วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

อนาคตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มเมื่อ ๗๐ ปีก่อน (ตอนที่ 4)

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ
             วันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ (พ.ศ. ๒๔๙๖)  สตาลินถึงแก่อนิจกรรม Berija และ Malenkow ขึ้นครองอำนาจ และสั่งการให้ผู้นำเยอรมนีตะวันออกดำเนินนโยบายใหม่เพื่อสกัดกั้นผู้หลบหนีไปอยู่อีกฟากหนึ่ง และให้ชะลอการสร้างระบอบสังคมนิยมที่เร่งรุดไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ให้ออกระเบียบการทำงานของคนงานให้เข้มข้นยิ่งขึ้น คนงานต่างไม่พอใจมาก ดังนั้น ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน คนงานก่อสร้างในเบอร์ลินตะวันออกได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี Grotewohl ขอให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว หากทางการปฏิเสธ คนงานจะนัดหยุดงาน  แต่ทางการไม่ยินยอมคำขอ คนงานเรือนหมื่นจึงได้นัดหยุดงานประท้วงและเดินขบวนไปที่ทำการรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและขับไล่อุลบริคท์ด้วย แต่อุลบริคท์ได้หลบไปอยู่ที่กองบัญชาการทหารรัสเซียก่อนแล้ว วันที่เกิดเหตุการณ์นี้ ทางการนครเบอร์ลินตะวันตกได้นำไปตั้งชื่อถนนเป็นที่ระลึกว่า Straße des 17. Juni
นาย Waladimir Semjonow ผู้แทนสหภาพโซเวียตประจำเยอรมนีตะวันออกคนใหม่ประกาศจะปลดอุลบริคท์ หากอุลบริคท์ไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์คืนสู่ปกติ ในการเดินขบวนนั้น ผู้เดินขบวนกลุ่มหนึ่งได้ปีนขึ้นไปบน Brandenburger Tor และกระชากผืนธงแดงรัสเซียต่อหน้าทหารรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียจึงไม่พอใจ เพราะเห็นว่าพวกเดินขบวนไม่ได้ต่อต้านเพียงอุลบริคท์เท่านั้น แต่ได้ต่อต้านการยึดครองของรัสเซียด้วย หลังจากนั้นไม่นานได้มีการยิงปืนเป็นชุด ผู้เดินขบวนต่างรู้ว่าการปราบหนักเริ่มแล้ว ส่วนผู้อยู่เบื้องหลังไม่ใช่ใครอื่น เขาคืออุลบริคท์ที่พวกเดินขบวนต้องการขับไล่นั่นเอง สถานการณ์นี้ได้ช่วยกอบกู้ ให้เขากลับมีอำนาจแข็งแกร่งขึ้นอีก จากนั้นเขาได้เปลี่ยนกลไกและบุคคลภายในพรรค ฯ ใหม่
ในปี ๑๙๖๐ (พ.ศ. ๒๕๐๓) ประธานาธิบดี Wilhelm Pieck ถึงแก่อนิจกรรม อุลบริคท์เลยรวบตำแหน่งหัวหน้าพรรค ฯ ประธานาธิบดี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้คนเดียวเขาคิดว่าถึงเวลาต้องดำเนินนโยบายเสี่ยงทำสงครามร้อนแล้ว มิฉะนั้นคงได้เยอรมนีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น แต่อย่างน้อยต้องรวบอดีตนครหลวงเก่าของอาณาจักรเยอรมันทั้งหมดไว้ให้ได้     ซึ่งประธานาธิบดีครุสช้อฟก็เห็นด้วย และในช่วงนั้นยังมีชาวเยอรมันซีกตะวันออกหลบหนีข้าม  มาเยอรมนีซีกตะวันตกตลอดเวลา อุลบริคท์กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันใหม่     เขตแดนที่เปิดเข้ามาเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเอรมันและเข้าสู่เขตประชาธิปไตย นายทุน ง่ายต่อการก่อวินาศกรรมและการโจมตีโดยพวกสายลับจากเบอร์ลินตะวันตก” ที่จริง  เขามีแผนสร้างกำแพงแบ่งเขตแดนยาว ๔๖ กิโลเมตรมานานแล้วภายใต้รหัส “กำแพงเมืองจีน ๒”  ในที่สุด คณะกรรมการการเมืองของพรรค ฯ ได้กำหนดวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) เป็นวันดำเนินการ ครั้นเวลา ๐๑.๐๐ น. หน่วยจู่โจมของรัสเซียและกองทัพประชาชนเยอรมันเริ่มปิดล้อมเขตแบ่งกรุงเบอร์ลินและก่อกำแพงคอนกรีต โดยเจ้าหน้าที่ของทางการเบอร์ลินตะวันตกและฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกได้แต่เฝ้าดูอย่างงงงวย
