วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติวันตรุษจีน

        ที่มาของวันตรุษจีนนั้นเชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว  โดยจัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ  เดิมทีไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย  นั่นคือเมื่อ ๒,๑๐๐ ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า “ซุ่น”  ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์  จนกระทั่งต่อมาในยุค ๑,๐๐๐ กว่าปีก่อนคริสตศักราชเทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า “เหนียน” หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง  นอกจากนั้นวันตรุษจีนยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันชุงเจ่”  ซึ่งหมายถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่  เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว  ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก  ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวนได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง  ส่วนการกำหนดวันตรุษจีนนั้นตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ เดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย และถือว่าคืนวันที่ ๓๐ เดือน ๑๒ เป็นวันส่งท้ายปีเก่า  ส่วนวันที่ ๑ เดือน ๑ คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ  การเตรียมงานเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้นจะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวันคริสต์มาสของประเทศตะวันตก)  โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่าง ๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือนและเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนถึงชั้นล่าง  เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป  ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่างจะประดับประดาด้วยสีแดงและกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ  จากนั้นครอบครัวร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้ง จะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี  สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี  จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่ายจะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม หมายถึง บรรพชนอวยพร  หลังจากทานอาหารค่ำแล้วทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่  โดยการเล่นเกม เล่นไพ่หรือดูรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน  และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยาหรือไม่พอใจ  เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น