วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องของ ไข่-ไข่-ไข่

        มีใครบ้างไม่ชอบกินไข่ เข้าใจว่าคงมีน้อยมาก เนื่องจากไข่เป็นอาหารที่ซื้อหาได้ง่าย ราคาถูก สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้งอาหารคาวและหวาน  ส่วนตัวผู้เชียนเองนั้นชอบมาก ถึงขนาดที่ว่าไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลยก็ไม่เดือดร้อน  แต่ถ้าต้องงดไข่ละก้อ ชีวิตคงเศร้าน่าดู เพราะของที่ชอบล้วนแต่ประกอบด้วยไข่ทั้งสิ้น ไม่ว่าขนมเค้ก เส้นบะหมี่ พาสตา ฯลฯ ยิ่งใกล้เทศกาลอีสเตอร์อย่างนี้ ไปไหนก็หนีไข่ย้อมสีสดใสไม่พ้น ทั้งไข่จริงและไข่พลาสติก จึงอดไม่ได้ต้องเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไข่ให้เข้ากับเทศกาล
        มนุษย์แต่ละคนกินไข่ไก่เฉลี่ยมากกว่า ๒๐๐ ฟองต่อปี  มากเกินไปหรือเปล่า ?  ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเห็นพ้องกันว่าการผสมผสานสารอาหารจากโปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ ทำให้ไข่ไก่เป็นอาหารที่ถูกสุขลักษณะ  ที่มีคุณค่าเป็นพิเศษ ได้แก่ โปรตีน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้เกือบสิ้นเชิง  นอกจากนั้นไข่ยังให้วิตามินเอที่สำคัญสำหรับการมองเห็น วิตามินบีที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเลือด รวมทั้งเลซิธินที่สำคัญสำหรับสมองและเส้นประสาท 
Isabelle Keller แห่งสมาคมเพื่อการบริโภคเยอรมันกล่าวว่าสมาคม ฯ แนะนำไข่ ๒-๓ ฟองต่อสัปดาห์สำหรับผู้ใหญ่ โดยคำนวณขนมอบและอื่น ๆ ร่วมด้วย  ไม่ควรมากกว่านี้  เนื่องจากไข่แดงประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวและคอเรสโตรอลจำนวนมาก  สารทั้งหมดปริมาณมากถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ-การไหลเวียนของโลหิต  หากมีค่าคอเรสโตรอลในเลือดสูงกว่า ๒๐๐ mg/dl เป็นเวลานาน ควรพูดคุยกับแพทย์ว่าได้รับอนุญาตให้กินไข่เท่าใด
        ในปี ๒๐๑๒ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ห้ามการเลี้ยงไก่ในกรง  ในพื้นที่น้อยกว่า ๘๐๐ ตารางเซนติเมตร (ราว ๆ กระดาษขนาดเอ ๔ จำนวน ๑ แผ่นครึ่ง) ต่อไก่แต่ละตัว  ขณะนี้กฎหมายยังกำหนดการจัดคอนให้เกาะและพื้นที่สำหรับยืดเส้นยืดสาย  ที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่ผู้บริโภคด้วยจำนวนราว ๖๑% ของสัดส่วนตลาด ได้แก่ ไข่จากไก่ที่เลี้ยงบนดิน (Bodenhaltung) ในพื้นที่ปิดมีไก่ใช้ชีวิตอยู่ ๖,๐๐๐ ตัว  โดยสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระ  อย่างไรก็ดี ไก่ ๙ ตัวใช้พื้นที่ ๑ ตารางเมตรร่วมกัน  หากไก่มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งอีกอย่างน้อย ๔ ตารางเมตรอีกด้วย  ถือเป็นการเลี้ยงในพื้นที่โล่ง (Freilandhaltung)  การเลี้ยงตามแบบนิเวศน์เหมือนกับแบบเลี้ยงในที่โล่งเป็นส่วนใหญ่  แต่การเลี้ยงแบบนี้ไก่เพียง ๖ ตัวในพื้นที่ ๑ ตารางเมตร  และมีไก่อย่างมากที่สุด ๓,๐๐๐ ตัวในกลุ่ม  ความแตกต่างหลักอยู่ที่อาหารการกินที่ต้องผลิตตามแบบนิเวศน์วิทยา  ไข่แดงที่เป็นสีส้มจัดมาจากอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่  โดย Carotinoide เป็นตัวสร้างไข่แดงสีเข้ม  กรดไขมันโอเมกา ๓ ปริมาณมากในอาหารทำให้มีไข่โอเมกา ๓ ที่ประกอบด้วยไขมันนี้มากเป็นพิเศษ  โดยมีการระบุว่าจะมีผลปกป้องหัวใจและระงับการติดเชื้อ  แต่ Keller เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องกิน  โดยกล่าวว่าปลาทะเลและน้ำมันพืช เช่น น้ำมันจากต้น Raps เป็นแหล่งธรรมชาติที่ดีสำหรับกรดไขมันโอเมกา ๓ และแทบไม่ประกอบด้วยคอเรสโตรอลหรือไม่มีเลย  แต่สีของเปลือกไข่ไม่มีอิทธิพลอะไร  โดยขึ้นอยู่กับพันธุ์ไก่
        ไข่มาจากการเลี้ยงดูแบบใดจะระบุอยู่บนบรรจุภัณฑ์  โดยจะพบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการเก็บรักษา (MHD) และระดับน้ำหนัก  MHD จะอยู่ได้ ๒๘ วันหลังการวางไข่  ขณะซื้อหากลบวันออกจาก MHD ๒๘ วันจะรู้ว่าเมื่อใดที่ไข่อยู่ในรัง  ในการซื้อขายจะมีแบ่งระดับตามน้ำหนัก ๔ ระดับ S (ไข่ใบเล็ก) M  (ขนาดกลาง) L (ขนาดใหญ่) และ XL (ไข่ใบใหญ่เป็นพิเศษ)  ผู้ค้าตรงที่ขายไข่ที่ผลิตได้เอง เช่น ที่ตลาดนัดประจำสัปดาห์ได้รับอนุญาตให้ละเว้นข้อมูลเหล่านี้  ตรงกันข้ามที่เป็นหน้าที่ของทุกคน คือการประทับตรารหัสการผลิต เช่น  0-DE0600081  ซึ่งทำให้สามารถระบุที่มาของไข่ทุกฟองไปยังสถานที่เลี้ยง  ทำให้ง่ายสำหรับทางการที่จะค้นพบต้นเหตุในกรณีการเกิดโรคระบาดเชื้อซาลโมเนล  โดยตัวเลขหลักแรก หมายถึงรูปแบบการเลี้ยง  ตำแหน่งที่ ๒ เป็นรหัสประเทศ  ตัวเลข ๒ หลักถัดไประบุแคว้น เลขต่อ ๆ ไปแสดงถึงหมายเลขสถานที่เลี้ยงและเล้า
        ซาลโมเนลเป็นการติดเชื้อจากอาหารที่พบบ่อยที่สุด และส่วนมากผู้ร้ายคือ ไข่ที่ติดเชื้อเป็นแหล่งต้นตอเชื้อโรค  โรคจะเกิดขึ้นพร้อมกับอาการรู้สึกไม่สบาย ท้องเสีย อาเจียร ปวดศีรษะ รวมทั้งปวดท้องและเป็นไข้  สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ คนสูงอายุและผู้เจ็บป่วยสามารถเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 
