วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุลตราซาวนด์

        ปัจจุบันสตรีมีครรภ์ส่วนใหญ่มักได้รับคำแนะนำจากสูติแพทย์ให้รับการตรวจอุลตราซาวนด์ทารกในครรภ์หรือบางทีคุณพ่อคุณแม่เองก็ร้องขอให้แพทย์ทำการตรวจให้ 

การตรวจอุลตราซาวนด์คืออะไรและมีข้อดี-เสียอย่างไรบ้าง
        การตรวจอาศัยหลักการการสร้างภาพที่ได้จากการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกจากหัวตรวจอัลตราซาวนด์ จากเนื้อเยื่อที่มีความหนาแน่นแตกต่างกันมาสร้างเป็นภาพขาว เทา ดำ เสมือนภาพทารก รก มดลูกและก้อนชนิดต่าง ๆ ได้  เนื่องจากอัลตราซาวนด์เป็นคลื่นเสียง ไม่ใช่รังสี จากหลักฐานตลอดเกือบ ๔๐ ปีที่ผ่านมาไม่พบผลเสียของการตรวจต่อทารก  ทั้งระบบประสาท พัฒนาการของระบบประสาท พัฒนาการของการมองเห็นและได้ยิน  จึงถือได้ว่าการตรวจมีความปลอดภัยต่อทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จำเป็นต้องได้รับการตรวจอุลตราซาวนด์หรือไม่
        ยังเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการถึงความคุ้มค่า  แต่ประโยชน์ได้รับจากการตรวจในทุกราย คือ ทำให้พบความพิการแต่กำเนิดได้ประมาณ ๔๐%  ช่วยวินิจฉัยครรภ์แฝดได้เร็ว และช่วยกำหนดอายุครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น  ในประเทศอังกฤษสตรีมีครรภ์เกือบทุกคนได้รับการตรวจอย่างน้อย ๑ ครั้ง โดยประมาณ ๘๐% ตรวจคัดกรองความพิการแต่กำเนิดขณะอายุครรภ์ ๑๘-๒๐ สัปดาห์

ควรตรวจอุลตราซาวนด์บ่อยแค่ไหนและในช่วงใดของการตั้งครรภ์
        ขึ้นอยู่กับอาการและวัตถุประสงค์ของการตรวจ เช่น ผู้ที่เพิ่งตั้งครรภ์ได้ไม่นาน มีเลือดออกหรือปวดท้อง  การตรวจสามารถช่วยวินิจฉัยว่าเป็นการตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก มีการแห้งหรือมีการฝ่อของตัวอ่อนหรือไม หรือในกรณีจำการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้  การตรวจหาอายุครรภ์ในไตรมาสแรกจะช่วยให้ประเมินอายุครรภ์ไดุ้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด หรือการตรวจคัดกรองหาความพิการโดยกำเนิด  อายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองทั่วไป คือ ๑๘-๒๐ สัปดาห์ (บางท่านอาจแนะนำ ๑๕-๒๐ สัปดาห์)  อย่างไรก็ดี การตรวจคัดกรองหาความพิการแต่กำเนิดถึงแม้ว่าไม่พบ  แต่ทารกในครรภ์ก็ยังมีโอกาสมีความผิดปกติได้  เนื่องจากภาวะบางอย่างอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจอุลตราซาวนด์  ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นภายหลังการตรวจ ตัวอย่างเช่น ความพิการรุนแรงที่ทารกไม่สามารถมีชีวิตรอดมีโอกาสตรวจพบได้ ๘๐-๙๘%  ภาวะไม่มีกระโหลกศีรษะมีโอกาสตรวจพบ ๙๙%  กระดูกสันหลังไม่ปิด ๙๐% เด็กหัวโต มีน้ำในสมอง ๖๐% ความพิการของหัวใจเฉลี่ย ๔๐%  กระบังลมมีรูรั่ว ๖๐% เด็กกลุ่มอาการดาวน์ ๔๐-๗๐%  ออทิสติก ๐%  คือ ไม่สามารถตรวจพบจากอุลตราซาวนด์ได้ เป็นต้น  สำหรับการตรวจในช่วง ๒๔-๔๐ สัปดาห์ส่วนใหญ่เพื่อดูสุขภาพและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ประเมินน้ำหนักตัวของทารกหรือตรวจดูน้ำหนักของรก เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคในการตรวจ

        ในบางรายอาจต้องกลั้นปัสสาวะก่อนตรวจ  ในผู้ที่อ้วนมากหรือมีแผลผ่าตัดเก่าที่หน้าท้องอาจทำให้ภาพไม่ชัดเจน  เนื่องจากประโยชน์ที่ได้จากการตรวจในระหว่างตั้งครรภ์มีมากและไม่พบผลเสียต่อมารดาและทารก สูติแพทย์จึงมักแนะนำให้สตรีมีครรภ์ส่วนใหญ่ควรได้รับการตรวจอุลตราซาวนด์ทารกในครรภ์อย่างน้อย ๑ ครั้ง  แต่ถ้าไม่ต้องการรับการตรวจก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น