วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

มโนสาเร่ (๔) : สะพานใกล้กระทรวงฯ*

เอกอัครราชทูต  วิญญู  แจ่มขำ
                   บรรดาสิ่งก่อสร้างเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์ สะพานเก่าถูกรื้อทำลายหรือเปลี่ยนสภาพรวดเร็วมาก เนื่องจากการคมนาคมและการขนส่งภายในเมือง ได้เปลี่ยนจากทางน้ำเป็นทางบก ขณะที่คลองเปลี่ยนสภาพเป็นทางระบายน้ำ  สะพานก็เปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของถนน   สะพานที่เหลืออยู่ก็ถูกขยับขยาย หรือเปลี่ยนลักษณะให้เหมือนกับถนนที่ขยายออก  จนรูปร่างสัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
การสร้างสะพานถนนคูคลองในกรุงรัตนโกสินทร์   แรกๆ เป็นสะพานขนาดเล็ก เฉพาะคนข้ามและสะดวกสำหรับการรื้อถอนเมื่อคราวจำเป็น   เพราะการขุดคูคลองในสมัยนั้น    นอกจากเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคม  เพื่อการใช้น้ำ  การเพาะปลูก อุปโภคและบริโภคแล้ว ยังใช้เป็นปราการป้องกันข้าศึกยามสงครามอีกด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีพระราชดำริจะสร้างสะพานสำหรับช้างข้ามคลองรอบกรุงเป็นการถาวร  ในพุทธศักราช 2326 หากแต่พระพิมลธรรมวัดโพธาราม(วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ถวายพระพรห้ามไว้
การก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่และแข็งแรง เริ่มสร้างในรัชกาลที่ 3 เนื่องจากชาวตะวันตก เริ่มเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรสยามบ้างแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ 4 กงสุลต่างประเทศที่บางกอก  ได้ร่วมกันเข้าชื่อร้องทุกข์ว่า ไม่มีถนนหนทางให้ขี่ม้าหรือนั่งรถ สุขภาพจึงเสื่อมโทรมและเจ็บไข้เสมอ พวกที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายสินค้า ก็ร้องทุกข์ ประสงค์ให้ทางราชการขุดคลอง และตัดถนนผ่านมาร้านที่พวกตนค้าขาย
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพระนครครั้งใหญ่ จึงมีการขุดคลองและตัดถนนหลายสาย ก่อสร้างสะพานข้ามคลองหลายสะพาน ทั้งที่เป็นของทางราชการและประกาศบอกบุญ รวมถึงการก่อสร้างสะพานโครงเหล็ก เช่น สะพานหัน  (ข้ามคลองโอ่งอ่าง ย่านพาหุรัด) สะพานดำรงสถิตย์(สะพานเหล็กบนข้ามคลองโอ่งอ้าง ไปทางทิศตะวันออก ถนนเจริญกรุง สามยอด) และสะพานพิทยเสถียร (สะพานเหล็กล่างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม  ใกล้จะออกแม่น้ำเจ้าพระยา  ถนนเจริญกรุง)  สะพานทั้ง 3 สะพาน เสาและคานเป็นเครื่องไม้  โครงสะพานเป็นเหล็ก  พื้นสะพานมีล้อเลื่อนข้างล่าง  ที่คานไม้มีรางเหล็ก
ครั้นถึงสมัยพระพุทธเจ้าหลวง  ได้นำเทคนิควิทยาการทางตะวันตกเข้ามาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ  รวมทั้งจ้างช่างชาวต่างประเทศออกแบบ และอำนวยการก่อสร้างอาคารและสะพาน      หลายแบบสนองพระราชดำริ ศิลปกรรมจึงมีลักษณะแบบตะวันตก ผู้ดำเนินการก่อสร้างสะพานระยะแรกคือกรมโยธาธิการ หลังจาก พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา เป็นหน้าที่ของกรมสุขาภิบาล
ปัจจุบัน สะพานบางแห่งที่ก่อสร้างขึ้นในอดีต  ยังคงมีลักษณะเดิม บางแห่งก็ให้รับการบูรณะ ปรับปรุงตามสภาพเดิม  บางแห่งก็ถูกรื้อถมเป็นถนน  และหลักฐานเดิมก็สูญหายไปด้วย  สะพานที่หลงเหลือ  และอยู่ใกล้กระทรวงฯ ขณะนี้ มี 9 สะพาน คือ ในพระราชอุทยานสราญรมย์ (สวนสราญรมย์) 1 สะพาน และข้ามคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) 8 สะพาน ได้แก่
  1. สะพานในพระราชอุทยานสราญรมย์