มีเรื่องที่ควรสังเกตก็คือในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ก่อนก่อกำแพงเบอร์ลิน ๘ สัปดาห์     อุลบริคท์ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาสัญญาสันติภาพและการแก้ไขปัญหาเบอร์ลินตะวันตก ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์จากนครเบอร์ลินตะวันตกได้ถามเขาว่า เยอรมนีตะวันออกจะกำหนดเส้นเขตแดนที่ประตูบรันเด้นบวร์กหรือไม่ อุลบริคท์ตอบว่า “เราไม่มีแผนเช่นนั้น และไม่มีใครตั้งใจจะก่อสร้างกำแพง แต่เราต้องการระงับข้อพิพาททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์ลินตะวันตกกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันอย่างสันติวิธี” แต่แล้วก็มีการก่อกำแพงเบอร์ลินในวันนั้นขึ้น ซึ่งละเมิดสถานะของ ๔ มหาอำนาจในเบอร์ลินและไม่เคยมีใครพูดเรื่องกำแพงมาก่อนนอกจากการตอบแถลงข่าวของอุลบริคท์ แม้แต่ครุสช้อฟเองก็ได้บอกเอกอัครราชทูตเยอรมนีตะวันตกประจำกรุงมอสโกว่า “อุลบริคท์สนใจการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ซึ่งหมายถึงการแยกทำสัญญาสันติภาพระหว่างสหภาพ ฯ โซเวียตกับเยอรมนีตะวันออก นอกจากนี้ สหภาพโซเวียต   จะไม่ยกปัญหาเบอร์ลินขึ้นมาเจรจาต่อไปอีก
นาย Willy Brandt อดีตนายกเทศมนตรีบริหารนครเบอร์ลินตะวันตก       และนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้เขียนบันทึกเปิดเผยเบื้องหลังนโยบายด้านตะวันออกหรือ Ostpolitik ที่เกี่ยวกับการสร้างกำแพงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม  ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) ซึ่งขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ฯ ว่าเขารู้สึกผิดหวัง      ที่มหาอำนาจตะวันตกปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อสร้างกำแพงโดยไม่ปกป้องอย่างแข็งขัน วันนั้น     ก็ตรงกับวันอาทิตย์ ผู้นำของฝ่ายตะวันตกได้ออกไปพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ เขาจึงขอผู้บัญชาการทหารของประเทศมหาอำนาจทั้ง ๓ ยื่นประท้วงโดยด่วนต่อการกระทำนี้ และให้    หามาตรการพิทักษ์ความปลอดภัยแก่ชาวเบอร์ลินตะวันตก แต่น่าเสียใจที่มหาอำนาจตะวันตก ใช้เวลา ๒๐ ชั่วโมงสำหรับส่งทหารไปยังเขตหน้ากำแพง ใช้เวลา ๔๐ ชั่วโมงก่อนจะส่งคำประท้วงไปถึงบัญชาการทหารสหภาพโซเวียตในเบอร์ลินตะวันออก และใช้เวลา ๗๒ ชั่วโมงสำหรับส่งคำประท้วงไปกรุงมอสโก และในวันนี้เอง เขาจึงได้ตัดสินใจหาทางที่จะต้องแก้ปัญหาเบอร์ลินและเยอรมนีที่ถูกแบ่งแยกต่อไป และเหตุการณ์ครั้งนี้ช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในเวลาต่อมา
ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย  Bundesarchiv, B 145 Bild-F031406-0017 / CC-BY-SA
