วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

กินข้าวกล้อง

       การที่ข้าวเปลือกถูกขัดสี ทำให้สูญเสียสารอาหารไปเป็นจำนวนไม่น้อย  ยิ่งขัดสีเป็นข้าวขาวหลายครั้งเท่าไร สารอาหารก็ยิ่งเหลือน้อยลงไป  การหันกลับมากินข้าวกล้องเหมือนบรรพบุรุษของเราจึงเป็นวิถีชีวิตที่ถูกต้อง  ช่วยไม่ให้เป็นโรคอันไม่ควรจะเป็น  เนื่องจากขาดสารอาหาร

วิธีหุงข้าวกล้อง
๑.              ก่อนซาวข้าวควรเก็บสิ่งแปลกปลอมออกเสียก่อนและซาวข้าวเบา ๆ ด้วยเวลาสั้น ๆ เพียงครั้งเดียว  เพื่อไม่ให้สูญเสียวิตามินไปกับน้ำซาวข้าว
๒.              การหุงข้าวกล้องนั้นต้องใส่น้ำมากกว่าการหุงข้าวขาว  การหุงข้าวกล้อง ๑ ส่วนจึงควรเติมน้ำประมาณ ๒-๓ เท่า  ถ้าจะให้ประหยัดเวลาหุง ควรแช่ข้าวกล้องก่อนประมาณครึ่งชั่วโมง  ซึ่งอาจทำให้สูญเสียวิตามินบางอย่างที่ละลายน้ำไปบ้าง  แต่ไม่แนะนำให้แช่ข้าวเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะข้าวที่มีสี  แต่ถ้าจำเป็นต้องแช่ข้าว แนะนำให้นำน้ำที่แช่ข้าวไปใช้ในการหุง  เพื่อลดการสูญเสียสารต้านอนุมูลอิสระในข้าว โดยเฉพาะข้าวสี
๓.              สำหรับข้าวใหม่หรือข้าวเก่านั้นจะมีผลต่อการหุงด้วยเช่นกัน เพราะข้าวใหม่เมื่อหุงสุกจะมีลักษณะเมล็ดข้าวติดกันมาก  ส่วนข้าวเก่าเมื่อหุงสุกการติดกันของเมล็ดข้าวจะน้อย  เนื่องจากข้าวเก่าเมล็ดข้าวจะแห้งกว่าข้าวใหม่  เหตุนี้จึงทำให้บางท่านหุงข้าวแล้วบอกว่าใช้น้ำมากกว่าเดิมทำไมข้าวจึงแฉะหรือร่วน  ซึ่งก็ต้องถามผู้ขายว่าเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่  ส่วนจะทำให้แฉะหรือร่วนแล้วแต่จะชอบ ผู้หุงข้าวจึงต้องใส่น้ำให้เหมาะสมหรือต้องมีศิลปะในการหุงเช่นกัน

ฝึกกินข้าวกล้อง
๑.               คนที่เพิ่งหัดกินข้าวกล้องอาจใช้วิธีง่าย ๆ คือ ผสมข้าวกล้องกับข้าวขาวในสัดส่วน ๑ ต่อ ๒  โดยแช่ข้าวกล้องก่อนนำไปหุงรวมกับข้าวขาว  เพื่อจะได้สุกพร้อมกันและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณข้าวกล้อง จนเปลี่ยนเป็นข้าวกล้องทั้งหมด  ท่านก็จะกินข้าวที่ได้คุณค่าอาหารอย่างเต็มที่
๒.              ควรกินข้าวกล้องขณะยังอุ่น ๆ  โดยทั่วไปพอข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุประมาณ ๕-๑๐ นาที  ควรรีบกิน ข้าวจะนุ่มกินได้ง่ายและให้ค่อย ๆ เคี้ยวพอละเอียด จะได้รสชาติหวานอร่อยของข้าวกล้อง

๓.              ควรกินข้าวกล้องที่สุกแล้วให้หมดในมื้ออาหารนั้น  เพราะข้าวกล้องบูดเสียได้ง่ายกว่าข้าวขาวทั่ว ๆ ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น