วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

อนาคตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มเมื่อ ๗๐ ปีก่อน (ตอนที่ 2)

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ
        วันที่ซึ่งชักนำชะตาชีวิตของอุลบริคท์ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของเยอรมนีนั้นคือวันที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) และควรถือว่าเป็นวันสำคัญของอนาคตของเยอรมนีได้ อุลบริคท์กับสหายอีก ๙ คน ได้เดินทางจากกรุงมอสโกมากรุงเบอร์ลิน ด้วยเครื่องบินขนส่งของทางการสหภาพโซเวียต หลังจากแวะพักที่เมือง Minsk ไม่นาน  พวกเขาก็เดินทางต่อมาที่สนามบินทหารแห่งหนึ่งชานกรุงเบอร์ลิน
“เรามาอยู่ใกล้เขตแดนใหม่ระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์แล้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมือง Frankfurt an der Oder และเมือง Küstrin เท่าใดนัก” นั่นคือคำพูดประโยคแรกของอุลบริคท์ในดินแดนเยอรมนีที่เขาได้จากไปนานถึง ๑๒ ปี จากคำพุดประโยคนี้แสดงว่าอุลยริคท์รู้แก่ใจว่าต่อไปนี้เขตแดนด้านตะวันออกของเยอรมนีจะอยู่ทื่ไหน หลังจากนั้น พวกเขาได้นั่งรถบรรทุกต่อไปยังตำบล Bruchmühle ตำบลเล็ก ๆ ทางทิศตะวันออกของกรุงเบอร์ลิน
ในช่วงเวลานั้น ทหารรัสเซียกำลังระดมยิงปืนใหญ่ถล่มอาคารสภาอาณาจักร ฯ อย่างหนักหน่วง ทหารกองทัพแดงกลุ่มหนึ่งพยายามเป็นครั้งที่ ๕ เพื่อจะปักธงชาติสหภาพโซเวียต  บนหลังคาอาคารนั้นให้ได้ ในที่สุด เมื่อได้ใช้ปืนใหญ่ถึง ๑๖ กระบอก ระดมยิงถล่มอาคารสภา ฯ อีกครั้ง ทหารรัสเซียก็สามารถปีนขึ้นไปปักธงแดงโบกสะบัดเหนือนครหลวงของอาณาจักรนาซีสำเร็จ และวันนี้เองที่ฮิทเล่อร์ได้ยิงตัวตายในที่หลบภัยของกองบัญชาการผู้นำ ซึ่งกว่าฝ่ายรัสเซีย รู้ข่าวการตายของฮิทเล่อร์ ก็ค่ำแล้ว
ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย  Bundesarchiv Bild 183-S33882, Adolf Hitler
บรูคมืลเล่ะเป็นสถานที่พำนักของของคณะเสนาธิการฝ่ายการเมืองของกองทัพจอมพลชูค้อฟ คืนนั้น อุลบริคท์และสหายได้ร่วมปรึกษาหารือกับนายพลกาล้าดชีเย้ฟ โดยพูดถึงแผนการยึดเยอรมนี งานแรกของอุลบริคท์และสหายคือต้องยึดกรุงเบอร์ลินนครหลวงของเยอรมนีให้ได้โดยเร็วที่สุด อุลบริคท์กล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องส่งพลพรรคคอมมิวนิสต์ล้วน ๆ เป็นหัวหน้าเขตต่าง ๆ เพราะตามหลักการ หัวหน้าเขตซึ่งได้รับเลือกจากเขตซึ่งชนชั้นกรรมาชีพอาศัยอยู่ ย่อมมีจิตสำนึกแนวสังคมนิยมอยู่แล้ว สำหรับเขตเซเล่นดอร์ฟ วิลเม่อร์สดอร์ฟ และชาร์ล็อทเท่นบวร์ก เราต้องส่งคนซึ่งประชาชนนิยมมากที่สุด หรือคนที่สังกัดพรรคการเมืองแนวทางประชาชน และครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดต้องเป็นพวกสังคมนิยม แต่ในบั้นปลาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตกอยู่ในกำมือของพวกเรา
หลังจากรัฐบาลนาซียอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) แล้ว อุลบริคท์ก็ดำเนินการตามแผนแรกทันทีด้วยการจัดตั้งองค์กร บริหารกรุงเบอร์ลินซีกตะวันออกขึ้นใหม่ และตั้ง Dr. Werner ซึ่งเป็นคนที่ชาวเบอร์ลินรู้จักน้อยมาก ให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี แต่คนที่อยู่เบื้องหลังและบริหารงานจริง ๆ นั้น กลับเป็นคนที่ชาวเบอร์ลินไม่น่ารู้จักเลย เขาคือนายวัลเท่อร์ อุลบริคท์ นั่นเอง
