วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มโนสาเร่ (๑) : ๔๐ รอบปี มิตรไมตรีไทย-จีน

เอกอัครราชทูต วิญญู  แจ่มขำ
                                                      

หยวน  สุ่ย  หนาน  จิ้วจิ้นหั่ว               น้ำไกล  ไม่อาจดับไฟที่กำลังลุก
หย่วน  ชิน  ปู้หยูจิ้น  หลิน                  เพื่อนใกล้ ช่วยคลายทุกข์เร็วกว่าญาติที่ห่างเหิน


                   เมื่อนโยบายโดดเดี่ยวสาธารณรัฐประชาชนจีนของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรประสบความล้มเหลว  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ได้ก้าวขึ้นสู่เวทีการเมืองของโลกอย่างเต็มที่  หลายฝ่ายมองบทบาทใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีต่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร  เหตุผลก็คือ แต่ไหนแต่ไรมา สาธารณรัฐประชาชนจีนเคยโจมตีจักรวรรดิ์นิยมอเมริกาและพันธมิตรอย่างเผ็ดร้อน และอย่างไม่ลดวาราศอก
ท่าทีใหม่นี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน  สื่อมวลชนบางแห่งเรียกท่าทีนี้ว่าเป็นนโยบายอ่อนข้อและว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มตระหนักถึงความจริงที่ควรเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศ
ฝ่ายทุนนิยม  บางฝ่ายก็ย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่สาธารณรัฐประชาชนจีนขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต  เมื่อปี ๒๕๐๓ ติดตามด้วยการโต้แย้งเรื่องอุดมการณ์และการพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างกันแล้วก็ตัดสินว่าไมตรีจิตที่สาธารณรัฐประชาชนจีนทอดให้แก่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร เป็นผลจากความหวาดกลัวอิทธิพลรุกรานของสหภาพโซเวียตในครั้งกระนั้นเป็นสำคัญ  หรือไม่ก็เพื่อแข่งขันกับสหภาพโซเวียตเข้าแทนที่ช่องว่างแห่งอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปแล้ว