พระราชอุทยานสราญรมย์  เป็นต้นกำเนิดสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ อาณาบริเวณเป็นพื้นที่ส่วนหน้าของพระราชวังสราญรมย์ หัวถนนเจริญกรุง  ตรงข้ามกรมการรักษาดินแดน รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างในปี 2411 หลังโปรดให้สร้างพระราชวังสราญรมย์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ขึ้นก่อน  ในปี 2409 ด้วยพระราชดำริว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานารถ (รัชกาลที่ 5) ทรงผนวชและทรงจำเริญพระชันษาที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จะทรงมอบพระราชสมบัติให้ โดยจะทรงเป็นพระเจ้าหลวงช่วยแนะข้อราชการแผ่นดิน   และจะเสด็จฯ  ประทับในพระราชวังสราญรมย์  แทนพระราชวังหลวง เนื่องจากสะดวกที่จะทรงพระดำเนินไปวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งโปรดให้สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งการครองราชย์ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เช่นกัน เพื่อทรงสนทนาธรรมกับพระภิกษุ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนพระปณิธานจะสมตามพระราชหฤทัย ในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชวังสราญรมย์เป็นที่ประทับของเจ้านายสยามหลายพระองค์ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมทั้งพระราชอาคันตุกะและอาคันตุกะจากต่างประเทศ เช่น เจ้าชายออสการ์แห่งสวีเดน พระเจ้าซาส์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เจ้าชายจอร์จ แห่งกรีซ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2428 – เดือนตุลาคม 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นศาลาว่าการต่างประเทศชั่วคราว และเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2447 จนตลอดรัชกาลที่ 5 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศ ในพระบรมมหาราชวัง ย้ายมาใช้พระราชวังสราญรมย์ เป็นที่ทำการ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2469 เป็นต้นมา ปัจจุบันพระราชอุทยานสราญรมย์ถูกลดฐานะเป็นสวนสราญรมย์ พื้นที่ 23 ไร่  เคยใช้เป็นที่จัดงานวชิราวุธานุสรณ์ประจำปีอยู่หลายปี
พระราชอุทยานสราญรมย์  เป็นต้นกำเนิดสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ภาพจากวิกิพีเดีย อัพโหลดโดย Hdamm
เมื่อเดินเข้าประตูทางด้านถนนเจริญกรุง   จะเห็นน้ำพุพานโลหะแบบโรมัน สลักลวดลายสวยงาม  เบื้องขวาเป็น “อาคารรัฐธรรมนูญ” ตึกชั้นเดียวใช้เป็นที่ทำการสวน ต่อไปจนถึงมุมกำแพงด้านตะวันออก มีอาคารเรือนกระจกยาวสีขาวชั้นเดียว  มุขกลางขนาดเล็ก ติดหน้าต่างกระจกรอบอาคาร ช่องลมเหนือหน้าต่าง  ประดับไม้ฉลุลวดลายละเอียด  สร้างในรัชการที่ 5 ต่อมาในปี 2447  รัชการที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงก่อตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” ขึ้นเป็นสโมสรแบบตะวันตก  สมาชิกสโมสร  ล้วนเป็นเจ้านาย ข้าราชการ  และบุคคลภายนอก  ที่กรรมการสโมสรฯ รับรอง กิจกรรมที่สำคัญก็คือออกหนังสือพิมพ์ทวีปัญญารายเดือน เล่นกีฬา ทั้งในร่มและกลางแจ้ง  ปัจจุบัน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้เป็น โรงเพาะชำ-หรืออนุบาลต้นไม้
เกาะกลางสวน เป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) สร้างในรัชกาลที่ 5 เป็นอนุสรณ์สถานปรางค์ 5 ยอด ตัวเรือนธาตุเป็นแผ่นหินจารึกพระราชประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง   หากเดินต่อไปจนสุดกำแพงติดวัดราชประดิษฐ์   จะเห็นเก๋งจีนทรง 6 เหลี่ยม   โครงหลังคาเครื่องไม้  ล้วนตกแต่งลายปูนปั้นแบบจีน สร้างในรัชกาลที่ 6  เป็นศาลสถิตเจ้าแม่ตะเคียนทอง
