วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องควรรู้...การเดินทางท่องเที่ยวในสหภาพยุโรป

      ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ที่แคว้นนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลนโรงเรียนปิดเทอมใหญ่แล้ว ครอบครัวที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กนักเรียนต่างก็พากันไปเที่ยว บ้านผู้เขียนโชคดีที่พ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว จึงสามารถหลบเลี่ยงไปเที่ยวกันก่อนปิดเทอมหรือหลังปิดเทอมไปแล้ว ไม่ต้องผจญรถติด ผู้คนล้มหลาม แย่งกันกินเที่ยว ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปี น่าจะสนุกสนานผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าจำนวนไม่น้อยเที่ยวกันอยู่ภายในสหภาพยุโรปนี่เอง จึงขออนุญาตนำข้อมูลและคำแนะนำในหัวข้อที่สำคัญ ๆ ของสำนักงาน Europe Direct Informationsbüron ที่ Aachen มาบอกเล่าเก้าสิบกัน
๑.     ค่าธรรมเนียม Roaming ข้อมูลบางประการในการเดินทางในสหภาพยุโรปเป็นเรื่องใหม่ถอดด้าม เช่น ค่าธรรมเนียม Roaming นับตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายนที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมการโทรศัพท์และการใช้อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ถูกยกเลิก  ตั้งแต่บัดนี้บัตรซิมการ์ดสามารถใช้ได้ในประเทศสมาชิก EU โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม  ซึ่งได้แก่การโทรศัพท์จากต่างประเทศในเขต EU ส่ง SMS และการโรมมิงข้อมูล  ในการโทรศัพท์จากประเทศบ้านเกิดหรือประเทศที่ลงทะเบียนซิมการ์ด (เช่น ในประเทศเยอรมัน) ไปยังประเทศ EU อื่น (เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์) สามารถมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นได้  การทำสัญญาโทรศัพท์เพื่อให้ราคาถูกในต่างแดนไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ  กฎระเบียบใหม่ประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Fair-Use-Grenze” ที่กำหนดการให้บริการโรมมิง  แต่สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวพรมแดนขยายกว้างขวางมากขึ้นมาก
๒.     การเจ็บป่วยในต่างแดนใน EU แม้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปี  แต่ก็มีโอกาสได้สูงที่จะนำไปสู่อุบัติเหตุหรือการเจ็บไข้ได้ป่วยในช่วงนี้ได้  Winfried Broemmel ผู้อำนวยการสำนักงาน Europe Direct ชี้แจงสิทธิของนักเดินทางว่าในการพำนักอยู่ชั่วคราว ในกรณีที่เจ็บป่วยกะทันหันหรืออุบัติเหตุมีสิทธิใช้บริการของระบบสาธารณสุขของทางการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันและค่าใช้จ่ายแบบเดียวกันประชาชนที่ทำประกันสุขภาพในประเทศ
๓.     ต้องใช้บัตรประกันสุขภาพแบบพิเศษในต่างประเทศใน EU หรือไม่  มีบัตรประกันสุขภาพของ EU ที่รับประกันว่าบุคคลนั้นทำประกันในประเทศ EU  ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากของการจัดการและทำให้การชดเชยค่าใช้จ่ายง่ายขึ้น  โดยสามารถขอได้จากบริษัทประกันสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ในบางประเทศมีการบรรจุไว้ในบัตรประกันสุขภาพปกติ  ส่วนมากจะพบด้านหลังของบัตร
๔.    ใบสั่งยาใช้ได้ในประเทศ EU อื่น ๆ ด้วยหรือไม่  ใช้ได้ แต่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามียานั้น ๆ ในประเทศที่ไปเที่ยวหรือไม่  ทางที่ดีที่สุดให้ออกใบสั่งต่างประเทศด้วย  เพื่อให้ร้านขายยาจัดจำพวกยาได้ดีขึ้น
