วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

Frühjahrsputz แจ๋วมาเอง

ถึงแม้ว่าฤดูหนาวจะยังไม่สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ  แต่สองสามวันมานี้แดดออก อากาศอุ่นสบาย ผู้เขียนจึงเริ่มนึกถึงการเก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน  เช็ดกระจกขจัดคราบไคลจากฤดูหนาว ฯลฯ  อย่างที่ชาวเยอรมันเรียกว่า “Frühjahrsputz”     ไม่ได้ขยันขันแข็งหรือเป็นโอมาเยอรมันจอมสะอาด  แต่สว่างไสวแบบนี้  มองไปที่ไหนก็เห็นหยากไย่และฝุ่นผงชัดเจน  ซึ่งในช่วงเวลามืด ๆ มัว ๆ ระหว่างฤดูหนาวมองไม่เห็น  ถึงจะขี้เกียจขนาดไหนก็จำใจต้องแปลงตัวเป็นแจ๋วชั่วคราว  ตามปกติผู้เขียนเป็นคนแพ้สารเคมี  โดนเข้าละก้อเป็นผิวลอก  มือบวมพองเอาเลยทีเดียว  จึงใช้น้ำยาทำความสะอาดอยู่ไม่กี่อย่าง  เจ้าลูกชายตัวดีสั่นหัวดิก ๆ ท้วงว่าอย่างนี้จะไปได้เรื่องอะไร  แต่ตามความเป็นจริงผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีน้ำยาทำความสะอาดพิเศษประเภทต่าง ๆ เต็มตู้
Heike Stiller ที่ปรึกษาด้านการกำจัดขยะของบริษัท AWA Entsorgung GmbH แนะนำว่าน้ำยาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำลายน้อยก็สามารถทำให้ที่อยู่อาศัยสะอาดเอี่ยมได้  เธอกล่าวว่าเพียง ๓ ชนิดก็เพียงพอแล้ว ได้แก่ น้ำยาหรือผงขัด Scheuermilch สำหรับความสกปรกเป็นคราบแข็ง  น้ำส้มสายชูหรือกรดมะนาวสำหรับตะกรันและคราบปัสสาวะ  น้ำยาทำความสะอาดสารพัดประโยชน์ที่ดี ๆ  เพื่อขจัดไขมันและความสกปรกทั่ว ๆ ไป  เธอยังมีข้อแนะนำบางประการที่ใช้ได้ผลมาแล้วในสมัยคุณย่าคุณยาย  โดยส่วนผสมระหว่างผงฟูและน้ำ รวมทั้งแปรงสีฟันเก่าจะช่วยให้รอยยาระหว่างกระเบื้องสะอาดดี  กระจกจะไม่มีรอยคราบ  หากใส่น้ำส้มสายชู ๒-๓ หยดในน้ำล้าง  ท่อระบายน้ำที่กลิ่นเหม็นตึๆ  น้ำยาทำความสะอาดสารพัดประโยชน์ช่วยได้  โดยเทลงไปแล้วปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก่อนจะเทตามด้วยน้ำต้มเดือดครึ่งลิตร  แค่นี้ท่อก็จะโล่งและไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนา  ผู้ที่ประสงค์จะทำความสะอาดอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ควรใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน  แม้ว่า Stiller จะเห็นว่าผลลัพธ์การทำความสะอาดโดยใช้ผ้า Mikrofaser จะดีกว่าผ้าอื่น ๆ
ส่วนพื้นไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ น้ำยาทั้งสามชนิดยังสามารถนำมาใช้ได้  โดยเฉพาะไม้ที่ทาน้ำมันหรือลงแวกซ์  อย่างไรก็ดี Stiller แนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดแบบอ่อน  โดยใช้อย่างประหยัด  ซึ่งหมายถึงว่าเช็ดตู้ด้วยน้ำและน้ำยาดูแลพิเศษอย่างอ่อนที่มีส่วนผสมของขี้ผึ้งปีละครั้งก็เพียงพอแล้ว พื้นไม้ถูเป็นครั้งคราวด้วยสบู่สำหรับไม้
สำหรับผู้ที่มีน้ำยาพิเศษต่าง ๆ มากมายหลายชนิดก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งไป  Stiller มีความเห็นว่าควรใช้ให้หมดดีกว่า  แต่ผู้ที่ประสงค์จะเลิกใช้น้ำยาที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมมากจริง ๆ ก็สามารถนำไปมอบให้กับสถานที่รับมอบสารเป็นพิษได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ปริมาณไม่เกิน ๑๕ ลิตรหรือ ๑๕ กิโลกรัม)  ซึ่งที่อยู่ในคอมมูนแต่ละแห่งสามารถดูได้จากปฏิทินกำหนดการเก็บขยะ จะรู้ได้ว่าเป็นพิษหรือไม่ดูได้จากข้างหลังขวด  ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ติดอยู่  ถังสีดำที่ถูกกากบาทหมายถึงไม่ให้ทิ้งในถังขยะ ถ้าไม่แน่ใจก็ให้นำไปที่สถานที่รับมอบสารพิษ
เอาละ  ให้กำลังใจตัวเองโดยคิดเสียว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง   เปิดเพลงฟังไปด้วยเพลิน ๆ  ไม่นานก็เช็ดกระจกเสร็จเป็นบาน ๆ  เห็นหน้าต่างใส ๆ แล้วก็รู้สึกหายเหนื่อยไปได้เยอะ  ภาวนาอย่าให้พระพิรุณท่านนึกครึ้มอกครึ้มใจโปรยฝนลงมาก็แล้วกัน  เพี้ยง
 Eig1
เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล   Aachener Zeitung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น