ความจริง  นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคนั้นได้รับการกำหนดไว้ก่อนนานแล้ว  กล่าวคือ ทางด้านหลักการและเป้าหมาย นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนอุทิศให้แก่ “สากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพ”  ปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุ  “สามัคคีกับประชาชนและประชาชาติที่ถูกกดขี่ทั่วโลก….. จัดตั้งเป็นแนวร่วมอย่างกว้างขวาง เพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดิ์นิยม  ลัทธิล่าอาณานิคมและลัทธิล่าเมืองขึ้นแบบใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้าของอภิมหาประเทศสหรัฐอเมริกา และสังคมจักรวรรดิ์นิยมสหภาพโซเวียต”
แนวนโยบายนี้ชี้ให้เห็นว่า  ทางด้านหลักการ  สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ของลัทธิม้าร์กซ- เลนิน อย่างแข็งขัน  แต่วิธีการที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้น  ย่อมพลิกแพลง  ยืดหยุ่น  และหลากหลายรูปแบบ  สุดแล้วแต่เงื่อนไขทางภววิสัยและอัตวิสัย  คือแล้วแต่สถานการณ์ทั่วไป  ทั้งของโลกและของสาธารณรัฐประชาชนจีนเองในแต่ละช่วง  และแต่ละตอนเป็นเกณฑ์กำหนด
แม้สาธารณรัฐประชาชนจีนเคยเน้นอยู่เสมอว่า  “จักรวรรรดิ์นิยมทั้งปวง  ล้วนเป็นเสือกระดาษ”  แต่อีกด้านหนึ่ง  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่ประมาทว่า  “จักรวรรดิ์นิยมมีความดุร้าย…….
จักรวรรดิ์นิยมจะไม่มีวันวางดาบเพชฌฆาตของมันลงเองอย่างเด็ดขาด”  ถ้าเช่นนั้นประชาชนที่ปฏิวัติซึ่งมีแต่มือเปล่า ๆ จะชิงชัยชนะศัตรูที่ติดอาวุธตั้งแต่หัวจรดเท้าด้วยสงครามยืดเยื้อได้อย่างไร
สาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นว่า  การโค่นล้มจักรวรรดิ์นิยม เป็นภาระหน้าที่ร่วมกันทางประวัติศาสตร์ของประชาชนทั่วโลก เพราะ  “ในยุคที่จักรวรรดินิยมยังดำรงอยู่  เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนที่ปฏิวัติในแต่ละ
ประเทศจะมีชัยชำนะได้โดยปราศจากการช่วยเหลือรูปแบบต่าง ๆ จากพลังฝ่ายปฏิวัติทั่วโลก”  ในฐานะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศสังคมนิยม ต้องถือเป็นภาระหน้าที่สากล เลนินกล่าวว่า
“การเจรจาระหว่างประเทศฝ่ายปฏิวัติกับประเทศฝ่ายจักรวรรดิ์นิยม เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะลดความเสียหายที่จักรวรรดิ์นิยมอาจก่อขึ้น  ช่วยให้การจับและสังหารพวกเขา เป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น”
ในขณะที่เกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกากำลังเพลี่ยงพล้ำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นระยะเดียวกับที่สถานการณ์ภายในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสภาพเป็นปึกแผ่นระยะหนึ่ง เนื่องจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๒) ทั่วทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในขณะนั้นเป็นเอกภาพ
มีความมั่นคงทางการเมือง  และตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ เป็นต้นมา  เกียรติภูมิของสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคนั้น  เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธได้  ความมั่นคงภายในเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมรับมือ
สถานการณ์ทุกรูปแบบ  และเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเปลี่ยนท่าทีจากศัตรูมาเป็นมิตร  โดยหวังกอบกู้ชื่อเสียงและฐานะของตน  อีกทั้งหวังว่า  การสร้างสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะช่วยให้การถอนตัวออกจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นไปอย่างมีเกียรติที่สุด  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงไม่มีเหตุผลอื่นใด  ที่จะไม่รับไมตรีนั้น  ฉะนั้น  เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่อยู่ในฐานะที่พึ่งได้  รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จึงต้องหันไปคบค้าสาธารณรัฐประชาชนจีน  แม้ว่าเกลียดกล้วและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์ก็ตาม
สาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อทุกประเทศที่มีระบอบการปกครองไม่เหมือนของตน  จากพื้นฐานของระดับสองระดับที่แตกต่างกัน  แลดูขัดแย้งกัน  แต่ก็ปฏิบัติพร้อม ๆ กัน  นโยบายดังกล่าวมีอธิบายไว้ในบทนำของนิตยสารธงแดง (หง ฉี)  เมื่อปี ๒๕๐๓  เรื่อง “ลัทธิเลนินจงเจริญ” ว่า  “หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่าง ๆ และสงครามปฏิวัติของประชาชนในประเทศต่าง ๆ เป็น
เรื่องสองเรื่องที่แตกต่างกัน  ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน……………”การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  “การปฏิวัติ”  หมายถึงการโค่นล้มชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดโดยประชาชนภายในประเทศนั้น ๆ …”
“สาธารณรัฐประชาชนจีน  ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับทุกประเทศที่มีระบอบสังคมต่างกันตามหลักปัญจศีลา  ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด ๆ แต่โดยหลักการของสังคมนิยมนั้นต้องปลดเปลื้องการกดขี่ขูดรีดระหว่างคนกับคน  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงสนับสนุนและต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศและระบอบจักรวรรดิ์นิยมต่างประเทศ  สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่า  การปฏิวัติของประชาชนในแต่ละประเทศ เป็นกิจการภายในประเทศนั้น ๆ และการปฏิวัติไม่ใช่สินค้าที่จะนำเข้าหรือส่งออกได้  ถ้าไม่ใช่เป็นความต้องการของประชาชนเองแล้ว  ใครจะปลุกปั่นอย่างไรก็ไม่สำเร็จ แต่ถ้าประชาชนถูกกดขี่และต้องการปลดแอกแล้ว  เมื่อนั้น ถึงแม้จะไม่มีใครสนับสนุน   ประชาชนก็จะลุกขึ้นและต่อสู้จนถึงที่สุด”
คำอธิบายที่มีลักษณะคลุมเครือ  แบ่งรับแบ่งสู้เช่นนี้  คือสาธารณรับประชาชนจีนไม่ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อและสนับสนุนให้เกิดขบวนการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ เพราะการปฏิวัติไม่ใช่สินค้าส่งออก  แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่ปฏิเสธว่า  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความสนับสนุนขบวนการดังกล่าว
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ นั้น  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งบังเกิดจากหลักพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ส่วนความสัมพันธ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพึงมีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น  ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ทางชนชั้น  จากหลักการ “สากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพ”  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่า  การให้ความช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติของประชาชนในประเทศต่าง ๆ เป็นภาระหน้าที่ทางสากลก็ตาม  แต่การช่วยเหลือใด ๆ ต้องอยู่ภายในขอบเขตของการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น ๆ  กล่าวคือ  ปัญหาภายในประเทศใด  ก็เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องแก้ไขด้วยตนเอง  สาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
เป็นที่น่ายินดีที่หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว  สถานการณ์ของโลกและของภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  มิตรภาพระหว่าง ๒ ประเทศ ได้พัฒนาไม่หยุดยั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างกันหลายระดับ  ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ  การค้า  และการลงทุนเพิ่มพูนมากขึ้น  สมควรที่ชนรุ่นหลังจักรำลึกถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนซึ่งได้วางรากฐานมิตรภาพไทย – จีนยุคใหม่  ชั่วกาลนาน
ไท่  จง หยิ่ว  ยี่  ซื่อ สือเหนียน  ไหล  เหิน  ห่าว    มิตรภาพไทย -จีน ผ่านมา ๔๐ ปี ดีมาก
ซี  ว่าง  ไท่  จง  หยิ่ว  ยี่  หย่ง  ฉุน                 ขอมิตรภาพไทย – จีน  จงดำรงอยู่ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น