๕.    ต้องฉีดวัคซีนก่อนเดินทางไปยังประเทศ EU อื่นหรือไม่  ในกรณีปกติไม่จำเป็น  ระเบียบเกี่ยวกับวัคซีนและคำแนะนำมีเพียงสำหรับบางพื้นที่ในต่างประเทศ  ซึ่งขอคำแนะนำจากแพทย์ดีที่สุด
๖.     สิทธิในฐานะผู้โดยสาร  นักเดินทางไม่เพียงสามารถเดินทางด้วยรถยนต์เท่านั้น  หากแต่ด้วยรถโดยสาร รถไฟหรือเรือ  ใน EU ผู้โดยสารทั้งหมดมีสิทธิได้รับข้อมูลที่เที่ยงตรงและใหม่ล่าสุด  มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือและการดูแล รวมถึง (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ) ได้รับค่าเสียหายจากการงดหรือความล่าช้ามาก 
-            ในการเดินทางข้ามพรมแดนด้วยรถโดยสารในเส้นทางมากกว่า ๒๕๐ กิโลเมตร ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือหรือดูแล รับเงินคืนหรือเปลี่ยนการจองในกรณีที่ล่าช้าหรืองดเดินทาง
-             ผู้โดยสารเครื่องบินก็ได้รับสิทธิหากเครื่องบินยกเลิกเที่ยวบินหรือล่าช้า รวมทั้งการปฏิเสธการรับส่ง  ในฐานะผู้โดยสารมีสิทธิได้รับข้อมูล รับเงินคืน เปลี่ยนการวันเดินทาง ค่าเสียหาย รวมทั้งสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือและการดูแลในเฉพาะบางกรณี  สิทธินี้มีผลสำหรับเที่ยวบินทุกเที่ยวจากสนามบินใน EU รวมถึงเที่ยวบินใน EU ที่ดำเนินการโดยสายการบินของ EU  นอกจากนั้น สายการบินต้องรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งรับผิดชอบกระเป๋าเดินทางที่ถูกส่งไปผิดที่หรือได้รับความเสียหาย 
-            ในการเดินทางด้วยรถไฟข้ามพรมแดนภายใน EU ในกรณีที่ล่าช้ามากหรือรถไฟไม่เดินทาง ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับข้อมูลล่าสุด รวมทั้งรับเงินคืน เปลี่ยนวันเวลาการเดินทาง ความช่วยเหลือหรือการดูแล และค่าเสียหาย  ในเส้นทางภายในประเทศ สิทธินี้ไม่สามารถใช้ได้ 
-            ในฐานะผู้โดยสารเรือ มีสิทธิในการรับเงินคืน การเปลี่ยนวันเวลาเดินทาง ค่าเสียหายและความช่วยเหลือหรือการดูแล หากเรือล่าช้าหรืองดการออกเรือเที่ยวนั้นๆ สิทธินี้ใช้ได้สำหรับนักเดินทางเกือบทั้งหมดที่เดินทางด้วยเรือจากหรือไปยังท่าเรือใน EU หรือสำหรับการล่องเรือที่เริ่มต้นจากท่าเรือ EU  

ผู้เดินทางที่พิการหรือความสามารถจำกัดในการเคลื่อนที่ ได้รับสิทธิในการดูแลหรือความช่วยเหลือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ท่าเรือ สนามบิน และสถานีรถไฟ รวมทั้งท่ารถโดยสารบางแห่ง  ซึ่งมีผลบนเครื่องบิน รถไฟ เรือหรือรถโดยสารทางไกลด้วย  อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการสนามบิน รถไฟ ฯลฯ ควรได้รับการแจ้งเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิเป็นพิเศษอย่างช้าที่สุด ๔๘ ชั่วโมงล่วงหน้า (รถโดยสารทางไกล ๓๖ ชั่วโมง)  บัตรจอดรถของ EU สำหรับคนพิการสามารถใช้ที่จอดรถคนพิการไม่เพียงในประเทศตนเองเท่านั้น  หากแต่ทุกแห่งในประเทศอื่นๆใน EU ด้วย  ในการร้องเรียนคนเดินทางสามารถขอคำปรึกษาฟรีภายใต้หมายเลข  00800/67891011 ของ Europe Direct
