วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รู้หรือยัง กาแฟ : ให้ประโยชน์หรือโทษ?

       ผู้เขียนไม่ใช่คอกาแฟ ประเภทที่ต้องดื่มทุกเช้า สาย บ่าย เย็น  หรือไปไหนก็ต้องมองหาร้านกาแฟ  หากมีให้เลือกว่าชาหรือกาแฟ  แนวโน้มก็มักจะเลือกชาเสียมากกว่า  ส่วนใหญ่จะดื่มพร้อมขนมปังเป็นอาหารเช้าและช่วงบ่ายกับขนมเค้ก  โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นกาแฟอะไร  ขอให้มีครีมและน้ำตาลเป็นใช้ได้  ผิดกับคนไทยและคนเยอรมันที่ดูนิยมชมชอบการดื่มกาแฟเป็นพิเศษ  เห็นได้จากไปไหนก็จะเจอร้านกาแฟ และดูเหมือนว่าเป็นความใฝ่ฝันของคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง
       สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผู้เขียนก็มีข่าวดีมาฝาก  เนื่องจากสำนักงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มองไม่เห็นข้อพิสูจน์สำหรับความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้นจากกาแฟ  แต่กลับมีข้อบ่งชี้ว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ลดอันตรายต่อ เนื้องอก ๒ ประเภท ตามที่สำนักงานตัวแทนการวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ระบุในรายงานที่ได้รับการเสนอเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  แต่ในรายงานก็ได้เตือนด้วยว่าการดื่มเครื่องดื่มร้อนจัดเพิ่มอันตรายสำหรับมะเร็งหลอดอาหาร 
Dana Loomis ผู้เชี่ยวชาญจาก IARC กล่าวว่าสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในอุณหภูมิสูงกว่า ๖๕ องศาเซลเซียส  สำหรับรายงาน คณะทำงานได้วิเคราะห์รายงานวิชาการที่มีอยู่  ตามข้อมูลของ Loomis ลำพังสำหรับกาแฟ ผู้เชี่ยวชาญ ๒๓ คนได้ตรวจสอบการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ราว ๕๐๐ ชิ้น และจำนวนใกล้เคียงกันในการทดสอบกับสัตว์และในห้องทดลอง  ก่อนหน้านี้ในปี ๑๙๙๑ IARC ได้จัดว่ากาแฟอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้  โดยสันนิษฐานจากการศึกษาในครั้งกระนั้นที่ยืนยันความเกี่ยวพันของกาแฟกับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ  แต่ขณะนี้สำนักงาน ฯ รับว่าไม่ได้คำนึงถึงเพียงพอว่าประชาชนจำนวนมากที่ดื่มกาแฟส่วนใหญ่เป็นผู้สูบบุหรี่ด้วย 
ในรายงานใหม่บ่งชี้ถึงการศึกษาจำนวนมากที่ไม่เห็นความเกี่ยวพันระหว่างกาแฟและเนื้องอกในทรวงอก ต่อมลูกหมากและตับอ่อน  สำหรับเนื้องอกอื่น ๆ อีกกว่า ๒๐ ประเภท ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด  อย่างไรก็ดี มีข้อบ่งชี้ว่ากาแฟลดความเสี่ยงสำหรับเนื้องอกในปอดและมดลูก  แต่สำนักงาน ฯ ไม่ได้กล่าวถึงประเภทของกาแฟและรูปแบบของการชง 
Heiner Boeing จากสำนักงานเพื่อการวิจัยการบริโภคเยอรมัน (DIfE) แห่งเมือง Potsdam กล่าวว่าตามพื้นฐานข้อมูลโรคระบาดปัจจุบัน ไม่มีอะไรที่ต่อต้านการบริโภคกาแฟปริมาณสูง  ขณะนี้ สำนักงาน ฯ ค่อนข้างเชื่อในผลกระทบทางบวก  คณะทำงานประเมินให้คะแนนคล้ายคลึงกันกับชา Mate ผลิตภัณฑ์จาก Mate ที่เป็นที่นิยมในประเทศเยอรมันในฐานะเครื่องดื่มเย็น ๆ ด้วย  โดยชาชนิดนี้ผลิตมาจากต้น Mate จากอเมริกาใต้ที่ถือกันมาตั้งแต่ปี ๑๙๙๑ ว่ามีสารก่อมะเร็ง แต่การวิเคราะห์การศึกษาใหม่ให้ผล  ว่าการเกิดมะเร็งหลอดอาหารขึ้นบ่อย ๆ ในบางส่วนของอเมริกาใต้ไม่ได้มาจากตัว Mate เอง  หากแต่มาจากการที่ส่วนใหญ่มีการดื่มประเภทร้อนจัดมาก  ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกที่มีการดื่มชาร้อนจัด เช่น ที่เอเชียกลางและเอเชียตะวันออก รวมถึงอัฟริกาตะวันออก พบว่าประชาชนจำนวนมากเป็นมะเร็งหลอดอาหารจนเป็นที่สังเกตเห็นได้  ซึ่งทั่วโลกเป็นประเภทของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดเป็นอันดับแปด  Loomis กล่าวว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องดื่มมากนัก  หากแต่ที่อุณหภูมิ  ในการทดสอบกับสัตว์  น้ำที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ ๖๕ องศาเซลเซียสเพิ่มความเป็นไปได้สำหรับเนื้องอกที่หลอดอาหาร  ดังนั้น ขณะนี้  IARC จึงจัดเครื่องดื่มร้อนจัดในฐานะตัวก่อมะเร็ง  ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ สำหรับมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
       แม้ว่าการเกิดขึ้นของมะเร็งยังไม่ได้รับการคลี่คลาย  แต่สันนิษฐานว่าความร้อนเป็นต้นเหตุของความเสียหายของเซลล์ที่ทำให้มะเร็งสามารถเป็นผลตามมา  Loomis กล่าวว่าในยุโรปไม่ดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด  โดยดื่มชาที่อุณหภูมิราว ๖๐ องศาเซลเซียส  กาแฟถึงกับเย็นกว่านี้  Gunter Kuhnle จากมหาวิทยาลัย Leading ของประเทศอังกฤษกล่าวว่าเครื่องดื่มร้อนสามารถนำไปสู่การบาดแผลและความเสียหายของหลอดอาหาร  ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง 
       เอ้า รู้แล้วอย่างนี้คอกาแฟก็สามารถดื่มกาแฟกันได้อย่างสบายใจหายห่วง  ไอ้ที่เคยหวาดกลัว เป็นอันว่าเลิกได้  เพียงแต่ว่าอย่าดื่มกาแฟร้อนจัดจนลวกปากลวกคอก็แล้วกัน  ปากลิ้นพองแล้วจะหาว่าไม่เตือนกันก่อนไม่ได้นา...

เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”


ข้อมูล  Aachener Zeitung 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น