“Wer Berlin hat, hat Deutschland;
“ใครได้แบร์ลีน ได้เยอรมนี;
“Wer Deutschland hat , hat Europa.”
“ใครได้เยอรมนี ได้ยุโรป”
Lenin
เลนิน
สงครามรุกรานประชาชาติยุโรปของพลพรรคฟัสซิสต์ทั้งในอิตาลี่และในอาณาจักรเยอรมันที่ ๓ (อาณาจักร ฯ ที่ ๑ ค.ศ. ๑๘๔๘/๑๘๔๙, อาณาจักร ฯ ที่ ๒ ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๑๙) จนลุกลามไปถึงแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา ได้สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ด้วยความพินาศย่อยยับไปทั่วเมื่อฝ่ายรัฐบาลนาซีของอาณาจักรเยอรมันที่ ๓ ซึ่งก่อและขยายสงครามดังกล่าวอย่างเต็มที่ได้ยอมจำนนต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ต้านสงคราม ในที่สุด ประเทศผู้พิชิตสงครามได้แก่สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต จึงเข้ายึดครองอาณาจักรเยอรมันที่ ๓ แล้วตกลงแบ่งดินแดนอาณาจักร ฯ และกรุงเบอร์ลินให้แต่ละประเทศควบคุมเขตยึดครองประเทศละเขต โดย ๓ ประเทศแรกได้ควบคุมพื้นที่ด้านทิศตะวันตก ส่วนประเทศที่ ๔ ได้ควบคุมพื้นที่ด้านทิศตะวันออก ดังนั้นกรุงเบอร์ลิน นครหลวงของอาณาจักร ฯ ที่ถูกแบ่งออกเป็น ๔ เขตด้วย จึงตกอยู่ในพื้นที่เขตยึดครองของสหภาพโซเวียต
ต่อมา ประเทศทั้ง ๔ ไม่สามารถเห็นพ้องกันเรื่องอนาคตของเยอรมนีที่ร่วมกันควบคุม เนื่องจากฝ่ายที่ควบคุมเขตยึดครองด้านทิศตะวันตกต้องการเห็นเยอรมนีใหม่มีระบบเศรษฐกิจ และสังคมแบบเดียวกับของตน แต่สหภาพ ฯ โซเวียตเห็นว่าระบบดังกล่าวจะเป็นต้นเหตุของลัทธิฟัสซิสม์และสงคราม จึงต้องการแยกดำเนินนโยบายเกี่ยวกับอนาคตของเยอรมนีใหม่ในเขตยึดครองของตนออกไปต่างหาก เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ เขตยึดครองด้านทิศตะวันตก ๓ เขต จึงรวมกันเป็นประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundesrepublik Deutschland/BRD) หรือเยอรมนีตะวันตก (West-Deutschland) อีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขตยึดครองด้านทิศตะวันออกก็ได้รับการสถาปนาเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (Deutsche Demokratische Republik/DDR) หรือเยอรมนีตะวันออก (Ost-Deutschland) และตั้งกรุงเบอร์ลินในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียต เป็นเมืองหลวงของประเทศใหม่นี้ (Hauptstadt der DDR) ส่วนกรุงเบอร์ลินซีกตะวันตกในเขตยึดครองของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรตะงันตกก็ได้รวมกันเป็นนครเบอร์ลินตะวันตก (West-Berlin) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สมัยนั้น หากใครรู้ประวัติและคุ้นเคยบุคคลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็อาจคาดการณ์อนาคตของอาณาจักรเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ แม้ในปัจจุบันหากใครสนใจศึกษาประวัติของบุคคลผู้นี้แล้ว ก็จะเข้าใจดีขึ้นว่าทำไมเยอรมนีจึงเป็นเช่นนี้และเป็นมาได้อย่างไร เนื่องจากประวัติของเขาเกี่ยวข้องกับชะตากรรมของเยอรมนีทั้ง ๒ ฟากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั่นเอง

นายวัลเท่อร์ อุลบริคท
ขอบคุณภาพจาก Bundesarchiv, Bild 183-08618-0005 / Sturm, Horst
นายวัลเท่อร์ อุลบริคท์ (Walter Ulbricht) คือบุคคลที่จะกล่าวถึง เขาเป็นคนสี่แผ่นดินโดยแท้ เพราะเขาเกิดในอาณาจักรเยอรมันที่ ๒ ซึ่งอ๊อทโท่ ฟอน บิ๊สมาร์ค เป็นอัครมหาเสนาบดี ที่เมืองไล้พ์ซิก เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๓ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เติบโตและมีกิจกรรมทางการเมืองในสาธารณรัฐไวม่าร์ ได้เผชิญความทุกข์เข็ญจากพลพรรคนาซี สมัยอาด้อลฟ์ ฮิทเล่อร์ ได้รู้เห็นการสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสมัย ดร. คอนหราด อาเดเนาเอ้อร์ ซึ่งตัวเขาเองเป็นผู้มีบทบาทสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน และภูมิใจว่าเป็นสาธารณรัฐของชาวนาและกรรมกรแห่งแรกของชนชาติเยอรมัน โดยยึดแนวทฤษฎีของคาร์ล ม้าร์กซ กับฟรี้ดริช เอ็งเง่ลส์ และแนวปฏิบัติจากกรุงมอสโก เขามีอำนาจเด็ดขาดก็จริง แต่เมื่อผู้ใหญ่ในพระราชวังเครมลินไม่พอใจ เขาก็หมดอำนาจอย่างรวดเร็ว ในระหว่างที่ประเทศกำลังเป็นเจ้าภาพจัดงานชุมนุมเยาวชนทั่วโลกที่นครหลวงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เขาก็ถึงแก่อนิจกรรม แต่งานชุมนุม ฯ ก็ดำเนินต่อไปโดยไม่มีพิธีการสำคัญใด ๆ สำหรับเขา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาได้มีส่วนกระทำต่อชนชาติเยอรมันอีกฟากหนึ่งในช่วงนั้น ผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ล้วนกล่าวถึงเขาด้วยทัศนะต่าง ๆ นานา
โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น