เมื่ออุลบริคท์ตั้งคนของตนเข้าบริหารกรุงเบอร์ลินซึกตะวันออกซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญได้แล้ว ก็ขยับหวังขยายแนวรวบให้ได้ทั้งประเทศต่อไป เขาคิดอย่างที่เลนินคิดว่า “ใครได้แบร์ลีน ได้เยอรมนี” แต่เลนินหรือแม้แต่สตาลินคิดไกลยิ่งกว่าคือ “ใครได้เยอรมนี ได้ยุโรป”   แผนขั้นแรกเสร็จแล้ว แผนขั้นต่อไปคือต้องก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และแผนขั้นสุดท้ายคือจัดตั้งรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสม์
เดิมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Kommunistische Partei Deutschlands/KPD) มีอยู่ก่อนพลพรรคนาซีขึ้นครองอำนาจแล้ว ซึ่งอุลบริคท์เองก็มีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคดังกล่าว โดยมีศูนย์กลางที่เมืองไล้พ์ซิกเมืองบ้านเกิดของเขา ฉะนั้นการฟื้นฟูพรรค ฯ ขึ้นมาใหม่ สหภาพโซเวียตจึงส่งนาย Dimitroff มาเป็นคนกลางสำหรับการติดต่อระหว่างกลุ่มของอุลบริคท์กับกลุ่มสมาชิกเก่าของพรรค ฯ เดิมซึ่งรอดชีวิตจากสงคราม และคนเหล่านั้นรู้จักอุลบริคท์ดีก่อนฮิทเล่อร์ขึ้นมามีอำนาจในเยอรมนีด้วย ดังนั้น แผนยึดอำนาจเยอรมนีภายหลังสงครามตามขั้นต่าง ๆ ของอุลบริคท์กับสหาย ก็ดำเนินไปตามแผน
ที่จริง อุลบริคท์เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands/SPD) มาก่อน เมื่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและถูกจับด้วยข้อหายุยงทหารเกณฑ์หนีทหารไปกับเขา จึงไปร่วมกับพรรคพวกก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีที่เมืองไล้พ์ซิก เมื่อปี ๑๙๑๙ (พ.ศ. ๒๔๖๒) พอกลางปี ๑๙๒๐ (พ.ศ. ๒๔๖๓) ก็เดินทางไปศึกษาการเมืองขั้นต้นที่สถาบันเลนิน กรุงมอสโก เมื่อสตาลินเห็นหน่วยก้านของเขาแล้ว ก็หวังสร้างให้เขาเป็นตัวแทนของรัสเซียในเยอรมนี
อุลบริคท์เดินทางกลับเยอรมนีในปี ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) แล้วสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนจากเขตเลือกตั้งในย่านเหมืองถ่านหินแถบลุ่มแม่น้ำ Ruhr เขาเป็นหัวแรงสำคัญที่ระดมหาสมาชิกทุกชนชั้นอาชีพเข้าเป็นสมาชิกพรรค ฯ และไม่รู้สึกว่าพรรคคนงานเยอรมันฝักใฝ่สังคมชาตินิยม (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei/NSDAP) หรือพรรคนาซี เป็นศัตรูร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์เท่ากับพรรคประชาธิปไตยสังคม ฯ ซึ่งเขาก่นด่าเสมอว่าเป็นพวกฟัสซิสต์ แม้แต่ ๑๒ วันก่อนที่ ฮิทเล่อร์จะขึ้นครองอำนาจ เขายังบอกว่า “พวกเราต้องจัดการพวกเอ๊สเพเดให้ได้ ครั้นวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ (พ.ศ. ๒๔๗๖) พลพรรคนาซีก็ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี หลังจากนั้นไม่กี่วัน อุลบริคท์ได้เดินทางกลับเมืองไล้พ์ซิก จัดเก็บของใช้ที่จำเป็นเข้ากระเป๋า รวมทั้งหนังสืออีก  ๒-๓ เล่ม กับรูปถ่ายสมัยเด็ก ๆ บอกภรรยาและลูกสาวเพียง “ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขนะ” แล้วเขา   ก็จากไปนานถึง ๑๒ ปี
โปรดติดตามอ่านตอนที่ 3
ตอนที่ 1   http://www.schau-thai.de/?p=33954

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น