๗.    ขับรถยนต์ทั่ว EU  นับเป็นเวลานานมาแล้วที่ผู้เดินทางมีทางเลือก ไม่เพียงทางเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร หรือเรือ เท่านั้น หากรถยนต์ส่วนบุคคล ก็เป็นทางเลือกที่นิยมกันอยู่เสมอ  กระนั้น หากข้ามพรมแดนไปยังประเทศ EU อื่นเป็นไปได้ว่ากฎเกณฑ์และความเคยชินในการคมนาคมบนท้องถนนแตกต่างกัน  ในปัจจุบันนี้เป็นที่รู้กันว่าในบางประเทศมีการลงโทษเสียค่าปรับสูง จนถึงการยึดยานพาหนะในการกระทำผิดกฎจราจร  ตราบใดที่ใบขับขี่ออกให้ใน EU  ใบขับขี่จะได้รับการยอมรับทั่วทั้ง EU  นอกจากนั้น ใบขับขี่ที่เพิ่งออกใหม่ทุกใบจะอยู่ในรูปบัตรพลาสติกเหมือนกันหมด ในประเทศ EU ส่วนใหญ่ต้องนำใบสำคัญประจำรถติดไปด้วย  บริษัทประกันรถยนต์เสนอการครอบคลุมอย่างน้อยที่สุดทั่ว EU  ซึ่งใช้ได้กับอีสแลนด์ นอรเวย์ และลิชเตนสไตน์ด้วย   มีข้อแนะนำให้ผู้ขับรถยนต์ทุกคนนำหลักฐานการประกันของตนเองไปด้วย  โดยมีบัตรประกันสีเขียว  ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นข้อบังคับ  แต่ได้รับการยอมรับทุกแห่งถึงการประกันภัยบุคคลที่สาม  หากไม่ได้เป็นเจ้าของบัตรดังกล่าว  หลักฐานการประกันอื่น ๆ ช่วยได้มาก  นั่งในรถยนต์ก็ต้องป้องกันตนเอง  ซึ่งหมายถึงว่าทั่ว EU มีหน้าที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย  สำหรับเด็กก็ต้องมีระบบป้องกันที่เหมาะสม  ระเบียบด้านการคมนาคมของ EU ที่สำคัญที่สุดแสดงใน App Going Abroad/Im Ausland unterwegs
๘.    ระเบียบศุลกากร  การนำของไปฝากคนที่อยู่บ้านเป็นเรื่องปกติของการท่องเที่ยว  ศุลกากรพรมแดนระหว่างประเทศใน EU หดหายไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถซื้อทุกอย่างตามใจชอบในประเทศอื่น ๆ ใน EU และนำเข้าประเทศบ้านเกิดได้  โดยพื้นฐานสามารถจับจ่ายในต่างประเทศใน EU ได้ตามต้องการและนำสินค้านี้กลับมาบ้าน ตราบใดที่เพื่อการใช้สอยส่วนตัวและไม่ใช่เพื่อการค้าขายต่อ  แต่มีข้อจำกัดสำหรับยาสูบและแอลกอฮอล์  ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการบริโภคอื่น ๆ ต้องรวมอยู่ในราคาซื้อแล้ว  ในประเทศ EU อื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บภาษีอื่น ๆ  ขอบเขตสำหรับแอลกอฮอล์และยาสูบ แต่ละประเทศสามารถกำหนดได้เอง  แต่ทั่วไปถือว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เกิน ๘๐๐ มวนสำหรับบุหรี่ ซิการิลโล ๔๐๐ มวนและซิการ์ ๒๐๐ มวน ยาสูบ ๑ กิโลกรัม  เหล้าแบบ Sprituosen ๕๐ ลิตร  ไวน์ที่ผสมแอลกอฮอล์ (ตัวอย่างเช่น ไวน์ลิเคอร์ อย่าง Porto หรือเชอร์รี) ๒๐ ลิตร  ไวน์ ๙๐ ลิตร  (ในจำนวนนี้  Schaumwein สูงสุด ๖๐ ลิตร)  เบียร์ ๑๑๐ ลิตร  ศุลกากรเยอรมันให้ข้อคิดในอินเตอร์เน็ตว่า “จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๐๑๗ บุหรี่ที่บุคคลเอกชนซื้อปลอดภาษีในประเทศบัลแกเรีย โครเอเซีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย ฮังการีหรือโรมาเนีย สำหรับความต้องการส่วนตัวและนำมายังพื้นที่เสียภาษีเยอรมัน เพียงปริมาณถึง ๓๐๐ มวนเท่านั้นที่ไม่เสียภาษี” ในหัวข้อเรื่องเงินก็มีกฎพิเศษสำหรับการนำเข้าหรือนำออกใน EU  หากนำเงินสดข้ามพรมแดนไปมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ยูโรต้องแจ้งศุลกากร  โดยมีผลเหมือนกันสำหรับปริมาณเงินใกล้เคียงในสกุลเงินอื่น  โดยต้องแจ้งต่อศุลกากรด้วย

      เอ้า อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้หรือเปล่าน้าาา... กว่าจะจบเล่นเอาเหนื่อยเลยเนอะ (คนพิมพ์ก็พิมพ์จนนิ้วหงิกเหมือนกัน) นี่ขนาดว่าเป็นบางหัวข้อเท่านั้นนะนี่ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนเดินทางท่องเที่ยวช่วงปิดเทอมใหญ่นี้นะจ๊ะ Gute Reise!
    
เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น