ศาลากระโจมแตรโลหะหลังเล็กทรง 8 เหลี่ยม สร้างพร้อมเรือนกระจก ใช้เป็นสถานที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงทหาร ระหว่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ประทับที่พระราชวังสราญรมย์
ในบริเวณพระราชอุทยาน มีสะพานเล็ก ๆ เป็นสะพานโครงเหล็ก เสาแท่นและลูกกรงลาดสะพานก่อด้วยอิฐถือปูน ออกแบบเข้าชุดกับเสาประตูใหญ่และรั้วรอบพระราชอุทยาน น่าเสียดายที่เมื่อซ่อมแซมถนน ได้เสริมพื้นสะพานอย่างฉาบฉวย ทำให้พื้นสะพานปัจจุบันตอนกลาง ท่วมล้นขอบล่างลูกกรงขึ้นมา
  1. สะพานเฉลิมสวรรค์ 58 พ.ศ. 2454 ถนนพระอาทิตย์
เป็น 1 ในบรรดาสะพานชุด “เฉลิม” ทั้งหมด 17 สะพาน ซึ่งเริ่มสร้างเฉลิมพระชนมพรรษา  รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2437 (ร.ศ. 113) คือสะพานเฉลิมศรี 42 เพื่อให้มีถาวรวัตถุเป็นที่ระลึก เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ที่สัญจรไปมา  โดยพระราชทานเงินเท่าพระชนมวารวันละสลึงหนึ่ง  จนถึง พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) จึงได้สร้างสะพานที่ 15 คือสะพานเฉลิมหล้า 56 เสร็จทันเปิดในรัชสมัยของพระองค์ ส่วนสะพานเฉลิมสวรรค์ 58  พ.ศ. 2454 ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สะพาน (อีกสะพานคือสะพานเฉลิมเดช 57 พ.ศ. 2453 ถนนสี่พระยา) ที่พระราชทานทรัพย์สร้างเป็นพระราชกุศลและสาธารณประโยชน์ แต่แล้วเสร็จและเปิดใช้หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยทรงเลือกสถานที่ แบบและทรงควบคุมการก่อสร้าง ที่บริเวณปากคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ด้านเหนือ และออกพระราชทรัพย์ เพิ่มเติม
เบื้องต้น ทรงตั้งชื่อว่า “สะพานเฉลิมฤทธิ์” แต่ได้ทรงเปลี่ยนเป็น “สะพานเฉลิมสวรรค์” เพื่อหมายถึงการเสด็จสู่สรวงสวรรค์  ทรงให้ออกแบบให้เด่นที่สุดในบรรดาสะพาน “เฉลิม”  ทั้งหลาย ไม่ว่า  ด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมแบบตะวันตก กล่าวคือ พื้นสะพานเป็นรูปโค้ง เสาสี่มุมรองรับหรีดรูปไข่บรรจุพระปรมาภิไธยย่อสูงเป็นสง่า แต่น่าเสียดายที่สะพานนี้ถูกรื้อถอน  เมื่อจะก่อสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าข้ามแม่น้าเจ้าพระยา ในปี 2514 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม ได้พยายามชี้แจง แต่เทศบาลกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตกลงย้ายชิ้นส่วนของสะพานไปประกอบในสวนลุมพินี หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร เพื่อคงอนุสรณ์ไว้ แต่จนบัดนี้ ชิ้นส่วนของสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ยังคงกองทิ้ง หรืออาจชำรุดสูญหายไปแล้วก็ได้
  1. สะพานเจริญศรี 34
เป็นสะพานขนาดกลาง เยื้องวัดบุรณศิริมาตยาราม  รัชการที่ 6  พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร ให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นที่ระลึกและสาธารณประโยชน์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 34 พรรษา ปี 2456 และเสด็จพระราชดำเนินเปิด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2457 พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรี 34″
โครงและพื้นสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  ราวสะพานทั้ง 2 ข้าง  เป็นลูกกรงปูนปั้นเชิงสะพาน 2 ข้าง มีเสารวม 4 เสา ประดิษฐ์เป็นรูปพาน และเฟืองอุบะ (ดอกไม้ร้อยเป็นพวงอย่างพู่สำหรับห้อยระหว่างเฟือง เป็นต้น) แบบตะวันตก แท่นฐานเสามีเลข 4 หมายถึงปีที่ 4 แห่งการครองราชย์ และเป็นสะพานลำดับที่ 4 ที่สร้างใช้ในรัชกาลของพระองค์ (สะพานลำดับแรก คือสะพานเจริญรัช 31 ปากคลองตลาด ถนนมหาราช ลำดับที่ 2 สะพานเจริญราษฎร์ 32 ข้ามคลองมหานาค ถนนกรุงเกษม ลำดับที่ 3 สะพานอุบลรัตน์ เชื่อมถนนอัษฎางค์และถนนราชินี) กลางสะพานจารึกนามสะพาน และปีที่สร้างเสร็จ เหนือจารึกเป็นแผ่นจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” ปัจจุบันพระปรมาภิไธย ได้หายไปเหลือแต่กรอบหลัง
