเครื่องมือผ่อนคลาย  ทั้งนี้เป็นการระบุของสมาคมอาชีพจิตวิทยาเด็กและเยาวชน
ผู้เขียนเคยใช้ความคิดอยู่หลายครั้ง  ว่าคนเราต้องยอมสละทุกอย่างที่รสชาติอร่อยเพื่อการมีสุขภาพที่ดีหรือ?  ไขมันก็เป็นตัวทำให้เกิดรสชาติ ถ้าไม่ใส่เกลืออาหารก็จืดชืด  ชากาแฟที่ไม่ใส่น้ำตาลก็ขมไม่อร่อย  แต่ก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าไม่ต้องทรมานทรกรรมตัวเองถึงกับหยุดกิน  เพียงแต่ระมัดระวังอย่ากินให้เกินขอบเขตที่ควร  แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว  ยิ่งถ้าออกกำลังกายร่วมด้วยก็จะยิ่งเยี่ยม  แต่ข้อหลังนี่ดูจะยากเสียกว่าการงดกินขนมเสียอีกนะนา!


น้ำมันจากมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ดีที่สุด

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล  Aacherner Zeitung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น