วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กินอาหารแบบยุคหิน

ผู้อ่าน “ชาวไทย” เคยได้ยิน “Paleo“ บ้าง  ผู้เขียนต้องสารภาพว่าไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน  เพิ่งจะอ่านเจอจากในหนังสือพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง  เริ่มเดากันแล้วใช่ไหม  เฉลยเสียเลยก็แล้วกัน
ประชาชนมากขึ้นทุกทีสมัครใจจำกัดอาหารที่กิน  โดยกินเนื้อสัตว์และผัก แต่ไม่กินธัญพืชและนม  เป็นการบริโภคแบบ “Paleo“ คือ กินอาหารที่มีตั้งแต่สมัยยุคหิน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา  และสัตว์ทะเล ไข่ ผลไม้และผัก เห็ด ลูกนัทและน้ำผึ้ง  หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่มีที่มาจากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เช่น ธัญพืช  ซึ่งรวมถึง  ขนมปัง Muesli  นม รวมทั้งโยเกิร์ตและเนย น้ำตาล
ฟอรุมในอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนตำราอาหารและผู้เสนอ  เป็นผู้ค้นพบหัวข้ออาหารจากยุคหิน  หนึ่งในผู้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ได้แก่ Sabine Paul ผู้ก่อตั้งสถาบัน “Palaeo-Power-Institut“  เธอให้คำมั่นในโฮมเพจถึง “พลังงานที่หลั่งไหลด้วยอาหารธรรมชาติของบรรพบุรุษที่แข็งแรงของเรา”
ในขณะที่ Susanne Klaus ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาของการดูดซึมพลังงาน จากสถาบันเพื่อการวิจัยอาหารเยอรมันไม่เชื่อถือเรื่องอาหารจากยุคหิน  โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระอีกเรื่องหนึ่ง
ตามจริงแนวโน้มนี้ตั้งอยู่บนทฤษฏีของ Loren Cordain บิดาของขบวนการเคลื่อนไหวที่ระบุว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นให้ย่อยผลิตภัณฑ์เกษตรที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต  นับแต่ยุคหินมนุษย์ไม่ได้พัฒนาต่อไปด้านพันธุกรรม แต่ Klaus กล่าวว่าไม่มีพื้นฐานด้านวิชาการมารองรับ  นอกจากนั้นเราไม่รู้แน่ชัดว่าในยุคหินคนกินอะไรเป็นอาหารกันอย่างแน่ชัด เป็นเรื่องเหลวไหลที่งดกินอาหารทั้งกลุ่ม  เธอกล่าวว่าที่ดีที่สุด คือ อาหารปกติที่ผสมผสานกันหลากหลายเท่าที่เป็นไปได้  แต่เธอเห็นว่าดีที่ในครัว Paleo ใช้แต่อาหารที่สด  ไม่ได้รับการปรุงแต่งทางอุตสาหกรรม  ที่ย่าน Bornheim ที่แฟรงก์เฟิร์ตถึงกับมีร้านอาหาร Paleo ที่ร้านจะปรุงอาหาร  อบ  และดื่มเช่นในยุคหินเก่า  โดยใข้กะทิแทนนม ใช้กล้วยดิบแทนแป้ง  ใช้ลูกนัทแทนครีมเปรี้ยว
Sabine Lanius อาชีพที่ปรึกษาด้านโภชนาการ วัย ๔๘ ปีจากแฟรงก์เฟิร์ตที่บริโภคอาหารตามหลัก Paleo มา ๖ เดือนแล้ว  แต่ไม่เคยไปร้านอาหารยุคหินกล่าวว่าสามารถพบอาหารแบบ Paleo ได้ในร้านอาหารดี ๆ ทุกแห่ง  ในการทำอาหารเองเธอเห็นว่ามีเสน่ห์ที่ตรงวิธีทำค่อนข้างง่ายและอิ่มได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องจำนวนแคลอรี  เธอยังชี้แจงว่านับแต่เธอละเว้นการกินแป้งขาว น้ำตาล  และนมวัว  หลังมื้ออาหารเธอไม่รู้สึกเหมือนตัวบวมพองและไม่อึดอัดท้อง  อาการแพ้ก็น้อยลง  เธอรู้สึกตัวแข็งแรงขึ้นและมีพลังงานมากขึ้น  กระนั้น Klaus ที่เป็นนักวิชาการด้านอาหารก็ยังคงไม่วางใจอยู่ดี  โดยปฏิเสธ “การไม่ยืดหยุ่นด้านอาหาร” ทุกประเภท  เธอเห็นว่าการที่ประชาชนมากขึ้นทุกทีจงใจจำกัดอาหารเป็นปรากฏการณ์ความสมบูรณ์พูนสุขในช่วงเวลาของการมีตัวเลือกมากและราคาต่ำ  และบางครั้งก็เป็นลักษณะหนึ่งของการ “ชดเชยทางศาสนา” ด้วย
ฮ่า ๆ ข้อนี้ผู้เขียนไม่มีความคิดเห็น  ใครใคร่กินหรือไม่กินอะไรก็ทำไปเถอะ  ตราบเท่าที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  ส่วนตัวเองนั้นเป็นคนง่าย ๆ (แต่ไม่ใช่ใจง่ายนะเออ) อะไรก็ได้  มีให้กินก็กิน  ไม่กินเสียบ้างก็ได้  โดยเฉพาะถ้ามีหนังสือดี ๆ ให้อ่าน  เอาสเต็กมาแลกก็ไม่สนจร้า
 swP-23-09-2014
เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ข้อมูล  Aachener Zeitung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น