sapancharoenratch
สะพานเจริญรัช 31 ขอบคุณภาพจากผู้จัดการ
  1. สะพานช้างโรงสี
สะพานข้ามปลายถนนบำรุงเมือง  เยื้องกระทรวงมหาดไทย เดิมเป็นสะพานช้างข้าม ตอม่อก่อด้วยอิฐ ปูพื้นด้วยไม้ซุงเหลี่ยม ที่เรียกสะพานช้างโรงสี  เพราะตั้งอยู่ใกล้โรงสีข้าวของฉางหลวงสำหรับพระนคร ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานช้างโรงสีใหม่  ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเรียบราวสะพาน 2 ข้าง เป็นลูกกรงปูนปั้น  เสาปลายสะพานทั้ง 2 ฝั่ง หัวเสาเป็นแผ่นแบน  มีหัวหมาโผล่ออกมาจากวงกลม เหนือหัวหมามีตัวอักษรจารึก 2 แถว แถวแรกจารึก “ศก 129″ (พ.ศ. 2453) ซึ่งเป็นปีที่สร้างสะพานเสร็จ แต่มิได้พระราชทานนามให้ใหม่เพราะชื่อ “สะพานช้างโรงสี” เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากแล้ว  เหนือขึ้นไปอีก แถวหนึ่ง เป็นนามสะพาน มีทางเท้า 2 ข้าง
ในปี 2517-2518 ได้รื้อสะพานเดิมออก เพื่อปรับปรุงขยายผิวการจราจรบนสะพาน โดยรักษาลักษณะเดิมไว้ พร้อมกลับจารึกประวัติการสร้างสะพานไว้ที่โคนเสาเชิงสะพานด้วย
  1. สะพานปีกุน (สะพานหมู)
เป็นสะพานคนเดินข้ามหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและกระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 4 รอบ ในปี 2454 มีลักษณะเรียบๆ ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นท่อนเหล็กกลมทอดไปตามยาว  คั่นด้วยเสาคอนกรีตเป็นระยะ  เสาที่เชิงสะพานมีบันไดขึ้นลงเป็นรูปครึ่งวงกลมทั้ง 2 ฝั่ง รวม 4 ต้น เป็นคอนกรีตเซาะร่อง หัวเสารูปถ้วยประดับช่อมาลาข้างวงรูปไข่ 4 วง ต้นเสา 4 ต้น หมายถึงเทียนประทีปพระชันษาไร้แสง กล่าวคือ  ใน 4 รอบพรรษานี้ เมื่อขาดพระราชสวามี ก็คล้ายดวงชวาลาอับแสง วงรูปไข่ 4 วง หมายถึง 4 วงรอบ หรือพระชนมายุครบ 4 รอบ ประดับข้างด้วยช่อมาลาเหนือหัวเทียนประทีปที่พุ่งขึ้นสู่สวรรค์ ประดุจดังการถวายบังคมเพื่อรำลึกถึง รัชกาลที่ 5 พระผู้เสด็จสู่สรวงสวรรค์
เนื่องจากเป็นสะพานเล็ก จึงไม่ได้รับพระราชทานชื่อ แต่คนทั่วไปเรียก ” สะพานหมู” หรือ “สะพานปีกุน”  เพราะมีอนุสาวรีย์หมูอยู่ใกล้เชิงสะพานฝั่งคลองด้านตะวันตก  ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาราชสงคราม ร่วมกันสร้างเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อพระชนมายุฯ ครบ 50 พรรษา ในปี 2456 ให้เป็นอนุเสาวรีย์สหชาติสำหรับผู้เกิดปีกุน คือสร้างเป็นรูปหมูอยู่บนเขาหินจำลอง พร้อมท่ออุทกทานแก่ประชาชน คำจารึกถวายพระพร และนามผู้สร้างประดับไว้ด้วย
  1. สะพานหก
เป็นสะพานสำหรับคนเดินข้ามสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 แบบวิลันดา เพราะสามารถชักขึ้นลง     เพื่อให้เรือล่องเข้าออกได้  จึงเรียกชื่อตามลักษณะของสะพาน สะพานดั้งเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมไป จวบจนปี 2525 ได้ก่อสร้างขึ้นใหม่ เพื่อเฉลิมกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างสะพานปีกุน กับสะพานมอญ บริเวณต้นทางจอดรถโดยสารประจำทาง
sapanhok
สะพานหก หมายถึงสะพานหกขึ้นหกลงได้ (ขอบคุณภาพจากผู้จัดการ)
  1. สะพานมอญ
สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม หลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระราชอุทยานสราญรมย์ เชื่อมถนนเจริญกรุง เดิมเป็นสะพานไม้ ฐานก่ออิฐถือปูน ชาวมอญที่อาศัยในบริเวณนี้ ร่วมกันสร้างในรัชการที่ 3 ต่อมาในรัชการที่ 6 สะพานมอญเดิมชำรุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นเหล็กดัดโปร่ง มีทางเท้าทั้ง 2 ข้าง
