วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ลูกคนเดียว

ผู้เขียนเกิดมาในครอบครัวที่มีพี่น้องหลายคน  นอกจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว  ยังมีทั้งแม่ครัว คนทำงานบ้าน (สมัยนั้นยังหาไม่ยาก  ค่าแรงไม่แพง)  จึงเคยชินกับการอยู่ในบ้านที่มีคนมากหน้าหลายตา  เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนพบว่าเพื่อน ๆ ไม่ได้มีพี่น้องมากมายนัก  เพียงคนเดียวหรือสองคน  มีเพื่อนร่วมห้องคนเดียวที่มีพี่น้องถึง ๑๐ คน!  ต่อมาไม่นานก็ถึงยุคที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิด  คำขวัญ “มีลูกมากจะยากจน” แพร่หลายทั่วไปพร้อมกับการแจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรี  คนไทยเริ่มมีลูกน้อยลงเรื่อย ๆ  ถึงสมัยนี้การมีลูกคนเดียว (หรือไม่มีเลย) กลายเป็นเรื่องปกติ  ส่วนตัวผู้เขียนเองตั้งใจมีลูกสองคนมาแต่ไหนแต่ไร  ด้วยความเชื่อแบบเดิม ๆ ว่าอยากให้ลูกมีเพื่อนและไม่อยากให้เสียนิสัย
ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประเทศเยอรมันเด็กและวัยรุ่นราว ๓.๔ ล้านคนเจริญเติบโตโดยไม่มีพี่น้องหรือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะราวทุก ๑ ใน ๔ คน  สัดส่วนนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาหลายปีแล้ว  แต่ลูกคนเดียวพัฒนาตนเองอย่างไรในสังคมที่แก่ตัวขึ้นทุกที ?  จะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวและเคยตัวโดยอัตโนมัติหรือเปล่า ?  Paula Honkanen-Schoberth ประธานสมาคมคุ้มครองเด็กแห่งประเทศเยอรมันกล่าวว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่โดยตรง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโดยเฉพาะในเมืองใหญ่และในภาคตะวันออกของประเทศเยอรมันมีลูกคนเดียวจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่เมื่อเปรียบเทียบกัน  Juergen Dorbritz จากสถาบันเพื่อการวิจัยประชากรแห่งชาติที่วิสบาเดนชี้แจงว่าในภาคตะวันออกความปรารถนาที่จะมีบุตรสูงกว่า  แต่สตรีจำนวนมากเห็นว่าลูกคนเดียวพอแล้ว  ตรงกันข้าม ในภาคตะวันตกผู้หญิงมีการศึกษามักจะละเว้นการมีทายาท  เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีพี่น้อง บ่อย ๆ ลูกคนเดียวใช้ชีวิตกับผู้ที่เลี้ยงบุตรตามลำพัง ได้แก่  ผู้ที่ไม่สมรสหรือผู้ปกครองที่แยกทางกัน  ตามข้อมูลของสถาบันเยาวชนเยอรมัน (DJI) ที่ München ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กชาย-หญิง
Werner Gross นักจิตวิทยาจาก Offenbach กล่าวว่าผู้ปกครองที่เลี้ยงบุตรตามลำพังต้องระวังว่าลูกคนเดียวไม่ได้กลายเป็นตัวชดเชยคู่ที่ขาดหายไป  Honkanen-Schoberth เสริมว่าหากตัวผู้ปกครองที่เลี้ยงบุตรตามลำพังไม่มีบุคคลใกล้ชิดก็สามารถเป็นได้ว่าลูกอยากจะช่วยเหลือ ซึ่งเกินกำลังของเด็ก