ตามทัศนะของบรั๊นดท์ เมื่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรซึ่งยึดครองเบอร์ลินพูดถึงปัญหาเบอร์ลิน ย่อมหมายถึงเบอร์ลินตะวันตก การก่อสร้างกำแพงเบอร์ลินจึงมิได้กระทบสิทธิของฝ่ายตนเลย มีหลักฐานว่ามหาอำนาจตะวันตกได้ตกลงกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการสร้างกำแพงเบอร์ลินแล้วคือ ๒ วันก่อนที่จะก่อสร้างกำแพง สหาย Koniev ผู้พิชิตกรุงเบอร์ลินคนหนึ่ง ได้ถูกส่งตัวกลับมาที่นี่และได้ร่วมกินอาหารกลางวันกับผู้บัญชาการทหารฝ่ายตะวันตก ซึ่งเขาได้กล่าวให้ความมั่นใจว่า “ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น จะไม่กระทบผลประโยชน์ของสหายร่วมรบในสงครามเลย” ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่การประชุมที่ Yalta ระหว่างสตาลิน รู้สเว้ลท์ และเชอร์ชิ่ล ในปี ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) เป็นต้นมา ได้มีความตกลงและความเข้าใจกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตว่าจะไม่แทรกแซงเขตอิทธิพลของกันและกัน ดังเช่นเหตุการณ์ในเชโกสโลวะเกียในปี ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) เหตุการณ์ในฮังการี่ในปี ๑๙๕๖ (พ.ศ. ๒๔๙๙) การสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) และเหตุการณ์ในเชโกสโลวะเกียอีกครั้งในปี ๑๙๖๘ (พ.ศ. ๒๕๑๑) รวมทั้งการประกาศตัวเป็นอิสระของตีโต้แห่งยูโกสลาเวีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกามิได้เข้ายุ่งเกี่ยวหรือช่วยอย่างจริงจัง การดำเนินนโยบายปฏิปักษ์ต่อเยอรมนีตะวันตกของอุลบริคท์ เป็นผลดีต่อการวางยุทธศาสตร์ในยุโรปของสหภาพโซเวียต แต่เป็นผลร้ายต่อชาวเยอรมันซึ่งจำต้องพลัดพรากจากกัน เนื่องจากความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคน     เพียงไม่กี่คนที่มีอิทธิพลครอบงำวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขา
วัยชราย่างกรายมาหาอุลบริคท์ กอปรกับเขามีเส้นโลหิตตีบตันส่งผลให้เป็นอัมพาต แขนและขาเคลื่อนไหวได้ช้าและความจำเสื่อม พอวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ (พ.ศ. ๒๕๑๔) เขาได้รับคำขอให้ลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ งานสุดท้ายของเขาคือการลงนามสนธิสัญญาเบื้องต้นระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีว่าด้วยการยอมรับความเป็นรัฐและอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน แล้วชื่อของเขาก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลัง สถานที่ที่เคยใช้ชื่อของเขาตั้งชื่อก็ได้รับการเปลี่ยน  ไปใช้ชื่ออื่น ชายชราคนนี้ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ขณะที่มีการจัดงานชุมนุมเยาวชนทั่วโลกที่นครหลวง แต่งาน ฯ ก็ยังดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เขาได้ร่วมก่อไว้และทิ้งไว้เบื้องหลัง ถือเป็นประวัติศาสตร์  ส่วนหนึ่งของชนชาติเยอรมันรุ่นหนึ่งที่มีทั้งสุขระคนทุกข์

เอกสารที่ใช้ในการเขียน
  • Der Schreiner, der das andere Deutschland zimmerte ของนาย Hensic L. Würmeling
  • Die Teilung ของนาย Heinrich Jänecke

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น