วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

๑ เมษายน วันเลิกทาส

         สังคมไทยนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ได้มีการแบ่งชนชั้นของประชาชนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเจ้านาย ขุนนาง ไพร่ รวมถึงเหล่าทาสที่แบ่งออกเป็น ๗ ประเภทด้วยกัน  ซึ่งตามบันทึกพบว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ นั้น  เมืองไทยมีผู้ที่ตกเป็นทาสมากกว่า ๑ ใน ๓ ของพลเมืองของประเทศ  เนื่องจากลูกของพ่อแม่ที่เป็นทาสจำต้องตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยและสืบทอดความเป็นทาสต่อกันไปเรื่อย ๆ เว้นเสียแต่จะหาเงินมาไถ่ตัวเองออกไปได้ 
แต่แล้วประเทศไทยก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพลิกโฉมโครงสร้างทางสังคมด้วยแผนการ “เลิกทาส”  เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากความล้าสมัยและเพื่อไม่ให้คนไทยกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง  อย่างไรก็ตาม พระประสงค์เลิกทาสให้เป็นไทนั้นจำต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อมิให้ซ้ำรอยสหรัฐอเมริกาที่เกิดสงครามกลางเมืองจากการเลิกทาส  โดยเริ่มจากดำเนินการสำรวจจำนวนทาสในปีพ.ศ. ๒๔๑๗  ซึ่งมีการสำรวจทั้งจำนวนของทาสในครอบครองของเจ้านายแต่ละคน ตลอดจนสำรวจระยะเวลาที่ทาสจะต้องตกเป็นทาส  จากนั้นในพ.ศ. ๒๔๑๗ จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย รวมทั้งทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสหลายฉบับออกบังคับใช้ในมณฑลต่าง ๆ ให้ลูกทาสเป็นไท  ประกาศประมวลกฎหมาย กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ซื้อขายทาส  ให้มีความผิดเช่นเดียวกับโจรปล้นทรัพย์  นอกจากนั้น ยังทรงบำเพ็ญกุศลด้วยการบริจาคพระราชทรัพย์ไถ่ถอนทาส  พร้อมพระราชทานที่ทำกินจนระบบทาสเริ่มหายไปจากสังคมไทย  พร้อมกันนั้นในระหว่างที่ทรงดำเนินการปลดปล่อยทาส ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการศึกษาตามแบบใหม่ควบคู่กันไป  เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถสำหรับนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

จนมาถึงแผนการขั้นสุดท้าย  นั่นก็คือการตรา “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. ๑๒๔”  ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๘  ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท  ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ยทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ ๔ บาท  นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีกและเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว  นั่นเป็นจุดสิ้นสุดระบบทาสของสังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น