วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภาษาไทยใช่ว่ายาก

        ผู้เขียนเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก  ถ้ามีหนังสือจะก้มหน้าก้มตาอ่าน  ถ้าผู้ใหญ่ไม่คอยห้ามก็ถึงขนาดไม่กินไม่นอนเอาเลยทีเดียว  พอโตขึ้นมาอีกก็ชอบการขีดเขียน จนเป็นเหตุให้ได้พบคู่ตุนาหงัน  เมื่อมาอยู่ต่างบ้านต่างเมืองโอกาสที่จะได้พูดภาษาไทยน้อยลง  แต่ยังอ่านและเขียนอยู่เป็นปกติ  ครั้งหนึ่งเมื่อกลับไปเมืองไทยหลังจากมาอยู่เยอรมันได้หลายปี มีคนรู้จักถามผู้เขียนว่าทำไมยังพูดภาษาไทยชัด  เล่นเอางงไปเลยว่ามามุขไหนกันนี่  อย่างไรก็ดี สังเกตมาตลอดว่าคนไทยทุกวันนี้มักใช้ภาษาไทยผิด ๆ ไม่ว่าการออกเสียงหรือการเขียนคำ  แม้แต่ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ก็ยังออกเสียงผิดอยู่เนือง ๆ นับประสาอะไรกับชาวบ้าน  ยิ่งการสะกดคำผิดนี่ยิ่งพบบ่อย  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เห็นแล้วก็ออกจะขัดใจ  ลองรวบรวมคำที่พบว่าเขียนผิดกันเป็นประจำได้เป็นหน้า ๆ ที่เอามาลงวันนี้เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้น
-                      อนุญาต ไม่มีสระอิ  ถ้าใส่สระอิ คือ ญาติพี่น้อง
-                      สังเกต ไม่มีสระอุ
-                      โอกาส ไม่ใช่ โอกาศ
-                      กฎหมาย สะกดด้วยตัว ฎ ชฎา เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์ กฎกติกา  ส่วนปรากฏการณ์ ปรากฏว่า สะกดตัวด้วย ฏ ปฏัก
-                      รสชาติ ไม่ใช่ รสชาด
-                      กะเพรา กะเทย กะทันหัน กะปิ ไม่มี ร เรือ แต่กระเพาะ ต้องมี ร เรือ
-                      พะแนง ไม่ใช่ พแนง
-                      ผัดวันประกันพรุ่ง แต่ ผลัดผ้า
-                      เจตนารมณ์ ไม่ใช่ เจตนารมย์
-                      กลางคัน ไม่ใช่ กลางครัน
-                      จลาจล ไม่ใช่ จราจล แต่ จราจร
-                      ทะเลสาบ ไม่ใช่ ทะเลสาป
-                      กาลเทศะ ไม่ใช่ กาละเทศะ
-                      บรรทุก บรรทัด บรรเลง ไม่ใช่ บันทุก บันทัด บันเลง
-                      สารพัด ไม่ใช่ สาระพัด
-                      อานิสงส์ ไม่ใช่ อานิสงฆ์
-                      ข้าวเหนียวมูน ไม่ใช่ ข้าวเหนียวมูล
-                      สังสรรค์  แต่ คัดสรร
-                      ขะมักเขม้น ไม่ใช่ ขมักเขม้น
-                      บาตร ไม่ใช่ บาต แต่ บิณฑบาต ไม่ใช่ บิณฑบาตร
-                      โจทก์ หมายถึง ผู้ฟ้องร้องในศาล ถ้าโจทย์ หมายถึง ปัญหา เช่น โจทย์เลข
-                      คลินิก ไม่ใช่ คลีนิกหรือคลินิค คลีนิค
-                      ชมพู่ ไม่ใช่ ชมภู่
ลองเช็คกันดูเล่น ๆ ก็ได้ว่าทั้งหมดนี้เขียนผิดกี่คำ  ไม่มีคะแนนให้  แต่ถ้าเขียนไม่ผิดเลยต้องยกนิ้วให้ว่าคุณใช้ภาษาไทยได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ ข้าน้อยขอคารวะ 


เรียบเรียงโดย “เอื้อยอ้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น