วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เขตทรานสิท

        พรรค CDU/CSU และ SPD เห็นพ้องต้องกันว่าวิกฤติผู้ลี้ภัยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับคันโยกเพียงตัวเดียว  กระนั้น ก็ยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตทรานสิทใหม่หรือศูนย์เดินทางเข้าประเทศเหมือนอย่างกับว่าอวสานของวิกฤติขึ้นอยู่กับจุดบันทึกข้อมูลนี้ 
รัฐบาลผสมติดอยู่ในการถกเถียงเกี่ยวกับเขตทรานสิท ตามแนวคิดของทั้งสองพรรค เป้าหมาย ได้แก่ เร่งกระบวนการพิจารณาการลี้ภัยของผู้ลี้ภัยจากประเทศที่มาที่ปลอดภัยและส่งตัวกลับไปยังประเทศที่มาเร็วขึ้น  กระนั้น วิธีการก็แตกต่างกัน  โดยที่  CDU/CSU ประสงค์จะตั้งเขตทรานสิทที่พรมแดนคล้ายคลึงกับเขตทรานสิทสำหรับผู้ขอลี้ภัยที่สนามบิน  ผู้ลี้ภัยจะอยู่ในเขตจนกว่าจะมีการตัดสินเกี่ยวกับคำร้องขอลี้ภัย  เขตทรานสิทไม่สามารถเปรียบได้กับเรือนจำตามที่ SPD กล่าวเทียบ  ผู้ลี้ภัยสามารถออกจากประเทศเยอรมันได้ทุกเวลา  แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้  เพื่อตั้งเขตดังกล่าวต้องมีการวางพื้นฐานทางกฎหมายเสียก่อน  โดย CDU/CSU  ประสงค์จะนำเกณฑ์การรับและการพิจารณาของสหภาพยุโรปมาใช้ในกฎหมายเยอรมัน 
ตามกฎหมาย EU กระบวนการในเขตทรานสิทไม่อนุญาตให้อยู่นานกว่า ๔ สัปดาห์   CDU/CSU ถึงกับอยากให้มีการดำเนินการพิจารณาเพียง ๑ สัปดาห์  นักการเมือง CDU/CSU ตระหนักว่าเขตทรานสิทสามารถเป็นเพียงโมเสทชิ้นเดียวในการต่อสู้กับวิกฤติ  แต่เป็นสัญญาณทางการเมืองว่าการเดินทางเข้าประเทศต้องมีขอบเขต  สำหรับ SPD เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลที่เร็วขึ้น  โดยประสงค์จะตั้งศูนย์เดินทางเข้าประเทศกระจายไปทั่วประเทศในสถานที่แรกรับผู้ลี้ภัยที่มีอยู่แล้ว  ผู้ที่ไม่ยอมให้บันทึกข้อมูลควรถูกตัดความช่วยเหลือ  และมีข้อเสียเปรียบในการพิจารณาขอลี้ภัย  ผู้ที่ต้องการความคุ้มครองควรอยู่ที่นั่นจนกว่าจะถูกส่งตัวไปที่พักอื่น  ประชาชนจากประเทศที่มาที่ปลอดภัยสามารถอยู่ที่ศูนย์จนกว่าจะมีการตัดสินและถูกส่งโดยตรงจากที่นั่นกลับไปยังประเทศต้นทางเดิม 

นักวิจัยการอพยพชั้นนำวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเขตทรานสิทว่าไม่นำไปสู่เป้าหมาย  ผู้ลี้ภัยจากประเทศบอลข่าน (ยกเว้นชาวโคโซโว) สามารถเดินทางมายังประเทศเยอรมันโดยปราศจากวีซา  ไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่านเขตทรานสิท  นอกจากนั้น  Herbert Brücker จากสถาบันเพื่อตลาดแรงงานและการวิจัยอาชีพกล่าวว่าสัดส่วนผู้ลี้ภัยจากบอลข่านได้ลดลงเหลือเพียง ๖% แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น