Sabine Walper หัวหน้าการวิจัยของ DJI พบว่าลูกคนเดียวจะยึดผู้ปกครองเป็นศูนย์กลางนานกว่า  กลุ่มพี่น้องส่วนใหญ่จะมีข้อได้เปรียบและความอดทนสูงกว่ามาก  โดยทั่วไปความสัมพันธ์กับพี่น้องจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สุดตลอดชีวิตของบุคคลหนึ่ง ๆ  ในด้านหนึ่งลูกคนเดียวจะได้รับการเลี้ยงดูเหมือนเจ้าชายเจ้าหญิง  แต่ในอีกด้านหนึ่งจะมุ่งความสนใจอยู่ที่ผู้ใหญ่  ซึ่งไม่ดีสำหรับการพัฒนาด้านจิตใจ  Honkanen-Schoberth เตือนว่าผู้ปกครองควรระมัดระวังว่าลูกของตนไม่ได้ถูกตามใจเกินขนาด ถูกปกป้องคุ้มครองมากเกินไปและเติมเต็มความปรารถนาทุกอย่างตลอดเวลา  ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาก็ไม่ควรทำเกินไปด้วย
อย่างไรก็ดี การวิจัยก็แสดงด้วยว่าอคติเรื่องลูกคนเดียวเห็นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่ไม่เป็นความจริง  Honkanen-Schoberth กล่าวว่าตรงกันข้าม ลูกคนเดียวสามารถเสียสละหรือแบ่งปันได้ดีกว่า  เนื่องจากไม่เคยขาดแคลน  ลูกคนเดียวจะดูแลความสัมพันธ์กับมิตรสหาย  เนื่องจากมีความสำคัญเป็นพิเศษกับชีวิตและลูกคนเดียวจะเป็นที่รักในกลุ่ม  เธอยังกล่าวว่าลูกคนเดียวจำนวนมากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนดีเป็นพิเศษในเรื่องการบ้านและงานอดิเรก  ทำให้ลูกคนเดียวจำนวนมากค่อนข้างฉลาดแกมโกงและไม่ปิดบังเสียด้วย  บ่อย ๆ มีคลังศัพท์แสงกว้างและความสามารถดี  บางครั้งจะเสี่ยงที่จะกลายเป็นพวกทะเยอทะยานที่โรงเรียน  เธอชี้แจงว่าลูกคนเดียวไม่เคยเรียนรู้ที่จะต่อสู้  ทำให้บางครั้งสามารถฟันฝ่าได้แย่กว่าเด็กที่มีพี่น้อง  เธอแนะนำผู้ปกครองที่มีลูกคนเดียวให้กระตุ้นการวางตัวของลูกกับมิตรสหาย ญาติ กลุ่มกีฬาและสังคมสม่ำเสมอตั้งแต่แรกเริ่ม  ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วเรื่องความขัดแย้งและที่ทางของตนเอง  เด็ก ๆ จะเรียนรู้จากกันและกันตั้งแต่ในวัยคลาน
ลูกคนเดียวบ่อย ๆ จะมีลูกเพียงคนเดียวหรือไม่ยังไม่ได้รับการชี้แจงทางวิชาการ  เนื่องจากนานครั้งที่ผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายเป็นลูกคนเดียว  Walper กล่าวว่าข้อมูลของรุ่นวัยและการตรวจสอบเกี่ยวกับเด็กและผู้ปกครองแสดงในการวิเคราะห์สำหรับประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นอรเวย์และรัสเซียว่าลูกคนเดียวมีบุตรเพียงคนเดียวมากกว่าปกติจริง ๆ หรือถึงกับไม่มีบุตร  ที่แน่นอนคือผู้ใหญ่ที่เติบโตมาพร้อมพี่น้องโดยทั่วไปปรารถนาจะมีลูกหลาย ๆ คนด้วย
แม่นแล้ว  ยืนยันได้จากผู้เขียนที่ไม่เค้ย…ไม่เคยอยากเป็นลูกคนเดียว  เป็นน้องคนเล็กที่มีพี่ ๆ คอยดูแลเอาใจใส่นี่แหละสบายซู้ด จะบอกให้…
ข้อมูล  Aachener Zeitung

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น