  1. สะพานอุบลรัตน์ (สะพานหัวตะเฆ่)
สะพานข้าม เชื่อมถนนอัษฎางค์และถนนราชินี สร้างในปี 2455 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา ในรัชกาลที่ 5 และพระราชทานนามว่า “สะพานอุบลรัตน์” เปิดใช้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2456 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพาน 2 ข้างโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ลูกกรงปูนปั้น เป็นลูกมะหวดกลม (ผลจากต้นมะหวด ต้นไม้ขนาดย่อม ออกเป็นช่อสุก สีเหมือนลูกหว้ากินได้ รสหวานปะแล่มๆ ปักษ์ใต้เรียกกำชำหรือกำซำ) เหนือลูกกรงประดับลวดลายดาราแบบไทย กึ่งกลางราวสะพาน ทั้ง 2 ข้าง ทำเป็นแผ่นจารึกชื่อสะพานและ ปีพุทธศักราช 2455  ทั้งด้านนอกและด้านใน และลายดอกบัว ในกรอบสีเหลี่ยม ประดับอยู่ในแผ่นจารึกด้วย
  1. สะพานเจริญรัช 31
สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ด้านใต้ ที่เรียกว่า ปากคลองตลาด ถนนมหาราช  คู่กับสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 ที่ปากคลองด้านเหนือ รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร ให้กรมสุขาภิบาลสร้างเป็นสาธารณประโยชน์ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 31 พรรษา พุทธศักราช 2453 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เจริญรอยพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 และเสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพาน  เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2454 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชทานนามว่า   “สะพานเจริญรัช 31″ ซึ่งเป็นสะพานแรกที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เจริญ” หมายถึง เมื่อรัชการที่ 5 เฉลิมสวรรค์แล้ว      รัชกาลที่ 6 ก็เจริญรัชกาล สืบต่อไป
สะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ตรงกลางสะพานทั้ง 2 ข้าง โค้งเป็นรูป     ครึ่งวงกลม เช่นเดียวกับสะพานเฉลิมสวรรค์ 58 และสะพานอุบลรัตน์ ลูกกรงทั้ง 2 ข้าง ประดิษฐ์เป็นรูปเสือ       ยืนหันข้างประคองพระขรรค์ด้วยอุ้งเท้าหน้าทั้งคู่  หันหน้าเข้าหากันที่กึ่งกลางสะพาน หมายถึงกิจการเสือป่า    ที่ทรงสถาปนาขึ้นในปีเดียวกันนี้  กึ่งกลางสะพานเป็นรูปคล้ายโล่ จารึกนามสะพาน ล้อมด้วยลายใบไม้แบบยุโรป       เหนือราวสะพาน มีพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ปลายราวสะพานทั้ง 2 ฝั่ง มีแป้นกลมจารึกเลข “31” ซึ่งหมายถึงพระชนมายุ
โดยที่กระทรวง ฯ ย้ายจากพระราชวังสราญรมย์ มาอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา สะพานที่ใกล้กระทรวงฯ ใหม่ก็คือสะพานเสาวนีย์  ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองริมทางรถไฟสายเหนือ ถนนศรีอยุธยา
สะพานนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระพันปีหลวง) มีพระราชเสาวนีย์ให้สร้างขึ้นริมทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมถนนศรีอยุธยาให้ติดต่อกันตลอด คราวบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในปี 2454 กรมโยธาธิการได้ออกแบบ และสร้างถวายสนองพระราชเสาวนีย์ ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานไม้เดิม
——————
* ความส่วนมาก เรียบเรียงจากหนังสือ “สะพานในกรุงเทพมหานคร และสะพานในรัชกาลที่ 5 โดย ถาวร จารุกิตติชัย    บริษัท เอส.ที.พี. เวิลด์ มีเดีย จำกัด อาคารฐานเศรษฐกิจ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 พ.ศ. 2541

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น