วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

อนาคตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มเมื่อ ๗๐ ปีก่อน (ตอนที่ 3)

เอกอัครราชทูต  วิญญู แจ่มขำ
             สถานที่แรกที่อุลบริคท์ไปพำนักคือกรุงปารีส และเข้าทำงานที่พรรคคอมมิวนิสต์    แห่งเยอรมนีสาขาต่างประเทศ แล้วเดินทางไปอยู่ที่กรุงมอสโกตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๘  (พ.ศ. ๒๔๘๑) จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ที่นั่นเขาได้พบ Tito จากยูโกสลาเวีย Togliatti จากอิตาลี่ และ Thorez จากฝรั่งเศส แม้ว่าอุลบริคท์เคยมาเรียนที่กรุงมอสโกและคุ้นเคยหลักสูตรต่าง ๆ บ้างแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้ เขาต้องศึกษาตามแนวของผู้มีอำนาจในกรุงมอสโกเท่านั้น
ครั้นวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ๑ สัปดาห์ก่อนเกิดสงครามโลก    ครั้งที่ ๒ ฮิทเล่อร์กับสตาลินลงนามสัญญาไม่โจมตีกัน อุลบริคท์ชื่นชมสัญญานี้เงียบ ๆ  แต่อีก ๒ ปีต่อมา เมื่อฮิทเล่อร์ละเมิดสัญญาดังกล่าว เขาก็เห็นทางเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลนาซีและหวังจะกลับบ้านเสียที การที่เยอรมนีเปิดแนวรบหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่อได้สูญเสียกำลังพลไปมากที่สตาลินกราด รวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมสงครามจนท้ายที่สุดส่งผลให้เยอรมนีพ่ายแพ้ ผู้คนประสบความทุกข์ลำเค็ญและยังไม่รู้ชะตากรรมของอาณาจักร ฯ ว่าจะเป็นอย่างไร แต่บุคคลที่ซ่อนอาวุธลับเพื่อยึดครองอำนาจในเยอรมนีภายหลังสงคราม กำลังดำเนินงานตามแผนต่อไป
รัสเซียได้เข้ามาตั้งกองบัญชาการทหารในกรุงเบอร์ลินแล้ว พร้อมกับออกคำสั่งอนุญาตให้พรรคการเมืองทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์พรรคนาซีดำเนินงานต่อไปได้ ระยะนี้ อุลบริคท์ต้องทำงานประสานและรับคำสั่งจากกองบัญชาการทหารรัสเซียในกรุงเบอร์ลินเป็นประจำ เขารู้ดีว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีเมื่อ ๑๒ ปีก่อน มีที่นั่งในสภาอาณาจักร ฯ ไม่มาก แม้หากมีการเลือกตั้งขณะนี้ ก็คงไม่ได้ที่นั่งมาก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีเอกภาพโดยรวมพลพรรคประชาธิปไตยสังคมกับพรรคคอมมิวนิสต์เข้าด้วยกัน เพื่อเข้าปกครองประเทศแทนพรรคการเมืองอื่น และนี่คือแผนขั้นที่ ๒ ซึ่งลงมือในวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ. ๒๔๘๙)
อุลบริคท์ได้รับคำสั่งให้ไปพบพันเอก Tulpanow หัวหน้าสำนักงานสารนิเทศของกองบัญชาการทหารรัสเซีย ฯ เพื่อรับนโยบายว่า “คงยากที่จะรวมเบอร์ลินซีกตะวันตกและเยอรมนีซีกตะวันตกเข้ามาไว้ในครอบครองด้วยได้ แต่อย่างน้อยต้องดำเนินการให้เขตยึดครองเยอรมนีของสหภาพโซเวียตมีรูปแบบการปกครองอย่างรัสเซีย ดังนั้นในวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ๓ วันก่อนที่รัสเซียจะถอนตัวออกจากคณะกรรมการยึดครองเยอรมนี ๓ วันก่อนที่ฝ่ายรัสเซียใช้วิธีปิดล้อมเบอร์ลินซีกตะวันตก และเป็นช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการรัฐสภาในเขตยึดครองเยอรมนีตะวันตกจะประชุมกันครั้งแรกที่กรุงบ็อนน์ ส่วนฝ่ายรัสเซียก็จะจัดให้มีสมัชชาประชาชนเยอรมันเพื่อเลือกสภาประชาชนเยอรมัน
ดังได้กล่าวแล้วว่า ประเทศมหาอำนาจผู้ชนะสงครามและควบคุมเยอรมนีไม่สามารถ ตกลงเรื่องระบบการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจสำหรับเยอรมนีใหม่ได้ ประเทศมหาอำนาจฝ่ายเสรีนิยม ๓ ประเทศ จึงตัดสินใจรวมเขตยึดครองของตนตั้งเป็นประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ต่อมาในวันที่ ๗ ตุลาคม พันเอกทุลพาน็อฟได้ประกาศจัดตั้งให้เขตยึดครองของสหภาพโซเวียต เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มความตึงเครียดระหว่างเยอรมนีด้วยกัน ขณะที่อุลบริคท์ ผู้อยู่เบื้องหลังยังมีตำแน่งเพียงรองนายกรัฐมนตรี อีก ๑ ปีต่อมา เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหนเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคเอกภาพสังคมนิยมแห่งเยอรมนี (Sozialistische Einheitspartei Deutschlands/SED)
ขอบคุณภาพจาก  Bundesarchiv, Bild 183-08483-0003 / Köhler, Gustav / CC-BY-SA
ดร. คอนหราด อาเดเนาเอ้อร์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลทรงอำนาจในเยอรมนีตะวันตกฉันใด วัลเท่อร์ อุลบริคท์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลทรงอำนาจในเยอรมนีตะวันออกฉันนั้น นอกจากวิธีการขึ้นสู่อำนาจแตกต่างกันแล้ว บุคคลทั้ง ๒ ต่างก็นำพาประเทศภายใต้ธงชาติสีดำ/แดง/ทอง ๒ ผืนที่มีสัญลักษณ์ต่างกันไปคนละแนวทาง
นับตั้งแต่ปี ๑๙๔๗ (พ.ศ. ๒๔๙๐) ชาวนาเยอรมันในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตต่างละทิ้งผืนนาของตนเนื่องจากทางการมีนโยบายปฏิรูปที่ดิน โรงงานถูกยึด กิจการร้านค้าขายถูกโอนไปเป็นของรัฐหรือไม่ก็ถูกแบ่งปันไป พอย่างเข้าปี ๑๙๕๐ (พ.ศ. ๒๔๙๓) เป็นต้นมา นักการเมือง ชนชั้นกลาง พนักงาน แพทย์ กรรมกร และชาวนา เริ่มหลบหนีข้ามมาอยู่ในเยอรมนีตะวันตกและนครเบอร์ลินตะวันตก ยิ่งเมื่อก่อตั้งสหกรณ์การผลิตแล้ว พ่อค้าแม่ขายและช่างฝีมือต่างถูกริบทรัพย์สิน จึงพากันหลบหนีข้ามมาอีกหลายแสนคน
โปรดติดตามอ่านตอนที่ 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น