ข้อสำคัญที่ควรรู้ คือ โดยทั่วไปไข่จะกลายเป็นแหล่งอันตรายก็ต่อเมื่อเชื้อโรคเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างหนัก  ผ่านการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือในการประกอบอาหาร  ซึ่งประการแรกสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเก็บไข่ไว้ในตู้เย็นเสมอ  ในการกระกอบอาหารความสะอาดเป็นปัจจัยสำคัญ  มือและเครื่องครัวที่สัมผัสกับไข่ดิบควรทำความสะอาดให้หมดจรดด้วยน้ำอุ่นและน้ำยาทำความสะอาด  เป็นการยับยั้งการแพร่เชื้อโรคไปยังอาหารอื่น ๆ 
ส่วนฤทธิ์การติดเชื้อของอาหารที่ประกอบเสร็จแล้วขึ้นอยู่กับว่าประกอบด้วยไข่ดิบหรือไข่ที่สุกแล้ว  ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเสี่ยงให้กินเพียงไข่ที่สุกแล้ว  เนื่องจากซาลโมเนลตายที่อุณหภมิ ๗๐ องศา  ดังนั้น จึงปลอดภัยหากกินไข่ต้ม ไข่ดาวที่ทอดสุกทั้งสองด้าน  ซึ่งถ้าทำแบบนี้ไข่ที่เกือบหมดอายุแล้วก็ยังสามารถกินได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล  ตรงกันข้ามสำหรับไข่ลวกหรือไข่ดิบที่ใช้ในการตระเตียมทำขนมควรใช้เพียงไข่สดที่เปลือกสะอาดไม่บุบสลาย 
หากระยะเวลาเก็บรักษามองเห็นไม่ชัด การทดลองง่าย ๆ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเก่าใหม่ของไข่  โดยใส่ในแก้วน้ำ  ยิ่งไข่เก่าเท่าใดจะยิ่งลอยสูงเท่านั้น  หรือสังเกตดูไข่แดงหลังตอกแล้ว  ในไข่ที่ยังสดไข่แดงจะโค้งกลม  ที่เก่าแล้วจะแบนราบและไหลไปปนกับไข่ขาว  อาหารที่ประกอบด้วยไข่ดิบควรกินให้หมดภายใน ๑ วันและเก็บไว้ในตู้เย็นเสมอ
        ยังมีอีกเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่เสมอว่าต้มไข่แบบใดจึงจะถูกวิธี ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใส่ไข่ในน้ำเดือด ซึ่งเป็นระยะเวลาเริ่มต้นของการต้ม ต้มนานเท่าใดขึ้นอยู่กับขนาดและความแข็งที่ต้องการ  ระหว่าง ๔ นาที (ไข่แดงเยิ้ม) ไปจนถึง ๑๐ นาทีสำหรับไข่ต้มที่ง่ายต่อการหั่น  หลังการต้มนานกว่า ๑๐ นาทีบ่อย ๆ จะมีวงสีเขียวเกิดขึ้นรอบไข่แดง  ซึ่งดูไม่น่ากิน  แต่ไม่มีอิทธิพลต่อรสชาติ  การล้างด้วยน้ำเย็นเป็นการหยุดยั้งขบวนการหุงต้มและรอบวงแหวนสีเขียวในไข่ต้มแข็ง แต่ไม่ได้ทำให้ไข่ปอกง่ายขึ้น  ตรงนี้ขึ้นอยู่กับอายุ  ยิ่งสดเท่าใดก็ยิ่งติดระหว่างเปลือกกับไข่ขาวแน่นขึ้น  ดังนั้น สำหรับไข่อีสเตอร์ไข่อายุราว ๑๐ วันจึงเหมาะกว่าไข่สด
        เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ (อ่านจบแทบว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไข่ ๆ เอาเลยทีเดียว) อย่างไรก็ดี เนื่องในโอกาสอีสเตอร์ที่ใกล้จะมาถึงขอให้ผู้อ่าน “ชาวไทย” ย้อมสีไข่ ซ่อนไข่ หาไข่ และกินไข่กันให้เอร็ดอร่อยทุกคนเทอญ  Frohe Ostern!

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล Reader´s Digest



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น