วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มารยาทดีที่ควรรู้

คนไทยมีคำบ่นว่าผู้ที่ทำตัวไร้มารยาทหรือไม่ถูกกาลเทศะว่า “ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน”  ผู้เขียนในฐานะที่เป็นแม่คนหนึ่งรู้สึกว่าช่างไม่ยุติธรรมเสียเลย  จะมีพ่อแม่สักกี่คนกันนะที่ไม่เคยอบรมสั่งสอนลูก  ทำไมไม่คิดบ้างว่าบุคคลนั้น ๆ อาจเป็นคนที่ดื้อด้าน “ลูกพ่อแม่สอนไม่จำ” ก็ได้  แต่ที่น่าสนใจคือไม่เพียงแต่เด็กไทยทุกวันนี้เท่านั้นที่มักถูกค่อนขอดว่ามารยาทแย่  จากการสอบถามของสถาบันวิจัยความคิดเห็น “You Gov“ ก็แสดงว่าชาวเยอรมันไม่มีมารยาทมากขึ้นทุกที  ทั้งที่การถือส้อมในมือซ้าย มีดในมืดขวา สละที่นั่งให้คนชรา ไม่ปิดประตูใส่หน้าผู้อื่น ตรงเวลา ฯลฯ ตามจริงเป็นกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติตนง่าย ๆ ที่ถือว่าสุภาพ ใคร ๆ ก็รู้จักและเห็นคุณค่า  แต่ได้รับการยึดถือน้อยลงทุกที  โดยเฉพาะรุ่นวัยอายุน้อย  กระนั้นก็ยังมีความหวัง  โดยศาสตราจารย์ Juergen Rekus นักการศึกษาจาก Karlsruhe เห็นว่ากฎเกณฑ์ประพฤติปฎิบัติตนเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
การทักทาย
เริ่มด้วยยศ ตามด้วยเพศ แล้วท้ายสุดวัย  ตามเกณฑ์นี้จะตัดสินว่าใครเป็นคนทักทายผู้ใด  ในทางปฏิบัติหมายความว่าพนักงานทักทายเจ้านาย ชายทักหญิง  และนักเรียนทักทายครู  แต่จะยิ่งยุ่งยากกว่านี้หากเป็นคำถามที่ว่าใครเป็นผู้ยื่นมือให้ใครจับก่อน  ตรงนี้จะกลับกัน คือ นายยื่นมือให้ลูกจ้าง สตรียื่นมือให้บุรุษ  และครูยื่นมือให้นักเรียน  ในกรณีที่แนะนำตัวในกลุ่มและต่างคนต่างทักข้ามกันไปมา  ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้รักษาความสงบและทำตามความรู้สึก  เนื่องจากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่บุคคลบางคนไม่ทำตามกฎเกณฑ์  ที่สำคัญคือแรงจับของมือ  Andrea Sabina Hahn จากบริษัทประกันสุขภาพ AOK ที่เป็นผู้ดำเนินการอบรมเรื่องมารยาทกล่าวว่าไม่มีใครอยากจับปลาตายและแสดงการจับมือแน่น  ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจในตนเอง
การพูดคุยในเรื่องเบา ๆ
หลังอุปสรรคแรกผ่านไปแล้วก็มาถึงข้อต่อไป คือ การพูดคุยในหัวข้อเบา ๆ หรือที่รู้จักกันในนาม “Small Talk“ ฟังดูว่าง่าย  เหมือนว่าจะคุยอะไรก็คุยไป  แต่ตามจริงแล้วก็ไม่ง่ายนัก  เพื่อไม่ให้เกิดอาการ “หน้าแตก”  มีบางเรื่องที่ควรละเว้น ได้แก่ การเมือง ศาสนา ความเจ็บไข้ได้ป่วย โศกนาฏกรรม และเงิน ๆ ทอง ๆ  ที่ดีกว่า ได้แก่หัวข้อเช่น การท่องเที่ยว เวลาว่าง การศึกษาหรือการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ และสภาพอากาศ  แนวคิด คือ เปิดกว้าง เป็นผู้ฟังที่ดี พูดแสดงความคิดเห็นบ้างและไม่พูดแทรกหากคู่สนทนากำลังเล่าเรื่องอยู่
การกินอาหารอย่างเป็นทางการ
ในการกินอาหารอย่างเป็นทางการทางธุรกิจ  บรรยากาศไม่ควรบีบคั้น  ธุรกิจจะพูดกันหลังอาหารและหากเจ้านายสั่งอาหารชุด  ก็ต้องรอจนกินอาหารหมดแล้ว  แม้ว่าตนเองจะกินเสร็จนานแล้วก็ตาม  ที่สำคัญคือเจ้าภาพเป็นผู้เริ่มต้นกินอาหาร  เมื่อทุกคนได้อาหารแล้วให้ลองชิมก่อนแล้วจึงเติมเครื่องปรุง  มิฉะนั้นจะเป็นการดูถูกดูแคลนผู้ประกอบอาหาร  สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ ลุกจากโต๊ะเมื่อมีเหตุผลสมควรเท่านั้น  จับแก้วที่ก้าน ไม่เช่นนั้นเครื่องดื่มจะอุ่น ยกแก้วขึ้นอวยพร  แต่ไม่ชนแก้ว  กินซุปจากด้านในออกด้านนอก และไม่เป่าแม้ว่าซุปจะยังร้อน  ไม่เอาส้อมบดมันฝรั่งและผสมกับซ้อส
เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายช่วยในเรื่องของความประทับใจแรกเริ่ม  หากเป็นการสัมภาษณ์งาน สำหรับบุรุษ ควรสวมสูท เชิ้ตสีสว่างและเนคไท  สีสูทควรเป็นสีน้ำเงินเข้ม  ซึ่งแสดงความน่าเชื่อถือ  สำหรับสตรี สามารถสวมสูทกับเสื้อสีสว่างเช่นกัน  เสื้อผ้าไม่ควรหันเหความสนใจจากความสามารถของผู้สวม  สำหรับสตรีหมายถึงไม่แต่งหน้าจัดและสวมเครื่องประดับเรียบ ๆ  บุรุษควรสวมถุงเท้าที่ไม่สะดุดตา  ที่ดีที่สุดคือถุงเท้าสีดำ  ไม่มีใครอยากเห็นถุงเท้าสีแสบเต็มไปด้วยลวดลาย
อ้า  รู้ไว้ก็ไม่เสียหลายเนอะ  แม้จะฟังดูเป็นมารยาทของสังคมฝรั่งเสียมากกว่า  แต่โลกเราทุกวันนี้แคบลงทุกที  ในยุคโลกาภิวัตน์อะไร ๆ ก็เป็นไปได้  แม้แต่มารยาทหลายอย่างก็เป็นสากล  อย่าให้ใครมาว่าได้ว่าเป็น “ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” ให้พ่อแม่ต้องสะดุ้งแปดกลับเล้ย …

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล  Aachener Zeitung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น